เซ็นสัญญาโรงกลั่นเชลล์ ชัยชนะของคาลเท็กซ์...!

โดย วิลาวัณย์ วิวัฒนากันตัง
นิตยสารผู้จัดการ( ธันวาคม 2534)



กลับสู่หน้าหลัก

กว่าฝันจะเป็นจริง...! 26 เดือนกับ 24 วันที่ ม.ร.ว.สฤษดิคุณ กิติยากร ต้องใช้ความอดทนต่อสู้อย่างยากเข็ญกว่าจะได้เซ็นสัญญาสร้างโรงกลั่นเชลล์เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2534 เฉียดเส้นตายที่ถูกขีดไว้เพียง 3 วัน แต่คาลเท็กซ์กลับกลายเป็นผู้ชนะ เพราะจะได้สร้างโรงกลั่นที่สูงขึ้น ทั้งที่เชลล์ยืนหยัดปฏิเสธข้อเสนอเหล่านี้อย่างแข็งขันมาตลอด...!

งานเซ็นสัญญาสร้างโรงกลั่นใหม่ระหว่างบริษัท เชลล์แห่งประเทศไทย จำกัด (เชลล์) กับ กระทรวงอุตสาหกรรมเมื่อบ่าย 15.00 น. ในวันที่ 30 ตุลาคม 2534 นั้นกลายเป็นวันประวัติศาสตร์ที่ต่างฝ่ายต่างความรู้สึก

คนที่รู้สึกโล่งอกเป็นที่สุด คงจะเป็นศิววงศ์ จังคศิริ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมในฐานะที่เป็นหัวเรือใหญ่พิจารณาตั้งโรงกลั่นใหม่ของประเทศ จะเห็นว่ายิ้มแย้มแจ่มใสเป็นพิเศษตลอดงาน และกุลีกุจอต้อนรับขับสู้แขกผู้ใหญ่อย่างไม่รู้เหน็ดเหนื่อย ขณะที่ ม.ร.ว.สฤษดิคุณ กิติยากร หรือคุณชายไก่ กรรมการผู้จัดการของเชลล์ยังดูเครียดขรึม ไร้รอยยิ้มทั้งที่ฝันของตัวเองเริ่มเป็นจริง

ภายใต้บุคลิกที่ดูจริงจังกว่าปกติของ ม.ร.ว.สฤษดิคุณ ไม่เพียงแต่เป็นเครื่องหมายบอกชี้ว่าความหวังที่เริ่มเป็นจริงขึ้นมากับการต่อสู้แบกหมัดบนเวทีเจรจาอันยาวนานถึง 24 เดือน 26 วัน จนแทบจะตกม้าตายในตอนจบเอาง่าย ๆ นั้น ไม่ได้ทำให้เขาหายเหนื่อยเป็นปลิดทิ้ง แต่กลับจะเป็นงานหนักที่จะต้องทำการบ้านอีกมาก โดยเฉพาะการรอเจรจาใช้สาธารณูปโภคร่วมกับบริษัท น้ำมันคาลเท็กซ์ (ไทย) จำกัด (คาลเท็กซ์) ไปพร้อม ๆ กัน

ทั้งที่ ม.ร.ว.สฤษดิคุณปฏิเสธข้อเสนอเหล่านี้มาตลอด ไม่ว่าจะเป็นการสานประโยชน์กับคาลเท็กซ์ในรูปใดก็ตาม

เป้าหมายของเชลล์แต่เดิมนั้น ม.ร.ว.สฤษดิคุณฟันฝ่าขอเป็นผู้ชนะสร้างโรงกลั่นแห่งใหม่แต่ผู้เดียว...!

จะเห็นว่า เชลล์เสนอชื่อเข้าชิงดำเพื่อสร้างโรงกลั่นใหม่เป็นแห่งที่ 4 ของประเทศตามประกาศเชิญชวนสร้างโรงกลั่นเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2532 จากโรงกลั่นที่มีอยู่แล้ว 3 โรง คือ โรงกลั่นบางจาก ไทยออยล์ และเอสโซ๋ คู่ชิงก็มีคาลเท็กซ์ ส่วนบีพีนั้นตกรอบไม่เข้าข่ายพิจารณาเพราะเสนอไม่ตรงเงื่อนไขที่ประกาศ

หัวใจของ ม.ร.ว.สฤษดิคุณพองโตเมื่อที่ประชุมอนุกรรมการนโยบายปิโตรเลียม (บอร์ดเล็ก) ซึ่งมีกร ทัพพะรังสี รัฐมนตรีสำนักนายกรัฐมนตรีในสมัยนั้นเป็นประธาน ได้มีมติให้เชลล์เป็นผู้ชนะด้วยคะแนน 96.42 ทิ้งห่างคาลเท็กซ์ที่ได้เพียง 83.07 คะแนนจากคะแนนเต็มร้อย เชลล์จึงเป็นต่อทุกขุม

แต่งานนี้คาลเท็กซ์ก็แพ้ไม่ได้ สุขวิช รังสิตพล ผู้จัดการใหญ่จึงเดินแผนลอบบี้ ผ่านประมวล สภาวสุ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมและส่งเรื่องต่อไปยังนายกชาติชาย ประธานที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (บอร์ดใหญ่) ในตอนนั้น กระทั่งได้อนุมัติให้คาลเท็กซ์ตั้งโรงกลั่นได้เป็นแห่งที่ 5 ในที่ประชุมเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2533

ทั้งเชลล์และคาลเท็กซ์เลยได้รับอนุมัติให้สร้างโรงกลั่นทั้งคู่...!

ม.ร.ว.สฤษดิคุณที่เคยยิ้มรื่นอย่างมั่นใจว่าตนจะเป็นผู้กำชัยสร้างโรงกลั่นแต่เพียงรายเดียวจึงยิ้มไม่ออกมาตั้งแต่นั้น...!

เพราะคาลเท็กซ์ไม่เพียงแต่ได้รับอนุมัติให้สร้างโรงกลั่นแห่งที่ 5 เท่านั้น แต่จะสร้างในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดเช่นเดียวกับเชลล์ ทั้งสุขวิชยังบอกว่า น่าจะสร้างเป็นโรงกลั่นแฝดจะดีกว่า เมื่อโดนโต้กลับจากเชลล์ก็เสนอใหม่ว่า ที่จริงไม่ใช่สร้างแฝดแต่สร้างให้ใกล้กัน เพื่อประโยชน์สูงสุดในการลงทุน

ถึงขนาดอ้างตัวเลขของฟอสเตอร์ วีลเลอร์ คอนซัลสแตนท์ว่า ถ้าสร้างใกล้กัน ใช้สาธารณูปโภคร่วม เช่น ระบบท่อจากเรือถึงโรงกลั่น จะประหยัดได้ฝ่ายละ 50 ล้านเหรียญสหรัฐเป็นอย่างน้อย

หลายครั้งเข้า ม.ร.ว.สฤษดิคุณก็ประกาศตอบโต้อย่างแข็งกร้าวว่า เชลล์ไม่ได้ศึกษามาเผื่อใครทั้งนั้น สุขวิชก็หยุดเสนอและพูดถึงแนวคิดที่จะสานประโยชน์ในการลงทุนร่วม

นั่นเพราะเชลล์มั่นใจถึงความพร้อมในการลงทุนของตนทุกประการ...!

แต่ความแน่นอนก็คือความไม่แน่นอน...!

2 สิงหาคม 2533 เกิดวิกฤตอ่าวเปอร์เซียทำให้เศรษฐกิจทั่วโลกผันแปร เมื่อปัจจัยแวดล้อมเปลี่ยน เงื่อนไขเปลี่ยน ทำให้ต้นทุนค่าก่อสร้างโรงกลั่นสูงขึ้นอย่างพรวดพราดเช่นเดียวกับธุรกิจอื่นที่ได้ผลกระทบอย่างทั่วถึง

ทำให้เชลล์ไม่อาจจะเซ็นสัญญาได้ภายในปี 2533 เพื่อให้โรงกลั่นเสร็จภายในปี 2537 ซึ่งเป็นกำหนดเดิม

เพราะเมื่อต้นทุนสูงขึ้น ความเสี่ยงก็สูง เรียกว่าการสร้างโรงกลั่น ซึ่งเป็นเหมือนเค้กก้อนโตที่จะชิงกันเป็นเจ้าของ ทั้ง ม.ร.ว.สฤษดิคุณ และสุขวิชก็เริ่มชะลอแผนเจรจา โดยเชลล์ได้เสนอเลื่อนเวลาก่อสร้างออกไป

พอเริ่มปี 2534 ก็มีข่าวออกมาเป็นระยะว่า เชลล์และคาลเท็กซ์จะร่วมทุนกันสร้างโรงกลั่นให้เหลือเพียงโรงกลั่นเดียวบ้าง บริษัทแม่ของทั้ง 2 แห่งไฟเขียวหลักการแล้วบ้าง

แต่เพียงไม่กี่วัน ทั้งเชลล์และคาลเท็กซ์ต่างก็ออกมาปฏิเสธกันคนละทางสองทาง ฝ่าย ม.ร.ว.สฤษดิคุณบอกว่า ปรัชญาการสร้างโรงกลั่นต่างกัน ขณะที่สุขวิชบอกว่า เป็นเพราะเชลล์ไม่ตกลง ทั้งที่ตนเห็นว่าควรร่วมมือกัน

ถ้าเปรียบเทียบเทคนิคการกลั่น เชลล์จะใช้ระบบอินเตอร์มีเดียต อัพเกรทดิ้ง ซึ่งจะกลั่นดีเซลได้มากกว่าเบนซิน กำลังการกลั่น 145,000 บาร์เรลต่อวัน ส่วนคาลเท็กซ์จะใช้ระบบเรสิดิว ฟลูอิต แคตตาไลติ้ง แครกเกอร์หรืออาร์เอฟซีซี โดยจะกลั่นเบนซินได้มากกว่าขนาด 120,000 บาร์เรลต่อวัน

เมื่อการร่วมทุนสร้างโรงกลั่นขนาดใหญ่ของทั้ง 2 บริษัทเป็นแค่วิมานในอากาศ ม.ร.ว.สฤษดิคุณก็ต้องเดินหน้าเจรจาต่อ แม้จะเป็นเส้นทางที่แสนจะขลุกขลักก็ตาม

เชลล์ได้ขอผ่อนปรนเงื่อนไขว่า ให้เลื่อนกำหนดสร้างโรงกลั่นเสร็จออกไปอีก 1 ปี คือ จากปี 2537 เป็นปี 2538 และขอยืดเวลาในการนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งควรเข้าเมื่อมีกำไร ทั้งยังเสนอไม่ต้องเสียภาษี 2% สำหรับผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในโรงกลั่นและโรงปิโตรเคมี

เมื่อปัจจัยทั้งภายนอกคือภาวะเศรษฐกิจที่เปลี่ยนไป และปัจจัยภายในคือเปลี่ยนจากรัฐบาลชาติชายมาเป็นรัฐบาลอานันท์แล้ว ก็ได้ผ่อนปรนเงื่อนไขให้สอดคล้องกับความเป็นจริงมากขึ้น

ที่ประชุมบอร์ดใหญ่ ซึ่งมีนายกอานันท์เป็นประธานโดยตำแหน่งได้อนุมัติตามที่เชลล์เสนอ และให้ส่งเสริมการลงทุนซึ่งจะได้รับยกเว้นภาษีนำเข้าเครื่องจักร อุปกรณ์ทั้งหมดเมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม

เดิมเชลล์ได้รับการส่งเสริมจากบีโอไอตามเงื่อนไขประกาศเชิญชวนสร้างโรงกลั่นใหม่ตามที่กำหนดไว้ครั้งแรก แต่เมื่อชาติชายได้อนุมัติให้คาลเท็กซ์ตั้งโรงกลั่นได้ชนิดฟ้าผ่าวงการ ซึ่งตอนนั้นรัฐบาลได้ประกาศลดภาษีนำเข้าเครื่องจักรให้เหลือเพียง 5% ทำให้เชลล์ต้องรับเงื่อนไขหลัง

แม้จะลดภาษีนำเข้าเครื่องจักร 5% ที่จริงในการเสียภาษี โรงกลั่นจะต้องเสียภาษีมากกว่านี้ เช่น ภาษีการค้า ภาษีเทศบาล รวมประมาณ 17% กว่า ซึ่งลดไปจากฐานที่ต้องเสียภาษีประมาณครึ่งหนึ่ง แต่ถ้าได้บีโอไอไม่ต้องเสียภาษีนำเข้าเลย เพราะเครื่องจักรส่วนใหญ่ต้องนำเข้าอยู่แล้ว

เมื่อบอร์ดใหญ่ให้เชลล์ได้บีโอไอ เท่ากับว่าเชลล์ได้สิทธิประโยชน์ตามที่ประกาศไว้แต่แรก

พร้อมกันนั้น เชลล์ก็ได้เซ็นสัญญาเช่าที่ดินจากการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เป็นพื้นที่บนบก 266 ไร่ ราคา 34,300 บาทต่อไร่ และพื้นที่ทะเลซึ่งจะต้องถมออกไปประมาณ 510 ไร่

ด้านสุขวิช หลังจากที่ กรอ.รอแล้วรอเล่าให้ไปติดต่อเรื่องขอเช่าและใช้พื้นที่นิคมก็ได้เข้าชี้แจงต่อสมเจตน์ ทิณพงษ์ ผู้ว่า กนอ. ว่า จะขอลงทุนและดำเนินการถมทะเลเองทั้งหมดประมาณ 970 ไร่

ที่ผ่านมา เชลล์ตั้งท่าว่าจะเซ็นสัญญาสร้างโรงกลั่นอยู่หลายครั้ง แต่ไป ๆ มา ๆ เชลล์กับบริษัทแม่ก็ตกลงกันไม่ได้เสียที จนคำพูดทั้งของ ม.ร.ว.สฤษดิคุณและสิปปนนท์ เกตุทัต รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมที่ผลัดกันออกมายืนยันว่า จะเซ็นสัญญาได้เมื่อนั้นเมื่อนี้ กลายเป็นลมปากที่เหมือนจะเป็นคำพูดเล่น ๆ มากกว่า

กระทั่งวันที่ 28 สิงหาคม ที่ประชุมบอร์ดใหญ่ได้อนุมัติให้แก้ไขร่างสัญญามีสาระสำคัญดังนี้

1. เปลี่ยนชื่อบริษัทที่ดำเนินการโรงกลั่นจาก "บริษัท โรงกลั่นน้ำมันระยองเชลล์ จำกัด" เป็น "บริษัท โรงกลั่นน้ำมันระยอง จำกัด"

2. ให้นำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ภายในปี 2543 และให้พิจารณาร่วมกันระหว่างเชลล์และการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย (ปตท.)

3. ให้ยกเว้นภาษี 2% สำหรับผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในโรงกลั่นและปิโตรเคมี แต่ไม่ยกเว้น 2% ของรายได้ที่บริษัทจะต้องจ่ายให้รัฐ

4. เงินอุดหนุนแก่รัฐบาล 350 ล้านบาทให้จ่ายในนามบริษัท โดย ปตท.ไม่ต้องรับผิดชอบ

25 กันยายน เบอร์ตลอตเกอริ่ง ผู้ประสานงานด้านโรงกลั่นของเชลล์ได้เข้าพบศิววงศ์ ซึ่งทำให้เข้าใจรายละเอียดในสัญญาพ้องกันมากขึ้น

แต่ก็ยังไม่มีใครแน่ใจว่า จะเซ็นสัญญากันได้เมื่อไหร่ ม.ร.ว.สฤษดิคุณก็ต้องรอให้ทางบริษัทแม่ไฟเขียว ซึ่งมีแนวโน้มว่า อาจจะไม่ได้รับอนุมัติ เนื่องจากหลังวิกฤติอ่าวเปอร์เซียสงบ เชลล์บริษัทแม่ต้องไปลงทุนบูรณะฟื้นฟูโรงกลั่นในคูเวตมาก

มัวแต่ชักช้า ไม่ตัดสินใจเซ็นกันสักที ไพจิตร เอื้อทวีกุล ประธานบอร์ดเล็กทนรอไม่ได้ เลยประกาศไปก่อนหน้านี้แล้วว่า "หากเชลล์และคาลเท็กซ์มีปัญหา ไม่พร้อมที่จสร้างโรงกลั่นก็ไม่ใช่เรื่องใหญ่ เพราะมี ปตท.พร้อมที่จะลงทุนอยู่แล้ว" ทำให้สุขวิชเข้ายืนยันต่อกระทรวงอุตสาหกรรมว่า ตนยังพร้อมที่จะสร้างโรงกลั่น ฝ่ายเลื่อน กฤษณกรี ผู้ว่าปตท. ก็ตอบรับทันที

คำประกาศของไพจิตร ทำให้ทั้งเชลล์และคาลเท็กซ์รู้ว่า รัฐบาลก็มีไม้เด็ดและไม้ตายอยู่ในมือด้วย มิใช่จะปล่อยให้เรื่องยืดเยื้อคาราคาซังอย่างไร้จุดจบ

ส่วนปัญหาเรื่องต้นทุนค่าก่อสร้างที่สูงขึ้นนั้น ไพจิตรเสนอว่ามีทางที่จะลดต้นทุนได้โดยใช้สาธารณูปโภคร่วมกัน เช่น ท่าเรือ ท่อน้ำมันจากท่าเรือถึงโรงกลั่น

โดยเฉพาะเมื่อวันที่ 2 ตุลาคม สิปปนนท์ เจ้าสำนักกระทรวงอุตสาหกรรมทำหนังสือถึงเชลล์ว่า กำหนดเวลาให้ตอบภายใน 1 เดือนว่าพร้อมที่จะสร้างโรงกลั่นตามที่ได้รับอนุมัติไปหรือไม่

หมายความว่าภายในวันที่ 2 พฤศจิกายน เชลล์จะต้องมีคำตอบที่ชัดเจนให้กับสิปปนนท์ มิฉะนั้นแล้ว จะถูกริบเงินค้ำประกัน 400 ล้านบาทแน่

แม้จะถูกขีดเส้นตายขนาดนี้ ม.ร.ว.สฤษดิคุณก็ยังบอกชัดไม่ได้ว่า โรงกลั่นเชลล์จะเกิดได้หรือไม่ เพราะโดยส่วนตนแล้ว อยากเห็นเชลล์มีโรงกลั่นในไทย แต่เมื่อปัจจัยต่าง ๆ โดยเฉพาะภาวะเศรษฐกิจเปลี่ยนไป ทำให้เชลล์บริษัทแม่ไม่มั่นใจว่าลงทุนในไทยแล้วจะคุ้มหรือไม่

ม.ร.ว.สฤษดิคุณ จึงบินไปลอนดอนเป็นเที่ยวสุดท้ายก่อนที่จะได้รับข้อสรุปใหม่เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม ซึ่งก็ได้ไฟเขียวจากบริษัทแม่โดยเห็นด้วยที่จะให้ใช้สาธารณูปโภคร่วมกับคาลเท็กซ์ จึงไม่รอช้าที่จะโทรแจ้งด่วนมายังไพจิตรในวันรุ่งขึ้น และกำหนดเอาวันที่ 30 เดือนเดียวกันเซ็นสัญญาสร้างโรงกลั่น

คุณชายไก่ในวงการน้ำมันจึงยังคงอยู่ในเสาหลักของเชลล์ เพราะหากบริษัทแม่ไม่ให้เซ็นโครงการสร้างโรงกลั่นล้ม เขาคงลาออกจากเชลล์

แต่กว่าจะตกลงกันได้ก็ทำเอาหืดขึ้นคอไปตาม ๆ กัน...!

ภาพทุกลักทุเลที่เกิดขึ้น พูดได้ว่าเป็นการแพ้ภัยตัวเองของเชลล์ ความที่เชลล์เป็นบริษัท MULTINATIONAL และมีระบบมาตรฐานของตนทั่วโลกนั้นเป็นทั้งข้อดีและข้ออ่อน

ด้านหนึ่งทำให้เชลล์ซึ่งเป็นบริษัทข้ามชาติสามารถใช้ระบบการบริหารการจัดการแบบเดียวกันและกระจายบทบาทไปในภูมิภาคต่าง ๆ ในลักษณะที่ทัดเทียมกัน โดยพยายามให้แต่ละพื้นที่ในโลกที่ตนไปลงทุนยืดหยุ่นในเชิงธุรกิจได้มาก

โดยทั่วไปแล้ว บริษัทแม่จะให้น้ำหนักการจัดการแก่ผู้บริหารระดับสูงในประเทศนั้น แต่การตัดสินใจจะขึ้นกับเชลล์บริษัทแม่ ถ้าเป็นเรื่องเทคนิคอำนาจชี้ขาดอยู่ที่กรุงเฮก เรื่องการเงินจะอยู่ที่ลอนดอน และจะมีบอร์ดใหญ่เป็นผู้ประสานงานหลักในารวางแผนการลงทุนทั่วโลกในแต่ละปี

สำหรับขณะนี้ ภูมิภาคเอเชียเป็นพื้นที่เดียวในโลกที่มีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจสูง ไม่ใช่แต่แถบเอเชียอาคเนย์เท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงภูมิภาคอินโดจีน ซึ่งจะกลายเป็นพื้นที่ขยายตัวสำคัญต่อไปจากย่านเอเชียอาคเนย์ในอนาคตอันใกล้ โดยมีไทยเป็นหน้าด่าน

ภาวะเศรษฐกิจในช่วงปี 2534-2538 จะขยายตัวน้อยมาก โดยเฉพาะแถวยุโรป อเมริกาล้วนแต่มีอัตราเติบโตติดลบ

ภูมิภาคเอเชียจึงเป็นแผ่นดินทองสำหรับแผนการขยายการลงทุนของประเทศทั่วโลก...!

แต่จะมีแผนลงทุนมากน้อยขนาดไหนนั้น ขึ้นกับภาวะเศรษฐกิจในแต่ละช่วง สำหรับเรื่องโรงกลั่นที่เชลล์จะสร้างในไทยตรงช่วงที่มีผลกระทบจากวิกฤติอ่าวเปอร์เซีย เชลล์บริษัทแม่เห็นว่าเมื่อต้นทุนสูง ความเสี่ยงสูงก็ไม่น่าลงทุน

ขณะที่มีโรงกลั่นเชลล์ในสิงคโปร์อยู่แล้ว และในสถานการณี่ราคาน้ำมันค่อนข้างคงที่ ประกอบรัฐบาลไทยปล่อยให้ราคาน้ำมันลอยตัว การนำเข้าน้ำมันสำเร็จรูปจากสิงคโปร์เข้ามาในไทยจะสะดวกกว่าและแข่งขันได้มากกว่า

ด้วยเหตุว่า เมื่อปล่อยลอยตัวราคาขายปลีกน้ำมัน และให้โรงกลั่นกำหนดราคาขายส่งของตนเอง ซึ่งจะเป็นไปตามราคาตลาดโลกมากขึ้น ขณะที่ต้นทุนของโรงกลั่นในไทยจะสูงกว่าในสิงคโปร์ ส่วนต่างของกำไรที่เคยได้ก็จะลดลง

โดยเฉพาะการสร้างโรงกลั่นนั้นใช้เทคโนโลยีใหม่ย่อมต้องลงทุนสูงกว่า ทำให้ต้นทุนต่อหน่วยสูงกว่าโรงกลั่นเก่าซึ่งตัดค่าเสื่อม ดอกเบี้ย ฯลฯ จนคุ้มทุนแล้วทำให้มีกำไรต่อหน่วยมากกว่า

สำหรับจุดอ่อนในความเป็นบริษัทข้ามชาติของเชลล์ เมื่อลงทุนก็มักจะลงทุนเองทั้งหมด เชลล์ไม่เคยลงทุนสร้างโรงกลั่นร่วมกับใคร ขณะที่การสร้างโรงกลั่นใหม่นั้นจัดเป็นเรื่องของ PROJECT FINANCE และเป็น JOINT VENTURE โรงกลั่นเชลล์จะดำเนินการและบริหารโดยบริษัท โรงกลั่นน้ำมันระยอง จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนรูปแบบที่เชลล์ไม่คุ้นเคย

การเจรจาตลอดช่วงที่ผ่านมาสะดุดอยู่เนือง ๆ เพราะเชลล์บริษัทแม่ไม่สันทัดเกี่ยวกับข้อความในสัญญาแบบไทย ๆ จึงไม่อยากจะตกลงไปอย่างหละหลวม ซึ่งจะกลายเป็นความเหลื่อมล้ำต่อเงื่อนไขการลงทุนในประเทศอื่นในอนาคต

บริษัทโรงกลั่นน้ำมันระยองนั้น จะถือหุ้นโดย B.V. LICHT ENKRCHT MAATSCHAPPIJ บริษัทแม่ของเชลล์ 64% และปตท. 36% กำหนดทุนจดทะเบียนเริ่มแรกที่ชำระเต็มมูลค่าหุ้นไม่น้อยกว่า 500 ล้านบาท

ทั้งนี้ บริษัทจะต้องเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ภายในปี 2543 และกระจายหุ้นให้ประชาชนทั่วไป 30% เชลล์บริษัทแม่ถือหุ้นในสัดส่วนที่ลดลงเป็น 45% และปตท. 25%

เมื่อเข้าตลาดหลักทรัพย์แล้วตั้งแต่ปี 2544 เป็นต้นไป ถ้าบริษัทมีรายได้สุทธิก่อนหักภาษีตั้งแต่ 4,000 ล้านบาทขึ้นไป ก็จะต้องจ่ายเงินพิเศษให้รับบาล 2.5% ของรายได้สุทธิก่อนหักภาษี แต่ไม่เกิน 150 ล้านบาทต่อปี

แต่แม้เชลล์จะเซ็นสัญญาไปแล้ว ก็มิใช่หมายความว่าทุกอย่างจะราบรื่นดังเส้นทางที่โรยไว้ด้วยกลีบกุหลาบ

ดังที่ ม.ร.ว.สฤษดิคุณให้กล่าวถึงขั้นตอนต่อไปหลังเซ็นสัญญาโรงกลั่นดังคนที่รู้ปัญหาดีว่า จะต้องจ้างบริษัทที่ปรึกษาออกแบบก่อสร้างแล้วประมูลหาผู้รับเหมา อีก 2 ปีจึงเริ่มสร้างได้ตอนนี้เรายังไม่รู้ต้นทุนที่แน่นอน ต้องดูแนวโน้มตลาดผู้รับเหมาว่ามีมากน้อยแค่ไหน ราคาก่อสร้างจะบอกตัวเลขชัด ๆ ได้หลังออกแบบก่อสร้าง

ที่แน่ ๆ เงินลงทุนโครงการที่กำหนดไว้ที่ 700 ล้านเหรียญสหรัฐนั้น "ขณะนี้ประเมินแล้วยังไงก็ไม่ต่ำกว่า 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐ" โต้โผของเชลล์กล่าวอย่างเครียดขรึม

นี่เป็นเหตุหนึ่งที่เชลล์พยายามขอเจรจาลดราคาเช่าที่ดินถมทะเล 510 ไร่ ซึ่ง กนอ.คิดราคาไร่ละ 320,000 บาท แต่ยังไม่ได้ข้อสรุป

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่จะช่วยลดต้นทุนได้ในยามคับขัน คือ ใช้สาธารณูปโภคร่วมกับคาลเท็กซ์ เช่น เรือขจัดคราบน้ำมัน ท่อน้ำมัน ท่าเรือ หรือที่เรียกว่า OFFSIDE UTILITY คิดเป็น 25% ของต้นทุนทั้งหมดเป็นอย่างน้อย ถ้าประมาณจากเงินลงทุนทั้งโครงการ เชลล์จะประหยัดได้อย่างต่ำ 100 กว่าล้านเหรียญสหรัฐจากที่จะแบ่งกันออกคนละครึ่งกับคาลเท็กซ์ ทั้งนี้ยังขึ้นกับแบบของสาธารณูปโภคนั้น ๆ ด้วย ซึ่ง ม.ร.ว.สฤษดิคุณจะต้องเจรจากับสุขวิชต่อไป แต่ยังไม่รู้ว่าจะตกลงกันได้มากน้อยขนาดไหน

เชลล์จึงต้องรอให้คาลเท็กซ์เซ็นสัญญาสร้างโรงกลั่นก่อน ซึ่งไพจิตรกำหนดให้เซ็นภายในสิ้นปี 2534 หากเลยจากนี้ไปจะไม่ได้สิทธิประโยชน์และส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอ

ล่าสุด บอร์ดเล็กได้อนุมัติผ่านร่างและกำหนดเซ็นสัญญากับคาลเท็กซ์ในวันที่ 29 พฤศจิกายนศกนี้ โดยถือเอาร่างสัญญาของเชลล์เป็นต้นแบบตามหลักการเดิม หากมีการแก้ไขส่วนใดที่ผิดไปจากสัญญาเชลล์ ก็จะแนบท้ายเพิ่มเติมให้กับเชลล์ด้วย

สุขวิชเองพูดเสมอว่า ให้เชลล์เซ็นไปก่อน แล้วคาลเท็กซ์จะเซ็นตามหลังและยืนยันไม่เซ็นก่อนเชลล์ ทำให้วิเคราะห์ได้ว่า คาลเท็กซ์คงยังไม่พร้อมส่วนหนึ่ง และจะมีข้อต่อรองบางอย่างที่ไม่เหมือนเชลล์

จะเห็นว่า ในวันประชุมบอร์ดเล็กโดยมีไพจิตรเป็นประธานนั้น ได้ผ่อนปรนแก้ไขจากแนวร่างสัญญาเชลล์ที่คาลเท็กซ์จะต้องยึดเป็นต้นแบบเซ็นสัญญา...!

ประเด็นที่ว่าก็คือ เรื่องการโอนหุ้น เดิมคาลเท็กซ์จะต้องตั้งบริษัทใหม่ขึ้นมาบริหาร และจะต้องโอนหุ้นให้บริษัทในเครือที่คาลเท็กซ์ถือหุ้น 100% มาเป็น "บริษัทที่คาลเท็กซ์ถือหุ้นใหญ่" แทน

หมายความว่า เมื่อเซ็นสัญญาแล้ว คาลเท็กซ์จะต้องตั้งบริษัทใหม่ขึ้นมาบริหารลักษณะเดียวกับบริษัทโรงกลั่นน้ำมันระยอง คือ เชลล์แท้ ๆ 100% เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ แต่บริษัทใหม่ที่ว่านี้ ผู้ถือหุ้นใหญ่ไม่จำเป็นต้องเป็นคาลเท็กซ์บริษัทแม่ หรือบริษัทที่คาลเท็กซ์ถือหุ้น 100% แต่เป็นแค่คาลเท็กซ์ถือหุ้นข้างมากก็ใช้ได้

จุดแก้ไขตรงนี้ สอดคล้องกับข่าวล่าสุดที่ว่า สุขวิชกำลังเจรจากับบริษัทน้ำมันแห่งชาติของโอมานมาร่วมทุนสร้างโรงกลั่นคาลเท็กซ์ประมาณ 40% เป็นไปได้ว่าคาลเท็กซ์อาจจะตั้งบริษัทซึ่งร่วมทุนกับโอมานแล้ว ใช้บริษัทนี้ไปถือหุ้นใหญ่ในบริษัทใหม่ที่จะรับผิดชอบการบริหารโรงกลั่นคาลเท็กซ์อีกทอดหนึ่ง นัยว่าบอร์ดเล็กต้องการสร้างหลักประกันแหล่งซัพพลายที่อยู่นอกกลุ่มโอเปก

นี่เป็นจุดต่างระหว่างเชลล์กับคาลเท็กซ์ คาลเท็กซ์นั้นเกิดจากการถือหุ้นใหญ่ของเชฟรอนและเท็กซาโก้ ซึ่งในช่วงที่ผ่านมา เท็กซาโก้มีปัญหาถูกฟ้องร้องในศาลและพ่ายแพ้ต้องจ่ายหนี้ 1,900 ล้านเหรียญสหรัฐให้เพ็นซอย สายป่านของคาลเท็กซ์จึงสั้นกว่าเชลล์ ซึ่งถ้ากำหนดให้บริษัทใหม่ของคาลเท็กซ์ต้องถือหุ้นโดยบริษัทที่คาลเท็กซ์มีหุ้น 100% เช่นเดียวกับเชลล์ สุขวิชฃอาจจะฝันค้างก็ได้

วิธีนี้จะช่วยเกื้อหนุนทางการเงินของคาลเท็กซ์ช่วยลดเม็ดเงินลงทุนไปได้มาก เพราะการตั้งบริษัทใหม่โดยมีคาลเท็กซ์เป็นแค่ผู้ถือหุ้นใหญ่แล้วมาถือหุ้นในบริษัทโรงกลั่นของคาลเท็กซ์ ซึ่งจะมี ปตท.ถือหุ้น 25% หุ้นที่เหลือจึงจะเป็นหุ้นบริษัทใหม่ของคาลเท็กซ์ และในส่วนนี้ก็จะไปจัดสรรหุ้นส่วนกันเองระหว่างคาลเท็กซ์และโอมานขณะเดียวกัน ก็จะช่วยถัวเฉลี่ยต้นทุนน้ำมันดิบที่โอมานเป็นผู้ซัพพลายให้ ทำให้ต้นทุนการกลั่นถูกลงนั่นก็หมายถึงโอกาสที่จะกำไรก็มากขึ้น

ถึงขั้นนี้ การผ่อนปรนจะออกมาในรูปใดก็ตาม แต่สิ่งที่ ม.ร.ว.สฤษดิคุณต่อสู้ฝ่าฟันไม่ว่าจะขอเป็นผู้สร้างโรงกลั่นแต่ผู้เดียวหรือเมื่อมีคาลเท็กซ์เป็นคู่สร้างโรงกลั่น ก็หมายมั่นว่าโรงกลั่นเชลล์จะต้องเสร็จก่อนคาลเท็กซ์ประมาณ 1 ปี อันหมายถึงความพร้อมด้านซัพพลายในตลาดน้ำมันที่จะมีขึ้นก่อนนั้นทุกอย่างมีอันต้องพลิกแปรไปหมดสิ้น

มิหนำซ้ำ เชลล์ต้องเจอเคราะห์กรรมกระหน่ำด้วยสถานการณ์ที่ไม่เอื้ออำนวยทั้งปวง ทำให้ ม.ร.ว.สฤษดิคุณต้องประนีประนอมตอบรับการสานประโยชน์กับคาลเท็กซื ทั้งที่ตนปฏิเสธสิ่งเหล่านี้มาอย่างหนักแน่น

แต่ไม่ว่าจะเป็นวิถีชีวิตของสังคมทั่วไปหรือในแวดวงธุรกิจที่ต้องแข่งขันขับเคี่ยวทุกวันนี้ หามิตรแท้ได้ยากนัก ศัตรูที่ถาวรก็ไม่มี ตราบใดที่ต่างก็มีผลประโยชน์ต้องกันย่อมแปรความสัมพันธ์ได้ดังที่ต้องการเสมอ เชลล์และคาลเท็กซ์ก็ตกอยู่ในกฎข้อนี้เช่นเดียวกัน...!

ที่สำคัญที่สุด หลังจากเซ็นสัญญาโรงกลั่นคาลเท็กซ์ไปแล้ว ต่อไปรัฐบาลจะประกาศนโยบายตั้งโรงกลั่นเสรี เรียกว่าใครใคร่ลงทุน ลง ใครใคร่สร้าง สร้าง จะขาดทุนกำไรก็ถือเป็นเรื่องของผู้ลงทุนเองทั้งหมด

นี่เป็นทิศทางนโยบายใหม่ที่ ม.ร.ว.สฤษดิคุณเป็นห่วงอย่างยิ่งกับการลงทุนใหม่ที่สูงลิ่ว ต้นทุนแพงภายใต้การแข่งขันที่นับจะดุเดือดขึ้น ส่วนการตลาดที่โรงกลั่นบางจากและไทยออยล์ได้กันประมาณ 4 เหรียญต่อบาร์เรลในขณะนี้ ถ้าเป็นโรงกลั่นเอสโซ่จะสูงกว่านี้ กำไรงาม ๆ ที่ใคร ๆ ก็อยากได้ ต่อไปก็ไม่ต้องพูดถึง แต่ก็เป็นเรื่องท้าทายสำหรับโรงกลั่นใหม่ที่ได้เปรียบด้านเทคโนโลยีใหม่ แต่เสียเปรียบด้านต้นทุนแพงก็จะต้องพลิกกลยุทธ์ต่อสู้ในเวทีการแข่งขันต่อไป

แม้เส้นทางโรงกลั่นใหม่จะไม่สดใส แต่การเซ็นสัญญาโรงกลั่นเชลล์นั้น ก็ถือว่า ม.ร.ว.สฤษดิคุณซื้อเวลาได้อีก 1 ปี โดยไม่ต้องถูกริบเงินประกัน 400 ล้านบาท

เพราะตามเงื่อนไขหลังเซ็นสัญญากับกระทรวงอุตสาหกรรมแล้ว ก็จะโอนสิทธิเงินค้ำประกัน 400 ล้านบาทให้แก่บริษัทโรงกลั่นน้ำมันระยองที่จะตั้งขึ้นใหม่ภายใน 1 ปี ซึ่งจะแบ่งส่วนค้ำประกันระหว่างเชลล์บริษัทแม่กับ ปตท. ในสัดส่วน 64 : 36 หรือ 256 ต่อ 144 ล้านบาท นอกจากนี้ บริษัทจะต้องวางเงินค้ำประกันอีก 1,000 ล้านบาท รวมเป็น 1,400 ล้านบาท

ทั้งนี้ เชลล์จะต้องเซ็นสัญญากับผู้รับเหมาก่อสร้างภายใน 18 เดือนหรือภายในเดือนเมษายน 2536 และต้องสร้างโรงกลั่นให้เสร็จใน 36 เดือนถัดมา คือ เมษายน 2539 แต่ตามสัญญากำหนดว่า จะต้องเริ่มกลั่นได้ภายในปี 2538 เว้นแต่มีเหตุสุดวิสัย

ถ้าโรงกลั่นเสร็จช้า จะถูกปรับวันละ 100,000 บาทจนกว่าจะเปิดกลั่นได้ ถ้าช้าเกิน 2 ปีแล้วยังกลั่นไม่ได้ ทางกระทรวงอุตสาหกรรมจะบอกเลิกสัญญา

เป็นเรื่องยากที่ ม.ร.ว.สฤษดิคุณ จะประกันความสำเร็จของโรงกลั่นเชลล์อย่างมั่นใจ เพราะปัญหาขณะนี้ไม่ใช่เฉพาะเรื่องของภาวะเศรษฐกิจเท่านั้น แต่ยังต้องเจรจาประนีประนอมในการสร้างสาธารณูปโภคกับคาลเท็กซ์ ซึ่งยังไม่มีใครการันตีได้ว่าจะมีผลสรุปอย่างไร ขณะที่สถานการณ์การเมืองในประเทศก็ยังไม่แน่นอน แม้ว่าไพจิตรจะประกาศเซ็น 2 โรงกลั่นใหม่เซ็นสัญญาให้เรียบร้อยในสมัยตน พร้อมทั้งเตรียมใช้นโยบายโรงกลั่นเสรีก็ตาม

คุณชายไก่แห่งเชลล์คงยังต้องเหนื่อยต่อไปและเหนื่อยมากขึ้นเพียงเพื่อให้โรงกลั่นเชลล์เกิดขึ้นให้ได้ มิพักจะพูดถึงศักดิ์ศรีหรือเกียรติภูมิที่ตนชูธงต่อสู้มาตลอด แต่ก็ไม่ได้ในสิ่งที่ต้องการ ขณะที่สุขวิชได้ในสิ่งที่มุ่งหวังทุกอย่างโดยที่แทบไม่ต้องลงแรงอะไรมากนัก

ทันทีที่เชลล์เซ็นสัญญาโรงกลั่น จึงกลับกลายเป็นการประกาศชัยชนะของคาลเท็กซ์อย่างช่วยไม่ได้...!



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.