ซับไพรม์ฉุดศก.ยาวอีก7Q


ผู้จัดการรายวัน(14 พฤศจิกายน 2550)



กลับสู่หน้าหลัก

นักเศรษฐศาสตร์ "เจพี มอร์แกน" ชี้ซับไพรม์ยังกระทบต่อเศรษฐกิจสหรัฐอย่างน้อยอีก 7 ไตรมาส ระบุส่วนต่างระหว่างสินทรัพย์กับสินเชื่อครัวเรือนยังมีช่องว่างค่อนข้างมาก เผยตัวเลขคาดการณ์จีดีพี สหรัฐฯ ปีหน้า 2-3.5% ขณะที่อัตราดอกเบี้ยคงตัวในสถานการณ์ปกติ ส่วนกรณีที่ไม่ปกติ GDP ล่อติดลบดอกเบี้ยอาจรูดแตะ 2.75% ผู้จัดการกองทุนเชื่อการเติบโตของจีน-อินเดีย-ญี่ปุ่น พยุงเศรษฐกิจโลก

Mr.Michael Feroli นักเศรษฐศาสตร์สหรัฐอเมริกา บริษัท เจพี มอร์แกน จำกัด กล่าวถึง ภาพรวมเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในปี 2551 ว่า ปัจจัยหลักที่ยังมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงของอัตราการเติบโตเศรษฐกิจสหรัฐฯ ประกอบด้วย ปัญหาภาคอสังหาริมทรัพย์ที่คาดว่าจะส่งยังส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจอีกอย่างน้อย 7 ไตรมาส ในขณะที่ราคาน้ำมันที่ยังอยู่ในระดับสูงจะยังส่งผลต่ออัตราเงินเฟ้ออย่างต่อเนื่อง ซึ่งเรื่องดังกล่าวจะทำให้การปล่อยสินเชื่อภาคอสังหาริมทรัพย์ทำได้ยากขึ้น เพราะสถาบันการเงินไม่ต้องการให้เกิดความเสี่ยงต่อบริษัทเพิ่มมากขึ้น

ทังนี้ ในแง่ของความกังวลต่อผลกระทบที่เกิดจากปัญหาอสังหาริมทรัพย์ ยังเชื่อว่าจะส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจอย่างที่หลายฝ่ายกังวลเนื่องจากจากข้อมูลพบว่า ยอดสินทรัพย์รวมซึ่งรวมถึงการลงทุนในส่วนต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นในหลักทรัพย์ ในพันธบัตร กองทุนรวม กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เงินฝากธนาคาร ฯลฯ ของครัวเรือนในสหรัฐมีมูลค่ารวมกว่า 70 ล้านล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ ในขณะที่สินเชื่อภาคครัวเรือนอยู่ที่ประมาณ 10 กว่าล้านล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐเท่านั้น โดยยังถือว่ามีส่วนต่างระหว่างหนี้สินกับสินทรัพย์รวมค่อนข้างมาก ส่วนสินเชื่อเพื่ออสังหาริมทรัพย์อยู่ในระดับต่ำกว่า 10 ล้านล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ

ส่วนปัญหาเงินเฟ้อนั้น เชื่อว่าไม่ได้เกิดปัญหาจากราคาน้ำมันที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นเพียงอย่างเดียว แต่เป็นผลจากอัตราค่าจ้างบุคคลที่มีอาชีพประจำปรับตัวเพิ่มมากขึ้นทุกปีโดยในปีนี้อยู่ในระดับเกือบ 4% ในขณะที่อัตราค่าจ้างงานบุคคลที่ไม่มีอาชีพประจำเพิ่มขึ้นอยู่ในระดับเกือบ 3.5% ซึ่งถือว่าอยู่ในระดับที่ค่อนข้างส่วนจึงส่งผลต่ออัตราการบริโภคในประเทศจนเป็นเหตุกดดันธนาคารกลางสหรัฐทำให้ไม่สามารถปรับลดอัตราดอกเบี้ยได้

สำหรับบการคาดการณ์ภาพรวมเศรษฐกิจในปีหน้าในสถานการณ์ปกติ ซึ่งอยู่ที่ประมาณ 60% อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจ (GDP) ในไตรมาส4/50 ถึงไตรมาส 3/51 อยู่ที่ 1.0% 2.0% 2.5% และ 3.5% ตามลำดับ ในขณะที่อัตราดอกเบี้ยธนาคารกลางสหรัฐ (Fed funds rate) เชื่อว่าจะคงที่อยู่ในระดับ 4.5%

ทั้งนี้ บนสมมติฐานที่เกิดกรณีหรือปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจอย่างรุนแรงจากเดิมที่คาดว่าอยู่ที่ 10% มาเป็น 25% จะส่งผลกระทบทำให้ GDP ในไตรมาส 4/50 ไม่เติบโต ในขณะที่ GDP ในไตรมาส1-2/51 จะติดลบ 1% ก่อนจะปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 1% ในไตรมาส3/51 ส่วนอัตราดอกเบี้ยของเฟดจะปรับตัวลดลงค่อนข้างรุนแรงเพื่อเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยคาดว่าจะปรับตัวลดลงจาก 4.5% มาอยู่ที่ 3.5% และ 2.75% ตามลำดับ

นอกจากนี้ บนสมมติฐานที่ปัจจัยต่างๆที่เข้ามากระทบไม่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจอย่างที่มีการคาดการณ์ หรืออยู่ในสถานการณ์ที่ดีกว่าที่ควรจะเป็นจะส่งผลทำให้ GDP ในไตรมาส4/50 เติบโตในระดับ 2.5% และในปีหน้าอยู่ที่ 3.2% 3.5% 3.0% ตามลำดับ โดยการเติบโตของเศรษฐกิจที่ดีขึ้นจะส่งผลทำให้มีการปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยจาก 4.5% มาอยู่ที่ 5% ในไตรมาส 2/51

นายวิชชุ จันทาทับ ผู้อำนวยการ ฝ่ายการลงทุนตราสารทุน บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ไทยพาณิชย์ จำกัด กล่าวว่า นักเศรษฐสาสตร์หลายแห่งค่อนข้างเห็นในทิศทางเดียวกันต่อเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาที่อาจจะยังเติบโตในระดับที่ค่อนข้างต่ำ แต่หากจะพิจารณาผลกระทบจากปัญหาสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ด้อยคุณภาพ (ซับไพรม์) ที่เป็นปัจจัยหลักที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจเชื่อว่าแม้ว่าจะเกิดวิกฤตปัญหาซับไพรม์ขึ้นในสหรัฐฯ แต่ในภูมิภาคเอเชียคงไม่ได้รับผลกระทบมากนัก เนื่องจากการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศจีน อินเดีย รวมถึงญี่ปุ่นจะเป็นแรงหนุนให้ปัญหาดังกล่าวไม่ส่งผลกระทบที่รุนแรงต่อเศรษฐกิจโลก

ทั้งนี้ ในภาพของตลาดทุน การไหลของเงินทุนจากสหรัฐอเมริกายังเชื่อว่าจะยังเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งหากเป็นการไหลออกอย่างช้าๆคงไม่ส่งผลกระทบต่อตลาดทุนทั่วโลก แต่หากเกิดการไหลออกอย่างรุนแรงก็น่าจะเกิดผลกระทบที่ตามมาได้ โดยการไหลออกของเงินทุนจากสหรัฐอเมริกาจะทำให้เกิดการย้ายกลับเข้ามาลงทุนในตลาดทุนทั่วเอเชีย

อย่างไรก็ตาม ผลที่เกิดขึ้นในช่วงสั้นอาจจะมีการขายทำกำไรในตลาดหุ้นเอเชียเพื่อป้องกันความเสี่ยงที่เกิดขึ้นหลังตลาดหุ้นในสหรัฐอเมริกาปรับตัวลดลง แต่การขายทำกำไรเชื่อว่าจะเป็นเพียงการถือเงินสดเพื่อรอการกลับเข้ามาลงทุนอีกครั้ง

"เราเห็นไม่ค่อยต่างจากเจพีมอร์แกนเท่าไหร่ แต่ผลที่จะเกิดขึ้นกับตลาดทุนจะเป็นอย่างไรต้องรอดูการไหลออกของเงินทุนจากสหรัฐ ในขณะที่ตลาดหุ้นไทยเรายังมองว่าสิ้นปีดัชนีน่าจะอยู่ที่ประมาณ 920 จุดได้ และจะสามารถปรับตัวไปที่ระดับ 1,000 จุดได้ในช่วงปลายปีหน้า" นายวิชชุ กล่าว


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.