"ปูนใหญ่หลังยุคพารณ"

โดย สมชัย วงศาภาคย์
นิตยสารผู้จัดการ( ธันวาคม 2534)



กลับสู่หน้าหลัก

ปลายปีหน้า พารณจะครบเทอมของการต่ออายุงานในตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่ปูนใหญ่ หลังจากที่เขาทำงานในหน้าที่นี้มานาน

เป็นที่แน่ชัดว่า บอร์ดของปูนใหญ่คงไม่ต่ออายุให้เขาอีก และตัวเขาเองก็ไม่ปรารถนาที่จะรับต่อ เพราะหลังเกษียณเขามีแผนการที่จะใช้เวลาทั้งหมดให้กับภารกิจทางสังคมที่เขาเป็นกรรมการอยู่หลายสถาบัน ไม่ว่าจะเป็นสถาบันด้านการศึกษาของจุฬาฯ ในบอร์ด ออฟ ทรัสตี มูลนิธิทีดีอาร์ไอ สถาบันปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย หรือแม้แต่สภากาชาดไทย

แต่สำหรับปูนใหญ่แล้ว ภารกิจของผู้สืบทอดจากพารณ คงต้องมีภารกิจสานต่ออย่างมากมายบนพื้นฐานของโครงสร้างทางวัฒนธรรม ที่เน้นหนักความงามทางจริยธรรมและคุณธรรมอันดีงามในการประกอบธุรกิจ

เจ้าหน้าที่ชั้นผู้ใหญ่ของปูนที่จะสืบทอดต่อจากพารณ ได้รับการจับตาว่า เขาผู้นั้นเป็นใคร มีความเป็นไปได้สูงว่า ทั้งทวี บุตรสุนทร และชุมพล ณ ลำเลียง คนใดคนหนึ่งน่าจะได้รับการคัดเลือกจากบอร์ด 12 ท่านที่นำโดยสัญญา ธรรมศักดิ์

ทั้งทวีและชุมพล ต่างเป็นผู้ช่วยกรรมการใหญ่อาวุโส ทวีคุมงานด้านการตลาดและการค้า ชุมพลคุมกลุ่มวัสดุก่อสร้าง

ก่อนหน้านี้ ชุมพลคุมสายการเงินและบริหารกลาง ขณะที่ทวีคุมด้านบริการกลาง

ทั้งทวีและชุมพล ต่างมีพื้นฐานและความชำนาญที่ต่างกันทวีมาจากสายวิศวกร คุมโรงงานซีเมนต์มาก่อน เป็นลูกหม้อของปูนตั้งแต่จบวิศวเครื่องกลจากจุฬาฯ โดยคำชักชวนของสุธรรม เอกะหิตานนท์ เพื่อนร่วมรุ่น

ส่วนชุมพลมาจากสายการเงิน หลังจากจบฮาร์วาร์ดก็เข้ามาอยู่ที่ทิสโก้ ก่อนที่จะมาอยู่กับปูนใหญ่และทำงานสายการเงินให้ปูนมาตลอด

จากประวัติศาสตร์ของปูนนั้น คนที่จะเข้ามากินตำแหน่งเป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่ ล้วนมาจากสายวิศวกรทั้งนั้น

ก่อนที่อมเรศจะออกไปเมื่อปี 32 เขาเป็นแคนดิเดทคนหนึ่งร่วมกับชุมพลทีมีหวังมากที่สุดที่จะขึ้นมาแทนพารณ แม้ว่าอมเรศจะมาจากสายการตลาดและคุมงานธุรกิจกลุ่มวัสดุก่อสร้าง

แต่เส้นทางของอมเรศก็ไปไม่ถึงดวงดาว เมื่อโชคชะตาของเขาไม่สามารถฝ่าประเพณีและประวัติศาสตร์การสืบทอดอำนาจที่ยาวนานและแข็งแกร่งของปูนไปได้ เมื่อบอร์ดตกลงใจเลือกพารณด้วยวิธีการต่ออายุงานออกไปอีก 3 ปี

มองจากกรอบของประเพณีและประวัติศาสตร์แล้ว ทวีน่าจะขึ้นสืบทอดต่อจากพารณ เพราะมีคุณสมบัติพร้อมทั้งความอาวุโสมาจากสายวิศวกรและเป็นลูกหม้อ

แต่ทางชุมพลก็เหมาะสมไม่น้อยกว่าทั้งในเรื่องอาวุโสและผลงานความสามารถในการสร้างโครงการใหม่ ๆ ให้ปูน เช่น ปิโตรเคมี

"ที่เด่นของชุมพลในทางส่วนตัว เขาได้รับการยอมรับเรื่องความสามารถที่เฉียบแหลมจากบอร์ดของปูนบางคน เช่น จรัส ชูโต และคนหนุ่ม ๆ อย่างจิรายุ" แหล่งข่าวที่รู้จักปูนดีวิเคราะห์ชุมพลให้ฟัง

การเปลี่ยนแปลงระบบงานบริหารภายในของปูนเมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว เมื่อบอร์ดเห็นชอบให้ชุมพลมาดูกลุ่มธุรกิจวัสดุก่อสร้าง ซึ่งเป็นกลุ่มธุรกิจที่ใหญ่ที่สุดและแคสคราวน์ที่สุดของปูน เป็นสัญญาณที่ดีที่ตอกย้ำน้ำหนักความเป็นไปได้ให้สูงขึ้น

เพราะโดยทั่วไปหลักการบริการขององค์กรที่ขับเคลื่อนด้วยระบบแบบมืออาชีพ มักจะวางตำแหน่งขุนพลแม่ทัพนายกองที่มีฝีมือดีที่สุดเข้ารับผิดชอบหน่วยงานที่เป็นหัวใจขององค์กร

ธุรกิจของปูนใหญ่ทั้งหมดยังอยู่ในยุทธศาสตร์การผลิต เพื่อทดแทนนำเข้าจะมีบ้างเล็กน้อยในกลุ่มสินค้าบางตัวของวัสดุก่อสร้างที่ส่งออกบ้าง เช่น ยิปซั่ม กระเบื้อง

และที่สำคัญคือ ธุรกิจทดแทนนำเข้าที่ปูนทำอยู่ ไม่สามารถปิดกั้นการเข้ามาของคู่แข่งขันรายใหม่ได้เลย เช่น ไม่ว่าจะปูนซิเมนต์ วัสดุก่อสร้าง ปิโตรเคมี และแม้แต่กระดาษ (คู่แข่ง คือ กลุ่มปัญจพลของตระกูลเตชะวิบูลย์)

ดังนั้น ยุทธศาสตร์การแข่งขันธุรกิจในระยะยาว จึงบีบบังคับให้ปูนต้องกระจายความเสี่ยงโดยวิธีการตั้งฐานธุรกิจในต่างประเทศเพื่อผลิตและจำหน่ายในต่างประเทศมากขึ้น "อีกอย่างหนึ่ง คุณต้องเข้าใจสินค้าของปูนส่วนใหญ่มันมีขนาดใหญ่ และน้ำหนักมาก ไม่คุ้มที่จะผลิตจากเมืองไทยแล้วส่งออก เพราะค่าขนส่งแพงมาก" พารณพูดถึงเหตุผลที่ปูนมีรายได้จากธุรกิจต่างประเทศน้อย

ชุมพลดูเหมือนจะเข้าใจเรื่องนี้ดี 12 เดือนที่ผ่านมา นับตั้งแต่เขารับผิดชอบกลุ่มวัสดุก่อสร้าง เขาได้นำธุรกิจของกลุ่มนี้ออกสู่ต่างประเทศมากขึ้น โดยวิธีการร่วมลงทุนผลิตและค้าวัสดุก่อสร้าง เช่น เซรามิกกับคู่ค้าในสหรัฐฯ ตั้งเอเย่นต์จำหน่ายวัสดุก่อสร้างในอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นตลาดทีกำลังเติบโตด้วยอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจสูงถึงร้อยละ 8-9 ต่อปี

ส่วนธุรกิจปิโตรเคมี ซึ่งในระยะยาวเป็นความหวังของปูนที่จะเข้ามามีบทบาทเป็นกลุ่มนำแทนที่ซิเมนต์ ดูเหมือนชุมพลก็มีบทบาทสำคัญในการ STRUCTURE โครงการนี้มาตลอดทุกโครงการ

การอยู่ในสายการเงินมานาน ทำให้ชุมพลมองออกถึงภาพในรายละเอียดของธุรกิจต่าง ๆ ที่ปูนทำอยู่ ความรู้และความชำนาญในประสบการณ์ที่ไดดีลกับพวกวาณิชธนากรทั้งสมัยที่อยู่ทิสโก้และปูน ทำให้ชุมพลมองถึงทิศทางการก้าวไปข้างหน้าของปูนออก

"ผมเชื่อว่า ชุมพลน่าจะขึ้นแทนพารณ และถ้าเป็นดังนั้นในปลายปีหน้า ผมว่า ปี 36 ชุมพลจะนำปูนสู่ประวัติศาสตร์ใหม่ที่ AGGRESSIVE มากกว่ายุคพารณ ทั้งในเรื่องของระบบการบริหารทุนและทิศทางธุรกิจของปูนใหญ่ในทศวรรษนี้" แหล่งข่าวพูดถึงจุดเปลี่ยนของปูนยุคหลังพารณ

ปูนเป็นองค์กรที่มีอายุยาวนานกว่า 70 ปี ย่อมมีมรดกของประเพณีและวัฒนธรรมของการดำเนินธุรกิจที่สืบทอด

การเปลี่ยนแปลงใด ๆ ในองค์กรที่มีคนอยู่มากถึงเกือบ 20,000 คนย่อมต้องใช้เวลายาวนาน และประนีประนอมอย่างถึงที่สุด

เอาง่าย ๆ แค่เรื่องการ RECAPITALIZED ทุนของปูนใหญ่ใหม่ด้วยเหตุผลเชิงธุรกิจ ก็คงไม่ง่ายนักที่จะทำอย่างรวดเร็ว เพราะทางบอร์ดของปูนคงต้องพิจารณากันมากในเรื่องผลกระทบภาพพจน์ต่อนักลงทุนและผู้ถือหุ้น

หรือแม้แต่จะเปลี่ยนวัฒนธรรมจาก SPIRIT-BASED CULTURE มาเป็น PERFORMANCE-BASED CULTURE เช่น เรื่องระบบการให้ผลตอบแทน ค่าจ้างเงินเดือน โบนัส การจ้างงานระยะยาว การโปรโมทที่ขึ้นอยู่กับลักษณะของงาน ความสำคัญในการทำรายได้และผลกำไรก็คงเป็นเรื่องไม่ง่ายนักที่จะทำให้ทั้งบอร์ด และเจ้าหน้าที่ระดับล่างยอมรับและปรับตัวทัน

อุปสรรคของการเปลี่ยนแปลงแม้จะหลีกเลี่ยงได้ยากที่จะเผชิญ ไม่ว่าทวีหรือชุมพลจะขึ้นมา เขาผู้นั้นก็ต้องลงมือสร้างยุทธศาสตร์ใหม่ ๆ ให้กับปูนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

เพราะสถานการณ์แวดล้อมของปูนทุกด้านได้เปลี่ยนไปจากวันคืนอันหอมหวานในอดีตแล้ว และวันพรุ่งนี้ของปูนก็คือ การเปลี่ยนแปลง



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.