|
'รังสรรค์'ดึงธพ.ปล่อยกู้พัฒนาคอนโดฯ1.7หมื่นล.
ผู้จัดการรายวัน(12 พฤศจิกายน 2550)
กลับสู่หน้าหลัก
“รังสรรค์ ต่อสุวรรณ” ร่วมกับหมอวิจิตร ผุดคอนโดฯไฮเอนด์ย่านพัทยา มูลค่าก่อสร้างกว่า 17,000 ล้านบาท เผยที่มาแบงก์นอกปล่อยกู้ 2,000 ล้านเหรียญสหรัฐสร้างโครงการ เหตุสร้างเครดิตไลน์ด้วยการยื่นสร้างโครงการสึนามิ ซิตี้ที่พังงา บนเนื้อที่กว่า 30,000 ไร่ของกรมป่าไม้ผ่านมูลนิธิ โดยได้รับเงินกู้เงินผ่านองค์กรสหประชาชาติ ( หรือ UN )กว่า 2 แสนล้านบาท เผยความคืบหน้าตึกสาทร ยูนิค ยังอยู่ชั้นศาลปัญหาอีกเพียบ เผยที่ผ่านมานักการเมืองมีแต่จ้องฮุบ
รศ. รังสรรค์ ต่อสุวรรณ ประธานกรรมการ บริษัท สถาปนิก รังสรรค์ แอนด์ พรรษิษฐ์ สถาปัตย์จำกัด เปิดเผยว่า ล่าสุดได้ร่วมกับศ.นพ. วิจิตร บุณยะโหตระ พัฒนาโครงการระดับไฮเอนด์ “บลูสกาย ทาวน์- เวอร์” บริเวณหาดจอมเทียน พัทยา โดยเป็นการนำที่ดินสะสมของศ.นพ.วิจิตร จำนวน 60 ไร่ พัฒนาเป็นคอนโดมิเนียม สูง 109 ชั้น จำนวนกว่า 2,000 ยูนิต รวมพื้นที่ 350,000 ตารางเมตร ราคาขายประมาณ 80,000-150,000 บาท/ตารางเมตร และพลาซ่า สูงกว่า 10 ชั้น พื้นที่กว่า 400,000 ตารางเมตร รวม 2 อาคาร คิดเป็นมูลค่าก่อสร้างประมาณ 17,000 ล้านบาท
สำหรับเงินลงทุนนั้น เป็นการกู้เงินสินเชื่อสถาบันการเงินจากประเทศอังกฤษ ในรูปแบบการนำแบงก์การันตี ซึ่งทาง ฮ่องกง เซี่ยงไฮ้ แบงก์ (SHBC) สาขาลอนดอน ได้ออกแบงก์การันตีให้แก่บริษัทในวงเงิน 2,000 ล้านเหรียญสหรัฐ
ส่วนสาเหตุที่ธนาคารต่างประเทศให้กู้ เนื่องจากตนใช้ระบบเครดิต ไลน์ คือนำเสนอโครงการสร้างเมืองใหม่ “สึนามิ ซิตี้” ที่เขาหลัก จ.พังงา เพื่อจัดสร้างที่อยู่อาศัยโดยไม่หวังผลตอบแทนให้แก่ประชาชนที่ประสบเหตุหลังคลื่นยักษ์สึนามิถล่มเมื่อวันที่ 26 ธ.ค. 47 ที่ผ่านมา บนพื้นที่ 30,000 ไร่ ซึ่งเป็นที่ดินของกรมป่าไม้
ทั้งนี้โครงการ สึนามิ ซิตี้ จะเป็นการขอเงินสนับสนุนโครงการจากต่างประเทศ ผ่านองค์การสหประชาชาติ(UN)และได้รับการอนุมัติเป็นวงเงินประมาณ 2 แสนล้านบาท คาดว่าเงินดังกล่าวจะโอนมาได้ประมาณปลายปี 50 นี้ หลังจากนั้นจึงค่อยยื่นเรื่องเสนอภาครัฐบาล คาดคงใช้ระยะเวลา 3-4 เดือน โดยโครงการดังกล่าวตนทำร่วมกับภรรยา คือนาง ยินดี ต่อสุวรรณ ในนามมูลนิธิพัฒนาสิทธิมนุษยชนและสังคม
รศ.รังสรรค์ กล่าวต่อว่า การก่อสร้างโครงการ “บลูสกาย ทาวเวอร์”จะดำเนินการก่อสร้างโครงการสกายบลูฯ ไประยะหนึ่งก่อนเพื่อให้ลูกค้ามั่นใจ หลังจากนั้นจึงจะเปิดการขาย โดยจะยื่นแบบขออนุญาตการทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม(EIA)ในวันที่ 14 พ.ย.50 นี้ ณ สำนักงานที่ดิน เทศบาลพัทยา ส่วนรายละเอียดต่างๆเกี่ยวกับโครงการยังไม่สามารถเปิดเผยได้ในขณะนี้
“ผมห่างเหินวงการอสังหาฯมาประมาณ 15 ปี บางครั้งก็รู้สึกดีใจกับธุรกิจ แต่ก็เสียใจกับสภาวะตลาดอสังหาฯ ที่ดูเหมือนว่าจะเจริญแต่ไม่ก็ไม่ใช่ และที่น่าเสียดายคือปัจจุบันโครงการใหญ่ๆ ผู้ประกอบการไม่ใช่คนไทย แต่เป็นของชาวต่างประเทศ ซึ่งไม่ได้หมายความว่าเรารังเกียจ แต่เห็นว่าไม่มีคนไทยมาต่อกรสู้เขาได้ ต่างกับยุคต้นๆที่มีการรวมตัวกันหนักแน่นพอสมควร จึงทำให้ธุรกิจฟื้นตัวได้ ก็ไม่ทราบว่ายุคนี้มีปัจจัยอะไรที่ทำให้คนไทยแข่งกับต่างประเทศไม่ได้ ซึ่งน่าเสียดายมาก”รศ.รังสรรค์ กล่าว
รศ. รังสรรค์ กล่าวต่อไปว่า รัฐบาลใหม่ที่จะเข้ามาบริหารประเทศควรจะมีการแก้ไขระบบกระแสการเงินที่ตกต่ำ โดยเปลี่ยนให้ทุกอย่างอยู่บนฐานของเครดิตไลน์ให้มากขึ้น เพราะที่ผ่านมานักธุรกิจไทยจะใช้ระบบเงินสดตลอด ดังนั้นต่อไปควรจะมีการดึงเงินจากต่างประเทศเข้ามาให้ได้มากที่สุด แต่ไม่ได้หมายถึงให้ต่างประเทศเข้ามาร่วมทุนแต่อย่างใด
อย่างไรก็ตาม การที่ปัจจุบันผู้ประกอบการหันไปพัฒนาโครงการประเภทซิตี้คอนโดฯกันมาก เพราะเป็นไปตามความต้องการของสังคม โดยเฉพาะต่างประเทศจะมีความต้องการที่อยู่อาศัยใกล้แนวรถไฟฟ้า เพราะมีความสะดวกสบาย และเชี่อว่าหลังการเลือกตั้งรัฐบาลใหม่แล้ว เศรษฐกิจในประเทศจะดีกว่าในปัจจุบัน และหวังว่าจะเป็นรัฐบาลที่ฉ้อราษฏร์บังหลวงไม่มากนัก
แจงตึกสาธร ยูนิคอยู่ชั้นศาลเผยคนจ้องฮุบเพียบ
พร้อมชี้แจงความคืบหน้าของอาคาร สาธร ยูนิค ทาวเวอร์ ซึ่งตั้งอยู่บนถนนเจริญกรุง เป็นคอนโดฯสูง 47 ชั้น บนพื้นที่ทั้งหมด 3 ไร่ครึ่ง นั้นยังมีเรื่องค้างอยู่หลายประเด็น โดยเฉพาะการเจรจากับสถาบันการเงินที่ยึดทรัพย์ไป ซึ่งเดิมถูกองค์การเพื่อการปฏิรูปสถาบันการเงิน (ปรส.)ยึดไป และนำหนี้ของสถาบันการเงินที่ถูกปิดกิจการเมื่อปี 40 ทั้งหมด 56 แห่ง ออกมาประมูลในราคาที่ต่ำกว่าความเป็นจริง ปัจจุบันโครงการนี้ มีธนาคารเกียรตินาคิน จำกัด(มหาชน)หรือKK และสถาบันการเงินจากต่างประเทศ เป็นเจ้าหนี้ ซึ่งเดิมตนมีมูลหนี้กับสถาบันการเงินทั้งสิ้น 441 ล้านบาท หนี้สินกับผู้รับเหมาก่อสร้าง 100 กว่าล้านบาท และหนี้สินกับลูกค้าประมาณ 600 ล้านบาท จากมูลค่าการลงทุนในขณะนั้นไปทั้งสิ้น 1,500 ล้านบาท
“เขาไม่มีสิทธิไปยึดตึกของผม ผมเป็นพ่อค้าคงไม่ยอมให้ใครรังแก ถ้าเราไม่ผิดก็ต้องสู้ แต่ถ้าหากผิดก็ต้องยอมรับ แต่นี่ผมไม่ผิด ตอนนั้นโครงการมียอดขายถึงกว่า 80% แล้วจึงถูกยึดไป และตลอดระยะเวลาประมาณ 10 ปีไม่เคยมีรัฐบาลชุดไหนอยากคุยกับผมเรื่องโครงการนี้ มีแต่อยากฮุบโครงการเท่านั้น เพราะคิดว่าโครงการหมดสภาพแล้ว รวมไปถึงผู้ประกอบการหลายรายก็มาเจรจาขอซื้อ แต่ผมก็ไม่ขาย เพราะมาเสนอซื้อแบบกดราคามากๆ ทั้งๆที่โครงสร้างยังสมบูรณ์อยู่ ซึ่งก็ไม่เดือดร้อนอะไร ขณะนี้เรื่องยังอยู่ในศาลชั้นต้น และคงต้องสู้ต่อไปเพื่อลูกค้า ดังนั้น จึงไม่ต้องใจร้อน ไม่ประมาท ทุกอย่างต้องแก้ไขไปตามกระบวนการทางกฎหมาย ไม่ว่าจะแพ้หรือชนะก็ต้องสู้ แต่อย่าใช้วิธีการที่สกปรกก็พอ และเมื่อรูปคดีมีภาพออกมาว่าเขาเสียเปรียบเรา เขาก็จะมาเจรจาเอง คาดว่าคงใช้ระยะเวลาไม่นานนัก ”รศ.รังสรรค์ กล่าว
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|