"ฟิทช์"ฟันธงกำไรแบงก์ปีหน้าฉลุย


ผู้จัดการรายวัน(12 พฤศจิกายน 2550)



กลับสู่หน้าหลัก

ฟิทช์ เรตติ้งส์ประเมินปีหน้าผลประกอบการแบงก์พาณิชย์สดใส หลังผ่านพ้นช่วงที่กันสำรองเป็นจำนวนมากมาแล้ว และได้รับแรงหนุนจากเศรษฐกิจในประเทศที่กระเตื้องขึ้น โดยเฉพาะในส่วนของ 3 แบงก์"กรุงไทย-ทหารไทย-กรุงศรีฯ"ที่อ่วมจากการสำรองมากในปีนี้ ระบุแม้เศรษฐกิจไทยปีหน้าจะมีความเสี่ยงจากปัจจัยภายนอก แต่ด้านการลงทุนและการอุปโภคบริโภคที่ฟื้นตัวขึ้นจะบรรเทาผลกระทบได้ ขณะที่แนวโน้มการหาพันธมิตรต่างชาติของธนาคารพาณิชย์ขนาดกลาง-เล็กยังคงดำเนินต่อ เพื่อรองรับการแข่งขันในอนาคต

ความเห็นต่อผลประกอบการของธนาคาร 9 เดือนแรกงของปี

ผลประกอบการของธนาคารพาณิชย์ 9 เดือนแรกของปีค่อนข้างตรงกับที่ฟิทช์ เรตติ้งส์คาดไว้ โดยในช่วงต้นปี มีธนาคารบางแห่งยังมีความเสี่ยงที่ต้องตั้งกันสำรองได้แก่ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารทหารไทย และธนาคารกรุงศรีอยุธยา ซึ่งธนาคารทั้ง 3 แห่งก็มีการกันสำรองที่สูงในช่วงที่ผ่านมาของปี โดยเฉพาะธนาคารทหารไทยที่มีผลขาดทุนที่สูง ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการกันสำรองเพิ่ม ขณะที่ธนาคารที่มีผลประกอบการดีก็คือ 3 ธนาคารหลักได้แก่ ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกสิกรไทย และธนาคารไทยพาณิชย์ ซึ่งก็ถือว่าธนาคารเหล่านี้มีความแข็งแกร่ง เพราะแม้ว่าภาวะเศรษฐกิจโดยรวมและภาคธุรกิจต่างๆจะแย่ลงในปีนี้ แต่ก็ยังสามารถประกาศผลประกอบการที่ดีได้

โดยภาพรวมของปีที่แล้วกับปีนี้นั้น ในปีนี้มีปัจจัยลบค่อนข้างมาก ทำให้ความสามารถในยกระดับคุณภาพของสินทรัพย์ให้ดีขึ้นของธนาคารทำได้ยากหรือล่าช้ากว่าที่ทำได้ในช่วงที่เศรษฐกิจดี แต่ในปีหน้าเรามองว่าจากการกันสำรองที่อยู่ในระดับที่สูงแล้วในปีนี้ ทำให้ในปีหน้าเราน่าจะได้เห็นธนาคารขายสินทรัพย์ที่ไม่ดีออกมามากขึ้น แล้วก็จะเห็นผลประกอบการของธนาคารที่ดีขึ้นด้วย

"แบงก์ขนาดใหญ่ทั่วไปแล้ว คุณภาพของสินทรัพย์ไม่ได้อ่อนตัวลงมาก แต่การกันสำรองเพิ่มขึ้นเป็นเรื่องทางบัญชีที่ปรับมาใช้ระบบ IAS39 และในบางธนาคารก็อาจจะใช้หลักเกณฑ์ในการประเมินคุณภาพสินทรัพย์ที่เข้มงวดมากขึ้น ก็ทำให้ต้องสำรองเพิ่ม แต่อย่างไรก็ตาม ธนาคารบางแห่งอย่างทหารไทย กรุงไทย กรุงศรีฯ ก็ยังคงมีวงเงินกันสำรองที่ต่ำกว่าแบงก์ขนาดใหญ่อื่นๆ แม้ว่าจะมีการกันสำรองสูงขึ้นแล้วก็ตาม"

ทั้งนี้ ภาระการกันสำรองที่ต้องกันเพิ่มขึ้นส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นในปีนี้ ฉะนั้นผลประกอบการธนาคารทั่วไปในปีหน้าก็จะดีขึ้น แต่ทางฟิทช์เรตติ้งไม่ได้ทำประมาณการเป็นรายตัว แต่โดยภาพรวมแล้วเมื่อความเสี่ยงจากกการกันสำรองที่มีน้อยลง ผลประกอบแบงก์น่าจะดีขึ้น โดยเฉพาะในส่วนของ 3 ธนาคารที่ว่า(ทหารไทย กรุงไทย กรุงศรีฯ) น่าจะดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

นอกจากนี้ ปีหน้าคาดว่า ในส่วนของสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์จะเติบโตขึ้นมากกว่าปีนี้ จากที่คาดว่าภาคการลงทุนฟื้นตัว การอุปโภคบริโภคที่เพิ่มขึ้น ตัวสินเชื่อของธนาคารก็น่าจะเพิ่มขึ้น แล้วก็จะส่งผลต่อผลประกอบการธนาคารที่ดีขึ้นด้วย

แต่ปัจจัยเสี่ยงที่เราจับตาดูอยู่จะเป็นปัจจัยภายนอก ได้แก่เศรษฐกิจของประเทศอื่นๆ เช่นสหรัฐอเมริกาหรือประเทศที่เป็นคู่ค้ากับประเทศไทยที่มีแนวโน้มอ่อนตัวลง ซึ่งอาจจะกระทบต่อจีดีพีของไทยด้วย แต่อย่างไรก็ตาม การลงทุนภาคเอกชน การอุปโภคบริโภคที่ฟื้นตัวขึ้นก็จะช่วยบรรเทาหรือลดผลกระทบในส่วนนี้ได้

การเติบโต-การแข่งขันของแบงก์ปีหน้าจะยังคงเน้นที่ Retail Baking


ฟิทช์ เรตติ้งคาดหวังว่าจะได้เห็นการเติบโตในทั้ง 2 ส่วน โดยสินเชื่อภาคธุรกิจก็น่าจะขยายตัวได้ เป็นผลต่อเนื่องมาจากการลงทุนจากภาครัฐ ขณะที่สินเชื่อรายย่อยก็ยังคงขยายตัวต่อเนื่องได้ แต่ในส่วนของภาคธุรกิจในบางส่วนที่เกี่ยวข้องกับการส่งออกก็อาจจะได้รับผลกระทบด้านลบบ้าง

โอกาสและจุดเสี่ยงของธนาคารพาณิชย์ในปีหน้า

หากจะดูในระยะสั้นๆแล้ว โอกาสหรือปัจจัยบวกน่าจะเป็นเรื่องของแนวโน้มการเติบโตสินเชื่อที่จะเพิ่มขึ้น ซึ่งก็จะมาจากการลงทุนทั้งของภาคเอกชนและภาครัฐที่เพิ่มขึ้นโดยเฉพาะภาครัฐจะมีการลงทุนในสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานมากขึ้น ซึ่งก็จะส่งผลต่อมายังธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมที่จะรองรับต่อเนื่องมา ขณะที่ส่วนของธุรกิจรายย่อยนั้น จากในปีนี้ที่มีการขยายตัวมาก ในปีหน้าก็น่าจะยังขยายตัวเพิ่มได้อย่างต่อเนื่อง

แต่อย่างไรก็ตามในระยะยาวแล้ว น่าจะเห็นการปรับการดำเนินธุรกิจของธนาคารพาณิชย์ โดยจะหันมาให้ความสำคัญกับสินเชื่อรายย่อยมากขึ้น ซึ่งในส่วนนี้สิ่งที่สำคัญคือทางธนาคารจะต้องเพิ่มหน่วยงานที่จะรองรับในส่วนนี้ให้แข็งแกร่งขึ้น รวมทั้งเพิ่มผลิตภัณฑ์ใหม่ๆนำเสนอให้ลูกค้ารายย่อย ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลาในการดำเนินงาน นอกจากนี้ จะได้เห็นว่าบางธนาคารก็มีพันธมิตรต่างชาติเข้ามา ซึ่งในระยะยาวนอกจากมีการสนับสนุนทางการเงินแล้วยังเป็นการนำเอาความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านของผลิตภัณฑ์ต่างๆเข้ามา ซึ่งก็จะช่วยเสริมตรงนี้ได้มากขึ้น

"สิ่งที่จะต้องดูใกล้ชิดเมื่อธนาคารมุ่งปล่อยสินเชื่อรายย่อยมากขึ้น ก็คือการปล่อยสินเชื่อและการเรียกเก็บหนี้จะต้องมีระบบที่รัดกุมขึ้น ธนาคารจะต้องมีระบบการจัดการตรงนี้ให้มีความพร้อมรองรับสินเชื่อรายย่อยที่จะขยายเพิ่มขึ้นด้วย เนื่องจากเดิมธนาคารขนาดใหญ่ปล่อยสินเชื่อให้กับภาคธุรกิจเป็นส่วนใหญ่ แม้จะทำธุรกิจกับลูกค้ารายย่อยบ้างแต่ก็เป็นกลุ่มคนที่มีรายได้สูง แต่ตอนนี้เมื่อขยายธุรกิจมายังลูกค้ารายย่อยที่มีระดับรายได้ที่น้อยลง สิ่งสำคัญก็คือระบบที่จะมารองรับ สิ่งที่ต้องดูคือเมื่อธนาคารลงมาปล่อยตรงนี้แล้วจะทำยังไงที่จะไม่ให้มีสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้หรือ เอ็นพีแอล เพิ่มขึ้นตามการปล่อยสินเชื่อกลุ่มนี้ที่ขยายตัวขึ้น นั่นก็คือธนาคารจะต้องมีระบบการปล่อยสินเชื่อและเรียกเก็บหนี้ที่ดี ซึ่งธนาคารก็คงจะต้องมุ่งไปที่การพัฒนาระบบตรงนี้ให้มีความรัดกุมและมีประสิทธิภาพขึ้น"

โดยภาพรวมแล้วคุณภาพสินทรัพย์ของธนาคารพาณิชย์และบริษัทที่ให้บริการสินเชื่อรายย่อยอยู่ในเกณฑ์ที่ดีอยู่ สามารถรองรับการอ่อนตัวลงของสภาพเศรษฐกิจได้ อย่างไรก็ตามสำหรับธนาคารพาณิชย์ที่มีการขยายสินเชื่ออย่างมาก และสินเชื่อในกลุ่มที่มีการขยายตัวมากๆ อย่างเครดิตการ์ด หรือสินเชื่อรถยนต์โดยทั่วไปแล้ว มีแนวโน้มที่จะเห็นเอ็นพีแอลเพิ่มขึ้น

ผลกระทบจากนโยบายของรัฐกรณีจัดตั้งสถาบันคุ้มครองเงินฝาก

โดยภาพรวมแล้วการจัดตั้งสถาบันคุ้มครองเงินฝากจะเป็นผลดีต่อระบบ ในการสะท้อนให้เห็นสภาพของตลาดที่แท้จริงหรือความแข็งแกร่งของแต่ละธนาคารอย่างชัดเจนขึ้น กล่าวคือหากเป็นธนาคารขนาดใหญ่หรือเป็นธนาคารมีความแข็งแกร่งก็จะมีคนนำเงินไปฝากมากขึ้น ทำให้มีต้นทุนการระดมเงินที่ต่ำ ในขณะที่ธนาคารขนาดเล็กลงมาหรือมีความแข็งแกร่งน้อย ก็ต้องมีต้นทุนที่สูงเพราะต้องให้ผลตอบแทนที่สูงในการดึงเงินฝากเข้ามา ตรงนี้จะสะท้อนภาพที่แท้จริงออกมาได้ชัดเจนขึ้นว่าธนาคารไหนแข็งแรง มีความน่าเชื่อถือ หรือธนาคารไหนยังไม่แข็งแรง

"ตอนนี้เงินฝากของเราได้รับการคุ้มครองทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นเงินฝากของธนาคารไหน ไม่ว่าจะดีหรือไม่ดีรัฐบาลก็คุ้มครอง แต่เมื่อเกิดสถาบันคุ้มครองเงินฝาก สิ่งที่จะเห็นได้อย่างแรก ก็คือธนาคารไหนที่เล็กหรือมีความแข็งแกร่งไม่มากต้นทุนในการระดมเงินของธนาคารก็จะต้องเพิ่มขึ้น"

ในเรื่องของบาเซิล 2 ก็เป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยเพิ่มความแข็งแกร่งในด้านการบริหารความเสี่ยง โดยเฉพาะในกรณีที่ธนาคารจะหันมาปล่อยกู้สินเชื่อรายย่อยมากขึ้น ซึ่งอาจจะทำให้ธนาคารต้องเพิ่มเงินกองทุนบ้าง แต่ก็ไม่มากนัก

ผลกระทบต่อธนาคารพาณิชย์ไทยจากวิกฤตซับไพรม์

จากการสำรวจมีธนาคารพาณิชย์ไทยไม่มากที่ลงทุนในทรัพย์สินนี้ ก็คงมีธนาคารไทยธนาคารแห่งเดียวที่มีการลงทุนในทรัพย์สินประเภทนี้ ซึ่งก็ได้ผลกระทบจากกรณีของซับไพรม์มากกว่าธนาคารอื่นๆ ดังจะเห็นได้จากผลกระทบจากการด้อยค่าของสินทรัพย์ที่จะสะท้อนออกมาทางผลประกอบการในปีนี้และปีหน้า

แนวโน้มการควบรวมและหาพันธมิตรเพิ่มของธนาคารขนาดกลางและเล็ก

ในปีนี้เราก็เห็นหลายๆธนาคารที่มีต่างชาติเข้ามาเป็นพันธมิตร ไม่ว่าจะเป็นธนาคารกรุงศรีอยุธยากับจีอี ธนาคารไทยธนาคารกับกองทุนนิวบริจด์ ธนาคารธนชาตกับโนวาสโกเทีย และล่าสุดธนาคารทหารไทยกับไอเอ็นจี ซึ่งก็ถือว่าปีนี้มีการเคลื่อนไหวในเรื่องนี้อยู่มากพอสมควร ในช่วงต่อไปก็จะยังคงมีการดำเนินการในเรื่องนี้ต่อเนื่องไป ธนาคารขนาดกลางและเล็กที่ยังไม่มีพันธมิตรก็ยังคงพิจารณาอยู่ว่าจะมีโอกาสที่จะร่วมธุรกิจกับใครบ้าง ซึ่งก็จะทำให้มีธนาคารที่มีพันธมิตรเป็นต่างชาติเพิ่มมากขึ้น ซึ่งหากดูจากสัดส่วนการถือหุ้นของต่างชาติโดยรวมในธนาคารขนาดกลางและเล็กขณะนี้ก็มีอยู่ไม่มากนัก จึงเป็นไปได้ที่จะมีสัดส่วนเพิ่มขึ้น

"อย่างที่รู้กันว่าในระบบธนาคารพาณิชย์ไทยในขณะนี้มีธนาคารหลักๆที่มีบทบาทอยู่ ก็คือธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่อย่าง ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารกรุงไทย สำหรับธนาคารขนาดกลางหรือเล็ก ที่พยายามจะแข่งขันในตลาด ก็จะมีแนวทางหลักๆที่เราเห็นอยู่ก็คือการหาพันธมิตรที่มีความแข็งแกร่งทั้งทางด้านฐานะการเงินและทางด้านการดำเนินธุรกิจ ดังนั้นถ้าจะแข่งขันในตลาดนี้ การหาพันธมิตรก็เป็นแนวทางนี้ที่ธนาคารส่วนใหญ่เลือกกัน"

ผลการดำเนินงานของธนาคารในไตรมาส 4

ผลการดำเนินงานของธนาคารพาณิชย์ในไตรมาส 4 สำหรับธนาคารที่มีการกันสำรองในระดับต่ำก็ยังมีโอกาสที่จะต้องกันสำรองเพิ่ม ขณะที่การขยายตัวของสินเชื่อก็จะยังอยู่ในระดับไม่สูง เพราะฉะนั้นก็จะเห็นผลประกอบการของธนาคารพาณิชย์ที่มีทั้งที่ดีและไม่ดีคละเคล้ากันไป ซึ่งธนาคารที่ยังมีความเสี่ยงในการกันสำรองเพิ่มก็ยังคงเป็น ธนาคาร 3 แห่ง คือ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารทหารไทย และธนาคารกรุงศรีฯ

ล่าสุดทหารไทยคาดว่าจะสามารถจะทำกำไรได้ในปีหน้าหลังการเพิ่มทุน

ก็เป็นไปได้เพราะในปีนี้ได้ตั้งสำรองไว้ส่วนใหญ่แล้ว รวมทั้งการที่มีพันธมิตรใหม่ที่แข็งแกร่งเข้ามา ก็น่าจะทำให้ธนาคารสามารถประกาศผลการดำเนินงานที่เป็นกำไรได้ในปีหน้า อย่างไรก็ตามทางฟิทช์เรทติ้งส์ ได้ประกาศเครดิตพินิจภายใต้การพิจารณา (Rating Watch Evolving) ให้แก่อันดับเครดิตของธนาคารทหารไทย เพื่อรอดูผลจากการเพิ่มทุน

ส่วนธนาคารกรุงศรีฯก็มีแนวโน้มเครดิตเป็นบวกอยู่ ในด้านของธนาคารไทยธนาคารทางฟิทช์เรทติ้งส์ไม่ได้จัดทำอันดับเครดิตตัวธนาคารโดยตรง แต่หากจะมองภาพโดยรวมแล้วเราก็เห็นว่าฐานะทางการเงินโดยรวมค่อนข้างอ่อนแอ แล้วทางธนาคารเองก็อยู่ในระหว่างการดำเนินตามแผนการเพิ่มทุน ดังนั้น ถ้าหากเรามีการจัดการอันดับเครดิตของธนาคารไทยธนาคารก็คงจะอยู่สถานะเดียวกับธนาคารทหารไทยคืออยู่ในเครดิตพินิจภายใต้การพิจารณา


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.