เพิ่มอำนาจ สวล. ไม่ใช่เรื่องง่าย


นิตยสารผู้จัดการ( ธันวาคม 2534)



กลับสู่หน้าหลัก

ขณะนี้ความเคลื่อนไหวในการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงหน่วยงาน "สำนักงานคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ - สวล." ให้มีบทบาทและอำนาจมากขึ้นกำลังมีการดำเนินการอย่างจริงจังหลังจากที่การถกเถียงทางด้านแนวความคิดได้ก่อตัวมานานแล้วพร้อม ๆ กับการรุกขยายตัวของปัญหาทางด้านสิ่งแวดล้อมอย่างรุนแรงนั่นเอง

"แนวทางนั้นมีการเสนอกันหลายแบบ รูปแบบที่ค่อนข้างเป็นการเปลี่ยนแปลงใหญ่ก็คือ การตั้งกระทรวงสิ่งแวดล้อม อีกรูปแบบคือให้สำนักงานสิ่งแวดล้อมอยู่ภายใต้สำนักนายกรัฐมนตรีเรื่องแรกยังไม่ได้เข้าครม. การตัดสินก็ขึ้นอยู่กับระดับนั้น" ศุภวิทย์ เปี่ยมพงศานต์ ผู้เชี่ยวชาญพิเศษของ สวล. บอกเล่าถึงการเคลื่อนไหวที่มีอยู่

ส่วนความเปลี่ยนแปลงที่เป็นรูปเป็นร่างจริง ๆ มากที่สุดในขณะนี้ก็คือ การแก้ไขร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2522 อันเป็นตัวให้กำเนิดและกำหนดบทบาทหน้าที่ของหน่วยงาน สวล.โดยตรง

ความมุ่งหมายในการปรับเปลี่ยนองค์กรทำงานด้านสิ่งแวดล้อมของรัฐที่มีเพียงแห่งเดียวนี้ก็คือ เพื่อเป็นการแก้ไขข้อบกพร่องของการดูแลและควบคุมเรื่องสิ่งแวดล้อม ซึ่งเท่าที่ผ่านมาเต็มไปด้วยการปล่อยปละละเลยเป็นส่วนใหญ่ หรือมิเช่นนั้นก็กระทำไม่ได้จริง

สำนักงานคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติในสังกัดกระทรวงวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและการพลังงาน ได้ชื่อว่าเป็นหน่วยงานที่ทำงานด้านสิ่งแวดล้อมโดยตรง ทว่าบทบาทหลักนั้นมีขอบเขตอยู่เพียงเฉพาะในการวางแผน และกำหนดนโยบายเท่านั้น ส่วนในแง่ของการปฏิบัติไม่อาจจะเข้าไปแทรกแซงได้ เนื่องจากมีหน่วยงานอื่น ๆ ทำหน้าที่อยู่แล้วในแต่ละเรื่อง

"ถึงที่สุดแล้ว ต้องยอมรับว่า เรื่องการป้องกันรักษาสิ่งแวดล้อมต้องมีผู้ปฏิบัติ แต่เรื่องสิ่งแวดล้อมเป็เป็นเรื่องที่มีขอบข่ายกว้างขวาง ในต่างประเทศจะถือเป็นเรื่องของหลายหน่วยงานของไทยอาจจะมีหน่วยงานปฏิบัติดูแลอยู่เหมือนกันแต่ไม่ครบถ้วน" ศุภวิทย์ เปี่ยมพงศานต์ กล่าว

โดยทั่วไปในการจะพิจารณาเรื่องสิ่งแวดล้อมต้องแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนที่เกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและเรื่องมลพิษ เรื่องของทรัพยากรธรรมชาตินั้นมีหน่วยงานที่ดูแลเป็นส่วน ๆ อยู่แล้ว เช่น กรมประมง กรมป่าไม้ กรมทรัพยากรธรณี ฯลฯ

สำหรับเรื่องมลพิษเนื่องจากมีมุมมองหลายมิติ สมัยก่อนอาจจะมีเรื่องน้ำเสียเป็นเรื่องใหญ่ ขณะที่ปัจจุบันปัญหาเรื่องกากพิษกลายเป็นสิ่งสำคัญกว่าขึ้นมา มลพิษบางด้านจึงมีหน่วยงานที่ทำหน้าที่เกี่ยวข้องอยู่แล้วเช่นกัน มีเพียงบางด้านที่ยังขาดผู้รับผิดชอบ

ประเด็นปัญหาหลักจึงไม่ได้อยู่ที่การขาดแคลนหน่วยงานปฏิบัติ แต่อยู่ที่ว่าหน่วยงานปฏิบัติมีกรอบการทำงานครอบคลุมกว้างขวางเพียงใด และโดยตัวของหน่วยงานนั้น ๆ เองให้ความสำคัญกับการปกป้องดูแลสิ่งแวดล้อมเพียงพอหรือไม่

คำตอบ คือ ไม่ !

ความหมายของการดูแลเรื่องทรัพยากรฯ สำหรับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องส่วนใหญ่แล้ว ก็คือ มีฐานะเป็นผู้ใช้ประโยชน์มิใช่ผู้พิทักษ์รักษา เมื่อถึงขั้นของการจัดการหรือแม้กระทั่งการวางนโยบายบางประการ จึงไม่มีการคำนึงถึงเรื่องสิ่งแวดล้อม รวมทั้งเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานทั้งหลายก็ขาดทัศนะทางด้านนี้ด้วย

"ต้นเหตุของปัญหาที่สิ่งแวดล้อมยังขาดการจัดการที่ดีมีหลายสาเหตุ บางส่วนยังไม่มีารดูแลเลย ยกตัวอย่างเช่นการขุดตักหน้าดินตามภูเขา หรือเรื่องน้ำเสียจากนากุ้ง น้ำเสียจากการเกษตร และบางเรื่องก็อยู่ระหว่างเริ่มต้น เช่น ปัญหาการก่อสร้างที่ไม่กลมกลืนกับสภาพแวดล้อม กรมโยธาฯ ซึ่งดูแลด้านประกาศห้ามสร้างอาคารสูงริมชายทะเล ก็เป็นสิ่งที่จะต้องค่อยริเริ่มกันไป" ศุภวิทย์ เปี่ยมพงศานต์ อธิบายถึงสถานการณ์ปัจจุบันที่มีทั้งลักษณะการคงตัวและการคลี่คลายของปัญหา

สภาพเช่นนี้ถ้ามองในแง่ดีก็ถือว่า การรอคอยอาจจะเป็นคำตอบได้โดยปัญหาจะได้รับการแก้ไขไปทีละจุด เพียงแต่อาจจะไม่ทันกับวิกฤตทางด้านสิ่งแวดล้อมเท่านั้นเอง

การจัดตั้งองค์กรหนึ่งองค์กรใดเป็นหน่วยงานปฏิบัติหลักขึ้นมานับได้ว่าเป็นแนวทางแก้ไขในระดับกว้างทางหนึ่ง ที่จะช่วยให้การจัดการเรื่องสิ่งแวดล้อมเกิดความสะดวกและมีประสิทธิภาพ

อย่างไรก็ตาม การต้องเพิ่มอำนาจให้กับองค์กรใดองค์กรหนึ่งต้องดึงเอาอำนาจจากหน่วยงานอื่นเข้ามา เท่ากับเป็นการลดทอนอำนาจของหน่วยงานนั้น ๆ ลง หรือมากกว่านั้น หากเป้นการปรับถึงขั้นที่จะรวบรวมเอาหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับเรื่องสิ่งแวดล้อมมารวมกันไว้ทั้งหมด ก็ยิ่งเป็นเรื่องที่ยอมรับกันยากทั้งในระดับของหน่วยงานย่อยนั้นเอง และโดยเฉพาะหน่วยงานใหญ่ต้นสังกัดอันได้แก่กระทรวงต่าง ๆ

"ตามหลักการเพิ่มอำนาจอาจจะ REORGANIZE ทั้งหมดใหม่หรือเพิ่มให้กับหน่วยงานที่ทำหน้าที่ดูแลเรื่องต่าง ๆ อยู่แล้วมีอำนาจและบทบาทหน้าที่มากขึ้นให้ดูแลให้ทั่วทุกประการ และก็จะต้องไม่ใช่เรื่องของการเพิ่มอำนาจอย่างเดียว แต่ต้องเป็นเรื่องของการผสมผสานการทำงานประจำวันของเจ้าหน้าที่แต่ละคนผสานสิ่งแวดล้อมกับการพัฒนาเข้าด้วยกัน" ศุภวิทย์ เปี่ยมพงศานต์ กล่าวถึงแนวทางที่เห็นว่าเหมาะสมที่สุด

แต่แนวทางนี้ก็ใช่จะไม่มีอุปสรรค เพราะการจะคาดหมายให้ "ผู้ใหญ่" เปลี่ยนแปลงทัศนะนั้นดูเหมือนจะเป็นความหวังที่เลือนรางพอ ๆ กับการเรียกร้องให้ไม่ยึดติดกับอำนาจนั่นทีเดียว...



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.