ธปท.จับตาซับไพรม์-น้ำมันหวั่นลามกระทบเศรษฐกิจไทย


ผู้จัดการรายวัน(14 พฤศจิกายน 2550)



กลับสู่หน้าหลัก

ผู้ว่าแบงก์ชาติถึงคิวขึ้นเหนือคาดการณ์ภาวะเศรษฐกิจปีหน้า แม้จะมีแนวโน้มดีขึ้น แต่ยังต้องจับตาราคาน้ำมันที่พุ่งสูงต่อเนื่อง และประเด็นปัญหาซับไพรม์ที่อาจลามถึงภาคอสังหาฯของไทย จี้ภาครัฐเร่งพัฒนาด้านสาธารณูปโภค โดยเฉพาะด้านลอจิสติกส์เพื่อช่วยลดต้นทุนการขนส่งรองรับราคาน้ำมันสูงขึ้น ย้ำผู้ส่งออกต้องปรับตัวมากขึ้น และไม่อิงกับค่าเงินมากเกินไป

นางธาริษา วัฒนเกส ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)กล่าวในงานสัมมนา "ทิศทางเศรษฐกิจไทยและการลงทุนหลังการเลือกตั้ง" ในหัวข้อ "ทิศทางเศรษฐกิจไทยและแนวโน้มปีหน้า"ว่า ภาวะเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมาต้องผจญกับปัจจัยลบหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง และความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมถึงเรื่องของค่าเงินบาทที่ผันผวน ราคาน้ำมันที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่ก็ถือเป็นเรื่องที่ดีที่ภาคเอกชนมีการปรับตัวได้ดีมีการเติบโตที่ยั่งยืนโดยเฉพาะการส่งออกปีนี้ถือว่าดีกว่าปีที่แล้วไตรมาส 3 โดยมีการเติบโตถึง 12% จากเศรษฐกิจโลกยังเอื้ออำนวยให้อยู่โดยเฉพาะประเทศจีน

ขณะที่ความต้องการภายในประเทศ ถือว่ายังซบเซาอยู่ ผู้บริโภคยังระมัดระวังที่จะใช้จ่ายเนื่องจากเกิดจากความกังวลทั้งเรื่องของน้ำมันแพง และการเมืองว่าหลังเลือกตั้งแล้วจะเป็นอย่างไร ทำให้ในช่วงนี้จะยังไม่ค่อยมีการใช้จ่ายกันเท่าไหร่ซึ่งส่วนทางกับรายได้ที่ไม่ได้ลดลง รวมถึงในภาคการลงทุนของภาคเอกชนที่ถือว่ายังไม่กระเตื้องเท่าไหร่นัก ถือว่ายังอั้นกันอยู่เพื่อรอความชัดเจน

ส่วนไตรมาสที่ 3 เป็นต้นมาตัวเลขย้อนหลังดีขึ้น ทิศทางชัดเจนดีขึ้นและต้องถือเป็นเครดิตของรัฐบาลที่ผลักดันให้มีการเบิกจ่ายงบประมาณเร็วขึ้น โครงการเมกะโปรเจกต์ต่างๆก้เริ่มทยอยออกมาหลายโครงการและเริ่มเดินหน้าไปบ้างแล้ว ส่วนการลงทุนของภาคเอกชนที่ผ่านมาถือเป็นโอกาสที่ดี ในเรื่องของเปลี่ยนแปลงเครื่องจักรที่ใช้ในการผลิตเนื่องจากค่าเงินบาทที่แข็งขึ้น ทำให้มีความได้เปรียบในการนำเข้าสินค้า

นางธาริษา กล่าวอีกว่า แนวโน้มปี 51 นั้นโดยรวมแล้วเศรษฐกิจน่าจะดีขึ้นแต่ก็ต้องติดตามอย่างใกล้ชิดโดยเฉพาะราคาน้ำมัน และปัญหาซับไพรม์ เพราะทุกอย่างยังมีความผันผวนโดยเฉพาะปัญหาอสังหาริมทรัพย์ที่ต้องรอดูในช่วงถึงรอบต้องจ่ายดอกเบี้ย ก็คงต้องมีปัญหาพอสมควรซึ่งถือเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดอย่างใกล้ชิด

"เรื่องค่าเงินบาทนั้นเชื่อว่าไม่มีใครสามารถคาดเดาได้ว่า มันจะเป็นยังไง แต่คงต้องกลับมาประเมินตัวเองกันมากขึ้นเพราะเท่าที่ผ่านมานักลงทุนมีการประเมินตัวเองน้อยเกินไป ฉะนั้นแนวโน้มจะต้องย้อนกลับมานั่งคิดกันใหม่ประเมินตัวเองกันใหม่ว่าปัจจัยเสี่ยงต่างๆนั้นมีอะไรบ้างและการพึ่งพาต่างประเทศมากเกินไปมีปัญหาอะไรบ้างเมื่อเขาพังเราก็จะพังตาม โดยเฉพาะผู้ส่งออกเองมักจะสนใจแต่เรื่องซื้อๆขายๆเงิน แต่ไม่ได้สนใจในเรื่องของการประกันความเสี่ยงของค่าเงินกันมากนักต่อไปจึงต้องตระหนักในเรื่องนี้ให้มากขึ้นเพื่อเป็นการลดแรงกดดันของค่าเงินในอนาคต"ผู้ว่าการธปท.กล่าว

นางธาริษา กล่าวอีกว่า ด้านการแข่งขันนั้นสำหรับค่าเงินของเราเองถือว่าแข็งอยู่ที่ 6% เศษๆเมื่อเทียบกับประเทศอื่นแล้วของเขาแข็งกว่าเรามากและถือว่าเราก็ยังเกาะกลุ่มกันอยู่ ซึ่งในความเป็นจริงแล้วไม่ควรที่จะเปรียบเทียบค่าเงินบาทกับดอลลาร์สหรัฐแต่ควรไปเปรียบกับในตระกร้าเงินมากกว่า ซึ่งตัววัดที่ดีที่สุดก็คืออัตราแลกเปลี่ยนที่แท้จริงและอัตราเงินเฟ้อที่เราเกี่ยวข้องด้วย

สำหรับการส่งออกในปี 51 นั้นถ้าดูในตัวเลขการส่งออกไปอเมริกาที่ติดลบไปประมาณ 3% อาจเกิดจากอเมริกาเริ่มซื้อของจากไทยน้อยลงแต่ส่วนหนึ่งเกิดจากการปรับตัวของภาคเอกชน ในการกลับกันหากมองไปที่ตลาดแถบยุโรปหรือกลุ่มอียูเกิดใหม่ทั้งหลายปี 50 มียอดส่งออกถึง 70% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีที่แล้วเพิ่มขึ้นถึง 40% อินเดียก็เพิ่ม 60% เทียบกับปีที่แล้วเพิ่ม 18%

"ความท้าทายหลังจากนี้ไป เชื่อว่าน่าจะเป็นบทบาทของภาครัฐ โดยเฉพาะเรื่องของการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่มีการพูดคุยกันมานานโดยเฉพาะด้านการขนส่งหรือลอจิสติกส์ เพื่อเป็นการช่วยลดต้นทุนในภาวะราคาน้ำมันสูง ทั้งนี้ ปัจจัยที่ภาครัฐจะต้องหันมาให้ความสนใจ ไม่ใช่เฉพาะแค่เรื่องการพึ่งพาตัวเลขการส่งออก เพื่อให้มองว่าประเทศเติบโตเพียงอย่างเดียว แต่จะต้องหันมาให้ความสนใจกับการอยู่ดีกินดีของประชาชนควบคู่ไปด้วย"นางธาริษากล่าว


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.