"ตราดาว" เครื่องหมายการค้าของบริษัทน้ำมันที่ยิ่งใหญ่ของสหรัฐ
เท็กซาโก้ เป็นยี่ห้อที่คุ้นตาคนไทยมานาน
เท็กซาโก เข้ามาทำมาหากินค้าน้ำมันในเมืองไทย ในนามบริษัทคาลเท็กซ์ โดยไม่มีโรงกลั่นของตัวเองเหมือนกับเชลล์
น้ำมันสำเร็จรูปชนิดต่างๆ ที่ขายตามสถานีปั๊มน้ำมันคาลเท็กซ์นำเข้ามาจากโรงกลั่นของตนเองที่สิงคโปร์ส่วนหนึ่งและจ้างไทยออยล์กลั่นให้จำนวนหนึ่ง
มันเป็นความใฝ่ฝันของคาลเท็กซ์มานานแล้ว ที่ต้องการมีโรงกลั่นของตัวเองที่เมืองไทย
แต่มีไม่ได้สักที เนื่องจากรัฐบาลในอดีตไม่ต้องการให้มีการแข่งขันเสรีในการผลิตและค้าน้ำมัน
คาลเท็กซ์ใช้ความพยายามอย่างมากที่จะทำธุรกิจให้มีประสิทธิภาพ สามารถแข่งขันกับเอสโซ่และเชลล์
แต่ด้วยเครือข่ายสถานีปั๊มน้ำมันของคาลเท็กซ์ ที่มีน้อยกว่าเชลล์และเอสโซ่มากทำให้คาลเท็กซ์เสียเปรียบคู่แข่งขันมาตลอด
การตัดสินใจของเท็กซาโก้ ที่จะส่งเสริมให้คนท้องถิ่นขึ้นมาดูแลธุรกิจเอง
เหมือนกับที่ได้โปรโมทสุขวิช รังสิตพล เป็นประธานบริหารคาลเท็กซ์ในเมืองไทยเมื่อประมาณปี
2531 ก่อนหน้าที่เชลล์จะโปรโมทหม่อมสฤษดิคุณ กิติยากรเป็นประธานฯ แต่ก็ไม่ได้ช่วยแก้ไขความเสียเปรียบในเชิงการแข่งขันของคาลเท็กซ์เท่าไรนัก
จากตัวเลขส่วนแบ่งตลาดครึ่งแรกของปีนี้ คาลเท็กซ์มีส่วนแบ่งตลาดผลิตภัณฑ์น้ำมันประมาณ
11% เท่านั้น หรือประมาณครึ่งหนึ่งของเชลล์และเอสโซ่
กระนั้นก็ตาม แท้จริงแล้วภารกิจของสุขวิช ที่เท็กซาโก้มอบหมายให้มาทำให้สำเร็จคือ
การล้อบบี้ผู้นำในรัฐบาลให้เปิดกว้างตั้งโรงกลั่นใหม่
การตัดสินใจของคาลเท็กซ์เมื่อปี 2531 มาเริ่มก่อดอกออกผลในสมัยรัฐบาลชาติชายเมื่อรัฐบาลยอมรับนโยบายเปิดกว้างในเรื่องโรงกลั่นและค้าน้ำมัน
คาลเท็กซ์และเชลล์ต่างได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี ในโครงการที่ยื่นเสนอขอตั้งโรงกลั่นที่ระยองในเขตอุตสาหกรรมพัฒนาชายฝั่งตะวันออก
ภายใต้การส่งเสริมการลงทุนจากบีไอโอ
โรงกลั่นของคาลเท็กซ์จัดตั้งในนามบริษัทสตาร์ปิโตรเลียมรีโฟน์นิ่ง มีปตท.
ถือหุ้น 36% และคาลเท็กซ์ถือหุ้น 64% มีกำลังกลั่นน้ำมันดิบสูงสุดวันละประมาณ
120,000 บาร์เรล
ความใฝ่ฝันของเท็กซาโก้และภารกิจของสุขวิช สำเร็จแล้วครึ่งหนึ่ง เหลืออีกครึ่งหนึ่งเป็นเรื่องการสร้างโรงกลั่น
การสร้างโรงกลั่นเป็นเรื่องง่ายของเท็กซาโก้ที่มีประสบการณ์มายาวนานในหลายประเทศ
แต่ที่เมืองไทยเป็นเรื่องไม่ง่ายเลยสำหรับคาลเท็กซ์
หนึ่ง คาลเท็กซ์ยังไม่มีสถานที่ขนาดประมาณ 1,000 ไร่ที่จะสร้างโรงกลั่นบริเวณในเขตพัฒนาอุตสาหกรรมชายฝั่งทะเลตะวันออกตามเงื่อนไขส่งเสริมของบีโอไอและรัฐบาล
"คาลเท็กซ์ตัดสินใจพลาดที่ไม่จองที่ในนิคมมาบตาพุดก่อนเชลล์" พ่อค้าน้ำมันรายใหญ่รายหนึ่งพูดถึงปัญหาคาลเท็กซ์ในการสร้างโรงกลั่น
สอง คนไทยกำลังตื่นตัวอย่างมากในการต่อต้านโรงงานอุตสาหกรรม ที่อาจมีแนวโน้มส่งผลร้ายต่อความสมดุลย์ของระบบนิเวศน์ของธรรมชาติ
คาลเท็กซ์จะสร้างโรงกลั่นตรงไหน ถึงจะคุ้มค่าต่อการลงทุนและไม่สร้างผลร้ายต่อระบบนิเวศน์
?
สุขวิชหาทางออกด้วยการเข้าหาการนิคม (กนอ) เจ้าของโครงการนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดและระบบสาธารณูปโภคในอีสเทอร์นซีบอร์ด
เพื่อให้ กนอ. เดินเรื่องขออนุญาตสำนักงานสิ่งแวดล้อม (สวท.) และกรมเจ้าท่า
ตั้งโรงกลั่นในทะเลขนาดเนื้อที่ประมาณ 1,000 ไร่ ห่างจากฝั่งประมาณ 1.5 กิโลเมตร
คาลเท็กซ์ฉลาดพอที่จะให้หน่วยราชการเดินเรื่องที่ละเอียดอ่อนแบบนี้ เพราะ
หนึ่ง เอกชนไม่สามารถขออนุญาตถมทะเล เพื่อสร้างสิ่งปลูกสร้างใดๆ ในทะเล สอง
หน่วยราชการด้วยกันเองย่อมพูดกันง่าย
กนอ. จะได้ประโยชน์จากโครงการสร้างโรงกลั่นนี้ของคาลเท็กซ์ ค่าเช่าปีละ
300,000 บาทต่อไร่ หรือประมาณปีละ 300 ล้านบาทต่อ 1,000 ไร่ ขณะที่กรมเจ้าท่าได้ค่าธรรมเนียมปีละ
80 บาทต่อตารางเมตรหรือปีละ 12.8 ล้านบาทต่อ 1,000 ไร่
"เราไม่เห็นด้วยเพราะต้องถมทะเลขนาดพื้นที่ 6 ตารางกิโลเมตร ซึ่งจะทำให้ระบบนิเวศน์ในทะเลและใต้ทะเลเสียหายในวงกว้างตามทิศทางของกระแสน้ำที่พัดจากทิศตะวันตกไปออก
ซึ่งมีสถานีเพาะพันธุ์สัตว์ทะเลของกรมประมงตั้งอยู่ห่างออกไปรัศมี 10 กิโลเมตร
แหล่งเพาะพันธุ์ธรรมชาติปลาหมึกที่อยู่ห่างออกไปรัศมีประมาณ 5 กิโลเมตรบริเวณที่เราเรียกว่าบ้านปากน้ำ
และเกาะเสม็ดแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของระยองที่ห่างออกไปรัศมีประมาณ 22 กิโลเมตร"
แหล่งข่าวในสิ่งแวดล้อมกล่าวอย่างวิตก
ข้อปริวิตกของสวท. สอดคล้องกับผลงานวิจัยของ บริษัทที่ปรึกษาแมนเซลและสินธุเมื่อปี
2525 เรื่อง "การศึกษาแผนแม่บทท่าเรือพาณิชย์สัตหีบ" ที่ทำเสนอต่อกระทรวงคมนาคมผ่านการท่าเรือแห่งประเทศไทย
ซึ่งระบุว่า "ผลกระทบจากการขุดและถมในทะเล จะทำให้เกิดผลเสียหายอย่างมากต่อปะการัง"
ปะการังเป็นที่อยู่อาศัยของปลาชนิดต่างๆ ใต้ทะเลถ้าปะการังเสียหาย ปลาก็อยู่ไม่ได้นั่นหมายความว่าระบบนิเวศน์ทางทะเลได้เกิดความเสียหายขึ้นแล้ว
โครงการถมทะเลเพื่อสร้างโรงกลั่น ทางคาลเท็กซ์ได้ว่าจ้างให้บริษัทอิตัลไทยเป็นผู้ดำเนินการ
วงเงินประมาณ 2,100 ล้านบาท
การสร้างโรงกลั่นในทะเลของคาลเท็กซ์ ถ้าทำได้สำเร็จจะเป็นสิ่งมหัศจรรย์แห่งหนึ่งของโลก
เพราะไม่มีโรงกลั่นที่ไหนในโลกตั้งอยู่ในทะเล เนื่องจากมันเสี่ยงเกินไปต่อโอกาสที่จะเกิดอุบัติเหตุการรั่วไหลของน้ำมันและกากของเสียจากการกลั่นลงสู่ทะเล
"มันจะรุนแรงยิ่งกว่าเรือบรรทุกน้ำมันของเอสโซ่ที่ประสบอุบัติเหตุล่มกลางทะเลเมื่อ
2-3 ปีก่อน" นักสิ่งแวดล้อมในสวท. กล่าว
คาลเท็กซ์อาจจะยังโชคดีอยู่ที่การต่อต้านของกลุ่มอนุรัษ์และชาวประมงยังไม่เกิดขึ้น
เหมือนกับที่โครงการสร้างท่าเรือน้ำลึกของสีชังทองเจอมาแล้วที่เกาะสีชัง
แต่คำถามที่คาลเท็กซ์อาจต้องเผชิญในอนาคตต่อการตัดสินใจสร้างโรงกลั่นในทะเล
คือ หนึ่ง คาลเท็กซ์หาที่สร้างโรงกลั่นบนบกบริเวณในเขตอีสเทอร์นซีบอร์ดแล้วไม่ได้ใช่หรือไม่
จึงต้องสร้างในทะเล
สอง โรงกลั่นที่สร้างห่างจากฝั่งประมาณ 1.5 กิโลเมตรซึ่งมีทิศทางตั้งอยู่หน้าแปลงที่ดินของพงศ์
สารสิน และนายแพทย์ประเสริฐ ปราสาททองโอสถ ทางคาลเท็กซ์จะหาทางออกอย่างไรถ้าเอกชนทั้ง
2 ท่านนี้เกิดร้องต่อกรมเจ้าท่าอ้างสิทธิเหนือกรรมสิทธิ์ที่ดินชายฝั่งโดยอ้างระเบียบกรมเจ้าท่า
ว่าด้วยการรักษาแนวฝั่งน่านน้ำไทยปี พ.ศ. 2526
ที่ระบุว่า "ชายฝั่งที่ติดต่อกับเขตที่ดินตามโฉนด และอยู่ต่ำกว่าเขตแนวฝั่งของน่านน้ำลงมาซึ่งยอมให้เจ้าของที่ดินบนฝั่งขออนุญาตทำการก่อสร้าง
หรือสงวนไว้ไม่ให้ผู้อื่นทำการก่อสร้างสิ่งหนึ่งสิ่งใดได้นั้น คือ ภายในบริเวณเฉพาะหน้าแนวเขตที่ดินตามโฉนดบนฝั่งโดยถือเอาเส้นฉากกับแนวฝั่งผ่านจุดสุดปลายเขตที่ดินแนวฝั่งลงมาในน่านน้ำ"
การตัดสินใจสร้างโรงกลั่นในทะเลของคาลเท็กซ์ครั้งนี้สำคัญยิ่งนักต่ออนาคตของคาลเท็กซ์ในประเทศไทย