และแล้วความฝันของสหศีนิมาที่จะมีสำนักข่าวอิสระทัดเทียมหน้าตาต่างชาติก็บรรลุผล
หลังจากที่สหศีนิมาใช้ความพยายามปลุกปั้นนานถึง 3 ปี
ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมานี้ ความอยากรู้อยากเห็นหรือการบริโภคข่าวสารของคนไทยเริ่มพัฒนามาได้ถึงระดับหนึ่ง
การตื่นตัวในการติดตามข่าวสารมีมากขึ้นแต่การรับรู้โดยการอ่านหนังสือก็ยังมีสถิติเท่าเดิม
สหศีนิมาจึงได้ฉกฉวยโอกาสของการพัฒนาพฤติกรรมความต้องการบริโภคข่าวสารของคนเมือง
สร้างสื่อใหม่ขึ้นมาเพื่อสนองความต้องการดังกล่าว โดยขั้นแรกจับกลุ่มผู้บริโภคระดับกลางลงล่าง
ด้วยการผลิตรายการ "ข่าวด่วนสหศีนิมา" ออกอากาศในบัสซาวน์โดยใช้ช่องสัญญาณ
F.M. SCA และฝากสัญญาณคลื่นมาทางขสทบ. 102 เมกกะเฮิร์ท ซึ่งช่องสัญญาณดังกล่าวเจ้าของผู้ได้สัมปทานดำเนินงานคือโน๊ตโปรโมชั่น
ในช่วงนั้นบัสซาวน์เป็นของแปลกใหม่สำหรับผู้โดยสารรถประจำทางขสมก. ความสนใจในการฟังข่าวสารของกลุ่มเป้าหมายนี้มีต่างระดับมากมาย
ไม่สามารถจับระดับความต้องการของคนฟังได้ อีกประการหนึ่งพนักงานขับรถขสมก.
โดยส่วนใหญ่ไม่ค่อยให้ความร่วมมือกับบัสซาวน์เท่าที่ควร พวกเขาเหล่านี้มักเปิดรายการหรือหมุนหาสถานีที่ตนเองต้องการ
ซึ่งก็เท่ากับว่าเป็นการบังคับให้ผู้โดยสารฟังในสิ่งที่พนักงานขับรถต้องการจะฟัง
เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว ความล้มเหลวของบัสซาวน์จึงเกิดขึ้น จนอาจเหมารวมได้ว่าเป็นสาเหตุหนึ่งในหลายสาเหตุที่ทำให้ข่าวด่วนสหศีนิมาก็ไม่ประสบคามสำเร็จตามไปด้วยเช่นกัน
ซึ่งเป็นอีกประเด็นหนึ่งที่นอกเหนือจากการขาดผู้สนับสนุนรายการ ซึ่งเป็นสาเหตุใหญ่ทำให้สหศีนิมาไม่สามารถยืนอยู่ได้อย่างมั่นคง
สหศีนิมามีสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่สัดส่วน
90% และมีเอกชนรายย่อยหลายรายถือในสัดส่วนที่เหลือ
สหศีนิมาเคยมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักดีในวงการภาพยนตร์ แต่ ณ วันนี้สหศีนิมาหันหลังให้กับวงการภาพยนตร์โดยสิ้นเชิงแล้ว
ซึ่งสหศีนิมาสร้างชื่อจากธุรกิจบริหารโรงภาพยนตร์ 2 แห่ง คือเฉลิมบุรีและเฉลิมกรุง
ปัจจุบันทั้ง 2 โรงได้เปลี่ยนมือผู้บริหารไปแล้วในช่วงที่ยุคโรงหนังตกต่ำ
สหศีนิมาจึงหันมาประกอบธุรกิจด้านการทำข่าวและการประชาสัมพันธ์ โดยงานใหญ่ที่รับผิดชอบในปีนี้คือ
การประกวดนางงามจักรวาลก็ผ่านพ้นไปด้วยดี
เมื่อการผลิตรายการข่าวป้อนให้กับบัสซาวน์ในช่วงแรกไม่สำเร็จ สหศีนิมาจึงได้หันมาผลิตข่าวป้อนให้กับสถานีวิทยุต่างๆ
จนเริ่มมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักในวงการ อย่างไรก็ตามในแง่การตลาดแล้วถือว่าสหศีนิมาก็ยังล้มเหลวอยู่ดี
เพราะรายการข่าวมีผู้สนับสนุนรายการเพียง 2 รายเท่านั้น คือ ปูนซีเมนต์ไทยและธนาคารไทยพาณิชย์ทำให้กิจการขาดทุนเดือนละประมาณ
100,000 บาทเลยทีเดียว
นักวิเคราะห์มองว่าการขาดทุนที่เกิดขึ้นนั้นมีสาเหตุมาจากขาดมือการตลาดที่ดี
ทำให้ไม่สามารถหารายได้มาจุนเจือกิจการได้ แต่สหศีนิมาก็ยังคงเดินหน้าสู้งานข่าวต่อไป
เนื่องจากการมองเป้าหมายในระยะยาวที่เริ่มจะเด่นชัดขึ้นในเร็วๆ วันนี้คือความต้องการในการรับฟังข่าวสารมากขึ้น
ส่วนทางด้านเงินทุนก็มีความคาดหวังว่าจะได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์
แม้ว่าสหศีนิมาจะประสบกับความล้มเหลวมาแล้ว แต่โดยที่เจ้าของสัมปทานเดิมคือ
มีเดียพลัสก็เข้าชิงการประมูลร่วมด้วย ในที่สุดบริษัทในเครือแกรมมี่ และเรดิแอดคู่หูเก่าแก่ของมีเดียพลัสก็ได้หยิบชิ้นปลามันไปจัดรายการในตอนเช้าและช่วงเย็นตามลำดับ
หลังจากที่สหศีนิมาและมีเดียพลัสแพ้การประมูลสัมปทานของสถานีกรมประชาสัมพันธ์ทำให้ทั้ง
2 ค่ายเกิดมีความเห็นที่ตรงกันและสามารถเกื้อกูลกันในทางธุรกิจได้ สหศีนิมาจึงได้เข้าร่วมกับมีเดียพลัสเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมานี้ตั้งสำนักข่าวอิสระหรือมีชื่อเรียกว่า
"ไอเอ็นเอ็น" ((INDEPENDENT NEWS NETWORK) ผลิตรายการข่าวป้อนให้เครือข่ายกระจายเสียงของมีเดียพลัสซึ่งได้มาทดแทนคลื่นเก่าที่เสียไปคือ
F.M. 98 เป็นหลักเสมอมาและมีการปรับรูปแบบของข่าวให้น่าสนใจยิ่งขึ้น สหศีนิมาจึงเริ่มมีฐานะที่มั่นคงขึ้น
เมื่อไอเอ็นเอ็นเกิดขึ้นระหว่างการถือหุ้นของสหศีนิมาและมีเดียพลัสในสัดส่วน
60:40 สหศีนิมาจึงแบ่งแยกหน้าที่การทำงานของตนเองออกมา โดยให้ไอเอ็นเอ็นเป็นสำนักข่าวมีบทบาทด้านการบริหาร
และหาข่าวในขณะที่สหศีนิมาทำลดบทบาทของตนเองเหลือเพียงงานประชาสัมพันธ์เป็นงานหลัก
หลังจากนั้นเป็นต้นมา การพยายามสานฝันสร้างสำนักข่าวอิสระ เพื่อการขายข่าวให้กับในประเทศและต่างชาติของสหศีนิมาก็ยิ่งแกร่งกล้าและเริ่มเป็นจริงมากยิ่งขึ้น
ปัจจุบันไอเอ็นเอ็นได้ปรับปรุงทีมงานข่าวของตนให้เข้มแข็งยิ่งขึ้น ด้วยการดึงนักข่าวมือดีในวงการทั้งจากสถานีช่อง
3 และหนังสือพิมพ์เข้าร่วมทีมงาน รวมนักข่าวทั้งหมด 22 คนโดยมีสนธิญาณ หนูแก้ว
อดีตบรรณาธิการข่าวช่อง 3 เข้ามาดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการเพื่อผลักดันให้โครงการสร้างสถานีข่าวสารบรรลุเป้าหมาย
ไอเอ็นเอ็นเป็นบริษัทในเครือของสหศีนิมาซึ่งสหศีนิมามีสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ถือหุ้น
จึงไม่ต้องอรรถาธิบายเลยว่าสายสัมพันธ์ใดที่มีส่วนช่วยให้ไอเอ็นเอ็นมีสัมพันธภาพที่ดีกับสายทหาร
จนตั้งเป้าหมายที่จะช่วงชิงวิทยุกองพล 1 เข้ามาไว้เพื่อดำเนินธุรกิจผลิตข่าวสารล้วนๆ
แต่งานนี้ไม่หมูอย่างที่ไอเอ็นเอ็นคิด เพราะต้องเผชิญหน้ากับแปซิฟิค อินเตอร์คอมมิวนิเคชั่น
ซึ่งกำลังหาสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งใหม่ทำรายการประมาณเดียวกัน หลังจากรายงานข่าวสารการจราจรทางสถานีวิทยุ
จส. 100 ประสบความสำเร็จ
ประเด็นที่มาแห่งความสนใจทั้งของสหศีนิมาและแปซิฟิคที่เล็งเป้าไปยังสถานีวิทยุกองพล
1 อย่างใจตรงกันว่าก็เพราะวิทยุกองพล 1 มีสถานีเครือข่ายอยู่ทั่วประเทศถึง
150 สถานี ซึ่งหากใครได้เข้าไปบริหารสถานีเหล่านี้ โอกาสที่จะขยายธุรกิจข่าวสารของตนให้ก้าวหน้าก็ยิ่งมีสูง
แปซิฟิคมีความต้องการสถานีวิทยุเครือข่ายใหม่ๆ มาก เพราะเหตุที่ว่าธุรกิจข่าวสารของตนเหลือเสาหลักเพียง
จส. 100 เท่านั้น ส่วนช่อง 5 แปซิฟิคเหลือบทบาทเพียงการหาโฆษณา แต่ในส่วนของข่าวนั้นช่อง
5 ได้ดึงกลับไปรับผิดชอบเองเป็นเวลาหลายเดือนมาแล้ว
ด้านสหศีนิมามีความต้องการสถานีวิทยุของตนเอง เพราะยังไม่มีโอกาสเป็นเจ้าของสัมปทานสถานีวิทยุของตนเอง
ได้แต่อาศัยช่องทางรายการวิทยุของมีเดียพลัสเป็นช่องทางกระจายข่าวของตนเองเท่านั้น
ประกอบกับสนธิญาณมีความเชื่อมั่นว่าจากความสำเร็จของสถานีวิทยุจส. 100
นั้นนับเป็นการเปิดศักราชของการทำสถานีรายการข่าวล้วนๆ ในเมืองไทยได้อย่างประสบความสำเร็จ
เช่นเดียวกับในต่างประเทศที่สถานีวิทยุกำลังตื่นตัวต่อการเป็นสถานีถ่ายทอดรายการเฉพาะด้าน
ซึ่งแนวคิดนี้สหศีนิมามีความพร้อมที่จะทำนานแล้ว
สงครามช่วงชิงสถานีวิทยุเหมา 24 ชั่วโมงระหว่างผู้มีเงินทุนหนาอย่างสหศีนิมาแล้วผู้เชี่ยวชาญปฏิรูปรายการอย่างแปซิฟิคจึงไม่อาจหลีกเลี่ยงได้
จนครั้งหนึ่งเคยมีความคิดเห็นที่ตรงกันว่าจะลงเอยกันด้วยมติรอมชอมของผู้บริหารทั้ง
2 ฝ่าย ว่าอาจจะร่วมจับมือทำงานด้วยกันได้ เมื่อต่างฝ่ายต่างมีเจตนารมย์ที่ใกล้เคียงกัน
อย่างไรก็ตามเหตุการณ์ความไม่สงบในช่วงเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ได้เป็นสนามที่พิสูจน์หลักการของแปซิฟิคผู้ดำเนินรายการจส.
100 ได้เป็นอย่างดี แปซิฟิคแสดงให้เห็นจุดยืนในการทำงานของเขาอย่างเด่นชัดในอีกด้านหนึ่ง
ซึ่งเป็นคนละแนวทางคนละแนวความคิดกับสหศีนิมา สิ่งที่ปรากฏจึงได้กลายเป็นจุดเปลี่ยนให้สหศีนิมาประกาศถอนตัวการร่วมงานกับแปซิฟิคในที่สุด
โอกาสทองเริ่มมาเยือนสหศีนิมาอีกครั้ง เมื่อพันธมิตรของมีเดียพลัสคือ พีเคแอดเวอร์ไทซิ่ง
สามารถเหมาเวลาสถานีวิทยุจส. 94.5 ของทหารใส่พานมาให้ มีเดียพลัสจึงส่งต่อให้ไอเอ็นเอ็น
สหศีนิมาจึงเริ่มเข้าไปมีบทบาททำรายการข่าวสารล้วนๆ อย่างที่ใจปรารถนาในชื่อสถานีว่า
ALL NEWS STATION ตั้งแต่ 17 สิงหาคมนี้เป็นต้นไป "ข่าวที่เราเสนอจะมีทุกประเภทรายงานสดจากสถานที่จริง
การถ่ายทอดสดการประชุม การอภิปรายและการสัมมนาที่สำคัญโดยเฉพาะการประชุมของภาครัฐ
การถ่ายทอดกีฬา บันเทิงคดี รายงานข่าวสาดผ่านดาวเทียมจากบีบีซี สถานีแห่งนี้จะเป็นแห่งแรกของเมืองไทยที่จะเป็นสถานีข่าวสาร
24 ชั่วโมง" สนธิญาณ หนูแก้ว กล่าวอย่างมั่นใจ
ก้าวต่อไปในการเป็นสำนักข่าวอิสระของสหศีนิมายังคงรุดหน้าต่อไป นอกเหนือจากการมีสถานีออกอากาศข่าวสารในประเทศเป็นจริงตามเป้าหมายแล้ว
ไอเอ็นเอ็นก็ได้ให้ความสำคัญกับการขายข่าวสารของตนแก่ประเทศที่สนใจ ซึ่งมีหลายรายได้ติดต่อเข้ามาแล้ว
อาทิ ญี่ปุ่น เขมร รวมทั้งการวางรากฐานสำนักข่าวในต่างประเทศ โดยได้เปิดศูนย์ข่าวต่างประเทศที่รัฐลอสแองเจลิส
สหรัฐอเมริกา เป็นแห่งแรก
ศูนย์ข่าวแห่งนี้จะทำหน้าที่ส่งข่าวสารให้แก่ไอเอ็นเอ็นในไทย โดยรายงานข่าวและเหตุการณ์ที่สำคัญ
รวมทั้งข่าวสารของคนไทยในอเมริกากลับมายังประเทศไทย
การเคลื่อนไหวครั้งนี้นับเป็นเหตุการณ์สำคัญอีกครั้งหนึ่งในวงการวิทยุนับจากการปฏิวัติรายการข่าวของแปซิฟิคมาแล้ว
ในคราวนี้สหศีนิมาถือว่าตนเองมีประสิทธิภาพเพียงพอและไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าแปซิฟิคนัก
อาจจะเป็นผู้สร้างปรากฏการณ์ใหม่ในแวดวงการทำธุรกิจเฉพาะด้านระลอกใหม่ก็ได้
เวลาเท่านั้นที่จะเป็นเครื่องพิสูจน์