ช่วงเวลาตั้งแต่ปี 2535-2537 นับว่าเป็นเวลาแห่งการลงทุนขยายโครงการต่าง
ๆ ของบริษัทผาแดงอินดัสทรี ผู้ผลิตสังกะสีรายใหญ่ที่สุดของประเทศไทย เพื่อลดความเสี่ยงจากธุรกิจสังกะสซึ่งมีราคาไม่แน่นอน
ผลกระทบจากราคาสังกะสีตลาดโลกปรับตัวลดลง 3% ก็ทำให้ 9 เดือนของปีนี้ยอดขายสังกะสีของผาแดงฯ
ต่ำกว่าประมาณการจากราคาที่ตั้งไว้ 1,300 เหรียญ/ตัน ขายได้เพียงราคาสังกะสีที่
1,000 เหรียญ/ตันเท่านั้น ทำให้กำไรลดลงและคาดว่ากว่าราคาสังกะสีโลกจะปรับฟื้นตัวจะต้องใช้เวลาอีกสองปีตามวัฎจักร
ดังนั้น ผู้บริหารผาแดงฯ จึงต้องขยายการลงทุนใหม่ ๆ โครงการใหญ่โครงการหนึ่งที่ผาแดงฯ
เป็นแกนนำการลงทุน คือ โครงการผลิตปุ๋ยแห่งชาติ ซึ่งนับตั้งแต่เริ่มเกิดโครงการปุ๋ยแห่งชาติขึ้นมา
9 ปีแล้วยังไม่มีความคืบหน้าเลย
แต่ครั้งนี้กลุ่มบริษัทผาแดงฯ ตัวหลักจะถือหุ้น 25% โดยร่วมทุนกับบรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมฯ
สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ธนาคารกรุงไทย การปิโตรเลียมฯ และบริษัทปิโตรเคมีแห่งชาติ
ทั้ง 6 สถาบันนี้จะถือหุ้นในสัดส่วน 75% ซึ่งทำให้มีอำนาจในการบริหาร โดยเข้าไปลงทุนในส่วนของหุ้นเพิ่มเติมจากเดิม
184 ล้านบาท เป็น 650 ล้านบาท และมีโครงการจะเพิ่มทุนไปถึง 2,250 ล้านบาทซึ่งหุ้นส่วนที่เพิ่ม
5.66 ล้านหุ้นนี้ตรามูลค่าไว้หุ้นละ 100 บาท
"ถ้าโครงการนี้ได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการปุ๋ยเคมีแห่งชาติ ก็จะเริ่ดมำเนินการทันทีและคาดว่าจะแล้วเสร็จในระยะเวลา
3 ปี อย่างไรก็ตาม หากทางกลุ่มไม่ได้รับอนุมัติ เราก็พร้อมที่จะให้รัฐบาลดำเนินการต่อไป"
ประวิทย์ คล่องวัฒนกิจ กรรมการผู้จัดการบริษัทผาแดง อินดัสทรีเล่าให้ฟัง
ผลจากการที่ให้กลุ่มผาแดงฯ เข้าซื้อหุ้นเพิ่มทุนเป็น 650 ล้านบาทนี้ จะทำให้บริษัทศรีกรุงวัฒนา
ผู้ถือหุ้นเดิมมีสัดส่วนการถือหุ้นลดลงเหลือเพียง 5% เนื่องจากศรีกรุงไม่รับหุ้นเพิ่มทุนครั้งนี้
"ผมเชื่อว่า โครงการปุ๋ยนี้จะลดวงเงินลงทุนได้มาก เมื่อกลุ่มผาแดงฯ
เข้าร่วมถือหุ้นเพราะสามารถใช้วัตถุดิบจากกรดกำมะถันจากโรงงานถลุงทองแดงของผาแดงฯ
หรือก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากโรงแยกก๊าซของ ปตท. แทนที่จะใช้ก๊าซธรรมชาติที่มีต้นทุนสูง
ซึ่งจะมีผลให้เงินลงทุนที่คาดไว้เดิม 14,000 ล้านบาทลดลงเหลือต่ำกว่าหมื่นล้าน"
ประเสริฐ ตั้งตรงศักดิ์ กรรมการบริหารบริษัทศรีกรุงวัฒนาให้ความเห็น
นอกจากโครงการปุ๋ยแห่งชาติแล้ว ปีนี้ผาแดงฯ ยังมีโครงการลงทุนเพื่ออนาคตอีก
โดยขยายธุรกิจไปยังการทำเหมืองแร่ทองคำอีกด้วย ทั้งนี้ เมื่อ 5 พ.ย.ที่ผ่านมา
ทางกระทรวงอุตสาหกรรมได้อนุมัติสัมปทานสำรวจและทำเหมืองแร่ทองคำ 4 แห่งในเขตอีสานภาคเหนือ
จังหวัดเลย หนองคาย และอุดรธานี แก่กลุ่มบริษัทของผาแดงฯ ได้แก่ บริษัทผาคำ
อ็กซ์พลอเรชั่นแอนด์ไมนิ่ง (เป็นโครงการร่วมทุนกับบริษัท CRAE แห่งออสเตรเลีย)
บริษัทผาทองเอ็กซ์พลอเรชั่นแอนด์ไมนิ่ง และบริาททุ่งคาฮาเบอร์ ทั้งสามบริษัทจะจ่ายเงินตอบแทนรัฐประมาณ
16 ล้านบาท
แต่การทำเหมืองแร่ทองคำนี้ต้องใช้เวลาสำรวจถึงสองปีในแปลงพื้นที่ที่ได้รับสัมปทาน
โดยใช้เงินลงทุนในการจ้างบริษัทเอกชนสำรวจถึง 50 ล้านบาทและหากผลสำรวจมีความเป็นไปได้
ทางบริษัทผาทองฯ ก็จะยื่นขอประทานบัตรเพื่อเข้าทำเหมืองทองคำ โดยจะต้องแบ่งผลประโยชน์ในรูปของผลผลิตและให้สิทธิรัฐเข้าถือหุ้นของบริษัทในราคาพาร์ได้
"การแบ่งผลประโยชน์เมื่อบริษัทดำเนินการแล้ว ให้คิดอัตราค่าภาคหลวงในเวลานั้น
เช่น ถ้ารัฐเก็บอัตราค่าภาคหลวง 1% หรือถ้าค่าภาคหลวง 5% จะแบ่งผลผลิตให้รัฐ
0.5% และให้รัฐเข้าซื้อหุ้นได้ 3.5% หรือถ้าค่าภาคหลวงลดลงเหลือ 1% แบบเดียวกับอินโดนีเซียและมาเลเซีย
ทางบริษัทจะแบ่งผลผลิตให้ 2% และให้รัฐถือหุ้น 10% ซึ่งการเข้าซื้อหุ้นนี้รัฐสามารถนำผลผลิตที่จะได้มาคิดและหักจ่ายแทนเงินที่จะนำเงินมาชำระหุ้นได้"
ประวิทย์ กรรมการผู้จัดการผาแดงฯ กล่าวถึงการแบ่งผลประโยชน์
อีกโครงการหนึ่งที่ผาแดงเตรียมการไว้สำหรับการผลิตปีหน้าก็คือ โรงงานผลิตเหรียญตัวเปล่าป้อนกรมธนารักษ์
กระทรวงการกคลังในนามของบริษัทผาแดงพุงซานเมททัลล์ ซึ่งผาแดงได้ร่วมลงทุนกับบริษัทพุงซาน
คอร์ปอเรชั่นแห่งเกาหลีใต้ ได้เซ็นสัญญากู้เงินจำนวน 400 ล้านบาทจากบรรษัทเงินทุน
(ไอเอฟซีที) ซึ่งเป็นแกนนำร่วมกับแบงก์กรุงเทพ กรุงไทย และนครหลวงไทย ก่อนหน้านี้บริษัทได้กู้เงินต่างประเทศอีก
50 ล้านเหรียญ เพื่อใช้ดำเนินการซึ่งคาดว่าจะเริ่มผลิตได้ในปี 2535
โครงการร่วมลงทุนสำคัญอื่น ๆ ที่บ่งบอกอนาคตของกลุ่มผาแดงส่วนใหญ่ยังมีแตกแขนงออกไปอีกมากมาย
เช่น
หนึ่ง - โครงการขยายการผลิตแร่สังกะสี โรงที่สอง ซึ่งจะเริ่มผลิตได้ในปี
2537 ใช้เงินลงทุน 200-300 ล้านเหรียญสหรัฐ เป็นโครงการร่วมทุนระหว่างผาแดงฯ
กับเอ็มจี ในสัดส่วน 51 : 49 โครงการนี้คาดว่าจะคืนทุนได้ต้องใช้เวลา 4 ปี
สอง - โครงการก่อสร้างโรงถลุงกากแคดเมียม ซึ่งเป็นผลพลอยได้จากโรงถลุงแร่สังกะสี
ที่จะเพิ่มรายได้ให้ผาแดงฯ ประมาณ 100-200 ล้านบาท
นอกจากนี้ ผลพลอยได้จากการถลุงสังกะสีด้วยแร่ซัลไฟด์ จะได้กรดซัลเฟอร์ออกมาประมาณ
600,000 ตัน/ปี ทำให้ผาแดงฯ ลงทุนในโรงแยกแร่ซัลไฟด์ด้วย กรดซัลเฟอร์นี้จะเป็นตัวประกอบในอุตสาหกรรทอผ้าและผลิตปุ๋ย
ซึ่งระยะแรกจะขายให้บริษัทเอเชียไฟเบอร์ กว่าจะดำเนินการเสร็จผลิตได้ในปี
2538
ในส่วนของการผลิตแร่คาโปแลคตัม ผาแดงฯ ได้เตรียมจะลงทุน 20% ของทุนจดทะเลียน
1,000 ล้านบาท โดยตั้งเป้าว่า จะมีกำลังผลิต 100,000 ตัน/ปี คาโปแลคตัมจะเป็นตัวประกอบในอุตสาหกรรมทอผ้าและผลิตปุ๋ยด้วย
สาม - โครงการโรงถลุงแร่ทองแดง ซึ่งทุนจดทะเบียน 300-400 ล้านเหรียญสหรัฐ
ประมาณการของกำลังผลิตในปี 2538 มีปริมาณถึง 100,000-150,000 ตัน/ปี
ทั้งสามโครงการไม่ว่าจะเป็นโรงถลุงทองแดง โรงถลุงสังกะสี และโรงแยกแร่ซัลไฟด์นี้
จะตั้งขึ้นในนิคมอุตสาหกรรมของผาแดงฯ เองที่มาบตาพุด เนื้อที่ 500 ไร่
"การที่บริษัทสร้างนิคมขึ้นมาก็เพื่อใช้กิจการผาแดงฯ ไม่ได้ผิด พ.ร.บ.การนิคมฯ
เราจะสร้างท่าเรือที่ต้องใช้เงินลงทุนกว่าพันล้านบาท เมื่อสร้างท่าเรือเสร็จก็ต้องตกเป็นสมบัติของ
กนอ. และผาแดงฯ ก็เสีย่าเช่าตามระเบียบ ไม่ได้มีอภิสิทธิ์ตามที่มีผู้กล่าวหา"
ประวิทย์ กรรมการผู้จัดการผาแดงฯ เล่าให้ฟัง
สี่ - โครงการพัฒนาที่ดินบริเวณริมแม่น้ำเจ้าพระยา บนเนื้อที่ 3 ไร่ครึ่ง
ซึ่งซื้อมาด้วยราคา 112.6 ล้านบาท แต่โครงการนี้ยังหาผู้ร่วมลงทุนอยู่
ห้า - โครงการเหมืองแร่โปแตชของกลุ่มอาเซียนและกรมทรัพยากรธรณี ซึ่งบริษัทจะร่วมทุนไม่เกิน
10% ของทุนจดทะเบียน
หก - การสำรวจแหล่งแร่สังกะสีและแร่อื่น ๆ ในประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งขณะนี้แนวสำรวจเขตชายแดนไทย-พม่า
มีความเป็นไปได้ถึงแหล่งแร่สังกะสีขนาดใหญ่และมีศักยภาพสูงใช้ได้อีกนาน รวมทั้งในประเทศลาวซึ่งได้เปิดประตูให้ผาแดงฯ
เข้าไปสำรวจแหล่งแร่ได้
โครงการลงทุนเพื่ออนาคตทั้งหมดนี้ประมาณกันว่าต้องใช้เงินลงทุนไม่ต่ำกว่า
40,000 ล้านบาท ซึ่งจะมาจากการกู้ยืมเงินและการเพิ่มทุนอีกในอนาคตตามนโยบายการจัดหาทุนในอัตราส่วนหนี้สิน
: ส่วนผู้ถือหุ้น 2 : 1 หรือ 3 : 1 ขณะนี้ทุนจดทะเบียนของผาแดฯ 1,200 ล้านบาท
บริษัทผาแดงอินดัสทรีมียอดขายสังกะสีรวมปีที่แล้ว 3,103 ล้านบาท แต่ปีนี้คาดว่าจะได้เพียง
2,432 ล้านบาท กำไรต่อหุ้นปีที่แล้ว 19.50 บาท แต่ปีนี้อาจได้ต่ำเพียงหุ้นละ
8.21 บาท เนื่องจากผันผวนตามราคาตลาดสังกะสีโลกและถ้าราคาสังกะสีโลกอยู่ในช่วงตันละ
1,200-1,350 เหรียญสหรัฐ เป็นที่คาดว่า P/E RATIO ของผาแดงฯ ในปีหน้าจะมีค่าประมาณ
14.70
แต่กว่าที่โครงการลงทุนมูลค่าไม่ต่ำกว่าสี่หมื่นล้านจะดำเนินการได้จริงจังก็ล่วงเข้าไป
2535-2537 อะไร ๆ ก็มีสิทธิ์เกิดหรือไม่เกิดได้ทั้งนั้น ดังนั้น สิ่งที่เป็นจริง
คือ เวลา ณ ปัจจุบันที่ผาแดงฯ ยังมีธุรกิจเพียงตัวเดียว คือ สังกะสีที่ยังเอาแน่นอนเรื่องราคาได้ยาก
อนาคตผาแดงฯ จะแรงฤทธิ์หรือสิ้นฤทธิ์น่าจับตา !!!