สายการบินกับการร่วมกลุ่มเป็นพันธมิตร


ผู้จัดการรายวัน(13 พฤศจิกายน 2550)



กลับสู่หน้าหลัก

ปัจจุบันแนวโน้มสำคัญที่มีผลกระทบต่ออุตสาหกรรมท่องเที่ยวระหว่างประเทศ คือ การรวมกลุ่มเป็นพันธมิตร โดยมีวัตถุประสงค์ทั้งเพื่อเสริมสร้างแบรนด์ ขยายเครือข่าย ลดต้นทุนการดำเนินการ และเพิ่มคุณภาพบริการ

ความจริงแล้วการเป็นพันธมิตรในธุรกิจการบินไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่ได้ดำเนินการมาตั้งแต่ในอดีต โดยเฉพาะการดำเนินการในลักษณะการทำการบินร่วม (Code Sharing) กล่าวคือ สายการบินแห่งหนึ่ง (Marketing Carrier หรือ Non-Operating Carrier) ซึ่งไม่มีเครื่องบินของตนเองเพื่อให้บริการในเส้นทางใดเส้นทางหนึ่ง แต่สามารถจะจำหน่ายตั๋วโดยสารในเส้นทางนั้นๆ ได้ โดยใช้รหัสของตนเอง ผ่านบริการของเครื่องบินของอีกสายการบินหนึ่ง (Operating Carrier) ที่เป็นพันธมิตร

ข้อดีของ Code Sharing คือ ทำให้สายการบินที่เป็น Marketing Carrier สามารถขยายเครือข่ายทางการตลาดไปได้อย่างกว้างขวางโดยมีต้นทุนต่ำ เนื่องจากไม่จำเป็นต้องเพิ่มจำนวนเครื่องบินและเพิ่มเที่ยวบินแต่อย่างใด ส่วนสายการบินที่เป็น Operating Carrier ก็ได้รับประโยชน์เช่นเดียวกัน เนื่องจากสามารถขายที่นั่งในเครื่องบินได้มากขึ้นกว่ากรณีขายที่นั่งด้วยตนเองทั้งหมด แทนที่จะขายไม่หมด ก่อให้เกิดการสูญเปล่าขึ้น

ยิ่งไปกว่านั้น แม้สายการบินที่ร่วมมือกันในด้าน Code Sharing ต่างให้บริการในเส้นทางบินเดียวกัน ไม่ได้รับประโยชน์จากการขยายเครือข่ายแต่อย่างใด แต่ก็สามารถได้รับประโยชน์ในรูปสามารถเพิ่มความถี่ในการให้บริการในเส้นทางนั้นๆ

ขณะเดียวกัน Code Sharing นอกจากจะเอื้อประโยชน์ต่อสายการบินแล้ว ก็เป็นการอำนวยความประโยชน์ต่อผู้โดยสาร โดยสามารถเดินทางไปยังจุดหมายปลายทางต่างๆ โดยซื้อตั๋วโดยสารจากสายการบินเพียงแห่งเดียว ไม่ต้องยุ่งยากถือตั๋วโดยสารของหลายสายการบิน และการเดินทางในเครือข่ายพันธมิตรยังสามารถใช้โปรแกรมสะสมไมล์ร่วมกันได้อีกด้วย

ตัวอย่างของความร่วมมือข้างต้น คือ สายการบินอเมริกันแอร์ไลนส์และบริติสแอร์เวยส์ได้เป็นพันธมิตรในลักษณะ Code Sharing มาตั้งแต่ปี 2530 ส่วนสายการบินนอร์ทเวสต์และสายการบิน KLM ได้ร่วมมือกันในลักษณะ Code Sharing มาตั้งแต่ปี 2536

เดิมการร่วมเป็นพันธมิตรระหว่างสายการบินจะเป็นระดับภูมิภาคเท่านั้น แต่ปัจจุบันได้มีการก่อตั้งพันธมิตรระดับโลกขึ้น โดยกลุ่มพันธมิตรระดับโลกแห่งแรก คือ กลุ่มสตาร์อัลไลแอนซ์ ซึ่งได้ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2540 โดย 5 สายการบิน คือ แอร์แคนาดา ลุฟท์ฮันซ่า เอสเอเอส การบินไทย และยูไนเต็ตแอร์ไลน์

จากนั้นอีก 2 ปีต่อมา ได้มีการก่อตั้งกลุ่มพันธมิตรอันดับ 2 คือ กลุ่มวัน เวิลด์อัลไลแอนซ์ เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2542 โดยผู้ก่อตั้งประกอบด้วยสายการบินอเมริกันแอร์ไลนส์ บริติสแอร์เวยส์ คานาเดียนแอร์ไลนส์ คาเธย์แปซิฟิค และแควนตัส

อีก 1 ปีต่อมา กลุ่มพันธมิตรอันดับ 3 คือ กลุ่มสกายทีม ก็ถือกำเนิดขึ้นอย่างเป็นทางการเมื่อเดือนมิถุนายน 2543โดยมีผู้ร่วมก่อตั้งประกอบด้วยสายการบิน 4 แห่ง คือ สายการบินแอร์ฟรานซ์/เคแอลเอ็ม เดลต้าแอร์ไลนส์ โคเรียนแอร์ไลน์ และเอโรเม็กซิโก

กลุ่มพันธมิตร สตาร์อัลไลแอนซ์ วันเวิลด์อัลไลแอนซ์ สกายทีม
จำนวนสายการบินสมาชิกที่เป็นสมาชิก 23 11 13
จำนวนเที่ยวบิน/วัน 16,000 9,190 14,615
จำนวนจุดหมายปลายทางที่ให้บริการ 855 692 728
จำนวนประเทศที่ให้บริการ 155 142 149
จำนวนผู้โดยสารที่ให้บริการ (ล้านคน/ปี) 413 320 373

จากสถิติล่าสุดในปี 2550 พบว่ากลุ่มสตาร์อัลไลแอนซ์นับว่ามีขนาดใหญ่ที่สุดทั้งในแง่จำนวนผู้โดยสารมากถึง 413 ล้านคน/ปี จำนวนสายการบินที่เป็นสมาชิก 23 สายการบิน จำนวนเที่ยวบิน 16,000 เที่ยวบิน/วัน จำนวนจุดหมายปลายทางมากถึง 855 จุด และจำนวนประเทศที่ให้บริการ 155 ประเทศ โดยรองลงมา คือ กลุ่มสกายทีมและกลุ่มวันเวิลด์ ตามลำดับ

หากวัดส่วนแบ่งตลาดตามที่คำนวณโดยสมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศพบว่ากลุ่มพันธมิตรทั้ง 3 กลุ่ม ครองส่วนแบ่งตลาดธุรกิจการบินของโลกเป็นสัดส่วนรวมกันเป็นสัดส่วนสูงถึง 60.8% โดยกลุ่มสตาร์อัลไลแอนซ์ครองตลาดมากที่สุด คือ 25.1% รองลงมา คือ กลุ่มสกายทีม 20.8% และกลุ่มวันเวิลด์อัลไลแอนซ์ 14.9%

แม้กลุ่มวันเวิลด์อัลไลแอนซ์จะมีขนาดเล็กที่สุด แต่กลับมีความแข็งแกร่งในด้านการเงินมากที่สุด เนื่องจากส่วนใหญ่เป็นสายการบินที่มีขนาดใหญ่และมีฐานะการเงินมั่นคง โดยเฉพาะสายการบินอเมริกันแอร์ไลน์ บริติสแอร์เวยส์ และแจแปนแอร์ไลนส์ นับเป็นสายการบินใหญ่เป็นอันดับ 1 อันดับ 7 และอันดับ 10 ของโลก ตามลำดับ

สายการบินที่ขนส่งผู้โดยสารมากที่สุด 10 อันดับแรกของโลกในปี 2549

อันดับ สายการบิน ประเทศ การขนส่งผู้โดยสาร
(ล้าน คน-กม.)
กลุ่มพันธมิตร
1 อเมริกันแอร์ไลนส์ สหรัฐฯ 224,330 วันเวิลด์
2 ยูไนเต็ตแอร์ไลนส์ สหรัฐฯ 188,684 สตาร์อัลไลแอนซ์
3 เดลต้าแอร์ไลนส์ สหรัฐฯ 158,952 สกายทีม
4 แอร์ฟรานซ์ ฝรั่งเศส 123,458 สกายทีม
5 คอนติเนนตัลแอร์ไลนส์ สหรัฐฯ 122,712 สกายทีม
6 นอร์ทเวสต์แอร์ไลนส์ สหรัฐฯ 116,845 สกายทีม
7 บริติสแอร์เวยส์ สหราชอาณาจักร 114,896 วันเวิลด์
8 ลุฟต์ฮันซ่า เยอรมนี 114,672 สตาร์อัลไลแอนซ์
9 เซาท์เวสต์แอร์ไลนส์ สหรัฐฯ 108,935 -
10 แจแปนแอร์ไลนส์ ญี่ปุ่น 89,314 วันเวิลด์

หากวิเคราะห์ฐานะการเงินของสายการบินที่สังกัดแต่ละกลุ่มพันธมิตรแล้ว กลุ่มวันเวิลด์มีฐานะการเงินดีที่สุด โดยในปี 2549 สายการบินในสังกัดของกลุ่มวันเวิลด์มีผลประกอบการรวมกันมีกำไรสุทธิ 1,500 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขณะเดียวกันกลุ่มพันธมิตรอีก 2 กลุ่ม มีหลายสายการบินที่มีฐานะการเงินไม่ค่อยดีนัก หลายสายการบินอยู่ในภาวะล้มละลาย ทำให้มีผลประกอบการขาดทุน โดยกลุ่มสกายทีมและสตาร์อัลไลแอนซ์มีผลประกอบการรวมกันขาดทุน 7,000 และ 2,200 ล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2549 ตามลำดับ

แม้การรวมตัวเป็นพันธมิตรจะมีข้อดีหลายประการ แต่ก็มีข้อเสียหลายประการเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะเป็นการสร้างความสับสนให้กับผู้โดยสาร เนื่องจากซื้อตั๋วโดยสารของสายการบินหนึ่ง แต่เมื่อใช้บริการกลับพบว่าเป็นเที่ยวบินที่ให้บริการโดยอีกสายการบินหนึ่ง อุปมาอุปไมยเหมือนกับจองห้องของโรงแรมที่มีชื่อเสียงระดับ 5 ดาว แต่เมื่อเดินทางไปถึง กลับพบว่าเป็นเพียงโรงแรมระดับ 2 – 3 ดาวเท่านั้น

เพื่อแก้ไขปัญหาข้างต้น กระทรวงการขนส่งของสหรัฐฯ กำหนดว่ากรณีเป็นเที่ยวบินระหว่างประเทศแล้ว สายการบินผู้จำหน่ายตั๋วที่ไม่ได้ใช้เครื่องบินของตนเอง จะต้องแจ้งให้ผู้ซื้อตั๋วได้ทราบ ทั้งนี้ ได้เคยสั่งปรับสายการบิน TWA เมื่อปี 2538 เป็นเงิน 350,000 เหรียญสหรัฐฯ เนื่องจากรับจองตั๋วเครื่องบินโดยไม่ได้แจ้งให้ผู้โดยสารทราบแต่อย่างใด

อนึ่ง เป็นที่น่าสังเกตว่ากลุ่มพันธมิตรนอกจากจะเป็นผลทางด้านบวกในด้านช่วยเสริมความสามารถในการแข่งขันแล้ว ยังมีผลกระทบทางลบในกรณีเป็นสายการบินที่ตั้งอยู่ในภูมิภาคเดียวกันและมีเส้นทางการบินซ้ำซ้อนกันแล้ว จะก่อให้เกิดการแข่งขันกันเองด้วยหากอยู่ในกลุ่มพันธมิตรเดียวกัน

จากเหตุผลข้างต้น จึงไม่เป็นเรื่องน่าแปลกใจที่สายการบินต่างๆ ซึ่งมีเส้นทางบินคาบเกี่ยวกัน จะพยายามกระจายไปยังกลุ่มพันธมิตรต่างๆ มากกว่าจะกระจุกตัวในกลุ่มพันธมิตรเดียวกัน เป็นต้นว่า สายการบินยักษ์ใหญ่ของสหรัฐฯ 3 สายการบิน คือ อเมริกันแอร์ไลนส์ เดลต้าแอร์ไลนส์ และยูไนเต็ดแอร์ไลนส์ ได้กระจายไปอยู่ที่กลุ่มพันธมิตรทั้ง 3 กลุ่ม ส่วนสายการบินยักษ์ใหญ่ของยุโรป คือ บริติสแอร์เวยส์ แอร์ฟรานซ์ และลุฟต์ฮันซ่า ก็กระจายไปอยู่กลุ่มพันธมิตรแต่ละกลุ่มเช่นเดียวกัน

การร่วมกลุ่มเป็นพันธมิตรยังเป็นความร่วมมือในเบื้องต้นเท่านั้น ปัจจุบันมีหลายสายการบินได้รวมตัวกันแนบแน่นมากกว่านี้อีก เป็นต้นว่า สายการบินเอเชียน่าแอร์ไลน์ของเกาหลีใต้และแอลนิปปอนแอร์เวย์ของญี่ปุ่นซึ่งปัจจุบันต่างสังกัดกลุ่มสตาร์อัลไลแอนซ์อยู่แล้ว ได้ตกลงเป็นพันธมิตรระหว่างกันเป็นการเฉพาะเพิ่มเติมในด้านอื่นๆ เช่น การซื้อน้ำมันอากาศยานร่วมกัน การพัฒนาบุคลากรร่วมกัน และล่าสุดได้ประกาศแลกเปลี่ยนพนักงานต้อนรับในเครื่องบินในเที่ยวบินระหว่างท่าอากาศยานกิมโปและท่าอากาศยานฮาเนดะ นับตั้งแต่วันที่ 28 ตุลาคม 2550 เป็นต้นไป

ยิ่งไปกว่านั้น ในอนาคตอาจจะมีการควบรวมกิจการระหว่างสายการบินประเทศต่างๆ ซึ่งปัจจุบันเริ่มมีแนวโน้มแล้ว เป็นต้นว่า สายการบินแอร์ฟรานซ์ของฝรั่งเศสและเคแอลเอ็มของเนเธอร์แลนด์ได้ควบกิจการเข้าด้วยกันเมื่อปี 2547


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.