เมื่อไม่นานมานี้ มีข่าวที่ค่อนข้างเป็นเรื่องใหม่ในวงการธุรกิจบ้านจัดสรรบ้านเราขึ้นนั่นคือ
ข่าวที่มีผู้ประกอบการธุรกิจเรียลเอสเตทในรูปของ "โบรกเกอร์" ร่วมกันจัดตั้งชมรมกันขึ้นมา
เพื่อทำหน้าที่เป็นศูนย์รวมที่จะแก้ปัญหาเรื่องการซื้อขายบ้านของผู้บริโภค
ไพศาล บัณฑิตยานนท์ กรรมการผู้จัดการ บริษัทเรียล เอสเตท โปรส์ จำกัด หนึ่งในตัวตั้งตัวตีการเริ่มตั้งชมรมนี้
บอกกับ "ผู้จัดการ" ว่าจุดมุ่งหมายที่สำคัญก็คือ เพื่อไม่ให้มีปัญหาในการซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ทั้งต่อผู้ซื้อและผู้ขาย
"ชมรมนี้ ขั้นต้น เราจะเรียกว่า ชมรมเรียลเอสเตทเอเยนซี่แห่งประเทศไทย
(NATIONAL ASSOCIATION OF REAL-ESTATE AGENCY)" ไพศาล ที่ได้รับการเลือกตั้งเป็นประธานชมรมกล่าวถึงโครงการนี้พร้อมทั้งอธิบายว่าในขั้นต้น
ชมรมจะทำหน้าที่หลักในการประสานประโยชน์ให้ทุกฝ่าย โดยในส่วนของผู้ซื้อนั้น
ชมรมจะช่วยในเรื่องการรักษาผลประโยชน์ให้ ในขณะที่ในส่วนของผู้ขาย ชมรมจะช่วยหลายอย่าง
ทั้งในด้านข้อมูลวิชาการ จนถึงเข้าช่วยแก้ปัญหาที่หลายครั้งบรรดาโบรกเกอร์ขายบ้านเหล่านี้
ถูกเจ้าของโครงการ "เบี้ยว" ค่าคอมมิชชั่น
การเกิดชมรมดังกล่าวขึ้นในไทย แม้จะเป็นเรื่องใหม่ แต่สำหรับไพศาลซึ่งมีประสบการณ์ด้านนี้ในสหรัฐอเมริกามานาน
รวมทั้งมีบริษัทนายหน้าของตนเองที่อเมริกา คือ บริษัท TERRA MARKETING กล่าวว่า
ไม่ได้เป็นเรื่องใหม่ในวงการเรียลเอสเตท มิหนำซ้ำชมรมยังเป็นประโยชน์ต่อบรรดาผู้ขายด้วยซ้ำ
ที่สามารถสร้างอำนาจต่อรองกับทุกฝ่ายได้รวมทั้งสามารถยกระดับอาชีพดังกล่าวได้ด้วย
จากการประชุมกันครั้งแรกเมื่อปลายเดือนกรกฎาคม ชมรมเรียลเอสเตทเอเยนซี่แห่งประเทศไทยจะมี
9 ฝ่ายด้วยกัน คือ 1) ฝ่ายวิชาการ 2) ฝ่ายการตลาด 3) ฝ่ายบัญชีและการเงิน
4) ฝ่ายสินเชื่อ 5) ฝ่ายมัลติเพิลลีสซิ่ง 6) ฝ่ายกฎหมายและจรรยาชีพ 7) ฝ่ายประชาสัมพันธ์และกิจกรรม
8) ฝ่ายชาวต่างประเทศ และ 9) ฝ่ายสมาชิก
ไพศาลอธิบายถึงการทำงานชมรมนี้ว่า จะมีการร่างกฎเกณฑ์กันขึ้นมา เพื่อควบคุมบรรดาสมาชิกให้อยู่ในระบบโดยเฉพาะอย่างยิ่ง
เรื่อง "จรรยาบรรณ" ที่มีการกล่าวถึงกันมาก ซึ่งในขั้นต้นนี้ ชมรมจะจัดการอบรมสำหรับสมาชิกจากบริษัทที่ร่วมตั้งชมรม
จากนั้นก็จะมีการออกบัตรในรูปใบอนุญาตประกอบการให้กับสมาชิกส่วนบุคคล และมีการควบคุมโดยสมาชิกผู้ใดที่ฝ่าฝืนกฎและผิดจรรยาบรรณ
ก็จะถูกลงโทษและหากรุนแรง ก็อาจจะถึงขั้นยึดใบอนุญาต ที่จะส่งผลให้ต้องออกจากวิชาชีพดังกล่าว
เพราะบริษัทตัวแทนที่เป็นสมาชิกชมรม จะไม่รับเข้าเป็นพนักงานต่อไป
หลายๆ คนที่เข้าร่วมชมรมยอมรับว่า เรื่องนี้ยังเป็นเรื่องใหม่มากสำหรับประเทศไทย
เนื่องมาจากธุรกิจการเป็นโบรกเกอร์ซื้อขายบ้านนี้เพิ่งจะมาเฟื่องฟูเอาสุดขีดในไม่กี่ปีที่ผ่านๆ
มานี้เอง เมื่อธุรกิจที่ดินบูมและในส่วนของบริษัทต่างๆ ก็ยังไม่เคยมีการคัดเลือกคนเข้าทำงานอย่างจริงจัง
จนขาดการควบคุมที่ดีพอ
"เราจำเป็นที่ต้องมีชมรมเพื่อคุ้มครองผู้บริโภค เพราะธุรกิจนี้เป็นแสนล้าน
ถ้ามีคนทำไม่ชอบมาพากลซักคน ก็ส่งผลให้ผู้ซื้อเดือดร้อนอาจจะถึงฆ่าตัวตายได้
เราจึงอยากเริ่มโดยการสกรีนคนทำงานด้านนี้ก่อน" ไพศาลกล่าวพร้อมทั้งยอมรับว่าเรื่องนี้บริษัทโบรกเกอร์ก็จะได้รับประโยชน์ในทางอ้อมด้วย
กล่าวคือ เมื่อมีความเชื่อถือสูง การทำธุรกิจนี้ก็จะง่ายขึ้นด้วย
ที่สำคัญอีกประการก็คือ ชมรมดังกล่าวจะกลายเป็นสถาบันด้านวิชาการที่จะยกระดับและพัฒนาผู้ประกอบวิชาชีพในด้านนี้
เพราะจะมีการแลกเปลี่ยนความรู้กันในเรื่องต่างๆ เพราะแต่ละคนมีความชำนาญกันคนละอย่าง
บางคนชำนาญและมีความรู้ในเรื่องทำเลบางแห่งดี ก็สามารถที่จะช่วยเหลือผู้ที่ขาดความรู้เรื่องนั้นๆ
ได้
อย่างไรก็ตามจุดมุ่งหมายของชมรมเรียลเอสเตทเอเยนซี่แห่งประเทศไทย ไม่ได้หยุดแค่นั้น
โดยไพศาลกล่าวว่า จุดสุดยอดของโครงการนี้ จะเป็นรูปแบบเดียวกับที่สหรัฐอเมริกาใช้
คือ ควบคุมโดยการตั้งตัวกลาง คือ ESCROW COMPANY ขึ้นมาเพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับทุกฝ่ายจนกระทั่งทุกอย่างเรียบร้อย
"ในขั้นต้นนี้ เราต้องผลักดันให้รัฐบาลช่วยเหลือก่อน ด้วยการให้มีการออกกฎหมายมาคุ้มครองผู้ประกอบการวิชาชีพนี้รวมทั้งคุ้มครองผู้บริโภคในการซื้ออสังหาริมทรัพย์"
ไพศาลกล่าว พร้อมทั้งยกตัวอย่างกฎหมายที่จะเสนอว่า อาจจะถึงระดับที่ผู้มีสิทธิ์ในการเป็นผู้ขายอสังหาริมทรัพย์นั้น
ต้องมีใบอนุญาตที่ทางการเป็นผู้ออกเช่นเดียวกับใบอนุญาตขับรถยนต์นั่นเอง
สำหรับรูปแบบของ ESCROW ที่เป็นจุดหมายสุดยอดดังกล่าวนั้น ได้แก่ เมื่อผู้ซื้อและผู้ขายตกลงใจกันที่จะมีการซื้อขายบ้าน
ก็จะมีการเปิดบัญชีเป็น ESCROW ACCOUNT โดยผู้ซื้อจะเป็นผู้จ่ายเงินเข้าบัญชีดังกล่าว
แต่ในส่วนของผู้ขาย ยังไม่สามารถที่จะรับเงินดังกล่าวได้ โดยเงินนั้นจะได้รับก็ต่อเมื่อ
หน่วยงานที่เป็นองค์กรกลาง คือ ESCROW จะตรวจสอบว่า ทุกอย่างเป็นไปตามสัญญาเรียบร้อยแล้ว
อันเป็นที่พอใจกันของผู้ซื้อและผู้ขาย
ส่วนผู้ที่จะทำหน้าที่เป็นผู้ดูแล ESCROW COMPANY นั้น ไพศาลให้ความเห็นกับ
"ผู้จัดการ" ว่า จะต้องเป็นเอกชนและเป็นกลางอย่างแท้จริง พวกสถาบันการเงิน
เช่น ธนาคารพาณิชย์ก็ไม่สามารถที่จะมาทำหน้าที่ได้ เพราะอาจจะเกิดความลำเอียงในการนำ
ESCROW ACCOUNT เข้าฝากในธนาคารของตนได้ อันจะกลายเป็นการนำระบบองค์กรกลางมาหาประโยชน์ส่วนตน
ไพศาลกล่าวถึงรูปแบบของระบบ ESCROW ว่า อาจจะต้องใช้เวลาระยะหนึ่งจึงจะเกิดขึ้นในประเทศไทย
แต่สิ่งแรกที่จะต้องมีก็คือ กฎหมายรองรับที่ชมรมจะผลักดันให้รัฐออกมาก่อน
เพื่อคุ้มครองการซื้อขายอสังหาริมทรัพย์
"ต้องยอมรับว่าที่ผ่านๆ มา กฎหมายต่างๆในเรื่องคุ้มครองผู้บริโภคยังมีน้อย
และในการซื้อขายอสังหาริมทรัพย์นั้นผู้ซื้อมักจะเป็นผู้เสียเปรียบ บางรายจ่ายเงินเสร็จ
ผู้ขายเบี้ยวต้องไปฟ้องร้องกันเอง ในขณะหากมี ESCROW เงินที่ผู้ซื้อจ่ายก็ยังอยู่ในบัญชี
โดยไม่มีใครสามารถเบิกได้จนกว่าจะเป็นไปตามสัญญา"
สำหรับธุรกิจนายหน้าตัวกลางซื้อขายบ้านในไทยนั้น ไพศาลกล่าวในตอนท้ายว่า
ยังมีอนาคตมาก กล่าวคือ เฉพาะในกรุงเทพฯ มีบ้านประมาณ 1.5 ล้านหน่วย มีการขายบ้านเป็นบ้านมือสองปีละประมาณ
1 แสนหน่วย ซึ่งหมายความว่ามีเงินสะพัดในโครงการนี้ไม่น้อยทีเดียว เมื่อพิจารณาถึงราคาบ้านในปัจจุบัน
ที่สำคัญที่สุด ประธานชมรมเรียลเอสเตทเอเยนซี่แห่งประเทศไทย ย้ำว่า อนาคตของธุรกิจนี้
หากมีรูปแบบของระบบ ESCROW เกิดขึ้นจริงๆ ก็จะช่วยให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีมากขึ้น
เพราะรูปแบบดังกล่าวสร้างความมั่นใจให้กับผู้ซื้อมาก ว่าจะไม่มีปัญหาในการซื้ออสังหาริมทรัพย์อย่างแน่นอน