|
คลังซูฮก ธปท.ลดถือดอลลาร์ ส่อขาดทุนบาท 7.5 หมื่นล้าน
ผู้จัดการรายวัน(12 พฤศจิกายน 2550)
กลับสู่หน้าหลัก
แบงก์ชาติมีแนวโน้มขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนลดลงเหลือเพียง 7.5 หมื่นล้านบาท จากปีที่ผ่านมาขาดทุนสูงและเดิมคาดว่าปีนี้จะขาดทุนอีก 1.2 แสนล้านบาท เผยขาดทุนลดลงหลังมีการลดสัดส่วนถือครองเงินดอลลาร์สหรัฐและเพิ่มสัดส่วนเงินยูโร-สกุลอื่นมากขึ้น บิ๊ก สศค.ค้าน พ.ร.บ.สถาบันการเงินให้อำนาจแบงก์ชาติปิดแบงก์ หวัง สนช.แก้ไข เพราะคลังต้องแบกหนี้เพียงผู้เดียว
นายโชติชัย สุวรรณาภรณ์ ผู้อำนวยการส่วนนโยบายระบบการเงิน สำนักนโยบายระบบการเงิน สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยว่า การดำเนินงานของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)ในปี 2550 นี้ คาดจะมีผลการดำเนินงานขาดทุนจากการบริหารนโยบายอัตราแลกเปลี่ยนเป็นจำนวนเงินถึง 75,000 ล้านบาท แม้จะค่อนข้างสูงแต่ถือว่าขาดทุนน้อยกว่าปี 2549 ที่ผ่านมา
สาเหตุหลักมาจาก ธปท.มีการปรับโครงสร้างสัดส่วนการถือครองสินทรัพย์ต่างประเทศที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ซึ่งเดิมมีสัดส่วนถือครองสินทรัพย์ในรูปเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐฯ ในอัตราที่สูง แต่ในปีนี้ได้ปรับลดสัดส่วนการถือครองเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐฯ ลงมาเหลือประมาณ 55-58% แล้วหันมาเพิ่มสินทรัพย์ในรูปของเงินตราสกุลยูโรและเงินตราสกุลอื่นๆ แทน
ซึ่งคาดจะมีการถือครองเงินตราสกุลอื่นๆ นอกจากเงินตราสกุลดอลลาร์สหรัฐฯ อยู่ในสัดส่วนประมาณ 45% จึงทำให้ผลการขาดทุนจากเดิมที่คาดว่าจะมีการขาดทุนสูงถึง 120,000 ล้านบาท ก็มีแนวโน้มว่าผลการขาดทุนจะปรับลดลงมามาก โดยเป็นผลจากเงินสกุลยูโรและเงินสกุลอื่นๆ ทั่วโลกได้ปรับตัวแข็งค่ามากกว่าเงินเหรียญสหรัฐ
ทั้งนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทยรายงานทุนสำรองระหว่างประเทศ ณ วันที่ 2 พ.ย.ว่า อยู่ที่ 82,600 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มจากสัปดาห์ก่อน 200 ล้านเหรียญสหรัฐ
นโยบายการลดการถือครองดอลลาร์ลงเป็นทิศทางของธนาคารกลางทั่วโลก ได้แก่ จีนที่มีเงินสำรองระหว่างประเทศมหาศาล ได้ออกมายอมรับว่าต้นเดือน ต.ค.ที่ผ่านมาทยอยลดสัดส่วนเงินดอลลาร์ลง 6 แสนล้านเหรียญสหรัฐ ญี่ปุ่นก็เทขายเงินสำรองในรูปเงินดอลลาร์ไปแล้วกว่า 2 แสนล้านเหรียญ เช่นเดียวกับเวียดนามที่มีการลดสัดส่วนการถือเงินดอลลาร์ลดให้เหลือไม่เกิน 50% ขณะที่ประเทศไทย ที่ผ่านมาเน้นการเข้าแทรกแซงและออกมาตรการ (30%) แต่เงินบาทตั้งแต่ปลายปี 49 แข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ล่าสุดค่าเงินบาทไทยเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐยังแข็งค่าขึ้นที่ระดับ 5% นับตั้งแต่ต้นปี ขณะที่ค่าเงินสกุลอื่นๆ ในภูมิภาคเทียบ ส่วนใหญ่แข็งค่าน้อยกว่าเงินบาทของไทย อย่างไรก็ตาม ถ้ามองในแง่ภาพรวมพบว่าแนวโน้มค่าเงินบาทดีขึ้น เนื่องจากถ้าเทียบกับทั้งปี 49 ค่าเงินบาทของไทยเคยแข็งค่าทุบสถิติของทุกประเทศในเอเชียที่ 13.8%
เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา นายศุภวุฒิ สายเชื้อ กรรมการผู้จัดการ หัวหน้าฝ่ายวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ ภัทร จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า โดยเม็ดเงินที่ ธปท. นำไปเข้าแทรกแซงค่าเงินบาทเพื่อช่วยธุรกิจส่งออกเพียงแค่ช่วงเวลา 2 เดือนที่ผ่านมามีการแทรกแซงโดยใช้เงินกว่า 1 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ นายศุภวุฒิมองว่า การเก็บเงินดอลลาร์เข้ามาเพื่อพยุงค่าเงินในขณะที่ดอลลาร์อ่อนค่าลงไปเรื่อยๆ ไม่ได้เป็นเรื่องที่ถูกต้องนักเพราะภาระผลขาดทุนจะเกิดขึ้นอย่างไม่หยุดเนื่องจากแนวโน้มการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์
คลังหวั่นอำนาจ ธปท.ล้นฟ้า
นายโชติชัยกล่าวถึงการพิจารณาร่างแก้ไขพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) สถาบันการเงินและ พ.ร.บ.ธนาคารแห่งประเทศไทย ของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ซึ่งขณะนี้อยู่ในขั้นแปรญัตติของกรรมาธิการ ว่า อยากให้ สนช.ได้พิจารณาถึงอำนาจของ ธปท. ในส่วนของพ.ร.บ.สถาบันการเงิน เนื่องจากมีการเสนอให้ ธปท.มีอำนาจแต่เพียงผู้เดียวในการสั่งปิดสถาบันการเงิน แต่เห็นควรให้เป็นอำนาจตัดสินใจร่วมกันกับกระทรวงการคลัง เพราะในคราวเกิดวิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 หลัง ธปท.สั่งปิดสถาบันการเงิน ความเสียหายที่เกิดขึ้นกระทรวงการคลังต้องเป็นผู้รับผิดชอบ
"ที่ผ่านมาแบงก์ชาติเสนอปิดแบงก์พาณิชย์ให้กระทรวงการคลังเซ็นอนุมัติ กระทรวงการคลังก็ต้องเซ็นตามที่แบงก์ชาติเสนอไม่มีโอการได้พิจารณาร่วม ทั้งที่ควรจะทำงานร่วมกันเพราะความเสียหายที่เกิดขึ้นกระทรวงการคลังต้องรับผิดชอบ เรื่องแบบนี้คลังไม่ควรเป็นแค่ตรายางอีกต่อไป" นายโชติชัยระบุ
นอกจากนี้ไม่ควรให้อำนาจ ธปท.เป็นผู้อนุมัติผ่อนผันให้นักลงทุนชาวต่างชาติเข้าถือหุ้นในสถาบันการเงินในสัดส่วนเกิน 25% แต่ไม่ถึง 50% เห็นควรให้กระทรวงการคลังเป็นผู้อนุมัติแทน เนื่องจากนโยบายให้ต่างชาติเข้ามาแข่งขันในอุตสาหกรรมที่สำคัญควรเป็นอำนาจรัฐ และรัฐบาลสามารถใช้เป็นเครื่องมือต่อรองในการเจรจาการค้าระหว่างประเทศได้
ส่วนร่างแก้ไข พ.ร.บ.ธปท.เห็นด้วยกับหลักการแยกหน้าที่กำกับตรวจสอบสถาบันการเงินออกจากหน้าที่ของธนาคารกลาง ซึ่งมีหน้าที่หลักดำเนินนโยบายการเงิน นอกจากนี้ไม่ควรระบุตายตัวในกฎหมาย ว่าธปท.มีอำนาจกำกับตรวจสอบสถาบันการเงิน แต่ควรระบุว่าอำนาจอื่นๆ นอกเหนือจากกำหนดนโยบายการเงินให้เป็นไปตามที่ปรากฎในกฎหมายอื่นๆ ที่อาจกำหนดเพิ่มเติมได้ และไม่ควรกำหนดให้ผู้ว่าการธปท. เป็นประธานกรรมการทั้ง คณะกรรมการ ธปท. คณะกรรมการนโยบายการเงิน คณะกรรมการนโยบายสถาบันการเงิน และคณะกรรมการระบบการชำระเงิน เนื่องจากผู้ว่าฯ ธปท.จะมีอำนาจมากเกินไป
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|