ยูนิเวสท์ เก่งกับเฮง

โดย ศิริเพ็ญ กระตุฤกษ์
นิตยสารผู้จัดการ( ธันวาคม 2534)



กลับสู่หน้าหลัก

การเข้าซื้อหุ้นส่วนใหญ่ของสามชัยจากธนสยาม สำหรับยูนิเวสท์แล้วเป็นเพียงวิถีทางหนึ่งเท่านั้น ในการขยายบทบาทการลงทุนในธุรกิจอื่นที่นอกเหนือจากธุรกิจการพัฒนาที่ดิน อันเป็นเป้าหมายหลักของยูนิเวสท์ในการก้าวเข้าสู่การเป็นกรุ๊ปออฟคอมปานีอย่างสมบูรณ์แบบในอนาคต

ยูนิเวสท์มีรายได้จากการเริ่มต้นธุรกิจพัฒนาที่ดินในปีแรก 200 ล้านบาท ในขณะที่ปัจจุบันยอดรายได้รวมของกลุ่มยูนิเวสท์เพิ่มขึ้นถึง 5,000 ล้านบาท ถึงแม้ว่ารายได้หลักจะยังคงมาจากธุรกิจพัฒนาที่ดินก็ตาม แต่ตลอดระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา ยูนิเวสท์ได้พยายามที่จะขยายการลงทุนสู่ธุรกิจแขนงอื่นอันเป็นพื้นฐานสำคัญต่อทิศทางการลงทุนในอนาคตของกลุ่มนี้

ย้อนหลังไปกว่า 20 ปีในขณะที่กลุ่มเมืองทอง ซึ่งประกอบด้วยผู้ถือหุ้นจาก 5 ตระกูลใหญ่ คือ กลุ่มกาญจนพาสน์ กลุ่มมหาดำรงค์กุล กลุ่มสนิทวงศ์ ณ อยุธยา กลุ่มโกสิยกุล และกลุ่มวงศ์สงวน มีแนวความคิดที่จะพัฒนาที่ดิน ดังนั้น ในปี2509 กลุ่มเมืองทองจึงร่วมทุนกับชวน รัตนรักษ์ และยรรยง ตั้งจิตนพตั้ง บริษัทใหม่ขึ้นมาเพื่อซื้อที่ดินในนามของบริษัทรวมมิตรวิศวกรรม บริษัทสหกรุงเทพพัฒนา บริษัทสินพรชัย บริษัทยูนิโก้ และบริษัทสยามประชาคาร โดยมียรรยง เป็นกรรมการผู้จัดการดูแลแต่ละบริษัท

หมู่บ้านชลนิเวศน์เป็นโครงการพัฒนาที่ดินผืนแรกของกลุ่มเมืองทองในนามบริษัทสหกรุงเทพพัฒนา ซึ่งเริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี 2510 จนกระทั่งเปิดขายได้ในปี 2513 และในปีเดียวกันนี้เองที่บริษัทรวมมิตรวิศวกรรมมีโครงการที่จะพัฒนาที่ดินบริเวณริมบึงสีกัน ซึ่งเป็นที่ดินจำนวนกว่า 800 ไร่ที่กลุ่มเมืองทองประมูลมาได้จากการรถไฟฯ ตั้งแต่ปี 2510 - 2511 ในราคาประมาณ 20 ล้านบาท

เป็นช่วงจังหวะเดียวกันกับที่ โยธิน บุญดีเจริญ ซึ่งเรียนจบทางด้านบริหารธุรกิจจากฮ่องกง กลับมาในปี 2513 จึงได้รับมอบหมายจากมงคลให้เป็นผู้รับผิดชอบโครงการพัฒนาที่ดินแปลงนี้ในนามของโครงการหมู่บ้านเมืองทองนิเวศน์ 1

โยธินเป็นลูกชายคนโตในจำนวนพี่น้องทั้งหมด 10 คนของเจริญบุญดีเจริญ ซึ่งเป็นพี่ชายของศิริวรรณ กาญจนพาสน์ ภรรยาของมงคล ดังนั้น ตระกูลบุญดีเจริญจึงไม่ใช่ใครอื่นนอกจากเครือญาติเดียวกันกับกาญจนพาสน์

ในปี 2514 กลุ่มของยรรยง ตั้งจิตนพ และชวน รัตนรักษ์ ซึ่งเป็นกลุ่มพันธมิตรทางธุรกิจร่วมของกลุ่มเมืองทองได้ขอแยกตัวออกไปด้วยเหตุผลบางประการ จึงมีการแบ่งทรัพย์สินกัน

ทรัพย์สินส่วนที่ยังคงอยู่กับกลุ่มเมืองทองในส่วนของบริษัทพัฒนาที่ดินหลังจากแบ่งกันแล้ว มีบริษัทสหกรุงเทพพัฒนา บริษัทสินพรชัย และบริษัทรวมมิตรวิศวกรรมในขณะที่บริษัทยูนิโก้ และสยามประชาคารเป็นของกลุ่มชวนและยรรยง

ในขณะที่โยธินเข้าเป็นผู้จัดการใหญ่ของรวมมิตรวิศวกรรมหลังจากการแบ่งแยกทรัพย์สินกันแล้ว เจริญผู้เป็นพ่อก็ได้มอบหมายจากมงคลให้เป็นผู้จัดการใหญ่ดูแลงานในบริษัทสหกรุงเทพพัฒนาและสินพรชัย โดยที่ผู้กำหนดนโยบายหลักของทุกบริษัทคือมงคล ดังนั้นทั้งเจริญและโยธินจึงไม่แตกต่างอะไรกับแขนขาที่จะช่วยให้บริษัทก้าวเดินไปสู่จุดหมายปลายทางได้สำเร็จเท่านั้น

กลุ่มบุญดีเจริญที่เข้าไปช่วยงานในกิจการของกลุ่มเมืองทองขณะนั้นนอกจากเจริญและโยธินแล้ว ยังมีธาตรี บุญดีเจริญ อุทัย บุญดีเจริญ น้องชายของโยธิน ซึ่งเข้าร่วมในตำแหน่งผู้ช่วยผู้จัดการฝ่ายก่อสร้าง และผู้จัดการฝ่ายออกแบบ โดยมีทายาทของทั้ง 5 ตระกูลร่วมบริหารงานอยู่ด้วย ซึ่งขณะนั้น ได้แก่ วัฒนศักดิ์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา มนตรี โกสิยกุล ดิเรก มหาดำรงค์กุล และบุรินทร์ วงศ์สงวน

ในปี 2516 กลุ่มเมืองทองได้จัดตั้งบริษัทบางกอกแลนด์ขึ้นโดยซื้อทรัพย์สินส่วนที่เหลือในโครงการหมู่บ้านชลนิเวศน์มาจากบริษัทสหกรุงเทพพัฒนา ซึ่งโดยจุดมุ่งหมายแล้วต้องการจะให้ทำแต่เฉพาะโครงการศูนย์การค้าเท่านั้น นอกจากนี้ ยังได้ซื้อทรัพย์สินส่วนที่เหลือของโครงการหมู่บ้านเมืองทองนิเวศน์ 1 มาจากบริษัทรวมมิตรวิศวกรรมอีกด้วย

โยธินได้ผันตัวเองออกจากกลุ่มเมืองทองในปี 2524 หลังจากที่ได้ทำโครงการให้กับกลุ่มเมืองทองหลายโครงการ โดยเฉพาะส่วนของโครงการบ้านจัดสรรที่โยธินในฐานะผู้บริหารมาตลอดเริ่มตั้งแต่โครงการหมู่บ้านเมืองทองนิเวศน์ 1, 2 , 3 และ 4 ซึ่งทำในนามของบริษัทบางกอกแลนด์ ในขณะที่เจริญผู้เป็นพ่อรับผิดชอบในโครงการศูนย์การค้า อย่างเช่น ศูนย์การค้ามเหสักข์ ศูนย์การค้าเมโทร ซึ่งทำในนามของบริษัทสินพรชัย และศูนย์การค้าบางกอกบาซาร์ ซึ่งทำโดยบริษัท สหกรุงเทพพัฒนา

และภายหลังจากการลาออกของโยธิน ทำให้มงคลต้องกลับเข้ามาบริหารงานในจุดนี้มากขึ้น แต่ก็ยังคงไปมาระหว่างการทำธุรกิจในฮ่องกงและเมืองไทย พร้อมทั้งส่งสาร กาญจนพาสน์ ลูกชายอีกคนหนึ่งเข้ามารับผิดชอบแทนโยธิน ในขณะที่ทั้งอนันต์ และคีรี ยังคงบริหารธุรกิจของครอบครัวกาญจนพาสน์อยู่ที่ฮ่องกง (ส่วนเจริญได้เสียชีวิตลงในปี 2522 ก่อนหน้าที่โยธินจะแยกไปทำธุรกิจของตัวเอง)

ธาตรี บุญดีเจริญ เป็นคนแรกที่แยกตัวออกมาจากกลุ่มเมืองทองด้วยการจัดตั้งบริษัท ยูนิเวสท์ จำกัดขึ้นในปี 2523 ด้วยทุนจดทะเบียนเริ่มแรก 40 ล้านบาท โดยร่วมกับกลุ่มสนิทวงศ์ ณ อยุธยาผู้ถือหุ้นหนึ่งใน 5 ตระกูลของกลุ่มเมืองทอง โดยถือหุ้นในอัตราส่วนครึ่งต่อครึ่งจากจำนวนหุ้นที่ถือในบริษัททั้งหมด 90%

โดยภาพรวมที่ปรากฏในขณะนั้นยูนิเวสท์จึงไม่ผิดอะไรกับธุรกิจครอบครัว ซึ่งประกอบด้วยกลุ่มผู้ถือหุ้นใหญ่ของ 2 ตระกูล คือ "บุญดีเจริญ" และ "สนิทวงศ์ ณ อยุธยา" แต่การบริหารงานส่วนใหญ่เป็นหน้าที่ของธาตรี เนื่องจากวัฒนศักดิ์และผู้ถือหุ้นรายอื่นยังคงช่วยงานอยู่ในบางกอกแลนด์ในช่วงขณะนั้น

ก่อนหน้าที่ธาตรีจะจัดตั้งบริษัทยูนิเวสท์ขึ้นนั้น ธาตรีได้ทำโครงการศูนย์การค้าหลักสี่ (อยู่ตรงข้ามกับหลักสี่พลาซ่า) ขึ้นเป็นโครงการแรกในนามของบริษัทเจริญเพื่อน ซึ่งเป็นบริษัทของครอบครัวบุญดีเจริญซึ่งตั้งในปี 2517

หลังจากจัดตั้งยูนิเวสท์เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ธาตรีจึงได้เริ่มโครงการพัฒนาที่ดินผืนแรกขึ้นในปี 2524 บริเวณศูนย์การค้าบางกอกบาซาร์ ซึ่งปัจจุบันคือที่ตั้งของอาคารยูนิเวสท์และห้างสรรพสินค้าโรบินสันราชดำรินั่นเอง

ช่วงนั้นเองที่โยธินถอนตัวออกจากบางกอกแลนด์เพื่อมาสมคบกับธาตรีทำโครงการพัฒนาที่ดินงานแรกของตัวเอง

"ถึงแม้ว่าโยธินจะอยู่ในตำแหน่งผู้จัดการใหญ่คุมการบริหารงานทั้งหมด แต่เป็นเพียงการบริหารตามคำสั่งซึ่งถูกกำหนดโดยมงคล ในขณะที่โยธินเองก็มีแนวความคิดเป็นของตัวเอง ซึ่งจุดนี้อาจเป็นสาเหตุหนึ่งก็ได้ที่ทำให้โยธินรู้สึกอึดอัด เพราะช่วงนั้นเขามีอายุเพียง 30 กว่า ๆ เท่านั้น" แหล่งข่าวในบางกอกแลนด์เล่าให้ฟังถึงการที่โยธินถอนตัวมาจากกลุ่มเมืองทอง

ในขณะที่คนใกล้ชิดกับโยธินกล่าวถึงเรื่องการลาออกแต่เพียงสั้น ๆ ว่า "คนเรามันต้องโต"

ที่ดินซึ่งเป็นที่ตั้งอาคารยูนิเวสท์ในปัจจุบันเป็นที่ดินแปลงใหญ่ของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ที่บริษัทสหกรุงเทพพัฒนาเช่ามา เพื่อพัฒนาโครงการศูนย์การค้าบางกอกบาซาร์ แต่ที่ดินเฉพาะบริเวณดังกล่าว ซึ่งมีประมาณ 2 ไร่เศษที่เรียกกันว่า "ที่ล็อคบี" นี้ติดปัญหาเรื่องการจราจรมาก เป็นเหตุให้ไม่สามารถพัฒนาโครงการอะไรขึ้นมาได้ ไม่ว่าจะขอทำเป็นห้างสรรพสินค้า โรงภาพยนตร์ หรือท่าจอดรถ เป็นต้องหยุดชะงักหมดทุกโครงการ

ยูนิเวสท์ได้เจรจาขอซื้อกรรมสิทธิ์การเช่าที่ดินแปลงนี้มาจากสหกรุงเทพพัฒนา และนำไปต่อสัญญาเช่ากับทางสำนักงานทรัพย์สินฯ เป็นเวลา 30 ปี หลังจากนั้นเริ่มการก่อสร้างโครงการอาคารสำนักงานจนแล้วเสร็จในปี 2525 โดยใช้ระยะเวลาการก่อสร้างประมาณ 14 เดือนท่ามกลางความกังขาของบรรดาเจ้าของโครงการและเจ้าของที่เดิมว่ายูนิเวสท์ทำอย่างไรจึงขออนุญาต กทม. ได้เป็นผลสำเร็จ

ในช่วงที่ยูนิเวสท์กำลังจะเริ่มทำอาคารยูนิเวสท์ก็ได้มีการติดต่อกับมานิต อุดมคุณธรรม กรรมการผู้จัดการใหญ่ของโรบินสัน ให้มาใช้พื้นที่ของอาคารในส่วนที่เป็นห้างสรรพสินค้า ซึ่งเป็นช่วงจังหวะเดียวกันกับที่โรบินสันกำลังต้องการหาพื้นที่ เพื่อขยายกิจการ ซึ่งขณะนั้น มีเฉพาะโรบินสันอนุสาวรีย์เพียงแห่งเดียวเท่านั้น

"มีวันหนึ่งผมกับคุณมานิตได้มีโอกาสมานั่งคุยกัน ผมก็ชวนเขามา ตอนนั้นเขากำลังต้องการขยายกิจการอยู่พอดีก็เลยตกลง จากนั้นเขาก็รวบรวมพรรคประมาณ 80 คนมาเป็นหุ้นส่วนกัน ผมเองหลังจากชักชวนกันแล้วก็เกิดชอบพอกันจึงถือโอกาสร่วมหุ้นกับทางโรบินสันเสียเลย" ธาตรีเล่าถึงความเป็นมาของการเข้าไปถือหุ้นในโรบินสันเมื่อประมาณ 10 ปีก่อน

การดึงโรบินสันเข้ามา ประกอบกับจุดขายที่วางไว้ด้วยลิฟต์แก้วถึง 2 ตัว คือ ด้านในและด้านนอกอาคาร ซึ่งตรงนี้เป็นจุดที่ทำให้คนสนใจกันมากจนถือได้ว่ายูนิเวสท์ประสบผลสำเร็จตั้งแต่การก่อสร้างโครงการแรกเริ่มขึ้นแล้ว

ในระหว่างที่เริ่มลงมือก่อสร้างอาคารยูนิเวสท์อยู่นั้น ทางผู้บริหารของยูนิเวสท์ได้มีการเจรจาซื้อที่ดินจำนวน 2,000 ไร่จากวิชัย มาลีนนท์ เพื่อนำมาพัฒนาโครงการเมืองเอกซึ่งเป็นโครงการที่อยู่อาศัยขนาดใหญ่ โดยเริ่มลงมือในปี 2526 หลังจากการก่อสร้างอาคารยูนิเวสท์เสร็จสิ้นลงแล้ว

"สำหรับโครงการเมืองเอก เรามองเรื่องสิ่งแวดล้อมเป็นหลัก เราอยากจะทำสวนสาธารณะใหญ่ ๆ แต่ติดปัญหาไม่มีใครดูแล เราจึงหันไปทำสนามกอล์ฟ ตอนแรกคิดว่าทำแค่ให้เลี้ยงตัวเองได้ แต่ตอนหลังมันได้กลายเป็นธุรกิจขึ้นมา เราก็เลยได้รับผลพลอยได้ไปด้วย" ธาตรีพูดถึงจุดเด่นของโครงการเมืองเอกและผลพลอยได้มหาศาลจากคอนเซ็ปต์ของสนามกอล์ฟ

โครงการต่อมาของยูนิเวสท์ คือ การก่อสร้างอาคารยูนิเวสท์ทาวเวอร์ในนามของบริษัทรื่นอภิบาลโดยการซื้อที่ดินจำนวน 3.5 ไร่จากพิชัย วาสนาส่ง และบริษัทเกอร์สัน แอนด์ ซัน ในช่วงที่เริ่มลงมือก่อสร้างอาคารเป็นช่วงจังหวะเดียวกันกับที่ธาตรีได้มีโอกาสพบกับธนินท์ เจียรวนนท์ คนโตแห่งค่ายซีพีซึ่งกำลังมองหาอาคารที่ทำการหลังใหม่อยู่พอดี ธาตรีจึงได้เสนอแบบทีเล่นทีจริงไปว่า "เอาตึกนี้ไหม" ปรากฏว่าอีก 2 อาทิตย์ถัดมาซีพีก็ตกลงใจที่จะซื้อ

ยูนิเวสท์ขายอาคารยูนิเวสท์ทาวเวอร์ให้กับซีพีเมื่อปลายปี 2530 ในราคา 975 ล้านบาทในขณะที่มูลค่าของอาคารขณะนั้นประมาณ 1,000ล้านบาท และอีก 3 เดือนถัดมา อาคารนี้มีมูลค่าสูงขึ้นไปถึง 1,500 ล้านบาท และหลังจากที่ซ้อไปแล้วซีพีก็ได้เปลี่ยนชื่อไปเป็นอาคารซีพีทาวเวอร์

ธาตรีได้อธิบายถึงการขายอาคารยูนิเวสท์ทาวเวอร์ในราคาที่ต่ำกว่ามูลค่าที่แท้จริงในขณะนั้นว่า "เป็นการขายเหมา ขายแบบมิตรภาพ ในขณะที่มูลค่าอาคารขณะนั้นประมาณ 1,000 ล้าน แต่เราขายราคาต่ำกว่าราคาที่เป็นจริงเพราะสายสัมพันธ์ที่มีต่อกัน ซึ่งเราได้กำไรไม่มาก แต่เป็นการช่วยเงินทุนหมุนเวียนของบริษัท การที่เราตัดสินใจขายในช่วงนั้นเนื่องจากเรามีโครงการลงทุนอีก 2-3 โครงการ เมื่อขายแล้วเราเอาเงินไปซื้อที่ต่อจากเมืองเอกโครงการ 1 อีก 2,000 ไร่เพื่อทำโครงการเมืองเอก 2, 3, 4 และสนามกอล์ฟอีกแห่งหนึ่ง นอกจากนี้ได้นำเงินส่วนหนึ่งไปร่วมทุนกับคุณชวน รัตนรักษ์ ซึ่งที่จริงตอนแรกเราต้องการที่ดินบริเวณหัวโค้งอโศก-ดินแดง (ที่ตั้งของฟอร์จูนทาวน์ปัจจุบัน) ซึ่งเป็นของคุณชวน เราเข้าไปเจรจาขอซื้อแต่ได้รับคำตอบกลับให้ร่วมทุนกันดีกว่า เราจึงเข้าถือหุ้นในบริษัทสยามนำโชคจำนวน 30%"

การที่ยูนิเวสท์ขายตึกให้กับซีพีในครั้งนั้นถือได้ว่าเป็นก้าวแรกแห่งความสัมพันธ์ที่ส่งผลให้เกิดการร่วมทุนทางธุรกิจในเวลาต่อมา

สุนทร อรุณานนท์ชัย น่าจะเป็นคนที่มีบทบาทมากต่อการเชื่อมโยงสายสัมพันธ์ของบริษัททั้งสองแห่งนี้

ในช่วงที่ธาตรีและโยธินแยกตัวออกมาจากกลุ่มเมืองทองเพื่อมาทำโครงการของตัวเองนั้น เขาได้รับการสนับสนุนอย่างดีจากชาตรี โสภณพนิช ทั้งในส่วนของธนาคารกรุงเทพและในส่วนของบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์สินเอเซีย โดยมีสุนทรเป็นผู้ดูแลบัญชีลูกหนี้รายนี้

ในขณะที่ซีพีก็เป็นลูกค้าที่สุนทรดูแลมาตั้งแต่สมัยที่เขายังร่วมงานอยู่กับบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ทิสโก้เรื่อยมาจนถึงสินเอเซีย ดังนั้นความสัมพันธ์ของเขากับธนินท์ เจียรวนนท์จึงแนบแน่นอย่างไม่ต้องสงสัย ตำแหน่งที่ปรึกษาทางการเงินของธนินท์ดูจะเป็นตำแหน่งที่ไม่เป็นทางกานักสำหรับเขา

ครั้งหนึ่งก่อนหน้าที่ธนินท์จะซื้อตึกยูนิเวสท์ทาวเวอร์ไม่นาน เขาเกิดความสนใจในโครงการเมืองเอกของกลุ่มยูนิเวสท์ว่าทำอย่างไรถึงพัฒนาที่ดินจำนวน 2,000 ไร่จนประสบผลสำเร็จ จึงขอไปดูโครงการผ่านมาทางสุนทร โดยมีโยธินเป็นผู้พาเข้าเยี่ยมชมโครงการ

ในปี 2530 หลังจากที่ยูนิเวสท์เข้าถือหุ้นจำนวน 30% ในบริษัทสยามนำโชคแล้ว ก็ได้ไปติดต่อกับห้างสรรพสินค้าเยาฮันที่ญี่ปุ่นซึ่งกำลังหาพื้นที่ที่จะมาลงทุนเปิดสาขาในประเทศไทยจึงได้ชักชวนเข้ามา หลังจากตกลงกันได้จึงได้นำแผนนี้เสนอให้กับชวน จนในที่สุดก็ได้เริ่มพัฒนาที่ดินจำนวนกว่า 20 ไร่บนถนนรัชดาภิเษกในบริเวณสี่แยก อ.ส.ม.ท. ในชื่อโครงการรัชดาสแควร์หรือฟอร์จูนทาวน์ในปัจจุบัน

ในปีถัดมา (2531) สยามนำโชคก็ได้ทำสัญญาให้เช่าพื้นที่ในโครงการฟอร์จูนทาวน์จำนวน 40,000 ตารางเมตรกับห้างสรรพสินค้าเยาฮันโดยมีกำหนดระยะเวลา 20 ปี

ในปี 2532 ธนินท์ได้เข้าพบและเจรจากับชวนเพื่อขอซื้อหุ้นจำนวน 70% ที่เหลือในบริษัทสยามนำโชค ทั้งนี้จากการชักชวนของสุนทร จนกระทั่งสำเร็จในที่สุด

จากการเชื่อมโยงสายสัมพันธ์ดังกล่าวนี้เอง ที่ทำให้สุนทรถูกเลือกให้เข้ามารับตำแหน่งกรรมการผู้จัดการของสยามนำโชคในฐานะคนกลางที่เป็นตัวแทนของทั้งซีพีและยูนิเวสท์

หลังจากนั้นไม่นาน สุนทรก็ผลักดันให้สยามนำโชคเข้าจดทะเบียนเพื่อระดมเงินจากตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้เป็นผลสำเร็จในเดือนมกราคม 2533 นับเป็นบริษัทพัฒนาที่ดินแห่งแรกในเครือของซีพีที่เข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ

ดังนั้น จึงทำให้สัดส่วนการถือครองหุ้นจากเดิมเปลี่ยนแปลงไป คือ ซีพี 70% ยูนิเวสท์ 30% มาเป็นถือหุ้นในจำนวนที่เท่ากัน คือ ฝ่ายละ 37.5% ส่วนที่เหลืออีก 25% นำออกขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ

และการที่สยามนำโชคเป็นบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ฯ นี่เองทำให้ยูนิเวสท์ต้องแยกทีมบริหารกันอย่างชัดเจน โยธินจำต้องเข้าไปนั่งบริหารงานอย่างเต็มตัวที่สยามนำโชคในตำแหน่งประธานกรรมการบริหาร โดยมีสุนทรเป็นกรรมการผู้จัดการ ดังนั้นภาระในการบริหารงานบริษัทในเครือข่ายยูนิเวสท์จึงตกเป็นหน้าที่ของธาตรีในตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่ของยูนิเวสท์กรุ๊ป

และนี่ถือเป็นกิจการร่วมทุนแห่งแรกของยูนิเวสท์โดยเฉพาะกับยักษ์ใหญ่อย่างซีพี

หลังจากนั้นไม่นานซีพีก็ได้ร่วมทุนกับยูนิเวสท์จัดตั้งบริษัทยูซีพี โฮลดิ้งขึ้นด้วยทุนจดทะเบียน 200 ล้านบาทในปี 2532 โดยมีสัดส่วนการถือหุ้นยูนิเวสท์ 55% ซีพี 45%

ในปี 2530 ยูนิเวสท์ได้จัดตั้งบริษัททีดับบลิววายพร็อพเพอร์ตี้ขึ้น พร้อมกับเข้าไปซื้อที่ดินริมแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณท่าน้ำคลองสานจำนวน 7.5 ไร่ในราคาตารางวาละ 7 หมื่นเมื่อประมาณ 2 ปีเศษจากตระกูลเก่าแก่ซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินแปลงนี้

ต่อมาเมื่อยูนิเวสท์ตัดสินใจที่จะพัฒนาที่ดินแปลงนี้ให้เป็นโรงแรมระดับ 5 ดาว (โรงเรียนโซฟิเทล บางกอก ริเวอร์ไซด์) จึงได้ชวนซีพีและบริษัทแอคคอร์ ซึ่งเป็นบริษัทบริหารและจัดการโรงแรมที่มีชื่อเสียงที่สุดในโลกจากประเทศฝรั่งเศสให้เข้าร่วมทุน

ในส่วนของซีพีและยูนิเวสท์นั้นถือหุ้นในนามของสยามนำโชค 29.9% และยูซีพี โฮลดิ้ง 40% ส่วนแอคคอร์ถือหุ้น 20% บงล.สินเอเชียถือ 5% และครอบครัวสุนทรรวมกับครอบครัวชาญชัย ลี้ถาวร ถือส่วนที่เหลืออีก 5% จากทุนจดทะเบียนทั้งหมด 505 ล้านบาท

ในขณะที่ขั้วหนึ่งของยูนิเวสท์กำลังขยายการลงทุนในลักษณะของการร่วมทุนกับบริษัทอื่นในโครงการต่าง ๆ อยู่นั้น บริษัทภายในเครือข่ายของยูนิเวสท์ซึ่งเป็นขั้วใหญ่ก็ได้ดำเนินโครงการต่อเนื่องไปพร้อม ๆ กัน นั่นคือการทำเมืองเอกโครงการ 4 ซึ่งมีจุดเด่นอยู่ที่การสร้างสนามกอล์ฟกลางคืน โดยให้ชื่อสนามกอล์ฟเมืองเอกวิสต้า รวมทั้งเมืองเอกโครงการ 5, 6 , 7 เป็นโครงการต่อเนื่องตามมาและกำลังอยู่ในระหว่างการดำเนินงาน

ยูนิเวสท์ถูกจุดกระแสความสนใจขึ้นเมื่อกลุ่มผู้ถือหุ้นบางคนในบริษัทได้เข้าไปซื้อหุ้นจำนวนมากของสามชัย ซึ่งเป็นบริษัทเก่าแก่ในตลาดหลักทรัพย์ฯ จากธนสยามเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา โดยเสนอซื้อในราคา 36.50 บาท

จำนวนหุ้นของสามชัยที่บริษัทในเครือข่ายของธนสยามขายออกไปมีทั้งหมด 3,981,000 หุ้นหรือเท่ากับ 44.24% ของทุนจดเทียน 90 ล้านบาท จากการขายของบริษัทสามสองธุรกิจจำนวน 3,280,900 หุ้นหรือ 36.45% ของทุนจดทะเบียนและบริษัทตรีทวิธุรกิจจำนวน 701,000 หุ้น หรือ 7.79%

และผู้ที่ซื้อหุ้นจำนวนดังกล่าวไป ได้แก่ ธาตรี บุญดีเจริญ จำนวน 1,620,000 หรือ 18% วัฒนศักดิ์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา จำนวน 1,620,000 หุ้น หรือ 18% และทวีวงศ์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา 741,900 หุ้นหรือ 8.24% และต่อมาทวีวงศ์ได้รับซื้อหุ้นจากผู้ถือหุ้นรายย่อยเพิ่มอีกจำนวน 17,500 หุ้นหรือ 0.19%

จากการซื้อขายครั้งนี้ทำให้โครงสร้างผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของสามชัย มีดังนี้คือ ธาตรีถือจำนวน 18% วัฒนศักดิ์ 18% บริษัทสามสองธุรกิจ 11.30% บงล.ธนสยาม 10% และทวีวงศ์ 8.44%

ในขณะเดียวกันก็มีการแต่งตั้งกรรมการใหม่ของสามชัยเพิ่มอีก 2 คน คือ พิชัย วาศนาส่ง และธาตรี บุญดีเจริญ นอกเหนือจากที่มีอยู่เดิม คือ ประจิตร ยศสุนทร วิษณุ รุจิเกียรติกำจร และศิริพงษ์ สมบัติศิริ

ธนสยามและบริษัทในเครือซื้อหุ้นสามชัยจากธรรมา ปิ่นสุกาญจนะ ผู้ก่อตั้งเมื่อพฤษภาคมปีที่แล้วจำนวน 180,000 หุ้นหรือ 51% ของทุนจดทะเบียน 30 ล้านบาท (มูลค่าหุ้นละ 100 บาท) ในราคาหุ้นละ 400 บาทคิดเป็นเงินรวมทั้งสิ้น 72 ล้านบาท หลังจากนั้นธนสยามก็ให้สามชัยเข้าไปซื้อหุ้นของไตร-สตาร์อุตสาหกรรมจำนวน 159,993 หุ้น หรือ 99.99% ในราคาหุ้นละ 250 กว่าบาทคิดเป็นเงิน 40.41 ล้านบาท

อีก 4 เดือนต่อมา สามชัยก็ประกาศเพิ่มทุนจาก 30 ล้านบาทเป็น 200 ล้านบาท โดยออกหุ้นใหม่จำนวน 17 ล้านหุ้น ๆ ละ 10 บาท และเรียกชำระครั้งแรก 60 ล้านบาท โดยจำหน่ายหุ้นเพิ่มทุนแก่ผู้ถือหุ้นเดิมในสัดส่วน 1 หุ้นเดิมต่อ 2 หุ้นใหม่ในราคาหุ้นละ 20 บาท

เงินเพิ่มทุนจำนวนดังกล่าว สามชัยได้นำไปลดหนี้เงินกู้จำนวน 46 ล้านบาท พร้อมทั้งนำเงินไปซื้อสำนักงานใหญ่แห่งใหม่ของบริษัทซึ่งเป็นอาคารที่อยู่ในโครงการมินิออฟฟิศของปลาทองกระรัต บนถนนรัชดาภิเษกในราคา 40 ล้านบาท และได้นำเงินส่วนที่เหลือจำนวน 34 ล้านบาทไปเพิ่มทุนจดทะเบียนให้กับไตร-สตาร์อุตสาหกรรมจากทุนจดทะเบียนเดิม 16 ล้านบาทเป็น 50 ล้านบาท

ไตรสตาร์นำเงินเพิ่มทุนจำนวนดังกล่าวไปลดหนี้เงินกู้จากการลงทุนซื้อที่ดินบริเวณถนนแจ้งวัฒนะจำนวน 600 ตารางวาในราคาประมาณ 20 ล้าน นอกจากนี้ยังนำเงินไปก่อสร้างโกดังใหม่เพิ่มเติมอีกประมาณ 7 ล้านบาท

การที่ธนสยามไม่มีความสันทัดในกิจการเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ทำให้หลายคนตั้งข้อสังเกตว่า ธนสยามจะพาสามชัยไปได้ไกลมากน้อยแค่ไหน

สามชัยภายใต้การบริหารงานของธนสยามดำเนินไปท่ามกลางสถานการณ์รอบด้านที่ไม่ดีนักได้เพียงปีเศษ ธนสยามก็ประกาศขายให้กับยูนิเวสท์

ภาพลักาณ์ของธนสยามที่ออกมาจึงไม่แตกต่างอะไรกับการเข้าไปเพื่อตกแต่งแล้วขายทิ้งเอากำไร ซึ่งคนวงในกล่าวกันว่า ครั้งนี้ธนสยามได้กำไรจากการขายหุ้นสามชัยให้ยูนิเวสท์ประมาณ 30 ล้านบาท

ในขณะที่ยูนิเวสท์ถูกมองว่าเข้าซื้อสามชัยเพื่อเป็นใบเบิกทางสู่การระดมทุนจากประชาชนให้กับกลุ่มทางอ้อม

ซึ่งวิธีการดังกล่าวนี้เป็นรูปแบบของการเทคโอเวอร์ในอนาคตที่สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์ นักวิชาการด้านหุ้นอธิบายว่า "นักเทคโอเวอร์คงจะหันไปซื้อกิจการในตลาดฯ ที่มีผลการดำเนินงานไม่ดีและราคาหุ้นตกต่ำเพื่อใช้เป็นฐานในการชักจูงกิจการอื่นที่อยู่นอกตลาดฯ ที่ไม่มีโอกาสเข้าจดทะเบียน ให้มีโอกาสนำหุ้นเข้ามาซื้อขายในกระดานได้ด้วย โดยใช้วิธีนำหุ้นในตลาดฯ ที่เข้าไปเทคโอเวอร์เรียบร้อยแล้วไปซื้อกิจการ ในบริษัทนอกตลาดฯ และมีการเปลี่ยนวัตถุประสงค์ในการดำเนินธุรกิจให้สอดคล้องกับบริษัทที่อยู่ในตลาดฯ ทำให้หุ้นของบริษัทที่อยู่นอกกระดานได้เข้าไปจดทะเบียนโดยปริยาย"

หากวิเคราะห์ในจุดนี้ สามชัยก็น่าจะเข้าข่ายที่ยูนิเวสท์จะกระทำได้เช่นกัน แต่ผู้บริหารของยูนิเวสท์กลับยืนยันอย่างหนักแน่นว่า ยูนิเวสท์มีศักยภาพเพียงพอที่จะเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้ด้วยตัวเอง ในขณะที่สามชัยเป็นโอกาสในการขยายการลงทุนของยูนิเวสท์สู่ธุรกิจอื่นที่ไม่จำเป็นจะต้องมีเฉพาะธุรกิจเรียลเอสเตทเท่านั้น

ผู้บริหารของสามชัยได้แจ้งกับตลาดหลักทรัพย์ฯ ว่า หลังจากเปลี่ยนแปลงผู้ถือหุ้นแล้ว บริษัทจะยังคงดำเนินธุรกิจเดิม คือ เป็นตัวแทนจำหน่ายเครื่องใช้ไฟฟ้ายี่ห้อเมกก้า ฟิลโก้ กรุนดิก และบริษัทจะขยายธุรกิจออกไปโดยจะเป็นผู้ติดตั้งระบบไฟฟ้า ประปา และเครื่องปรับอากาศในอาคารสูง เช่น อาคารโรงแรม สำนักงาน และศูนย์การค้าต่าง ๆ ซึ่งในธุรกิจดังกล่าว บริษัทได้รับประโยชน์โดยตรงจากความรู้และประสบการณ์ในธุรกิจจากลุ่มผู้ถือหุ้นใหม่ โดยคาดว่าจะทำรายได้ให้แก่บริษัทใน 2 ปีแรกไม่ต่ำกว่า 550 ล้านบาท และมีกำไรก่อนหักภาษีประมาณ 30 ล้านบาท

นั่นคือทิศทางจากนี้ไปของสามชัยที่ถูกกำหนดโดยผู้บริหารชุดใหม่

"ธนสยามต้องการขายหุ้นสามชัย เพราะเขาไม่มีเวลาดูและไม่ชำนาญในธุรกิจประเภทนี้ เขามีปัญหามากจึงได้มาหาเราและอยากให้เราเข้าไปเป็นการหาทางออก ในขณะที่เราพิจารณาดูแล้วว่า สามชัยเป็นบริษัทเก่าแก่ เงินทุนจดทะเบียนยังน้อย ราคาหุ้นไม่แพงเกินไปนัก ทั้งยังมีศักยภาพในการขยายตัวได้อีกมาก จึงได้ปรึกษากับคุณพิชัย ซึ่งก็เห็นดีด้วย เราใช้เวลาในการตกลงกันประมาณ 3-4 วัน" ธาตรีเล่าถึงที่มาของการตกลงใจเข้าไปลงทุนในสามชัย

แหล่งข่าวในสามชัย เล่าถึงปัญหาที่เกิดขึ้นในช่วงที่ธนสยามเข้ามาให้ฟังว่า "ที่จริงธนสยามเขาพยายามที่จะพัฒนาสามชัยมาก ดูได้จากการซื้อไตร-สตาร์อุตสาหกรรม ซึ่งเป็นโรงงานผลิตทีวีเข้ามา เพื่อทำให้สามชัยเติบโตขึ้นอย่างน้อยในแง่ของทรัพย์สินที่เพิ่มขึ้น ในขณะที่ตลาดเครื่องใช้ไฟฟ้าเผชิญกับการแข่งขันในตลาดสูง ทำให้สามชัยลำบาก ทางธนสยามจึงพยายามหาทางออกด้วยการหาธุรกิจอื่นมาช่วย โดยการซื้อที่ดินมาแปลงหนึ่งเพื่อพัฒนา แต่เผอิญภาวะเศรษฐกิจเกิดชะงักงัน อัตราดอกเบี้ยถีบตัวสูงขึ้น สาเหตุมาจากสงครามอ่าวเปอร์เซีย ทำให้โครงการดังกล่าวต้องพับไป"

จากการที่ยูนิเวสท์ได้เข้าไปศึกษาปัญหาของสามชัย ปรากฏว่า สามชัยมีปัญหาเรื่องระบบการขายและการจัดการข้างใน ระบบการเก็บเงิน การบริการหลังการขาย ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องแก้ไขไปพร้อม ๆ กับการขยายธุรกิจใหม่ เพื่อเสริมธุรกิจเดิมที่มีอยู่ นั่นคือ การเพิ่มงานระบบทั้งไฟฟ้า ประปา และเครื่องปรับอากาศด้วยการจัดตั้งทีมงานขึ้นมาอีกชุดหนึ่งเข้าไปทำงานด้านนี้โดยเฉพาะ ในขณะที่ทีมงานชุดเดิมของสามชัยในส่วนของเครื่องใช้ไฟฟ้าก็ยังคงอยู่ต่อไป

สำหรับงานระบบอาจจะดูเป็นธุรกิจใหม่สำหรับสามชัย แต่กับยูนิเวสท์แล้วธุรกิจนี้เป็นธุรกิจที่ยูนิเวสท์ทำมาแล้วกว่า 5 ปีในนามของบริษัทยอร์คเกอร์โฮลดิ้ง ซึ่งเป็นบริษัทในเครือข่ายแห่งหนึ่งที่ตั้งมาตั้งแต่ปี 2525 และนอกเหนือจากการทำงานระบบแล้ว บริษัทนี้ยังมีธุรกิจประมูลเครื่องจักรกลส่งให้กับหน่วยงานราชการอีกด้วย

นอกจากนี้แล้ว ยูนิเวสท์ยังมีบริษัทยอร์คเกอร์ เทรดดิ้ง ซึ่งตั้งขึ้นในปีเดียวกัน เป็นบริษัทส่งออกแร่ยิปซัม อาหารทะเล เครื่องหนัง และเครื่องประดับเทียม และเมื่อ 3 ปีที่แล้ว บริษัทนี้เคยยื่นเสนอขอเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ แต่ถูกปฏิเสธกลับมาด้วยเหตุที่ตลาดฯ ไม่มีนโยบายที่จะรับบริษัทเทรดดิ้งเข้าจดทะเบียน อาจจะเป็นด้วยเหตุนี้ ทำให้ยอร์คเกอร์ เทรดดิ้ง พยายามสร้างหลักทรัพย์ด้วยการร่วมทลงทุนในบริษัทวาย เค อาหารทะเลแช่แง ซึ่งเป็นโรงงานผลิตอาหารทะเลแช่แข็งประมาณปลาส่งออก นอกจากนี้ยังร่วมทุนในบริษัท ยู.เจ.ซี.ซี. ซึ่งเป็นโรงงานผลิตเครื่องประดับเทียม แทนที่จะทำธุรกิจเทรดดิ้งเพียงอย่างเดียว

และนี่เองที่เป็นเครื่องยืนยันคำพูดของธาตรีที่ว่า ยูนิเวสท์ไม่ได้มีแต่เพียงธุรกิจเรียลเอสเตทเท่านั้น

ทีมงานใหม่ที่จะถูกส่งเข้าไปรับงานระบบต่าง ๆ ให้กับสามชัยก็คือ ทีมงานชุดเดียวกันกับที่อยู่ยอร์คเกอร์ โฮลดิ้งนั่นเอง เหมือนกับเป็นการโอนงานในส่วนนี้จากยอร์คเกอร์ โฮลดิ้ง จะทำธรุกิจประมูลเครื่องจักรกลเพียงอย่างเดียว ซึ่งการทำเช่นนี้จะเป็นการเพิ่มรายได้ให้กับสามชัยได้เป็นอย่างดี

เนื่องจากงานระบบเป็นงานที่มีมูลค่าถึง 37% ของมูลค่าการก่อสร้างทั้งหมดของโครงการ สมมติว่าโครงการนั้นใช้เงินลงทุนทั้งหมด 1,000 ล้านบาท ส่วนที่เป้นงานระบบของโครงการนั้นจะอยู่ในราว 370 ล้านบาท และตัวเลขรายได้ใน 2 ปีแรกที่ผู้บริหารชุดใหม่ของสามชัยแจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์ว่า จะมีรายได้ใน 2 ปีไม่ต่ำกว่า 550 ล้านบาทนั้นเป็นตัวเลขที่คิดจากการรับงานระบบเฉพาะงานโครงการของบริษัทเครือข่ายยูนิเวสท์เท่านั้น

หากจะเทียบกันระหว่างยอร์คเกอร์ โฮลดิ้งกับสามชัยแล้ว สามชัยมีศักยภาพในแง่ของการลงทุนขยายธุรกิจมากกว่าโดยเฉพาะความพร้อมในเรื่องของเงินทุนจากการเป็นบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ฯ

ความได้เปรียบประการแรก คือ สามารถลงทุนเก็บสต็อกอุปกรณ์ในงานระบบได้จำนวนมาก

ประการที่สอง สามชัยมีความพร้อมในการที่จะขยายการลงทุนสู่อุตสาหกรรมการผลิต ยกตัวอย่างกรณีของอุปกรณ์ที่เกี่ยวเนื่องกับการใช้ในงานระบบไฟฟ้า อย่างเช่นหลอดไฟฟ้าหรือสวิตซ์ไฟ เป็นต้น ซึ่งแน่นอนว่าอนาคตจะต้องเกิดขึ้น

"สามชัยจะต้องพยายามเติบโตในเรื่องระบบไฟฟ้าเป็นหลัก แต่เมื่อมีช่องทางในอนาคตอาจไปเรื่องอื่นได้บ้าง แต่ต้องอยู่ในไลน์นี้ แต่ก็ไม่ได้จำกัดว่าถ้ามีโครงการดี ๆ แล้วจะไม่ลงทุน ถ้ามีก็ลงทุนเพื่อให้บริษัทมีกำไร" ธาตรีกล่าวถึงทิศทางการเติบโตของสามชัยในอนาคต

เช่นเดียวกับทิศทางการพัฒนาธุรกิจที่ดินและการขยายการลงทุนของยูนิเวสท์จากนี้ไปได้ถูกกำหนดไว้แล้วเช่นกัน

ประการที่หนึ่ง หากเป็นการลงทุนทางด้านจัดสรรที่ดินหรือสนามกอล์ฟ ยูนิเวสท์จะลงทุนเองทั้งหมด ทั้งนี้มาจากปัจจัยเรื่องเงื่อนไขในการให้บริการหลังการขายที่ผู้ถือหุ้นใหม่อาจรับไม่ได้

ประการที่สองในกรณีที่เป็นศูนย์การค้าจะเปิดช่องให้กับเจ้าของที่ดินเข้าร่วมทุน เพราะเรื่องทำเลเป็นปัจจัยสำคัญ

"อีกไม่เกิน 3 ปี เราจะได้เห็นรูปแบบการลงทุนใหม่ที่เจ้าของที่ดินที่ลงทุนร่วมจะได้แบ่งพื้นที่ไปแทนผลกำไร เป็นการรับประกันให้เจ้าของที่ดินได้ทรัพย์สินคืนที่แน่นอน อย่างเช่นราคาที่ดินของเจ้าของเดิมตีมูลค่าออกมา 100 ล้านบาทเราก็แบ่งพื้นที่เมื่อโครงการนั้นสร้างเสร็จให้ตามราคาขายขณะนั้น ซึ่งการนำคอนเซ็ปต์นี้มาใช้ขึ้นอยู่กับปัจจัย 3 อย่าง คือ ที่ดินแพง เจ้าของไม่ยอมขาย และที่ดินมีแปลงเล็กหรือเป็นที่ดินที่มีเจ้าของหลายคน ซึ่งวิธีการนี้ในญี่ปุ่นใช้กันมาก ในเมืองไทยปัจจุบันก็มีคนเริ่มคิดกันบ้างแล้ว" ธาตรีได้อธิบายถึงวิธีการลงทุนในการพัฒนาที่ดินแนวใหม่ที่สร้างความมั่นใจให้กับเจ้าของที่ดินที่ไม่ต้องการจะย้ายออกจากพื้นที่เดิมของตน

การร่วมทุนจะถูกเปิดกว้างถ้าเป็นสิ่งที่ยูนิเวสท์มีความรู้ความชำนาญก็จะเข้าไปเป็นผู้บริหารเอง ส่วนธุรกิจที่ไม่ชำนาญ เราเปิดกว้างให้ผู้ร่วมทุนซึ่งมีความรู้ความชำนาญมากกว่าเป็นผู้บริหาร

"เรื่องของศูนย์การค้า ออฟฟิศ การพัฒนาโครงการใหม่ ๆ ในเมืองจะออกไปในรูปของการร่วมทุนมากขึ้น ส่วนการพัฒนาโครงการนอกเมืองเป็นพวกจัดสรร หรือสนามกอล์ฟจะรักษาแนวเดิม คือ ยูนิเวสท์ดำเนินการเอง และเป้าหมายต่อไป เราจะต้องมุ่งให้ระบบเข้าที่มากขึ้นเพื่อระดมทุนในธุรกิจใหม่ ๆ บางอย่างที่ให้ผลตอบแทนสม่ำเสมอ เราอาจจะเพิ่มไลน์อย่างอื่นอย่างกรณีของการลงทุนในสามชัย รวมทั้งโรงแรมหรือเราอาจจะทำโรงงานก็ได้ ซึ่งธุรกิจประเภทนี้ทำรายได้ให้อย่างสม่ำเสมอโดยเฉพาะการลงทุนในระบบสาธารณูปโภคบางอย่าง ระบบขนส่ง เรื่องของรถไฟฟ้า โทรศัพท์ การสื่อสารดาวเทียม ทั้งหมดเป็นเป้าหมายในอีก 10 ปีข้างหน้าที่เราจะทำ แต่นอนอนว่าเราจะไม่ทิ้งธุรกิจเรียลเอสเตท เพราะเป็นหัวใจที่เราชำนาญที่สุด" ธาตรีพูดถึงทิศทางที่ยูนิเวสท์จะก้าวไปในอีก 10 ปีข้างหน้า

ที่ผ่านมา กลุ่มยูนิเวสท์จัดว่าเป็นกลุ่มที่ทำธุรกิจพัฒนาที่ดินแบบครบวงจรมากที่สุดเมื่อเทียบกับบริษัทพัฒนาที่ดินรายอื่น คือ มีครบทุกประเภทไม่ว่าจะเป็นโครงการบ้านจัดสรร สนามกอล์ฟ ศูนย์การค้า หรือโรงแรม ในขณะที่บริษัทอื่นมุ่งทำโครงการเฉพาะอย่างเท่านั้น

ทั้งนี้เป็นไปตามแนวความคิดที่ผู้บริหารกลุ่มยูนิเวสท์ได้วางไว้สำหรับงานพัฒนาที่ดินซึ่งควรจะแบ่งเป็น 3 ประเภท คือ

ประเภทแรก การทำโรงแรม ซึ่งเป็นการลงทุนระยะยาวในทรัพย์สินถาวรที่มีมูลค่าเพิ่ม ในขณะที่รายได้สม่ำเสมอและข้อสำคัญเป็นภาพพจน์ของกลุ่ม

ประเภทที่สอง การลงทุนในโครงการศูนย์การค้า ถึงแม้ว่าจะต้องใช้เงินลงทุนสูง แต่รายได้จากการเก็บค่าเซ้ง ค่าบริการจะทำให้ตัวเลขของบริษัทเติบโตเร็ว มีผลกำไรเข้ามาในช่วง 2-3 ปี

ประเภทที่สาม การลงทุนในโครงการบ้านจัดสรรและสนามกอล์ฟ เป็นการลงทุนที่ต่อเนื่อง ใช้เงินลงทุนมาก แต่เป็นช่วงหรือเป็นจังหวัดได้ขณะที่มีกำไรดี ส่วนสนามกอล์ฟเป็นการลงทุนครั้งเดียวเก็บเกี่ยวผลได้ตลอด เป็นทรัพย์สินของบริษัทและช่วยเสริมภาพพจน์

คนที่เปรียบเสมือนมันสมองของยูนิเวสท์และเป็นคนที่มีบทบาทมากที่สุดต่อการกำหนดทิศทางของกลุ่มยูนิเวสท์ก็คือ พิชัย วาศนาส่ง

พิชัยคุ้นเคยกับกลุ่มบุญดีเจริญ และกลุ่มสนิทวงศ์ ณ อยุธยา มาตั้งแต่สมัยที่เป็นที่ปรึกษาให้กับกลุ่มเมืองทอง เมื่อธาตรีและพรรคพวกออกมาตั้งบริษัทยูนิเวสท์ พิชัยก็ได้มาร่วมเป็นหนึ่งในบรรดาผู้ถือหุ้นยุคเริ่มแรก ในขณะเดียวกันก็เข้ามาดำรงตำแหน่งเป็นประธานคณะกรรมการที่ปรึกษาให้กับยูนิเวสท์ด้วย

พิชัยจะเป็นผู้กำหนดนโยบายสำคัญหลายอย่างโดยเฉพาะโครงการหรือแนวความคิดใหม่ๆ อย่างกรณีของสามชัยก็เป็นแนวความคิดของพิชัยที่มองว่า ยูนิเวสท์ควรจะมีธุรกิจประเภทนี้หรืออย่างการสร้างสนามกอล์ฟกลางคืนในโครงการเมืองเอก ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นการติดต่อนโยบายกับต่างประเทศ

การที่พิชัยเป็นผู้ที่มีมุมมองกว้างและทัศนคติที่สมัยใหม่ประกอบกับนโยบายอนุรักษนิยมแบบค่อยเป็นค่อยไป ส่งผลให้การบริหารงานในบริษัทเครือข่ายของยูนิเวสท์ผิดพลาดน้อยมากหรือแทบจะไม่มีเลย

"เมื่อ 2 ปีที่แล้วมีการคุยกันว่า ตลาดเมื่อบูมสุดขีดจะถึงจุดอันตราย เรามีการระวังตัวในช่วง 2 ปีที่แล้ว เราเกือบไม่ได้ซื้อที่เลยเพราะดูแล้วตลาดโอเวอร์ฮีทมาก ซึ่งผมก็เห็นด้วย เราเก็บเงินสดไว้ในมือให้มากที่สุด และมันเป็นจริงในปีนี้ เรามีเงินสดในมือที่จะสามารถซื้อที่ดินในราคาที่เหมาะสมไม่แพงจนเกินไปนัก หรืออย่างกรณีของสามชัยก็มีบทบาทนหึ่งที่เราเตรียมตัวมา 2 ปีทำให้มีกำลังที่จะซื้อได้" ธาตรีเล่าถึงมุมมองหรือการคาดการณ์ของพิชัยที่ค่อนข้างจะแม่นยำเสมอ

ในส่วนของงานภาคปฏิบัติ ซึ่งมีธาตรีเป็นผู้รับผิดชอบงานทั้งหมดของกลุ่มยูนิเวสท์แล้ว คนที่มีบทบาทสำคัญอีกคนหนึ่ง คือ วัฒนศักดิ์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ซึ่งดูแลทางด้านการเงิน รวมถึงด้านนโยบายหลายอย่าง อย่างเช่นโครงการใหม่ ๆ ที่ดินใหม่ ๆ วัฒนศักดิ์ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้รับผิดชอบในการหาที่ดินมา ทั้งนี้เป็นเพราะตระกูลสนิทวงศ์มีที่ดินมากทั้งที่มรดกและที่ของคนรู้จัก ดังนั้นสายสัมพันะในจุดนี้จะลึกซึ้งมากกว่า

คำกล่าวของธาตรีที่ว่า "ยูนิเวสท์ต้องเข้าตลาดฯ ด้วยตัวเอง" เป็นความจริงที่อยู่ในระหว่างการศึกษาของบงล.เอกธนกิจ และ บงล.เอกสิน

ด้วยเหตุผล 2 ประการ คือ ภาพพจน์ และเงินลงทุนในราคาถูก

เพราะเป้าหมายหลักของยูนิเวสท์คือการก้าวสู่ระดับสากล จึงจำเป็นต้องมีบริษัทหลักหลายแห่งที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฯ เพื่อเป็นบรรทัดฐานที่จะติดต่อกับต่างชาติ

ยูนิเวสท์ พร็อพเพอร์ตี้ และเมืองเอก เป็นบริษัทที่มีศักยภาพมากที่สุดในการเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ เนื่องจากทั้ง 2 บริษัทได้ทำกำไรจากโครงการเมืองเอกต่อเนื่องติดต่อกันมาหลายปี ในขณะที่บริษัทอื่นในเครือข่ายของยูนิเวสท์ อย่างเช่นบริษัทยูนิเวสท์กรุ๊ป บริษัทยูนิเวสท์โฮลดิ้ง บริษัทเจริญเพื่อน หรือบริษัทบุญดีเจริญ เป็นเพียงบริษัทโฮลดิ้งคัมพานีที่ถือหุ้นในบริษัทอื่นเท่านั้น ถ้าหากจะพูดถึงมูลค่าทรัพย์สินโดยรวมของกลุ่มยูนิเวสท์ทั้งกลุ่มจะมีประมาณ 10,000 ล้านบาท

"นานมาแล้ว ยูนิเวสท์ได้รับเชิญให้เข้าตลาดหุ้น แต่เรายังตัดสินใจไม่ได้ว่าจะเข้าหรือไม่เข้า เพราะธุรกิจเรียลเอสเตทมันค่อนข้างจะซับซ้อนนิดหน่อย การเข้ามันมีทั้งข้อดีและข้อเสีย เพราะถ้าเรียลเอสเตทอยู่ในตลาดจะมีแรงกดดันให้เราต้องทำโครงการต่อเนื่องตลอดเวลา ไม่ว่าสถานการณ์จะดีหรือไม่ ที่ผ่านมาเราเลือกจังหวะในการลงทุนมาก เรากำลังวางแนวทางที่จะโตแบบราบเรียบ ไม่ใช่หยุด ๆ ทำ ๆ ข้อสำคัญเราต้องการที่จะเป็นหุ้นที่ดี ให้ผลประโยชน์ตอบแทนที่เหมาะสมและมั่นคง ผลประกอบการแน่นอน เรากำลังดูทั้งยูนิเวสท์ พร็อพเพอร์ตี้ กับเมืองเอก ถ้าหากจะเข้าตลาดฯ ทั้ง 2 บริษัทนี้จะต้องรวมเป็นบริษัทเดียว จะทำให้บริษัทนี้มีกำไรติดต่อกันถึง 8 ปี มีที่ดินทั้งหมด 4,000 ไร่ สนามกอล์ฟ 2 แห่ง และถ้าเข้าจะมีทุนจดทะเบียนไม่เกิน 1,000 ล้านบาท ซึ่งปัจจุบันเรากำลังศึกษาอยู่ว่าจะรวมกันได้อย่างไร จะต้องมีการซื้อทรัพย์สินกันอย่างไร แต่แนวทางนี้เป็นแนวทางที่ทุกคนยอมรับว่าเข้าได้ และมันควรจะเป็นอันเดียวกัน ซึ่งความพร้อมของเรื่องนี้คงอยู่ในราวปลายปีหน้า" ธาตรีพูดถึงการนำบริษัทในกลุ่มยูนิเวสท์เข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ

เช่นเดียวกับโรงแรมโซฟิเทล บางกอก ริเวอร์ไซด์ที่จะต้องนำเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ ในอีก 5 ปีข้างหน้า

ณ วันนี้ ยูนิเวสท์ก้าวเดินมาไกลเกินกว่าที่จะหันหลังกลับไปได้อีกแล้ว โดยเฉพาะเป้าหมายของการเป็นกรุ๊ปออฟคัมพานียังอยู่ในขั้นเริ่มต้นเท่านั้น



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.