ระวังตกเป็นเหยื่อรายใหม่ แฉสารพัดกลโกง การเงิน!


ผู้จัดการรายสัปดาห์(12 พฤศจิกายน 2550)



กลับสู่หน้าหลัก

- มิจฉาชีพบานสะพรั่งรับน้ำมันแพง
- แก๊งไฮเทคออกอุบายต้มคนพกบัตรเครดิต
- กลุ่มรากหญ้าเจอ “แชร์ลูกโซ่” สูบเกลี้ยงก่อนเชิด
- พัฒนากลโกงหลากรูปแบบล่อ “คนโลภ” ติดกับ
- แนะทางรอดเพื่อคุณไม่ตกเป็นเหยื่อรายใหม่!

ราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นถึง 96.70 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ทำลายสถิติเดิมตลอดเวลานั้น ได้สร้างผลกระทบในด้านลบกับทุกประเทศที่ต้องนำเข้าน้ำมัน การวิ่งขึ้นของราคาน้ำมันที่ใกล้ 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลเข้าไปทุกขณะ ขณะที่ราคาน้ำมันในประเทศไทยก็ทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์เช่นกัน ส่งผลให้ราคาสินค้าและบริการดาหน้ากันขอปรับขึ้นราคา

แม้ก่อนหน้านี้ ปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้ออกมายืนยันว่าจะไม่มีการลดการจัดเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง แต่สุดได้ก็ต้องจำใจยอมลดการจัดเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง 40 สตางค์ต่อลิตรเมื่อ 5 พฤศจิกายนที่ผ่านมา(ยกเว้นน้ำมันเบนซิน 95) แต่ไม่ส่งผลให้ราคาน้ำมันในประเทศปรับลดลงในทันที ขณะที่สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เสนอให้ลดลดลิตรละ 1 บาท แต่ยังไม่มีการตอบรับในข้อเสนอ

นี่คือความกังวลต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันของทุกภาคส่วน ที่น่าจะส่งผลอย่างเป็นรูปธรรมในปี 2551 ซึ่งจะต้องเผชิญกับราคาน้ำมันแพง ในรอบ 10 เดือนของปี 2550 ราคาน้ำมันในประเทศเมื่อ 31 ตุลาคมที่ผ่านมา น้ำมันเบนซิน 95 ขยับขึ้นเป็นลิตรละ 31.19 บาท เบนซิน 91 ลิตรละ 30.39 บาทและดีเซล 28.14 บาท โดยเบนซิน 95 ปรับขึ้นจากต้นปี 17.74% เบนซิน 91 เพิ่มขึ้น 17.52% และน้ำมันดีเซลเพิ่มขึ้น 22.51%

ภาระค่าครองชีพที่สูงขึ้นส่งผ่านมาจากราคาน้ำมัน ประชาชนทุกคนไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ เนื่องจากประเทศไทยมีอุปสรรคในหลายๆ ด้านที่ภาครัฐไม่สามารถออกมาตรการบรรเทาความเดือดร้อนจากราคาน้ำมันที่ปรับขึ้นนั้นได้ เช่น มีภาระเรื่องเงินสมทบเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงหลังจากที่รัฐบาลชุดก่อนตรึงราคาน้ำมันไว้ ซึ่งระยะนี้เป็นช่วงที่ต้องเก็บเงินเพื่อคืนกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง

ขณะเดียวกัน แนวทางที่จะผ่อนคลายทุกข์ของประชาชนด้วยการลดอัตราดอกเบี้ยลงมานั้น คงไม่สามารถทำได้เนื่องจากธนาคารแห่งประเทศไทยที่ดูแลนโยบายการเงินของประเทศ ยึดหลักการควบคุมเงินเฟ้อเป็นหลัก โดยอัตราเงินเฟ้อเดือนตุลาคมที่ผ่านมาเพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อน 2.5% สูงขึ้นจากเดือนกันยายนที่เพิ่มขึ้น 2.1%

เมื่อราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้นย่อมทำให้ต้นทุนของผู้ประกอบการผลิตสินค้าและบริการเพิ่มขึ้น ผู้ผลิตเหล่านี้จึงส่งมอบต้นทุนจากราคาน้ำมันผ่านมาทางราคาสินค้าที่จำเป็นต้องปรับขึ้น แม้ว่าช่วงสิ้นปีหลายคนอาจได้ปรับขึ้นเงินเดือนหรือค่าจ้างบ้าง แต่คงไม่สามารถชดเชยกับราคาสินค้าและค่าครองชีพที่พุ่งขึ้นไปมากกว่า

ดังนั้น ผู้ที่ทำหน้าที่เป็นหัวเรือใหญ่ของครอบครัว คงต้องหาทางแก้วิกฤตินี้จะด้วยวิธีการประหยัด ใช้จ่ายอย่างรอบคอบหรืองดรายการที่เป็นภาคบันเทิงลงไป แต่หลายคนอาจต้องการหารายได้อื่นๆ เข้ามาชดเชยค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น การหางานพิเศษทำหรือการหาช่องทางลงทุนเพื่อให้ได้ผลตอบแทนงามโดยที่ไม่ต้องออกแรงมากนักคงอยู่ในความคิดของทุกคน

ตรงนี้เองจึงกลายเป็นช่องทางให้กลุ่มมิจฉาชีพใช้จังหวะนี้เข้ามาหาเหยื่อ ในหลากหลายรูปแบบมีทั้งการหลอกลวงกลุ่มคนในวัยทำงานตามบริษัทต่างๆ จนถึงกลุ่มชาวบ้านและเกษตรกร กลุ่มมิจฉาชีพเหล่านี้มีความสามารถที่จะหลอกล่อนำเงินของประชาชนไปใช้ได้ด้วยวิธีการที่แยบยล แม้ว่ากลุ่มวัยทำงานในเมืองที่มีความรู้มากและมีฐานเงินเดือนไม่น้อยก็ตกเป็นเหยื่อของแก๊งค์นี้ได้ไม่ยาก ส่วนกลุ่มชาวบ้านเกษตรกรตามต่างจังหวัดก็เป็นเป้าหมายของมิจฉาชีพอีกกลุ่มหนึ่ง

แฉ 2 รูปแบบกลโกงของบัตรเครดิต

สำหรับกลุ่มคนทำงานในเมืองส่วนใหญ่แล้วแก๊งมิจฉาชีพจะเลือกฉกทรัพย์จากเหยื่อกลุ่มนี้ด้วยการดูดเงินออกมาจากบัตรเครดิตและบัตรเอทีเอ็ม ด้วยวิธีการที่แยบยลและกรรมวิธีอันสุดไฮเทคแม้แต่หน่วยงานที่รับผิดชอบอย่างสำนักงานตำรวจแห่งชาติถึงกับกุมขมับเลยทีเดียว

พล.ต.ต.วิสุทธิ์ วาณิชบุตร ผู้บังคับการปราบปรามอาชญากรรมทางเศรษฐกิจและเทคโนโลยี (ปศท.) บอกว่า ต้องยอมรับว่าเหล่ามิจฉาชีพในปัจจุบันมีรูปแบบการทำมาหากินที่แยบยลมากยิ่งขึ้นโดยเฉพาะในส่วนที่ใช้เทคโนโลยีเข้ามาเป็นเครื่องมือ ซึ่งเท่าที่ ปศท.ได้เฝ้าติดตามกลุ่มมิจฉาชีพกลุ่มนี้พบว่ามีรูปแบบที่แยบคายมากขึ้นโดยเฉพาะกลโกงการใช้บัตรเครดิต และบัตรเอทีเอ็ม

สำหรับกลโกงการใช้บัตรเครดิตจะมี 2 รูปแบบ คือ รูปแบบที่หนึ่งกลุ่มมิจฉาชีพจะใช้ “นกต่อ” ที่เป็นพนักงานร้านอาหาร ปั๊มน้ำมัน หรือร้านค้าให้นำข้อมูลของลูกค้าไปให้ โดยจะใช้วิธีการรูดบัตรเครดิตสองครั้ง ครั้งแรกเป็นการจ่ายเงินของลูกค้าตามปกติ ครั้งที่สองจะดูดข้อมูลหรือสกิมเมอร์ ของลูกค้าเก็บไว้เพื่อนำไปใส่กับบัตรเครดิตปลอมที่มีอยู่จากนั้นก็จะนำไปรูดสินค้า โดยจะเน้นสินค้าประเภทจิวเวลรี ทองคำ โทรศัพท์มือถือ ซึ่งการนำบัตรปลอมไปใช้จ่ายนั้นส่วนใหญ่จะใช้ “มือปืนรับจ้าง” เป็นตัวหลักในการดำเนินการโดยจะแบ่งส่วนแบ่งให้ร้อยละ 20-25 เพราะถ้าหากเกิดพลาดถูกจับเรื่องก็จะจบอยู่ที่มือปืนรับจ้างเท่านั้น

รูปแบบที่ 2 เป็นรูปแบบที่อันตรายมาก เพราะกลุ่มมิจฉาชีพจะเล็งจับกลุ่มชาวต่างประเทศที่เดินทางมาเมืองไทย นั่นคือการติดต่อกับ “นกต่อ” ตามโรงแรมระดับ 5 ดาว เพื่อดูดเอาข้อมูลการใช้บัตร ก่อนจะขอสำเนาหนังสือเดินทาง และสลิปการใช้บัตรเครดิต เพื่อดูลายเซ็น จากนั้นทำบัตรปลอมขึ้นพร้อมลายเซ็นที่เหมือนกับเจ้าของเดิมและให้มือปืนรับจ้างไปรูดสินค้า หรือบางรายก็นำบัตรเครดิตปลอมไปขายตามท้องตลาด ซึ่งราคาบัตรเครดิตปลอมจะขึ้นอยู่กับคุณภาพบัตรว่า มีความใกล้เคียงกับของจริงแค่ไหน โดยบัตรปลอมที่เหมือนมากๆ เรียกว่า “บัตรปลอมโซนยุโรป” จะมีราคากว่า 1 แสนบาทต่อใบ แต่มีวงเงินรูดซื้อสินค้าได้เป็นหลักล้าน ส่วนราคาที่ถูกที่สุดเท่าที่พบอยู่ในประเทศไทย สนนราคาประมาณ 6,000 บาทต่อใบ แต่จะสามารถรูดซื้อสินค้าได้เท่าไรก็ต้องไป “วัดดวง” กันเอาเอง

“ที่ผ่านมามีการจับกุมผู้กระทำผิดได้ยากมากสาเหตุ เพราะเป็นการกระทำของแก๊งอาชญากรรมข้ามชาติ ซึ่งไม่ได้ลงมือในประเทศใดประเทศหนึ่งเป็นการเฉพาะ แต่จะลงมือเวียนในหลายประเทศ เช่น ไทย สิงคโปร์ มาเลเซีย เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น รวมทั้งในยุโรป และสหรัฐอเมริกา เป็นต้น

นอกจากนี้ยังมีข้อจำกัดในเรื่องข้อมูลเกี่ยวกับคนร้าย เช่น ทะเบียนราษฎร หมายเลขบัตรประชาชน ทะเบียนรถยนต์ ฯลฯ เพราะคนร้ายไม่ใช่คนไทย และไม่ได้อาศัยอยู่ในประเทศไทย ซึ่งแก๊งเหล่านี้น่าจะมีมานานกว่า 10 ปีแล้ว โดยในระยะแรกจะใช้วิธีการง่ายๆ คือ ขโมยบัตรเครดิตแล้วนำบัตรมาปลอมแปลงลายเซ็นต์

ต่อมาก็พัฒนาการขโมยข้อมูลบัตรเครดิต โดยใช้เครื่องมือที่เรียกว่า “สกิมเมอร์” เพื่อก๊อบปี้ข้อมูล จากนั้นก็จะทำบัตรและปลอมลายเซ็นขึ้น วิธีการนี้จะมีพนักงานของร้านค้าบางแห่งรู้เห็นเป็นใจด้วย

สำหรับวิธีการล่าสุดเท่าที่พบคนร้ายนำมาใช้ คือ การนำเอาอุปกรณ์มาดูดข้อมูลจากชุมสายโทรศัพท์ โดยจะต้องตรวจสอบดูว่า มีข้อมูลรหัสบัตรเครดิตผ่านเข้ามาในชุมสายนั้นๆ หรือไม่ ซึ่งวิธีการนี้ต้องอาศัยช่างเทคนิคที่มีความเชี่ยวชาญสูงเพื่อตรวจสอบดูว่ามีข้อมูลรหัสบัตรเครดิตไหลเข้ามาในชุมสายโทรศัพท์หรือไม่ จากนั้นก็จะทำการ “แทป” เพื่อดักจับรหัสบัตรเครดิตที่จะมาพร้อมกับ “ซีเคียวริตี โค้ด” (รหัสลับ ซึ่งเป็นระบบรักษาความปลอดภัยของธนาคาร)

ด้วยเหตุนี้ แก๊งขโมยข้อมูลบัตรเครดิตจึงต้องมี “โปรแกรมถอดรหัส” เพื่อหาทางถอดรหัสและสกัดเอารหัสบัตรเครดิตมาใช้ จากนั้นก็จะบันทึกข้อมูลลงในเครื่องเอ็มพี 3 ซึ่งมีคุณสมบัติเด่น คือ สามารถเก็บข้อมูลได้มากกว่าแผ่นซีดีทั่วไป และน่าจะเก็บข้อมูลบัตรเครดิตได้มากกว่า 100 รหัส ตามที่ผู้ต้องหากล่าวอ้าง ทั้งนี้ บางธนาคารก็เริ่มหามาตรการ “ป้องกันการแทปข้อมูล” ด้วยการเปลี่ยนระบบการส่งข้อมูลผ่านชุมสายโทรศัพท์ มาเป็นทางเคเบิลใยแก้วนำแสง ซึ่งจะฝังลงใต้ดิน แต่ก็ยังไม่ถือว่าปลอดภัย 100% อยู่ดี

“ตำรวจเราเชื่อว่าอุปกรณ์ขโมยบัตรเดรดิตก็น่าจะเป็นอุปกรณ์ที่สั่งทำขึ้นเป็นพิเศษ ไม่มีวางขายตามท้องตลาด รวมทั้งโปรแกรมถอดรหัสก็เชื่อว่า น่าจะเป็น "โปรแกรมใต้ดิน" ซึ่งมีการเขียนขึ้นมาเอง”

พล.ต.ต.วิสุทธิ์ กล่าวเตือนผู้ใช้บัตรเครดิตเพื่อไม่ให้ตกเป็นเหยื่อแก๊งมิจฉาชีพว่า ควรมีการตรวจสอบยอดเงินคงเหลือทุกครั้งก่อนไปใช้บัตรที่สำคัญเมื่อให้บัตรเครดิตกับพนักงานควรจะรอตรวจสอบจนแน่ใจก่อนว่าเขารูดบัตรของเราเพียงครั้งเดียว และที่สำคัญผู้ใช้บัตรเครดิตควรจะกำหนดวงเงินในการใช้ไม่มากนัก

“ที่เกิดปัญหาอยู่ตอนนี้เพราะมีคนบางกลุ่มใช้วงเงินเกินความจำเป็นกล่าวคือธนาคารเขาอนุมัติให้ใช้จำนวนเงินหลักแสก็จะใช้ตามนั้นจริงๆแล้วน่าจะมีการกำหนดจำนวนเงินตามความจำเป็นก็น่าจะเพียงพอ”

ระวัง! สูญเงินจากตู้เอทีเอ็ม

นอกจากการปลอมบัตรเครดิตแล้วสิ่งที่เป็นภัยที่บุคคลทั่วไปไม่ควรจะมองข้ามก็คือ การใช้บริการตามตู้เอทีเอ็มทั่วไป เพราะปัจจุบันปรากฏว่ามีกลุ่มมิจฉาชีพคิดรูปแบบการโกงขึ้นมาใหม่โดยใช้เครื่องมือซึ่งเป็นพลาสติกสวมครอบไปในช่องเสียบบัตรเพื่อดูรหัสบัตรเอทีเอ็ม หรือบางกลุ่มก็ใช้พลาสติกครอบแป้นกดรหัสเพื่อดูรหัสส่วนตัว เมื่อมีผู้เข้าไปใช้บริการแล้วจะไม่มีใครสังเกตแต่เมื่อกดรหัสส่วนตัวไปแล้วเงินจะไม่ออกก็จะไม่มีใครสนใจว่าสาเหตุเกิดจากอะไร

“เรื่องนี้เป็นอันตรายมาก พวกมิจฉาชีพมีวิธีการที่เอารหัสส่วนตัวแล้วนำไปปลอมบัตรจากนั้นก็จะสุ่มเสี่ยงกดเงินออกไป กรณีนี้มีผู้เสียหายหลายร้อยคนเข้ามาร้องเรียนแต่ท้ายสุดก็ตามจับกุมได้อย่างลำบาก”

ผู้บังคับการ ปศท.อธิบายอีกว่า นอกจากนี้ มีข้อควรระวังสำหรับผู้ใช้บริการตู้เอทีเอ็มทุกคนอีกประการหนึ่ง คือ อย่าได้ประมาท นั่นคือเมื่อคุณกดเอทีเอ็มอยู่ แล้วมีคนอยู่ด้านหลังให้ระวังไว้ เพราะพวกนี้อาจเป็นแก๊งมิจฉาชีพที่แฝงตัวมา ซึ่งพวกนี้จะรู้เทคนิคในการจำรหัสจากการกดปุ่มหน้าจอ

ถ้าสังเกตเวลากดเอทีเอ็มจะมีเสียงซึ่งถ้าใครหูดีๆ จะจำได้ว่ากดเลขอะไรไปบ้างใน 4 ตัว เพราะส่วนใหญ่แล้วร้อยละ 70% ของผู้ที่กดเงินจากตู้เอทีเอ็ม จะทิ้ง Slip เงินลงขยะ มันก็กลายเป็นประโยชน์ของผู้ที่คิดชั่วร้าย คือเขาเอา Slip นั้นมาใช้ประโยชน์จากเงินในบัญชีของคุณเอง

“สลิปมีเลขที่บัญชีสิบตัวปรากฏอยู่ ซึ่งแต่ละธนาคารจะมีการโอนเงินทางโทรศัพท์ โดยมีผู้ไม่ประสงค์ดีนี้จะโทร.ไปยังธนาคาร เพื่อโอนเงินผ่านทางโทรศัพท์ตามหมายเลขแล้วแต่ธนาคาร เขาก็จะได้จาก Slip ของผู้ที่ทิ้งไว้แล้ว เมื่อกดเลขบัญชีธนาคารเสร็จจะมีการให้ใส่รหัสประจำตัวสี่ตัว เมื่อกดเงินนั้นเขาก็จะจำไว้แล้วว่าหมายเลขอะไร จากนั้นก็กดหมายเลขนั้นลงไป เท่านี้เขาก็โอนเงินเข้าบัญชีของเขาได้ตามที่เขาต้องการ ข้อแตกต่างคือ ถ้าโอนเงินทางโทรศัพท์จะสามารถโอนเงินได้สูงสุด 5 แสนบาทต่อครั้ง ต่างจากเอทีเอ็มมาก ดังนั้น ถ้าใครมีเงินในบัญชีมากๆ ให้ระวังเอาไว้ด้วย หรือเขาอาจไม่เอาไปมากๆ ถ้าเขาเอาไปประมาณครั้งละห้าร้อย พันบาท ดังนั้นเมื่อกดเงินแล้วก็ให้เก็บสลิปไว้กับตัวจะดีที่สุด”

แชร์ลูกโซ่กวาดกลุ่มล่าง

นั่นคือภัยที่กลุ่มมนุษย์เงินเดือนต้องเผชิญมา ที่กลุ่มมิจฉาชีพใช้ความรู้ทางด้านเทคโนโลยีและหลักการทางด้านการเงินใช้เพื่อหลอกล่อเอาเงินจากบัตรเครดิตหรือจากบัตรเอทีเอ็มไปจากตัวพวกเขาโดยที่ไม่รู้ตัว

เมื่อมนุษย์เงินเดือนที่มีบัตรเครดิตใช้ แม้จะมีการศึกษาสูง ฉลาดรอบรู้ ไม่น่าจะถูกหลอกง่ายๆ ยังโดนมาแล้ว แล้วประชาชนทั่วไปจะเหลืออะไร เพราะในช่วงต้นเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา มีการแจ้งความคดีฉ้อโกงทั้งที่จังหวัดเชียงใหม่และภูเก็ต จากกรณี “แชร์ข้าวสาร” ไม่เพียงแค่นั้นยังมีคดีหลอกลวงชาวบ้านที่จังหวัดปัตตานีอีกราย

ใน 2 จังหวัดแรกเป็นแชร์ข้าวสาร บริษัทที่เปิดดำเนินการเป็นบริษัทเดียวกันคือบริษัทร่วมทุนค้าปลีก จำกัด ส่วนที่ปัตตานีเป็นอีกบริษัท เอส.พี.ไอ 2 บี จำกัด ขายตรงผลิตภัณฑ์เสริมความงาม และสินค้าอุปโภคบริโภค นี่เป็นเพียงแค่ 3 บริษัทที่ประชาชนที่ได้รับความเสียหายดำเนินการตามกฎหมาย แต่ยังมีอีกหลายบริษัทที่ยังเปิดดำเนินการอยู่หรืออาจปิดกิจการไปแล้วแต่ยังไม่เป็นคดีความ

ศูนย์ข่าวเชียงใหม่หนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายงานว่า ที่เชียงใหม่ยังมีอีกหลายรายที่เปิดบริการอยู่นอกจากร่วมทุนค้าปลีกที่ปิดไปแล้วตอนนี้บริษัทสมคิดธุรกิจก็ปิดไปอีกราย

แหล่งข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค กล่าวว่า “จริงๆ แล้วการหลอกลวงประชาชนให้เข้าไปเป็นเหยื่อแชร์ลูกโซ่นั้นมีมายาวนาน เจ้าของปิดกิจการหนีก็หลายราย แต่คนไทยก็ไม่เข็ด ประกอบกับได้มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบของตัวสินค้าและสร้างแรงจูงใจในเรื่องผลตอบแทนภายใต้ระยะเวลาสั้นๆ แค่นี้ก็เรียกคนเข้ามาได้แล้ว”

ยิ่งสภาพเศรษฐกิจที่เป็นอยู่ในเวลานี้ น้ำมันแพง สินค้าต่างๆ แพง ค่าครองชีพสูงขึ้น ยิ่งเป็นแรงหนุนชั้นดีที่จะดึงคนให้เข้ามาสู่วงจรของแชร์ลูกโซ่ได้ง่ายขึ้น

ความโลภ : เงินต่อเงิน

หากพิจารณาเฉพาะผลตอบแทนเป็นใครก็อดใจไม่ไหว ลงทุนแค่ 650 บาท อีก 25 วันได้คืน 1,200 บาทและอีก 50 วันรับอีก 800 บาท เบ็ดเสร็จจ่าย 650 บาทได้เงินคืน 2,000 บาท คิดเป็นผลตอบแทน 307.69% ดีกว่าฝากแบงก์ไม่รู้กี่เท่า แต่ถ้าพิจารณาจากความเป็นจริงแล้ว ผลตอบแทนที่มากขนาดนี้ภายในระยะเวลา 50 วันนั้นหากเป็นลงทุนในกิจการที่สุจริตคงไม่มีที่ไหนทำได้ ตรงนี้กลับไม่มีใครคิด

สินค้าที่นำมาใช้จะเป็นอะไรก็ได้ เช่น น้ำมัน ข้าวสาร บัตรเติมเงิน อัตราแลกเปลี่ยน อาจมีสินค้าตัวอย่างให้เห็น แต่จริงๆ แล้วตัวสินค้านั้นไม่มีความหมายเลย เพราะเป้าหมายที่แท้จริงของแชร์ลูกโซ่คือการหาสมาชิกเข้ามาให้มากที่สุด โดยที่เจ้าของที่เปิดกิจการนี้จะเป็นผู้รับประโยชน์สูงสุด คนที่เข้ามาทีหลังมีหน้าที่จ่ายเงินให้กับเจ้าของและคนที่เข้ามาก่อนเป็นอย่างนี้ไปเรื่อย ๆ เมื่อไม่สามารถหาคนมาเพิ่มได้อีกเงินที่จะมาจ่ายให้กับคนที่เข้ามาก่อนก็ไม่มี สุดท้ายก็ปิดบริษัทหนีทุกราย

การเปิดบริษัทประเภทนี้ทำได้ง่าย เพียงแค่ขอจดทะเบียนกับกระทรวงพาณิชย์ ก็เปิดดำเนินการได้ แม้ว่าบางบริษัทที่มีปัญหาจะตั้งขึ้นมาเมื่อ 19 กรกฎาคม 2550 ที่ผ่านมาก็ตามเปิดได้ 2-3 เดือนก็ต้องปิดตัวลง ทุนจดทะเบียนที่ระบุไว้ว่ากี่ล้านบาทนั้นก็เป็นแค่ตัวเลขชำระจริงๆ อาจจะไม่ถึงพันหรือหมื่นบาทก็ได้

ที่สำคัญคือ ไม่มีหน่วยงานใดที่ทำหน้าที่ติดตามว่าเมื่อจัดตั้งบริษัทแล้วได้ดำเนินการอย่างถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ แม้บางแห่งจะระบุว่าเพื่อดำเนินธุรกิจขายตรง แต่เป็นขายตรงจริงๆ หรือเข้าข่ายแชร์ลูกโซ่ เพราะตัวแชร์ลูกโซ่แอบอิงกับหลักเกณฑ์ของการขายตรง แต่พฤติกรรมในการดำเนินธุรกิจนั้นมุ่งที่การหาเงินจากตัวสมาชิกเป็นหลัก แตกต่างกับขายตรงที่เน้นขายสินค้าหรือเพิ่มสมาชิกก็เพื่อให้ขายสินค้า

ในการดำเนินการตามกฎหมายนั้น ตามพระราชกำหนดการกู้ยืมที่เป็นการฉ้อโกงประชาชนและพระราชบัญญัติการเล่นแชร์ การเอาผิดจะต้องมีองค์ประกอบครบคือมีการโฆษณาประชาสัมพันธ์ให้คนเข้ามาเล่นเกิน 10 คน มีสัญญาว่าจะจ่ายผลตอบแทนสูงกว่าอัตราดอกเบี้ยสถาบันการเงิน และไม่มีการดำเนินการจริงหรือทำธุรกิจที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และจะต้องมีผู้เสียหาย

ดังนั้น กว่าจะมีผู้เสียหายนั่นคือเจ้าของกิจการนั้นหอบเงินหนีไปแล้ว แม้ว่าระหว่างที่ดำเนินการอยู่ก็เข้าไปทำอะไรไม่ได้ เพราะผู้ที่เข้ามาร่วมลงทุนกำลังเพลิดเพลินกับผลตอบแทนที่ได้รับ หากเข้าไปก็จะกลายเป็นต้นเหตุที่ทำให้ธุรกิจเขาเจ๊ง ดังนั้นแชร์ลูกโซ่นี้จึงไม่ตายไปจากเมืองไทย เพียงแต่จะบูมมากหรือน้อยในช่วงใดเท่านั้น

ที่ผ่านมาทำได้เพียงแค่เตือนเท่านั้น ส่วนคนที่เข้าไปลงทุนก็มีทั้งกลุ่มที่ไม่รู้และกลุ่มที่รู้ โดยเฉพาะกลุ่มที่รู้นั้นก็หวังจะเข้าไปเป็นสมาชิกในลำดับแรกๆ เพื่อให้กลุ่มหลังๆ เข้ามาสร้างรายได้ให้กับตัวเอง กว่ากิจการจะปิดพวกเขาก็ลอยตัว

“คาถาเสกเงิน” ฮอลลีวูดอาย

นอกจากนี้ยังมีการฉ้อโกงผู้คนที่หลากหลายออกไป ซับซ้อนมากขึ้น น่าเชื่อถือมากขึ้น เช่นการส่งจดหมายไปที่บ้านหรือ SMS เข้าโทรศัพท์มือถือว่าท่านเป็นผู้โชคดีได้รับรางวัลใหญ่ แต่ต้องโอนเงินเพื่อชำระค่าธรรมเนียมก่อน หรือการเชิญชวนให้เข้ามาทำงานบนเว็บไซต์ ซึ่งมีทั้งจริงและเข้าข่ายแชร์ลูกโซ่

บางรายก็ใช้รูปแบบของไสยศาสตร์เข้ามา เช่น ที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี มีผู้เสียหายไปไม่น้อยเช่นกัน โดยจัดรูปแบบเป็นพิธีกรรม “คาถาเรียกเงิน”

ผู้เสียหายรายหนึ่งเล่าให้ฟังว่า มีคนนอกพื้นที่กลุ่มหนึ่งเข้ามาติดต่อกับคนท้องที่ เพื่อชักชวนชาวบ้านบริเวณนั้นให้มาพิสูจน์พิธีกรรมดังกล่าว โดยสถานที่ทำพิธีกรรมนั้นเป็นบ้านของชาวบ้านรายหนึ่งที่ตั้งห่างออกไป พื้นที่รอบตัวบ้านเป็นสวนยาง ไม่มีบ้านคนอื่นบริเวณใกล้เคียง มีการจัดตั้งโต๊ะหมู่บูชาเหมือนพิธีกรรมทั่วไป มีคนแต่งกายคล้ายพราหมณ์มาเป็นคนสวด

“ทุกอย่างเหมือนในหนัง มีลมพัดแรง ฟ้าร้อง เมื่อสวดไปสักพักก็มีเงินปลิวลงมา คนที่ไปก็งงว่าเงินหล่นมาจากไหน วันนั้นเงินที่ปลิวลงมาคนที่ไปชวนมาก็มอบให้กลับบ้านได้ 500 บาทบ้าง 2,000 บาทบ้าง”

พวกเขายังบอกอีกว่าจะทำพิธีอีกครั้งหนึ่ง แต่ถ้าใครจะเข้ามาร่วมพิธีจะต้องเสียค่าเข้าในพิธี 8,000 บาท แต่เขารับประกันว่าจะต้องได้เงินกลับคืนมาไม่น้อยกว่า 2 เท่า และต้องลงชื่อเสียจ่ายเงินไว้ก่อนถึงวันจริง

คนที่ได้เงินในวันนั้นก็กลายเป็นนักประชาสัมพันธ์ชั้นดี บอกข่าวนี้ให้กับคนอื่น ๆ มีคนจำนวนไม่น้อยกว่า 30 คนที่แสดงความสนใจพร้อมทั้งจ่ายเงิน 8,000 บาทต่อหุ้นเพื่อเข้าร่วมพิธีหรือจะจ่ายมากกว่า 8,000 บาทก็ได้ เมื่อถึงวันจริงมีใครเห็นคนกลุ่มนั้น แม้กระทั่งเจ้าของบ้านซึ่งเป็นคนที่ชาวบ้านรู้จัก เหลือไว้แต่ตัวบ้านเท่านั้น

ตอนนี้ยังไม่มีการแจ้งความต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ เพราะส่วนหนึ่งเป็นเรื่องของอุปนิสัยของคนภาคใต้ หากมีการแจ้งความก็เท่ากับเป็นการประจานตัวเองว่า “โง่” กลุ่มผู้หลอกลวงจึงลอยตัวไปพร้อมเงินหลายแสนบาท

กลุ่มงานป้องปรามเงินนอกระบบกล่าวเพิ่มเติมว่า ตราบในที่สภาพเศรษฐกิจยังเป็นอย่างนี้เหล่ามิจฉาชีพก็ยังคิดช่องทางฉ้อโกงใหม่ๆ ขึ้นมาได้ตลอดเวลา รูปแบบอาจเปลี่ยนไป มีความแนบเนียนมากขึ้น ขั้นตอนซับซ้อนขึ้น ดังนั้นประชาชนควรจะต้องไตร่ตรองให้ดีถึงเรื่องผลตอบแทนที่สูงกว่าความเป็นจริง หรือต้องระมัดระวังในเรื่องการใช้จ่ายเงินผ่านบัตรเครดิตและบัตรเอทีเอ็ม

“แชร์ลูกโซ่” เกิดง่ายรวยเร็ว

แม้จะมีการปราบปรามกันอย่างต่อเนื่อง หลังจากมีผู้เสียหายเข้าแจ้งความดำเนินคดีกับเจ้ามือแชร์ลูกโซ่ แต่เรื่องก็เงียบหายไประยะหนึ่ง จากนั้นธุรกิจแชร์ลูกโซ่ก็เกิดขึ้นมาอีก ด้วยรูปแบบของตัวสินค้าที่แตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับเจ้าของว่าจะอุปโลกน์อะไรมาเป็นสินค้า แต่เป้าหมายทุกอย่างยังเหมือนเดิมคือดูดเงินจากคนอื่นเข้ากระเป๋าตัวเอง

วิธีการของแชร์ลูกโซ่นั้นส่วนใหญ่มักมุ่งไปที่กลุ่มคนโลภ อยากได้ผลตอบแทนสูง ๆ โดยที่มีขั้นตอนในการลงทุนที่ไม่ยุ่งยาก โชว์ตัวเลขให้เห็นว่าได้ผลตอบแทนมากว่าเงินลงทุนหลายเท่าตัว หลักการแบบนี้สามารถกวาดคนได้ทุกสาขาอาชีพ ไม่เว้นแม้กระทั่งคนที่มีการศึกษาสูง

ดังนั้น การสร้างภาพจึงเป็นเรื่องสำคัญ ตั้งแต่ชื่อบริษัทต้องฟังแล้วทันสมัยหรือเป็นสากล สถานที่ทำการต้องหรูหรา ห้องสัมมนาในโรงแรมหรู การแต่งกายของทีมงานไม่แตกต่างจากนักธุรกิจ ผูกไท ใส่สูท มีแบบฟอร์มพนักงาน

ที่สำคัญที่สุดคือ ตัวผู้บรรยายจะเป็นคนที่มีศิลปะในการพูด พูดทำให้คนคล้อยตามได้ พูดแล้วคนที่มาฟังต้องอยากเป็นสมาชิก แม้ไม่มีเงินก็ขวนขวายที่จะกู้ยืมคนอื่นมาเพื่อมาลงทุน

ในจังหวัดเชียงใหม่ยังมีอีกหลายรายที่ยังเปิดให้บริการอยู่ บางรายคือลูกทีมของแชร์ข้าวสารที่แยกตัวออกมาตั้งกิจการเอง เนื่องจากทราบถึงหลักการใหญ่ของแชร์ข้าวสารแล้วนำมาปรับใช้เป็นของตัวเอง

การเปิดบริษัทใหม่เป็นเรื่องที่ทำได้ง่ายเพียงแค่ไปขอจดทะเบียนในรูปบริษัทกับพาณิชย์จังหวัดหรือที่กระทรวงพาณิชย์ จากนั้นก็ดำเนินการได้เลย เพราะไม่มีหน่วยงานใดที่จะเข้ามาตรวจสอบในช่วงเริ่มแรก

เมื่อมีหลายเจ้าดังนั้นการกำหนดผลตอบแทนที่ผู้ลงทุนจะได้รับจึงเป็นเรื่องสำคัญเพราะถือว่าเป็นตัวเลขที่จะเรียกลูกค้าได้ดี รวมถึงเรื่องของวันที่กำหนดให้มารับเงินปันผลแต่ละงวดก็มีความสำคัญเช่นเดียวกัน

ตัวอย่างที่เชียงใหม่นั้นกำหนดราคาสินค้าไว้ที่ 1,450 บาท หากไม่รับสินค้าคืนเงิน 800 บาท ซึ่งผู้ที่ต้องการเข้าไปลงทุนนั้นไม่ได้ต้องการสินค้าอยู่แล้ว เพียงแต่ต้องการเงินปันผลที่จะได้รับตามที่เจ้าของแชร์กำหนดไว้ เงินลงทุนเริ่มแรกจึงเท่ากับ 650 บาท จากนั้นอีก 25 วันรับเงินคืน 1,200 บาทและอีก 50 วันรับคืนอีก 800 บาท

สมมติให้กลุ่มแรกที่เข้าไปลงทุนมี 5 คน ลงทุนคนละ 650 บาทเท่ากับเจ้าของได้เงินไปทั้งสิ้น 3,250 บาท วันถัดมาเริ่มกลุ่มที่ 2 เข้ามาหากมีเข้ามาอีก 30 คนเจ้าของจะได้เงินไป 19,500 บาท จากนั้นมีกลุ่มที่ 3 เข้ามาอีก 500 คนจะมีเงินไหลไปที่เจ้าของอีก 325,000 บาท เอาเป็นว่าพอรับกลุ่มที่สามเสร็จครบกำหนด 25 วันพอดี เจ้าของแชร์จะมีเงินอยู่ในมือ 347,750 บาท แต่จ่ายให้กับกลุ่มแรกไปเพียง 6,000 บาท เหลือเงิน 341,750 บาท

จากนั้นก็รับลูกค้ากลุ่มอื่น ๆ อีกสมมติว่าได้ลูกค้ารอบหลังอีก 1,000 คน จะได้เงินเข้ามาอีก 650,000 บาท เจ้าของจะมีเงินในมือ 991,750 บาท หากกลุ่ม 2 ครบกำหนด 25 วันก็จ่ายเงินคืน 36,000 บาท และถ้าครบช่วง 50 วันที่จะต้องจ่ายเงินให้กับกลุ่มที่ 1 อีก 4,000 บาท เจ้ามือยังเหลือเงินอีก 951,750 บาท

หลักการของแชร์ลูกโซ่คือการเอาเงินค่าซื้อสินค้าของสมาชิกรายใหม่มาให้กับเจ้าของแชร์แล้วนำมาจ่ายต่อให้กับสมาชิกที่เข้ามาก่อนหน้าเท่านั้นเอง นั่นคือตัวธุรกิจนี้จะอยู่ได้ด้วยเงินของสมาชิกใหม่เท่านั้น หากมีสมาชิกใหม่เข้ามาน้อยวงจรการจ่ายเงินคืนให้กับสมาชิกก็จะสะดุดลง

การกำหนดช่วงเวลาเช่น 25 วัน และหลังจากจ่ายครั้งแรกอีก 50 วันนั้นถือเป็นการประมาณการว่าในช่วงเวลาประมาณ 75 วันนั้นน่าจะเพียงพอที่จะหาสมาชิกใหม่เข้ามาจ่ายเงินให้กับเจ้าของและสมาชิกรุ่นก่อนหน้านี้ได้

ในช่วงแรกที่ทุกคนตาโตกับตัวเลขของรายได้ เจ้าของแชร์อาจจะไม่มีเงื่อนไขให้สมาชิกเก่าต้องชักชวนสมาชิกใหม่เข้ามา แต่ถ้าประเมินแล้วว่ายอดสมาชิกใหม่เริ่มอืดก็อาจมีการให้ผลตอบแทนสำหรับสมาชิกเก่าที่สามารถแนะนำสมาชิกใหม่

ตัวเลขที่ยกตัวอย่างนั้นเป็นการสมมติให้ทุกคนลงทุนคนละ 1 หุ้นหรือ 650 บาท ตัวเลขสมาชิกที่เข้ามาแต่ละชุดอาจจะมาหรือน้อยกว่าตัวเลขที่ยกมาก็ได้ เพราะผู้ที่เข้ามาลงทุนจริงๆ แล้วไม่ได้เข้ามาซื้อแค่คนละ 1 หุ้นแน่นอน บางคนลงทุนครั้งแรกกันเป็นแสน ลองคิดดูให้ดีว่าเจ้าของแชร์จะถือครองเงินเป็นล้าน ๆ บาทภายในเวลาไม่กี่วัน

หากต้องการได้เงินที่มากกว่านี้เจ้าของแชร์ก็ต้องบริหารจัดการในเรื่องการหาสมาชิกใหม่ให้ดีพร้อมทั้งจัดสรรเงินให้กับสมาชิกในช่วงแรกๆ ให้ดีเพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ เพื่อจะได้ให้คนที่เป็นสมาชิกเอาไปบอกต่อ ถือเป็นการทำประชาสัมพันธ์ให้กับกิจการตัวเอง แม้ในบางช่วงยอดลูกค้าใหม่อาจจะไม่ตามเป้า ต้องควักเงิน(คนอื่น) จ่ายออกไปบ้างก็ตาม ตราบใดที่ยอดสมาชิกใหม่เข้ามาอย่างต่อเนื่องแล้วละก็โอกาสล้มก็จะช้าออกไป

เกมนี้เมื่อถึงเวลาหนึ่งที่ไม่มีรายใหม่เข้ามาถือว่าจบเกม แน่นอนว่าตัวเจ้าของจะทราบว่าสถานการณ์ในขณะนั้นควรจะสู้ต่อหรือเผ่น


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.