|
ผู้ค้ากระดาษขึ้นราคารับต้นทุนพุ่งค่ายAAลุยไดเร็คเมลล์ทุ่ม7พันล.ผุดรง.ใหม่
ผู้จัดการรายวัน(20 พฤศจิกายน 2550)
กลับสู่หน้าหลัก
แอ๊ดวานซ์ อะโกร ทุ่มงบ 7,000 ล้านบาท ผุดโรงงานแห่งใหม่ที่ปราจีนบุรี เพิ่มกำลังผลิตกระดาษอีก 4 แสนตันต่อปี รวมเป็น 1 ล้านตันต่อปี รองรับการเติบโตทั้งในและต่างประเทศ ส่วนแผนตลาดกระดาษดั๊บเบิ้ลเอ เร่งขยายช่องทางจำหน่ายใหม่ๆเพิ่มขึ้น ปีหน้ารุกตลาดไดเร็คเมล์ เผยไตรมาสที่สามทำรายได้ 5,867 ล้านบาท โกยกำไร 242 ล้านบาท
นายชาญวิทย์ จารุสมบัติ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ดั๊บเบิ้ลเอ บริษัท แอ๊ดวานซ์ อะโกร จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ขณะนี้ราคากระดาษมีการปรับสูงขึ้น นอกจากสาเหตุที่มีซัปพลายไม่พอแล้ว ยังเป็นผลมาจากต้นทุนการดำเนินงานเพิ่มสูงมากขึ้น อันเป็นผลกระทบมาจากราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงต่อเนื่อง ซึ่งเป็นปัจจัยหลักในการทำธุรกิจอย่างหนึ่งทั้งการผลิตและขนส่ง รวมทั้งค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นตั้งแต่ต้นปี แต่บริษัทฯพยายามปรับตัวและวิธิการดำเนินงานเพื่อให้สามารถสู้กับต้นทุนได้บ้าง
อย่างไรก็ตามที่ผ่านมาบริษัทฯได้ปรับราคากระดาษขึ้นบ้างแล้วบางรายการที่จำเป็นจริงๆ เช่น กระดาษเอ4 จากเดิม 105 บาทต่อรีม เพิ่มอีก 3 บาทเ ท่ากับราคา 108 บาทต่อรีม ประมาณเดือนที่แล้ว เนื่องจากเป็นกระดาษที่มียอดขายมากที่สุดและมียอดผลิตมากที่สุด
ส่วนแผนการลงทุนนั้น นายชาญวิทย์ กล่าวว่า บริษัทฯลงทุนกว่า 7,000 ล้านบาท เพื่อก่อสร้างโรงงานผลิตเยื่อกระดาษแห่งที่ 3 ที่จังหวัดปราจีนบุรีใกล้กับโรงงานเดิม ซึ่งโครงการดังกล่าวขอส่งเสริมการลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนหรือบีโอไอด้วย คาดว่าจะเริ่มผลิตบางส่วนได้ในช่วงปลายเดือนมกราคม 2551
ทั้งนี้โรงงานดังกล่าวจะมีกำลังการผลิตประมาณ 4 แสนตันต่อปี ซึ่งเมื่อรวมกับกำลังผลิตจากโรงงานเดิมที่มีประมาณ 6 แสนตันต่อปี จะทำให้มีกำลังผลิตรวม 1 ล้านตันต่อปี ซึ่งยังคงสามารถรองรับการเจริญเติบโตและยอดขายของบริษัทฯได้อีกประมาณ 3 ปี ที่คาดว่าจะมียอดขายประมาณ 1 ล้านตัน ซึ่งแม้จะเพิ่มกำลังผลิตแล้ว บริษัทฯยังคงสัดส่วนส่งออกประมาณ 60% และจำหน่ายในประเทศ 40% เหมือนเดิม แม้ว่าความต้องการในประเทศจะสูงเพิ่มขึ้นแต่ก็เป็นสัดส่วนที่มาจากกำลังผลิตที่เพิ่มขึ้นเช่นกัน
การขยายโรงงานเนื่องจากว่า ปริมาณความต้องการกระดาษทั้งในประเทศและต่างประเทศยังมีอยู่สูง ขณะที่ซัปพลายในตลาดรวมมีไม่เพียงพอ โดยเฉพาะในส่วนของบริษัทฯเองก็มีการขยายตัวด้านตลาดอย่างมาก ทั้งจากการทำตลาด การขยายช่องทางจำหน่ายใหม่ๆ และยังเป็นผลพวงมาจากการที่ หน่วยงานของภาครัญสามารถที่จะซื้อกระดาษจากผู้ผลิตรายอื่นได้แล้ว เพราะรัฐเปิดกว้าง ไม่ได้บังคับให้ใช้เฉพาะกระดาษจากโรงงานบางปะอินแห่งเดียวเหมือนในอดีตแล้ว
สำหรับแผนการทำตลาดกระดาษดั๊บเบิ้ลเอนั้น นายชาญวิทย์ กล่าวว่า ในปีหน้า บริษัทฯจะมุ่งขยายช่องทางการจำหน่ายใหม่ๆเพิ่มมากขึ้น หลังจากที่สร้างแบรนด์ดั๊บเบิ้ลเอมาจนติดตลาดแล้ว รวมทั้งยังมีการออกผลิตภัณฑ์ใหม่ๆและดีไซน์ที่ครอบคลุมความต้องการ โดยในปีหน้าคาดว่าจะเริ่มทำ ดั๊บเบิ้ลเอแคตตาล็อกเพื่อเปิดช่องทางจำหน่ายแบบไดเร็คต์เมล์ กับสินค้าสเตชั่นเนอรี่ทั้งหมด เจาะกลุ่มเป่าหมายผู้ใช้รายใหญ่ที่เป็นองค์กร ทั้งภาครัฐและเอกชน
ขณะที่การหาพันธมิตรในการขยายช่องทางจำหน่ายนั้นก็จะเริ่มมีความชัดเจนมากขึ้นในปีหน้า หลังจากที่ปีนี้ได้เริ่มบ้างแล้ว ซึ่งที่ผ่านมาได้เป็นพันธมิตรกับทาง ทรูมันนี่เอ็กซ์เพรส กับ ร้านซึทาญ่า ในการนำผลิตภัณฑ์ดั๊บเบิ้ลเอเข้าไปวางจำหน่ายในร้านพันธมิตรทั้ง 2 รายดังกล่าว และปีหน้าก็จะมีเพิ่มขึ้นอีก
ปัจจุบันกระดาษดั๊บเบิ้ลเอ มีช่องทางจำหน่ายครอบคลุมมากแล้ว โดยแบ่งเป็นช่องทางโมเดิร์นเทรด 25% เช่น เทสโก้โลตัส บิ๊กซี คาร์ฟูร์ แม็คโคร เซเว่นอีเลฟเว่น แฟมิลี่มาร์ท วีชอป 108ชอป ฟู้ดแลนด์ เพาเวอร์บาย ร้านหนังสือเช่น บุ๊คสไมล์ ซีเอ็ด บีทูเอส ร้านกีฟท์ชอป เช่น ลอฟท์ ซีนโซน บี-เทรนด์ และร้านในเครือข่ายดี๊บเบิ้ลเอ ส่วนอีก 75% ยังเป็นช่องทางเทรดดิชันนัลเทรด
ไตรมาสสามโกย5,867ล้านบาท
สำหรับผลประกอบการของบริษัทฯนั้น นายฐีระวิตต์ ลี้ถาวร Senior Executive Vice President บริษัท แอ๊ดวานซ์ อะโกร จำกัด (มหาชน) แจ้งว่า ในช่วงไตรมาสที่สามปี 2550 มีรายได้รวม 5,867 ล้านบาท แบ่งเป็นรายได้จากการจำหน่ายกระดาษ 4,553 ล้านบาท รายได้จากการจำน่ายเยื่อกระดาษ 867 ล้านบาท รายได้จากการขายไฟฟ้า ไอน้ำ และน้ำ 372 ล้านบาท และรายได้อื่นๆ 75 ล้านบาท และมีกำรสุทธิไตรมาสที่สามนี้ 242 ล้านบาท
ส่วนผลการดำเนินงานงวด 9 เดือนแรกปี 2550 พบว่า มีรายได้รวม 17,635 ล้านบาท ใกล้เคียงกับงวดเดียวกันของปีก่อน โดยมีรายได้จากการจำหน่ายกระดาษ 13,663 ล้านบาท เพิ่มขึ้นถึง 117 ล้านบาท จากเดิมที่งวดเดียวกันปีที่แล้วที่จำหน่ายได้ 12,488 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 9% และมีกำไรสุทธิ54 ล้านบาท
“แม้บริษัทฯจะได้รับผลกระทบจากการแข็งค่าของเงินบาทที่ส่งผลให้รายได้ที่ควรจะได้รับลดน้อยลง ขาดทุนอัตราแลกเปลี่ยน 40 ล้านบาท แต่สามารถลดต้นทุนการผลิตและค่าใช้จ่ายต่างๆได้ และปรับราคาขายในต่างประเทศทุกแห่ง ทำให้ยอดจำหน่ายเติบโตสูงขึ้นจากช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 8% หรือ 345 ล้านบาท สามารถชดเชยการขาดทุนครึ่งปีแรกได้ทั้งหมด ปรับผลประกอบการจาก 2 ไตรมาสที่ผ่านมาที่ขาดทุน เป็นกำไร 54 ล้านบาทในรอบ 9 เดือนนี้” นายฐีระวิตต์กล่าว
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|