กลุ่มศรีกรุงวัฒนาปรับโครงสร้างกิจการโดยแยกแยะบริษัทในเครือกว่า 40 แห่งออกเป็น
4 ธุรกิจหลัก ปุ๋ยยังเป็นธุรกิจสำคัญที่ทำรายได้อันดับหนึ่งให้แก่กลุ่มฯ
ขณะที่ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ยังไม่รู้อนาคตว่าจะเกิดเมื่อไหร่ แม้ว่าจะดึงเงินสดบางส่วนจากกลุ่มอาซาฮี
จุงเก้นที่เข้ามาร่วมทุนด้วยไปชำระหนี้คืนให้ธนาคารกรุงเทพและธนาคารกรุงไทยบ้างแล้วก็ตาม
ส่นเมโทรซิสเต็มส์ฯ ที่ทำด้านคอมพิวเตอร์ก็เป็นกิจการดีวันดีคืน ซึ่งประเสริฐตั้งตรงศักดิ์หนึ่งในทีมผู้บริหารของกลุ่มฯ
ประกาศจะนำเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ภายใน 2 ข้างหน้า !!
แม้ว่ากลุ่มศรีกรุงวัฒนาจะมีธุรกิจจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ถึง 3 บริษัท
แต่จัดว่าเป็นกลุ่มธุรกิจที่เดินไปอย่างเงียบมาก ๆ ในช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมา
นับแต่เจอวิกฤตเรื่องการลดค่าเงินบาทครั้งแรกเมื่อปี 2524 และครั้งสองในปี
2527 ที่ทำให้กลุ่มฯ ต้องขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศเป็นจำนวนมาก
ประกอบกับกิจการค้าพืชไร่ที่สว่างเลาหทัย THE FOUNDER ของกลุ่มฯ เข้าไปลงทุนไว้ประสบการขาดทุนอย่างมาก
ๆ หลังจากนั้นชื่อของสว่างก็ค่อย ๆ เงียบหายไปจากแวดวงธุรกิจ
กล่าวได้ว่า กลุ่มศรีกรุงฯ หยุดการเติบโตขยายตัวไว้ที่ยอดขาย 20,000 กว่าล้านบาทในปี
2528 ซึ่งประเสริฐ ตั้งตรงศักดิ์ รองประธานบริษัทศรีกรุงวัฒนา จำกัด กล่าวว่า
"เมื่อปี 2533 ที่ผ่านมา กลุ่มฯ ก็มียอดขายอยู่ในราว 20,000 ล้านบาท
ความจริงทางกลุ่มฯ ก็ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงมากมายในช่วง 3-4 ปีมานี้"
ความเปลี่ยนแปลงในศรีกรุงฯ ระยะหลังไม่ได้เกิดอย่างชัดเจนและครึกโครมเหมือนระยะแรก
ๆ ที่สว่างยังเป็นผู้บริหารงานอยู่อย่างเต็มตัวในช่วงทศวรรษ 2510
สว่างในช่วงเวลานั้น ประกาศว่า "เป้าหมายการดำเนินกิจการค้าของบริษัทฯ
ควรขยายกิจการค้าให้ได้ 11 เท่าของทุนภายในระยะเวลา 3 ปี หมายความว่า ปีละ
11 เท่าของทุน โดยอนุโลมว่า ใน 3 ปีแรกไม่ถึงจำนวน 11 เท่าก็ได้ แต่ในปีที่
4 ควรจะให้ถึง 11 เท่าของทุน"
นี่เป็นคำแถลงในคราวประชุมใหญ่วิสามัญครั้งที่ 11 (3/2517) เมื่อ 19 ตุลาคม
2517 ซึ่งเป็นการเรียกประชุมพิเศษเพื่อขอมติเพิ่มทุนจากเดิม 10 ล้านบาทเป็น
100 ล้านบาท เพื่อนำเงินไปลงทุนในกิจการต่าง ๆ ที่สำคัญ คือ บริษัท ไทยเซ็นทรัลเคมี
จำกัด จำนวน 72 ล้านบาท
เป็นการแถลงที่แสดงจุดยืนในการทำธุรกิจอย่างชัดเจน !
อย่างไรก็ตาม ไม่มีการรายงานว่า สว่างสามารถทำผลกำไรได้เป็น 11 เาของทุนในช่วงปลายทศวรรษ
2510 หรือไม่ แต่มีข้อมูลในช่วงทศวรรษถัดมาว่า เขาประสบการขาดทุนอย่างย่อยยับในกิจการค้าพืชไร่
ไม่ว่าจะเป็นข้าวโพดหรือมันสำปะหลัง
"ผู้จัดการ" ฉบับมกราคม 2530 "สงครามครั้งสุดท้ายของสว่าง
เลาหทัย ?" รายงานว่า ณ สิ้นปี 2528 บริษัท เจ้าพระยาพืชไร่ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่สว่างตั้งขึ้นเพื่อร่วมทุนกับต่างประเทศทำกิจการค้าพืชไร่
มีการขาดทุนสุทธิ 963 ล้านบาท และขาดทุนสะสม 1,469.2 ล้านบาท หรือขาดทุน
601.88 บาท/หุ้น
ส่วนการขาดทุนจากการลดค่าเงินบาทนั้น ปรากฏว่า ศรีกรุงวัฒนามีการขาดทุนจากการปรับปรุงระบบการแลกเปลี่ยนเงินตราเป็นจำนวน
221.55 ล้านบาทในปี 2527 ถึงปี 2529 ก็ยังคงมีรายการนี้อยู่เป็นจำนวน 95.25
ล้านบาท
ในปี 2527 นั้น บริษัทศรีกรุงวัฒนาอาจจะต้องเลิกกิจการไปแล้ว หากไม่มีฐานทางธุรกิจอื่น
ๆ ในเครือและความสัมพันธ์อันดีกับเจ้าหนี้ทั้งหลาย เพราะนอกจากจะมีการขาดทุนจากการปรับปรุงระบบการแลกเปลี่ยนเงินตราแล้ว
ยังมีการขาดทุนจนเกินทุนจำนวน 169.80 ล้านบาท หรือขณะที่มีสินทรัพย์รวม 7,077.53
ล้านบาท ก็มีหนี้สินสูงถึง 7,247.34 ล้านบาท
เท่ากับว่า กิจการค้าพืชไร่ของสว่างล้มเหลวโดยสิ้นเชิง แต่ศรีกรุงวัฒนายังอยู่ด้วยธุรกิจด้านอื่น
ๆ ซึ่งสว่างเป็นผู้ริเริ่มไว้
หลังจากความล้มเหลวในเจ้าพระยาพืชไร่แล้ว สว่างก็หายเงียบไปจากแวดวงธุรกิจ
ประเสริฐกล่าวกับ "ผู้จัดการ" ว่า "สว่างระยะหลังนี่ไม่ใช่ว่าจะละทิ้งธุรกิจอะไร
คือ ทางด้านเรียลเอสเตทนี่เขาก็มุ่งไปทางนั้นเพื่อใช้เวลาคิดว่าจะต้องทำอย่างไร
แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะทิ้งทุกอย่างเพราะบังเอิญเขาแยกตัวไปนั่งที่ซอยทองหล่อ แต่ก็มีการพบปะกัน
ไม่ใช่ไม่มี และอีกอย่างผมคิดว่าเขาคงเข้าไปดูบริษัท เอสแพค ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนเพื่อทำการค้ากับรัสเซีย
เป็นบริษัทในเครือศรีกรุงฯ เหมือนกัน แต่เราเป็นหุ้นข้างน้อย"
ซอยทองหล่อ คือ ที่ตั้งบ้านของสว่าง และเป็นสำนักงานของบริษัทเจ้าพระยาพืชไร่
ซึ่งปัจจุบันก็ยังมีตัวตนอยู่ไม่ได้ล้มหายไปไหน
หากกล่าวว่า สว่างวางมือจากการบริหารงานในศรีกรุงฯ ทั้งหมดโดยสิ้นเชิงก็ไม่ได้เกินเลยไปกว่าข้อเท็จจริงสักเท่าใด
!!
ประเสริฐ กล่าวว่า "แต่เดิมผมยอมรับว่า เรามีทีมผู้บริหารชุดเดียว
แต่ปัจจุบันเรามีผู้ที่มีความสามารถในการดำเนินธุรกิจแขนงนั้น ๆ ซึ่งเป็นผู้บริหารที่เติบโตมากับกลุ่มแต่ต้น
ก็มีการตั้งเป็นกรรมการผู้จัดการ ผมก็เป็นแค่ที่ปรึกษาหรือกรรมการ ซึ่งเวลาประชุมกันก็ให้ความคิดเห็นแก่เขา
ปัจจุบันไม่ใช่ว่าทุกอย่างจะขึ้นอยู่กับนายสว่างหรือนายประเสริฐ ผมให้แต่ละแขนงเติบโตขึ้นมา"
ธุรกิจหลักของกลุ่มศรีกรุงฯ ในเวลานี้มี 4 แขนง คือ เหล็กและสังกะสี ซึ่งมีบริษัทกรุงเทพผลิตเหล็กจำกัด
เป็นบริษัทรับอนุญาตในตลาดหลักทรัพย์ ผู้ที่เป็นกำลังสำคัญในเวลานี้ คือ
ดร.พิชิต นิธิวาสิน ซึ่งเป็นเจ้าของหุ้นมาแต่เก่าก่อนที่ศรีกรุงฯ จะเข้ามาเทคโอเวอร์ไป
และมี จเร ภูมิจิตร กรรมการบริหาร และหิน นววงศ์ กรรมการบริหารและผู้จัดการโรงงาน
ธุรกิจปุ๋ย มีบริษัท ไทยเซ็นทรัลเคมี จำกัด เป็นแกนบริษัทหลักที่จดทะเบียนเป็นหลักทรัพย์รับอนุญาตในตลาดหลักทรัพย์ฯ
มีฝ่ายญี่ปุ่นจากเซ็นทรัลกล๊าส และนิชโช-อิวายที่เป็นผู้ถือหุ้นเข้ามาร่วมบริหารด้วยหลายคน
ฝ่ายไทยมีประเสริฐเป็นกรรมการรองผู้จัดการใหญ่อาวุธส จรรยง เจียรกุล เป็นกรรมการรองผู้จัดการใหญ่
และกำธร อุฑารวุฒิพงศ์ เป็นกรรมการผู้อำนวยการฝ่ายผลิตและผู้จัดการโรงงาน
ธุรกิจอาหาร มีบริษัทหลัก คือ ยูไนเต็ดฟลาวมิลล์ เป็นหลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ
ตั้งแต่เมื่อปี 2521 เป็นบริษัทแรกในกลุ่มที่เข้าจดทะเบียนด้วย มีผู้บริหารจากญีปุ่น
คือ กลุ่มมิตซุย ซึ่งถือหุ้นอยู่ในนามของบริษัท มิตรสยาม อินเตอร์เนชั่นแนล
จำกัด 10% ส่วนศรีกรุงฯ ที่เป็นแกน คือ เสถียร อาชวนิยุต กรรมการรองผู้อำนวยการ
ประชา รักสินเจริญศักดิ์ กรรมการผู้จัดการ และสุวิช สุวรุจิพร กรรมการบริหาร
ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ เป็นธุรกิจที่กำลังจะเกิดขึ้นใหม่ ประเสริฐ กล่าวว่า
ผู้ที่ดูอยู่ คือ สว่าง และกลุ่มญี่ปุ่น คือ อาซาฮี จุงเก้น "โครงการนี้ทำทุกอย่างบนกระดาษแล้ว
พร้อมที่จะ TAKE OFF แต่ภาวะเศรษฐกิจซบเซาไม่มีท่าทีว่าจะดีขึ้นเลย เราจึงต้อง
DELAY ออกไปก่อน ปีนี้ก็คงจะจบแล้ว ปีหน้าก็ยังลาง ๆ อยู่ว่าไม่มีการตัดสินใจว่าจะเดินหน้าได้หรือไม่"
บริษัทที่เป็นแกนในธุรกิจนี้ คือ สยามอรุณดีเวลลอปเม้นท์
ส่วนธุรกิจที่ศรีกรุงฯ ไม่ได้จัดแขนงให้ แต่ปรากฏว่าทำรายได้อย่างดีให้กลุ่มฯ
และอาจจะเขยิบขึ้นมาเป็นธุรกิจหลักอีกแขนงหนึ่งในอนาคต คือ การขายคอมพิวเตอร์
ซึ่งมีบริษัท เมโทรซิสเต็มส์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด มีธวิช จารุวจนะ กรรมการผู้จัดการเป็นแกนสำคัญโดยมีประเสริฐรั้งตำแหน่งประธานกรรมการฯ
อยู่ด้วย
กล่าวได้ว่า ในแต่ละธุรกิจหลัก ศรีกรุงฯ มีมืออาชีพที่ร่วมงานกันมานานหรือเติบโตขึ้นมาจากที่นี่ขึ้นเป็นผู้บริหาร
บางกิจการไม่มีชื่อของสว่างเป็นผู้ถือหุ้นโดยตรงหรือเป็นกรรมการอยู่ด้วยเลย
อย่างเช่น ยูไนเต็ดฟลาวมิลล์ ส่วนที่ไทยเซ็นทรัลเคมีนั้น สว่างเป็นผู้ถือหุ้นในนามของตัวเองอยู่เพียง
0.00025% เท่านั้น โดยไม่มีชื่อเป็นกรรมการในคณะใด ๆ และที่กรุงเทพผลิตเหล็กก็เช่นเดียวกัน
ศรีกรุงฯ วันนี้ไม่มีสว่างหรือหมายเลข 1 หมายเลข 2 อีกต่อไปแล้ว มีแต่มืออาชีพในแต่ละแขนงธุรกิจที่ดำเนินนโยบายตามความต้องการของผู้ถือหุ้น
ซึ่งก็คือ กล่มผู้บริหารนั่นเอง
ในบรรดากิจการหลักทั้ง 4 แขนง ปุ๋ยเป็นตัวทำรายได้มากกว่า 50% ของรายได้รวมของกลุ่มฯ
ที่มีประมาณ 20,000 ล้านบาท หรือ 5,093.70 ล้านบาท เมื่อปี 2533 ที่เหลือมาจากกรุงเทพผลิตเหล็กฯ
และบริษัทย่อย 3,302.65 ล้านบาท ยูไนเต็ดฟลาวมิลล์ 1,453.55 ล้านบาท นอกจากนี้ก็มีเมโทรซิสเต็มส์
และบริษัทปลีกย่อยอื่น ๆ เช่น เอ็มซีปิโตรเลียม เอ็มซีฟู้ด เอ็มซีอินดัสเตรียลเคมิคอล
เอ็มซีโซลเว้นท์ เอ็มซีพลาสติก เป้นต้น
ไทยเซ็นทรัลเคมีกับกรุงเทพผลิตเหล็กเป็นสองบริษัทที่ยื่นเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ
ในเวลาใกล้เคียงกัน เมื่อต้นปี 2534 กรุงเทพผลิตเหล็กใช้เวลาไม่นานก็เข้าไปซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ
ได้ ขณะที่ไทยเซ็นทรัลเคมีต้องรออยู่เป็นเวลานานกว่าจะเข้าได้ก็ช่วยปลายปีซึ่งตลาดซบเซาลงอย่างมาก
ๆ
ผู้ที่ศึกษาหลักทรัพย์ในเครือศรีกรุงวัฒนาจะเกิดอาการปวดหัวไม่น้อย เพราะเป็นกลุ่มที่มีบริษัทในเครือค่อนข้างมาก
และแต่ละบริษัทต่างเป็นเจ้าหนี้ลูกหนี้รวมทั้งค้ำประกันให้แก่กันดูวุ่นวายไปหมดเท่าที่
"ผู้จัดการ" รวบรวมมาได้ก็มี 40 แห่งแล้ว ซึ่งในจำนวนนี้ที่ ACTIVE
ก็คือ บริษัทที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฯ
ไทยเซ็นทรัลเคมี เป็นบริษัทสำคัญที่สุดในเครือศรีกรุงฯ ก็ว่าได้ นอกจากจะเป็นตัวทำรายได้หลักโดยมีโรงงานผลิตเป็นของตัวเองแล้ว
ยังทำหน้าที่เป็นบริษัทโฮลดิ้งที่เข้าไปถือหุ้นบริษัทในเครือเป็นจำนวนมาก
โดยเฉพาะ 4-5 บริษัทที่ ACTIVE อยู่นั้นมีไทยเซ็นทรัลเคมีเป็นผู้ถือหุ้นรายสำคัญอยู่ด้วยทั้งสิ้นและมีศรีกรุงวัฒนาเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่จำนวน
75.99% ของไทยเซ็นทรัลเคมี
ทั้งนี้ บริษัทที่เป็นโฮลดิ้งหลักของกลุ่มนี้ คือ ศรีกรุงวัฒนากับทุกบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ
ไม่ว่าจะเป็นไทยเซ็นทรัลเคมี กรุงเทพผลิตเหล็ก และยูไนเต็ดฟลาวมิลล์
นอกจากนี้ ยังมีบริษัทโฮลดิ้งอีก 2 แห่งที่ทำหน้าที่เป็นผู้ถือหุ้นในกิจการต่าง
ๆ นอกเหนือจากการเป็นบริษัทเพื่อการค้าระหว่างประเทศ คือ ยูเอ็มซี อินเตอร์เนชั่นแนล
คอร์ปอเรชั่น และบริษัท เอ็มเอ็มซี อินเตอร์เนชั่นแนล คอร์ปอเรชั่น
ยูเอ็มซีฯ เป็นผู้ส่งออกสินค้าพืชไร่และเป็นผู้ถือหุ้นสำคัญในยูไนเต็ดฟลาวมิลล์ที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฯ
ผู้ถือหุ้นของยูเอ็มซีฯ คือ ผู้ถือหุ้นชุดเดียวกับศรีกรุงวัฒนา
ส่วนเอ็มเอ็มซีฯ นั้น เป็นบริษัทเพื่อการค้าระหว่างประเทศ โดยร่วมทุนกับกลุ่มมิตซุย
ซึ่งถือหุ้นอยู่ประมาณ 50% และมียูเอ็มซีฯ กับศรีกรุงฯ ถืออีก 50%
"ผู้จัดการ" ฉบับ "สว่าง เลาหทัย สงครามครั้งสุดท้าย ?"
รายงานว่า "เอ็มเอ็มซีเป็นทางออกที่ดีที่สุดของบริษัทเจ้าพระยาพืชไร่ที่ขาดทุนยับเยิน
เอ็มเอ็มซีฯ เข้าซื้อโรงงานและไซโลของเจ้าพระยาพืชไร่ ซึ่งเป็นการผ่องถ่ายกันต่อไป"
ประเสริฐ ให้ความเห็นเรื่องการแตกแขนงธุรกิจออกไปมากมายว่า "การทำธุรกิจเพียงอย่างเดียวเวลาที่เศรษฐกิจไม่ดีก็แย่
เพราะมันไม่เสมอไปที่ธุรกิจใดจะดีตลอด มันก็อาจจะต้องมีคอยค้ำกันอยู่ ยิ่งอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฯ
ด้วยแล้วผมว่าเป็นเรื่องจำเป็นที่จะต้องสร้างให้มีขาหลายขา"
ไทยเซ็นทรัลเคมีมีการลงทุนในบริษัทย่อยและบริษัทร่วมอยู่ประมาณ 7 แห่ง ซึ่งมีมูลค่าการลงทุนตามราคาทุนเมื่อสิ้นปี
2533 เท่ากับ 172 ล้านบาท และมีมูลค่าตามบัญชีต่อหุ้นเท่ากับ 716.76 ล้านบาท
บริษัทย่อยและบริษัทร่วมเหล่านี้เป็นแขนขาในการหาวัตถุดิบและส่งเสริมการขายให้กับไทยเซ็นทรัลเคมี
แต่มีการลงทุนในอีกลักษณะหนึ่งซึ่งเป็นประเด็นที่เสมือนข้ออ่อนของไทย เซ็นทรัลเคมี
คือ การลงทุนในหลักทรัพย์จดทะเบียนและรับอนุญาตในตลาดหลักทรัพย์ฯ เป็นการลงทุนตั้งแต่ปี
2531 และเพิ่มวงเงินสูงขึ้นในปี 2533 ซึ่งเป็นปีที่ขาดทุนประมาณ 491 ล้านบาท
ตัวเลขการขาดทุนเหล่านี้เป็นตัวเลขที่ยังไม่ได้ REALIZED และไทยเซ็นทรัลฯ
ก็นำหลักทรัพย์เหล่านี้ไปจำนำเพื่อเป็นประกันสินเชื่อของบริษัทที่มีต่อะนาคารในวงเงิน
1,520.40 ล้านบาท
นอกจากนี้ ยังมีการนำที่ดิน อาคารทั้งหมด และเครื่องจักรบางส่วนจำนองเป็นประกันวงเงินสินเชื่อของบริษัทฯ
และบริษัทที่เกี่ยวข้องกันที่มีต่อธนาคารในวงเงินทั้งสิ้น 1,384.70 ล้านบาท
บริษัทที่ได้รับวงเงินสินเชื่อจากธนาคารโดยการจำนองที่ดินอาคารและเครื่องจักร
คือ ไทยเซ็นทรัลเคมี 578 ล้านบาท ศรีกรุงวัฒนา 240 ล้านบาท ยูไนเต็ดฟลาวมิลล์
250 ล้านบาท และเจ้าพระยาพืชไร่ 200 ล้านบาท รวม 1,268 ล้านบาท
น่าสังเกตว่า ไทยเซ็นทรัลเคมีและยูไนเต็ดฟลาวมิลล์ ซึ่งใช้วงเงินสินเชื่อถึง
828 ล้านบาทต่างก็เป็นบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่มีวิะการระดมทุนเข้ามาได้หลายรูปแบบ
จากงบดุลในปี 2533 บริษัทฯ มีสินทรัพย์รวม 4,575 ล้านบาท มีหนี้สินรวม 4,488
ล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วนหนี้สินต่อสินทรัพย์รวมเท่ากับ 0.98 เท่า แต่ในปี
2534 บริษัทฯ ได้เพิ่มทุนจดทะเบียนจาก 460 ล้านบาทเป็น 700 ล้านบาท เพื่อนำไปลดหนี้สินและลงทุนในการขยายกิจการตามประมาณการงบดุลบริษัทฯ
สามารถลดหนี้สินลงมาเหลือ 2,048.18 ล้านบาท สัดส่วนหนี้สินต่อสินทรัพย์รวมคาดว่าจะเท่ากับ
0.38 เท่า
นอกจากนี้ รายการทุนหมุนเวียนที่ติดลบอยู่ในปี 2533 เท่ากับ 1,502.13 ล้านบาท
คาดหมายว่าจะกลายเป็นเพิ่มขึ้นมาได้ในปี 2534 เป็น 2,055.86 ล้านบาท แต่จะติดลบต่อไปในปี
2535 และ 2536 เท่ากับ 316.84 และ 101.81 ล้านบาทตามลำดับ
อัตราส่วนหนี้สินหมุนเวียนต่อสินทรัพย์หมุนเวียนในปี 2533 อยู่ที่ 1.50
เท่า ซึ่งเป็นระดับที่แสดงว่าบริษัทมีความเสี่ยงในการชำระหนี้ระยะสั้นค่อนข้างสูง
แต่จากการที่บริษัทได้เพิ่มทุนและลงทุนในสินทรัพย์หมุนเวียนเพิ่มขึ้นคาดหมายว่าจะทำให้บริษัทเพิ่มสัดส่วนดังกล่าวมาอยู่ที่ระดับ
0.59, 0.81 และ 0.85 เท่าระหว่างปี 2534-2536 ตามลำดับ
แม้ว่า "ผู้จัดการ" จะแจกแจงรายละเอียดตัวเลขทางบัญชีสักเพียงใด
แต่ไม่มีข้อมูลชี้แน่ชัดว่าไทยเซ็นทรัลเคมีค้างชำระหนี้ต่อธนาคารกรุงเทพและธนาคารกรุงไทยเป็นจำนวนเงินเท่าใดแน่
?
ข้อเขียนในหนังสือพิมพ์เอเชียนวอลล์สตรีทเจอร์นัลเมื่อเดือนมีนาคม 2533
คาดหมายว่า กลุ่มศรีกรุงวัฒนามีภาระหนี้สินรวมทั้งสิ้นประมาณ 12 พันล้านบาท
ในจำนวนนี้ได้ระบุด้วยว่าเป็นหนี้สินกับธนาคารกรุงเทพประมาณ 8,000 ล้านบาทเมื่อปี
2528 โดยอ้างการเปิดเผยของสาธิต อุทัยศรี ผู้บริหารระดับสูงคนหนึ่งของธนาคารฯ
ส่วนธนาคารกรุงไทยนั้น เคยมีตัวเลขหนี้สินอยู่ประมาณ 1,090 ล้านบาท
อย่างไรก็ดี ไม่มีใครยืนยันตัวเลขเหล่านี้ได้ดีไปกว่าผู้บริหารระดับสูงของกลุ่มศรีกรุงวัฒนาซึ่งเป็นลูกหนี้และฝ่ายธนาคารที่เป็นเจ้าหนี้
ซึ่งปรากฏว่าทั้งสองฝ่ายไม่ยอมเอ่ยตัวเลขที่แท้จริงออกมา
ประเสริฐ กล่าวกับ "ผู้จัดการ" ว่า "การเอาอาซาฮี จุงเก้น
เข้ามาร่วมทุนกับกลุ่มศรีกรุงฯ ทำให้เกิดรายรับส่วนหนึ่ง อีกส่วนหนึ่งก็เรียนตร
งๆ ว่ามีการกู้หนี้ยืมสินกับทางฝ่ายญี่ปุ่นเพื่อมาเคลียร์บัญชีกับทางฝ่ายแบงก์กรุงเทพ
นี่เป็นข้อเท็จจริง กู้จากอาซาฮี จุงเก้น เพื่อมาปรับโครงสร้างหนี้กับทางแบงก์ไทย
พูดง่าย ๆ คือ มีการเปลี่ยนเจ้าหนี้กัน"
ประเสริฐ อธิบายว่า "อาซาฮี จุงเก้น จะเป็นพาร์ทเนอร์เราอยู่แล้ว เขาเอาเงินเข้ามาซื้อกิจการศรีกรุงในเรื่องทรัพย์สิน
และมีส่วนหนึ่งที่เตรียมไว้เพื่อทำโครงการ นี่ก็เป็นส่วนหนึ่งที่เราสามารถยืมมาผ่องถ่ายกับเจ้าหนี้ทางนี้
อันนี้ก็เป็นส่วนที่เราเคลียร์หนี้กับแบงก์กรุงเทพได้บ้าง แต่จะเคลียร์หมดหรือไม่
นี่ก็เป็นประเด็นที่ว่าเรายังทำธุรกิจอยู่ การที่เรามีหนี้สินผูกพันกับทางแบงก์นี่เป็นเรื่องปกติ
ส่วนที่ต้องเคลียร์ก็เคลียร์ไป ส่วนที่ต้องทำธุรกิจหนี้สินกันต่อก็ยังมีอยู่"
ประเสริฐไม่ยอมเปิดเผยจำนวนหนี้สินที่เคลียร์ไปแล้ว กล่าวแต่เพียงว่า "ผมเคลียร์ไปในส่วนที่ทางแบงก์พอใจแล้วกัน
การที่ปัจจุบันไม่มีข่าวออกมา ในลักษณะที่ไม่เป็นผลดีแก่กลุ่มศรีกรุงฯ ก็แสดงให้เห็นว่าเจ้าหนี้คงพอใจในหลักทรัพย์ที่เรามีอยู่กับเขา
ทางกลุ่มฯ มีการชำระก้อนใหญ่ไปแล้ว และยังมีการชำระอยู่อย่างสม่ำเสมอกับมีหลักทรัพย์ค้ำอยู่อีก"
อาซาฮี จุงเก้น เข้ามาร่วมทุนด้วยในบริษัท สยามอรุณ ดีเวลลอปเม้นท์ ประมาณ
40% กลุ่มศรีกรุงฯ ถือ 40% ธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การถือ 10% และบริษัทไทยนิชิมัตสุก่อสร้าง
ถืออีก 10%
ศรีกรุงฯ ขายที่ดินริมแม่น้ำเจ้าพระยาให้สยามอรุณฯ มูลค่า 2,500 ล้านบาท
ซึ่งว่ากันว่า 1,100 ล้านบาทถูกนำไปชำระหนี้แก่ธนาคารกรุงไทยอีก 1,500 ล้านบาทนำไปชำระหนี้บางส่วนแก่ธนาคารกรุงเทพ
ผู้ที่ไม่รู้จักกลุ่มศรีกรุงฯ อาจสงสัยว่า ทำไมสว่าง เลาหทัย ผู้บริหารสูงสุดของกลุ่มฯ
ในอดีตไม่ถูกธนาคารเจ้าหนี้ทั้งหลายฟ้องล้มละลาย เพราะมีหนี้สินมากมาย ท่วมท้นบริษัทฯ
ขนาดนี้ ?
มีผู้อธิบายว่า เพราะสว่างกับชาตรี โสภณพนิช เจ้าของธนาคารกรุงเทพ ต่างเป็นผู้ที่อยู่ในวงทองหรือ
GOLDEN CIRCLE ซึ่งผู้ที่อยู่ในวงจรนี้สามารถกู้หนี้ยืมสินได้ง่าย ๆ แม้ในเวลาที่เศรษฐกิจซบเซาและยังชะลอการชำระคืนจนกว่าจะมีความสามารถที่จะชำระได้
ประเสริฐ อธิบายตรงจุดนี้ว่า "ผมคิดว่าหมายความว่า เมื่อเรามีความสัมพันธ์กับแบงก์ดีมาก
คนก็อาจจะมองว่าเราอยู่ในวงทอง วงจรที่หยิบยืมได้ง่าย คุยอะไรก็สะดวก อันนี้ก็ไม่แปลกอะไร
เราก็มีความสัมพันธ์กับแบงก์อื่นเหมือนกัน แต่ผมคิดว่าความสัมพันธ์ของกลุ่มฯ
กับทางแบงก์กรุงเทพก็ยังดีอยู่นะ ก็ไม่ทราบว่าทางแบงก์เขามองว่าเรายังเป็นลูกค้าที่ดีอยู่หรือไม่"
เมื่อ "ผู้จัดการ" สอบถามไปยังปิติ สิทธิอำนวย รองประธานกรรมการบริหารอาวุโสของแบงก์กรุงเทพ
เกี่ยวกับการชำระหนี้สินและความสัมพันธ์ที่มีกับกลุ่มศรีกรุงฯ กลับไม่ได้รับคำตอบใด
ๆ
อย่างไรก็ดี ปิติเคยให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์รายวันภาษาอังกฤษฉบับหนึ่ง ตีพิมพ์ในฮ่องกงว่า
"ในปี 2529 สว่างกับทางแบงก์ฯ ตกลงกันว่า จะมีการปรับโครงสร้างหนี้
ประการแรกที่ทำ คือ ต้องลดภาระดอกเบี้ย สะสมจากจำนวน 909 ล้านบาทในปี 2530
ให้เหลือน้อยกว่า 400 ล้านบาท ให้ได้ภายใน 3 ปี และให้เวลากลุ่มศรีกรุงฯ
จัดการชำระหนี้ทั้งหมดภายใน 12 ปี นอกจากนี้ก็ลดสัดส่วนการถือหุ้นของศรีกรุงฯ
ในเอชเอ็มซี โปลีเมอส์ จาก 51% เป็น 10% โดยให้แบงก์กับบริษัทอื่น ๆ เข้าไปถือแทน
แล้วให้แบงก์เข้าไปถือหุ้นในไทยเซ็นทรัลฯ แทนศรีกรุงฯ จำนวน 75.5% ด้วย"
ในหนังสือชี้ชวนเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนของไทยเซ็นทรัลเคมี รายงานว่า เมื่อรัฐบาลประกาศลดค่าเงินบาทในปี
2527 บริษัทฯ ประสบปัญหาทางการเงินมีขาดทุนจากการลดค่าเงินบาทประมาณ 100
ล้านบาท และขาดเงินทุนหมุนเวียน มีหนี้สินประมาณ 1,500 ล้านบาท ซึ่งมีธนาคารกรุงเทพ
จำกัด เป็นเจ้าหนี้รายใหญ่
เดือนพฤษภาคม 2531 ธนาคารกรุงเทพได้เข้าซื้อหุ้นจากไทยเซ็นทรัลเคมี 75%
แต่มีเงื่อนไขให้บริษัทศรีกรุงวัฒนาสามารถซื้อกลับคืนได้ภายใน 12 ปีนับจากวันที่
9 พฤษภาคม 2531 หรือเมื่อบริษัทไทยเซ็นทรัลเคมีชำระหนี้แก่ธนาคารกรุงเทพแล้ว
ต่อมา ในเดือนสิงหาคม 2533 ศรีกรุงฯ ก็ซื้อหุ้นไทยเซ็นทรัลฯ คืน ในเงื่อนไขที่ชำระหนี้ให้ธนาคารกรุงเทพแล้ว
นอกจากความสัมพันธ์ในเชิงลูกหนี้ - เจ้าหนี้แล้ว สว่างและชาตรียังเป็นผู้ร่วมธุรกิจกันมาก่อน
ที่ดิน 2-3 ไร่ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของที่ตั้งสำนักงานธนาคารกรุงเทพในปัจจุบันเคยเป็นของกลุ่มศรีกรุงฯ
มาก่อน แล้วขายให้ชาตรีเพื่อเอามาทำสำนักงานใหญ่
ในทศวรรษ 2520 กลุ่มศรีกรุงฯ เคยเป็นผู้ถือหุ้นอย่างน้อย 1.6% ในธนาคารกรุงเทพ
ส่วนชาตรีเองนั้น ในช่วง 2527 เคยเป็นผู้ถือหุ้นคนสำคัญในบริษัทต่าง ๆ ในเครือศรีกรุงฯ
โดยผ่านทาง บล.เอเซีย และ บ.เอเซียเสริมกิจ จำกัด
นั่นเป็นหลักฐานบ่งชี้ให้เห็นว่า ในอดีตคนสองคนนี้มีความสัมพันธ์แนบแน่นกันเพียงไร
แต่ปัจจุบันความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดขนาดนี้ อาจจะยุติลงแล้วตั้งแต่ที่กลุ่มศรีกรุงฯ
มีความสัมพันธ์ทางธุรกิจอย่างแน่นแฟ้นกับฝ่ายญี่ปุ่น ซึ่งได้กลายเป็นแหล่งทุนสำคัญและเข้ามามีบทบาทในการบริหารกิจการที่ร่วมทุนด้วยมากขึ้น
ไทยเซ็นทรัลฯ มีตัวแทนจากนิชโช - อิวาย เป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่ และกรรมการรองผู้จัดการใหญ่
มีตัวแทนจากนิชโช - อิวาย และเซ็นทรัลกล๊าส รวม 8 คน ในกรรมการบริษัทที่มีจำนวน
19 คน
นอกจากนี้ ไทยเซ็นทรัลฯ ยังมีสัญญาการบริหารงานกับนิชโช - อิวาย มีอายุ
5 ปี (2531 - 2536) โดยนิชโชฯ จะเป็นผู้ดูแลในเรื่องการจัดซื้อวัตถุดิบ การกำหนดตารางการผลิต
การจัดการขายภายในประเทศ ตลอดจนการติดตามการชำระเงินและการพนักงาน
นิชโชฯ จะตั้งระบบการควบคุมเพื่อใช้ในการดำเนินงานและลดค่าใช้จ่ายของบริษัท
นิชโชฯ จะคัดเลือกเจ้าหน้าที่เข้าเป็นคณะกรรมการ 4 คน โดยคนหนึ่งจะได้รับการแต่งตั้งเป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่
ซึ่งจะต้องได้รับความเห็นชอบจากธนาคารกรุงเทพก่อน
ในเรื่องของอัตราค่าบริการ นิชโชฯ จะยังไม่เรียกเก็บค่าบริการในขณะนี้เนื่องจากฐานะการเงินของบริษัทยังไม่อยู่ในสภาพที่มีความพร้อม
แต่ก็สงวนสิทธิ์ที่จะเรียกเก็บค่าบริหารในภายหลังในอัตราที่แล้วแต่จะตกลงกัน
ไทยเซ็นทรัลฯ สั่งซื้อวัตถุดิบจากต่างประเทศ คือ แม่ปุ๋ย และปุ๋ยผสมเกือบทั้งหมด
คือ ประมาณ 99.95% โดยวัตถุดิบที่นำเข้านี้มีทั้งที่มาจากญี่ปุ่น ประชาคมยุโรป
สหรัฐอเมริกา และยูเรียจากมาเลเซีย อินโดนีเซีย
ด้วยเหตุนี้ ต้นทุนวัตถุดิบจึงสูงประมาณ 80% ของสินค้าที่ขาย !
ส่วนสัญญาที่ทำกับเซ็นทรัลกล๊าสนั้น เป็นสัญญาการให้ความช่วยเหลือด้านเทคนิคการผลิตปุ๋ยเคมี
มีอายุสัญญา 5 ปี (2533-2538) โดยมีเงื่อนไขให้เซ็นทรัลกล๊าซส่งวิศวกรที่มีความชำนาญมาให้คำแนะนำปรึกษาด้านเทคนิคในการจัดการด้านการผลิต
ตลอดจนฝึกอบรมพนักงาน
ไทยเซ็นทรัลเคมี ต้องจ่ายค่าบริการให้เซ็นทรัลกล๊าส เป็นจำนวน US 300,000/ปี
(ประมาณ 7.6 ล้านบาท/ปี) และรับผิดชอบค่าใช้จ่ายพนักงานของเซ็นทรัลกล๊าสด้วย
สัญญาทั้งสองครอบคลุมการดำเนินกิจกรรมธุรกิจของไทยเซ็นทรัลเคมีไว้แทบทั้งหมด
และให้ประโยชน์แก่ผู้ถือหุ้นฝ่ายญี่ปุ่นในแง่ที่ว่านอกจากจะได้เงินปันผลและ
CAPITAL GAIN ตอนบริษัทฯ เข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ แล้ว ยังได้ค่าบริหารบริการอีกทุกปีด้วย
ไทยเซ็นทรัลเคมี เป็นผู้ครองส่วนแบ่งตลาดปุ๋ยในประเทศประมาณ 50-55% โดยเป็นผู้ผลิตปุ๋ยและผู้นำเข้าปุ๋ยผสมรายใหญ่ในประเทศ
มีกำลังการผลิตประมาณ 360,000 ตัน/ปี ส่วนผู้ผลิตรายย่อยมีจำนวน 26-28 โรงงาน
มีกำลังการผลิตรวมกันประมาณ 100,000 ตัน/ปี
กำธร อุฑารวุฒิพงศ์ กรรมการผู้อำนวยการฝ่ายผลิตและผู้จัดการโรงงาน ซึ่งเติบโตมากับธุรกิจปุ๋ยตั้งแต่สมัยที่เป็นบริษัท
ปุ๋ยเคมีแม่เมาะ ของรัฐบาล และกลายมาเป็นไทยเซ็นทรัลเคมีเมื่อรัฐบาลถอนหุ้นออกไปใสมัยรัฐบาลสัญญา
ธรรมศักดิ์ เปิดเผยกับ "ผู้จัดการ" ว่า "ประเทศไทยยังมีความต้องการใช้ปุ๋ยอีกมาก
แต่ความเข้าใจในเรื่องการใช้ปุ๋ยมีน้อย อัตราการเติบโตของการใช้ปุ๋ยอยู่ระหว่าง
5-8% ทางบริษัทฯ ก็มีโครงการที่จะขยายกำลังการผลิตอีกเท่าตัว ตอนนี้ก็เริ่มดำเนินการแล้ว
คาดว่ากลางปีหน้าจะสั่งเครื่องจักรเข้ามาได้ และเริ่มดำเนินการผลิตได้ในปี
2537 ถึงตอนนั้นจะมีกำลังการผลิตประมาณ 720,000 ตัน/ปี มูลค่าการลงทุนทั้งหมดประมาณ
900 ล้านบาท"
การขยายกำลังการผลิตในครั้งนี้จะช่วยให้มีต้นทุนการผลิตที่ต่ำลงได้ เพราะต้นทุนปุ๋ยเคมีจากการผลิตมีร้อยละ
75.6 แต่ต้นทุนปุ๋ยเคมีที่มาจากการนำเข้ามีสูงถึงร้อยละ 92.2
แต่การที่บริษัทฯ มีกำลังการผลิตยังอยู่ในขั้นต่ำ จึงมีการนำเข้าปุ๋ยเคมีมาจำหน่ยในอัตราที่สูงมาก
ในจำนวนยอดขายปุ๋ยเคมีที่บริษัทฯ ทำได้ 998,000 ตันในปี 2533 นั้น เป็นยอดจำหน่ายจากการนำเข้าสูงถึงร้อยละ
64% หรือ 638,000 ตัน/ปี
ดังนั้น การขยายกำลังการผลิตจึงเป็นนโยบายที่ถูกต้องที่สุดสำหรับไทยเซ็นทรัลเคมี
และเป็นความพยายามที่จะรักษาส่วนแบ่งการตลาดไว้ด้วย
หากมองอีกด้านหนึ่ง นโยบายนี้เป็นเรื่องที่จำเป็นต้องเกิด ประเสริฐอธิบายว่า
"ต้นทุนในการทำปุ๋ยที่สั่งเข้ามาจากต่างประเทศนี่ง่ายกว่าการทำธุรกิจอื่น
เพราะว่าไม่มีภาษีการนำเข้า ภาระที่มีคือต้องมีโกดัง หากขายช้าดอกเบี้ยก็กิน
ค่าโกดังก็กิน แต่พวกธุรกิจที่เป็นพ่อค้าปุ๋ยอาจจะทำ 10,000 - 20,000 ตัน
เป็นเงินประมาณ 100 ล้านบาท ซึ่งอยู่ในวิสัยที่พอทำได้"
พวกธุรกิจที่เป็นพ่อค้าปุ๋ยที่ประเสริฐกล่าวหมายถึงบรรดากลุ่มเกษตรรุ่งเรือง
ส่งเสริมการเกษตร เจียไต๋ สยามเคมี ที่เป็นผู้นำเข้าปุ๋ยมาจำหน่ายในประเทศด้วย
พ่อค้าปุ๋ยตามฤดูกาลเหล่านี้มีข้อได้เปรียบกว่าผู้ผลิตอย่างไทยเซ็นทรัลเคมีอย่างมาก
เพราะไม่มีสินค้าค้างโกดัง เมื่อสิ้นฤดูกาลขายหมดแล้วก็แล้วไป ไม่เป็นภาระให้ต้องมานั่งขายทั้งปี
แม้ต้นทุนจะสูง แต่หากทำในปริมาณมากก็สามารถกำไรได้มากเช่นกัน
แต่ไทยเซ็นทรัลฯ นั้น การเป็นผู้ผลิตดูเหมือนจะเป็นข้อเสียเปรียบ ประเสริฐยอมรับว่า
"ปุ๋ยเป็นธุรกิจที่มีฤดูกาล ดังนั้นการทำปุ๋ยไม่ใช่ธุรกิจที่มั่นคงเท่าไหร่
เพราะขณะที่มีการผลิตทั้งปี แต่จะขายได้ในช่วงเวลาสั้น ๆ สำหรับผู้นำเข้านั้นง่ายเพราะเขามีธุรกิจหลายแขนง
เมื่อหมดแล้วก็เลิกกันไป แต่เรามีข้อเสียเปรียบที่เราเป็นผู้ผลิต"
ปัญหาของไทยเซ็นทรัลฯ ในฐานะที่เป็นผู้ผลิต คือ ต้องทำให้มีความต้องการใช้ปุ๋ยตลอดทั้งปี
และขยายความเข้าใจเรื่องการใช้ปุ๋ยให้แพร่ไปสู่ชาวนาชาวไร่ด้วย หรือในอีกทางหนึ่ง
คือ ขอให้มีการอนุญาตส่งปุ๋ยออกไปจำหน่ายในต่างประเทศนอกฤดูกาลผลิตได้
ประเด็นหลังนี้ ไทยเซ็นทรัลเคมี ได้พยายามนาน แต่ไม่ประสบผลเนื่องจากรัฐบาลอ้างว่ากำลังการผลิตในประเทศไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้ตามฤดูกาล
แต่ประเสริฐให้ความเห็นว่า "ในช่วงนอกฤดูนั้น เป็นภาระที่เราต้องมานั่งเก็บ
ทางจีนหรือเวียดนามก็อยากซื้อ แต่เราไม่สามารถส่งออกได้ เพราะมีกฎหมายห้าม
ผมคิดว่าในเมื่อเป็นธุรกิจเสรี ในเวลาที่จำเป็นก็สามารถสั่งเข้ามาได้ จะสังเกตว่าทุกปีมีการสั่งเข้ามากเกินกว่าที่ต้องการใช้
หากมีการผ่องถ่ายในช่วงนอกฤดู ก็จะทำให้มีรายได้มาชดเชยในการเก็บกับเรื่องดอกเบี้ย
อย่างจีนก็มีบริษัทไซโนเคมไปซื้อโรงงานปุ๋ยที่สหรัฐฯ โรงหนึ่งแล้วก็ผลิตเพื่อส่งให้จีน
ในเวลาเดียวกันก็ขายทั่วไปด้วย จีนสั่งซื้อปีหนึ่งตั้ง 40-50 ล้านตัน"
นอกจากปัญหาเรื่องการจำหน่ายนอกฤดูกาลและการส่งออกไปขายในต่างประเทศแล้ว
ในอนาคต ไทยเซ็นทรัลเคมีต้องเจอคู่แข่งสำคัญ คือ การตั้งปุ๋ยแห่งชาติที่มีบริษัท
ผาแดงอินดัสตรี จำกัด เป็นแกนนำ
ประเสริฐ เล่าว่า "ผาแดงฯ การปิโตรเลียมฯ และรัฐบาลจะร่วมทุนเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่
75.1% มีการเปลี่ยนโครงสร้างของกรรมวิธีการผลิต ซึ่งดูแล้วมันเข้าท่า เพราะใช้วัตถุดิบที่เป็นผลพลอยได้จากอุตสาหกรรมหลายแห่ง
อย่างผาแดงฯ มีโรงถลุงสังกะสีกับทองแดง มีส่นเกินของกรดกำมะถัน ซึ่งก็เป็นส่วนสำคัญในการผลิตปุ๋ย
แล้วจะเอาโปแตชกับฟอสเฟสเข้ามาก็เป็นเรื่องถูกต้องที่สามารถเอาวัสดุที่จะทิ้งมาใช้ให้เกิดประโยชน์ขึ้นได้"
ประเสริฐ เห็นด้วยอย่างยิ่งกับการเปลี่ยนโครงสร้างกรรมวิธีการผลิตครั้งนี้
"เพราะทำให้โครงสร้างการทำปุ๋ยแห่งชาติมีความเป็นไปได้มากขึ้นจากเดิมที่จะใช้แก๊ส
ข้อเท็จจริงคือ แก๊สของเราแพง และไม่เพียงพอ เอาไปทำปิโตรเคมีนี่ได้ราคาดีกว่า
ดังนั้นโครงสร้างเดิมที่เป็นกรรมวิธีการผลิตจากแก๊สนี่ก็พับไป"
เขาให้การสนับสนุนด้วยว่า กรรมวิธีใหม่มีความเป็นไปได้และมีการลงทุนน้อยกว่า
"แม้ว่าไทยเซ็นทรัลฯ ต้องเจอคู่แข่ง แต่ไทยเซ็นทรัลฯ ก็เป็นผู้ถือหุ้นในปุ๋ยแห่งชาติด้วยเหมือนกัน
ผมคิดว่าตลาดทั้งหมดในเมืองไทยควรจะมีการแบ่งกันบ้าง"
ไทยเซ็นทรัลฯ เป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทปุ๋ยแห่งชาติประมาณ 10% กว่า คิดเป็นมูลค่าการลงทุนประมาณ
34 ล้านบาท ประเสริฐ กล่าวว่า "เมื่อโครงการปุ๋ยแห่งชาติเป็นโครงการที่เป็นไปได้
ไทยเซ็นทรัลฯ ก็จะลงทุนตาม หากมีการเพิ่มทุนขึ้นเป็น 650 ล้านบาท ไทยเซ็นทรัลฯ
ก็ยังเพิ่มขึ้นได้ตามส่วน หลังจากนั้นหากเพิ่มเป็น 2,250 ล้านบาท ผมคงต้องดูอีกทีว่าจะเพิ่มตามหรือจะลดบางส่วนลง
ยังไม่แน่"
การประกาศอย่างแจ่มชัดเช่นนี้เท่ากับสยบคำครหาเกี่ยวกับการวิ่งเต้นใด ๆ
ที่จะให้เกิดปุ๋ยแห่งชาติในกรรมวิธีการผลิตเดิมที่ใช้แก๊ส แต่ก็มีปัญหาว่า
โครงการที่ผาแดงฯ เป็นแกนนำนั้นเป็นการสานต่อโครงการปุ๋ยแห่งชาติเดิมหรือไม่
และไทยเซ็นทรัลจะเป็นผู้ถือหุ้นในฐานะอะไร
กิจการผลิตและค้าปุ๋ยที่กลุ่มศรีกรุงวัฒนาดำเนินการอยู่ดูเหมือนจะเป็นการผูกขาด
แต่ก็ไม่อาจกล่าวเช่นนั้นได้เต็มที่นัก ไทยเซ็นทรัลเคมีจุดเริ่มจากการร่วมทุนกับรัฐบาล
และในที่สุดเป็นผู้ผลิตรายใหญ่ที่สุด ครองส่วนแบ่งตลาดมากที่สุด
แต่ประเสริฐมองว่า "โอกาสที่จะมีการผูกขาดหรือตกลงตั้งราคาในตลาดปัจจุบันนี้ไม่มี
เป็นไปไม่ได้ที่มีการตกลงราคา ไทยเซ็นทรัลฯ เป็นผู้นำตลาดก็จริง แต่ว่าราคาก็มีการตัดกันไปมา
แม้กระทั่งลูกค้าของเราเองก็ตัดราคากันเอง"
นั่นอาจจะเป็นเพราะสินค้านี้มีฤดูกาลในการขาย ทุกคนจึงต้องรีบขายในระยะเวลาที่จำกัด
การตัดราคาที่ว่าจึงเป็นเรื่องธรรมดา ไม่เกี่ยวกับการผูกขาดตลาด
ไม่แต่ไทยเซ็นทรัลเคมี จะเป็นผู้ครองส่วนแบ่งตลาดมากที่สุดในเรื่องปุ๋ยและพยายามเพิ่มกำลังการผลิตเพื่อรักษาสถานะนี้ไว้เท่านั้น
กรุงเทพผลิตเหล็ก - บริษัทในตลาดหลักทรัพย์ฯ อีกแห่งหนึ่งของศรีกรุงฯ ก็มีโครงการเลื่อนสถานะจากการเป็นผู้ผลิตเหล็กเส้นอันดับ
2 ที่มีกำลังการผลิต 120,000 ตัน/ปี ขึ้นเป็นอันดับ 2 ที่กำลังการผลิต 120,000
ตัน/ปี ขึ้นเป็นอันดับ 1 ด้วยกำลังการผลิต 360,000 ตัน/ปี แซงหน้าบริษัทเหล็กสยามในเครือของกลุ่มปูนซีเมนต์ไทย
ซึ่งเมื่อเพิ่มกำลังการผลิตเป็น 300,000 ตัน/ปี จะอยู่ในอันดับ 3 ในจำนวนผู้ผลิตเหล็กเส้นทั้งหมด
9 ราย
กล่าวได้ว่า การทำธุรกิจขนาดใหญ่และครองส่วนแบ่งตลาดข้างมากเป็นมรดกของสว่าง
เลาหทัย ที่เหลือทิ้งไว้ในกลุ่มศรีกรุงวัฒนา
โครงสร้างของกรุงเทพผลิตเหล็กไม่ซับซ้อนเท่ากับไทยเซ็นทรัลเคมี และไม่มีการลงทุนในหลักทรัพย์อย่างที่ไทยเซ็นทรัลเคมีทำ
และเกิดการขาดทุนที่ยังไม่เกิดขึ้นจริงถึง 490 ล้านบาท
กรุงเทพผลิตเหล็กมีบริษัทลูก 1 แห่ง คือ บี.เอส.ไอ.มาร์เก็ตติ้ง ซึ่งแต่เดิมใช้ชื่อว่า
กรุงเทพวิศวกรรมและเครื่องจักรกล ทำหน้าที่เป็นตัวแทนจำหน่ายมีทุนจดทะเบียน
10 ล้านบาท กรุงเทพผลิตเหล็กถือหุ้นอยู่ร้อยละ 99.9
บี.เอส.ไอฯ มีมูลค่าตามบัญชีหุ้นละ 100 บาท ก่อตั้งเมื่อปี 2526 แต่เมื่อสิ้นปี
2533 มีมูลค่าหุ้นตามบัญชีสูงถึง 646.80 บาท
นอกจากนี้ กรุงเทพผลิตเหล็กยังมีบริษัทย่อยอีก 2 แห่ง คือ บ.กรุงเทพแนทสตีล
จก. เป็นโครงการขยายการผลิตเหล็กเส้น และเหล็กลวดโรงใหม่ มีกำลังการผลิต
360,000 ตัน/ปี โดยเป็นการร่วมลงทุนกับ NATIONAL IRON AND STEEL MILLS จากสิงคโปร์
ซึ่งเข้ามาถือหุ้น 49% มูลค่าการลงทุนทั้งสิ้นประมาณ 3,590 ล้านบาท โครงการนี้จะเสร็จสิ้นและดำเนินการผลิตได้ในปี
2538
บริษัทนวอาคาร เป็นโครงการร่วมทุนเพื่อดำเนินธุรกิจด้านอสังหาริมทรัพย์
มีอาซาฮี จุงเก้น จากญี่ปุ่นถือหุ้น 40% บ.ไทยนิชิมัตสุ ก่อสร้าง 10% กรุงเทพผลิตเหล็ก
39.99% และธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การ 10%
นวอาคารจะดำเนินธุรกิจด้านโรงแรม ริมแม่น้ำบริเวณถนนรัชดาภิเษกเนื้อที่
22 ไร่ มูลค่าโครงการ 5,600 ล้านบาท คาดว่าโครงการจะแล้วเสร็จและเปิดดำเนินการได้ในปี
2537
นวอาคารเป็นกิจการอสังหาริมทรพัย์อีกแห่งหนึ่งนอกเหนือจากสยามอรุณฯ แม้ว่ามีการร่วมทุนที่ดินแล้ว
แต่โครงการอสังหาริมทรัพย์ทั้งสองแห่งต้องชะลอตัวไปก่อน
เท่ากับว่า เงินลงทุน 700 ล้านบาทในบริษัทฯ ทั้งสองยังไม่เกิดดอกผลใด ๆ
(สยามอรุณฯ 460 ล้านบาท นวอาคาร 240 ล้านบาท) ทั้งที่ลงทุนไปตั้งแต่เมื่อปี
2532
การประกาศเข้าสู่ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ของกลุ่มศรีกรุงฯ ครั้งนี้เป็นจังหวะที่ช้าเกินไป
ตั้งแต่ปี 2533 ธุรกิจนี้เริ่มชะลอการเติบโตแล้ว และในปี 2534 เลยไปจนถึงปี
2535 ก็ยากที่จะมีโครงการเกิดใหม่สำเร็จ
นอกจากนี้ ศรีกรุงฯ ไม่เคยเข้าสู่ธุรกิจนี้มาก่อน แม้จะมีอาซาฮี จุงเก้น
ที่เป็นผู้เชี่ยวชาญในเรื่องการพัฒนาที่ดิน การทำสนามกอล์ฟ โรงแรม และคอนโดมิเนียมในญี่ปุ่น
มาเป็นผู้ร่วมทุนก็ตาม แต่อาซาฮีฯ ก็กำลังได้รับผลกระทบจากการทำธุรกิจนี้ซบเซาในทั่วโลก
ประเสริฐ เปิดเผยว่า "เรื่องที่อยู่อาศัยในญี่ปุ่นที่เป็นธุรกิจหลักของอาซาฮีฯ
ก็ซบเซา เพราะว่าเขาสร้างบ้านขึ้นมาเป็นหมื่น ๆ ยูนิต ก็อาจจะมีการจองหรือว่าลูกค้ามีปัญหาชำระไม่ได้
ก็ทำให้โครงการของเขาชะงัก"
แต่ประเสริฐ ยืนยันว่า "อาซาฮี จุงเก้น ยังแข็งแรงอยู่ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่ซบเซานี่เป็นเรื่องปกติ
เป็นวงจรของธุรกิจ"
นอกจากการลงทุนในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์แล้ว กรุงเทพผลิตเหล็กยังมีรายการให้กู้ยืมแก่บริษัทที่เกี่ยวข้องกัน
3 ราย เมื่อปี 2532 คือ ศรีกรุง 31.73 ล้านบาท เจ้าพระยาพืชไร่ 22.38 ล้านบาท
และสยามอรุณฯ 1.5 ล้านบาท
แต่รายการนี้ปรากฏว่า เคลียร์เรียบร้อยแล้ว เมื่อสิ้นปี 2533 ไม่มีตัวเลขให้กู้ยืมแก่บริษัทที่เกี่ยวข้องกันปรากฏอีก
ในแง่ของผลประกอบการกรุงเทพผลิตเหล็กมีผลการดำเนินงานขาดทุนมาตั้งแต่ก่อนปี
2528
ตัวเลขที่แสดงในปี 2528 นั้น มีการขาดทุนสุทธิ 12.90 ล้านาท ขาดทุนสะสม
58.67 ล้านบาท เป็นขาดทุนทั้งสิ้น 71.57 ล้านบาท
แต่ในปี 2529 ก็เริ่มมีกำไรสุทธิ และสามารถล้างการขาดทุนสะสมได้หมดในปี
2531 และเกิดกำไรทั้งสิ้น 64.54 ล้านบาท ในปี 2532 ส่วนปี 2533 นั้นกำไรสะสมพุ่งขึ้นเป็น
171.33 บาท
นับว่าเป็นตัวเลขที่ดีอย่างมาก ๆ เมื่อเทียบกับไทยเซ็นทรัลฯ
รายงานผู้บริหารสำคัญของกรุงเทพผลิตเหล็กไม่มีชื่อสว่าง ประเสริฐ เปล่งศักดิ์
หรือสุวิช พวกเขาเป็นแต่ผู้ถือหุ้น และดูเหมือนศรีกรุงฯ จะปล่อยให้มืออาชีพทำกันอย่างเต็มที่
พิชิต จเร และหิน ซึ่งร่วมงานกับศรีกรุงฯ มาไม่น้อยกว่า 10 ปี เป็นผู้ดูแลงานบริหารทั้งหมด
หินซึ่งเป็นผู้จัดการโรงงาน กล่าวกับ "ผู้จัดการ" ว่า "การที่บริษัทฯ
กล้าขยายกำลังการผลิตก็เพราะเรามีจุดเด่นจากผู้ค้ารายอื่น ๆ คือ เรามีปุ๋ยซึ่งเป็นธุรกิจในเครือฯ
เป็นสินค้านำ เหตุที่บริษัทฯ ได้ส่วนแบ่งการตลาดมากก็มาจากตรงนี้ และเรายังมีสังกะสีซึ่งผู้ซื้อส่วนมากเป็นเกษตรกร
ทั้งสังกะสีและปุ๋ยใช้หัววัว-คันไถเหมือนกัน"
อาจกล่าวได้ว่า เหล็กเป็นธุรกิจที่มั่นคงอย่างมาก ๆ ของกลุ่มศรีกรุงฯ ในประมาณการงบกำไรขาดทุนนั้น
ยอดขายของกรุงเทพผลิตเหล็กจะเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัวจากปี 2534 ที่คาดว่าจะขายได้
3,280.20 ล้านบาท จะเพิ่มเป็น 6,591.85 ล้านบาทในปี 2538 มีกำไรสุทธิต่อหุ้นเพิ่มจาก
3.33 บาทในปี 2534 เป็น 6.44 บาทในปี 2538
ส่วนประมาณการสินทรัพย์ไม่ได้เติบโตสักเท่าใด ปี 2534 ประมาณไว้ 3,847 ล้านบาท
เพิ่มเป็น 4,097 ล้านบาทในปี 2538 เท่ากับว่า มีความสามารถในการทำกำไรได้สูงที่สุดในกลุ่มก็เป็นได้
ยูไนเต็ดฟลาวมิลล์ เป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ แห่งแรกของกลุ่มศรีกรุงฯ
คือ เข้าตั้งแต่ปี 2521 และเพิ่งถูกกลุ่มมิตซุยเข้ามาซื้อหุ้นจำนวน 25% ไปเมื่อเมษายน
2534
กลุ่มมิตซุยจะเข้ามามีบทบาทในการบริหารงานของบริษัท โดยเฉพาะการติดต่อซื้อขายสินค้าในต่างประเทศและช่วยบริษัทฯ
ในด้านการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ ๆ
มิตซุยเข้ามาเกี่ยวพันกับศรีกรุงฯ ในฐานะที่เป็นคู่ค้าเรื่องปุ๋ยกันมาเป็นเวลานาน
ประเสริฐ เล่าว่า "เขาต้องการมาร่วมกับเราทางด้านอาหาร ก็เลยมีการขายหุ้นส่วนหนึ่งให้เขา
แล้วก็มีซื้อจากในตลาดฯ บ้างจนปัจจุบันมี 25% และยังมีการร่วมทุนในอีกหลายบริษัท
อย่าง บ.ยูไนเต็ด เคียวเอะ ฟู้ดส์ นี่ก็ใช่ เป็นบริษัทร่วมทุนกับมิตซุยแล้วมาอยู่ในอาณัติของยูไนเต็ดฟลาวมิลล์"
ประเสริฐ กล่าวว่า "มิตซุยเป็นยักษ์ใหญ่ มีธุรกิจด้านอุตสาหกรรมอาหารไม่เฉพาะญี่ปุ่นเท่านั้น
แต่มีในทั่วโลก ในเมืองไทยก็มีโรงงานน้ำตาล และมีส่วนอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับด้านอาหาร
ผมคิดว่าควรจะมีการขยายธุรกิจด้านอาหารให้กว้างขวางแตกแขนงออกไปอีก เช่น
เอาแป้งมาผลิตให้มีมูลค่าเพิ่มมากขึ้น อาจจะมีการสร้างโรงงานทำเส้นก๋วยเตี๋ยวขึ้นมาในอนาคต"
โรงงานน้ำตาลในไทยของกลุ่มมิตซุยที่ประเสริฐกล่าวถึง คือ โรงงานน้ำตาลกุมภวาปี
ซึ่งมิตซุยถือหุ้นอยู่ 49.9% กิจการของมิตซุยในเมืองไทยยังมีอีกมาก
ยูไนเต็ดฟลาวมิลล์ เป็นผู้ผลิตแป้งสาลีเป็นสินค้าหลัก นอกจากนี้ก็มีโรงเรียนสอนทำขนมซึ่งได้แยกออกไปตั้งเป็นบริษัทต่างหาก
คือ ยูไนเต็ดฟู้ดเซ็นเตอร์ และหากจะมีโรงงานก๋วยเตี๋ยวเกิดขึ้นอีกก็คงจะไม่แปลกนัก
ยูไนเต็ดฟลาวมิลล์ก็ไม่ต่างจากบริษัทอื่น ๆ ในเครือศรีกรุงฯ ที่ค่อนข้างมีความสัมพันธ์อย่างซับซ้อนในเรื่องบัญชีกับบริษัทที่เกี่ยวข้องกันในเครือศรีกรุงฯ
ในปี 2533 ผู้สอบบัญชีได้แสดงความเห็นอย่างมีเงื่อนไขสำหรับงบการเงินประจำปีว่า
บริษัทฯ มีรายการบัญชีกับบริษัทที่เกี่ยวข้องกันเป็นจำนวนมาก สินทรัพย์ หนี้สิน
รายได้ ต้นทุน และค่าใช้จ่ายส่วนใหญ่ของบริษัทฯ เกิดขึ้นจากรายการกับบริษัทที่เกี่ยวข้องกันดังกล่าว
บริษัทเหล่านี้เกี่ยวข้องกันโดยการมีผู้ถือหุ้น และ/หรือ กรรมการร่วมกัน
รายการลูกหนี้ของบริษัทที่เกี่ยวข้องกันเมื่อปี 2533 คิดเป็นมูลค่าถึง 3,002
ล้านบาท มีรายการเงินทดรองแก่บริษัทที่เกี่ยวข้องกัน 401 ล้านบาท ขณะที่เป็นเจ้าหนี้บริษัทที่เกี่ยวข้องกันเพียง
9.68 ล้านบาทเท่านั้น
บริษัทฯ มีสินทรัพย์รวมในปี 2533 เท่ากับ 4,382 ล้านบาท และมีหนี้สินรวม
3,819 ล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วนหนี้สินต่อสินทรัพย์รวมเท่ากับ 0.87
แต่บริษัทฯ มีเงินกองทุนเพียง 563 ล้านบาทเท่านั้น แม้จะมีช่องว่างในงบดุลสำหรับการก่อหนี้ได้อีกหลายร้อยล้านบาท
แต่ธนาคารหรือสถาบันการเงินผู้ให้กู้คงจะขอให้บริษัทเพิ่มทุนก่อนเป็นแน่
เพราะตลอดเวลาที่เข้ามาจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ บริษัทฯ ไม่เคยเพิ่มทุนเลย
!
ประเสริฐไม่สามารถเปิดเผยได้ว่า ยูไนเต็ดฟลาวมิลล์จะมีการเพิ่มทุนหรือไม่
แต่หากมีการลงทุนขยายกิจการก็คงต้องมีการพิจารณาเรื่องนี้แน่
สำหรับเมโทรซิสเต็มส์ คอร์ปอเรชั่น ซึ่งเป็นกิจการวันดีคืนดีฝีมือของคนหนุ่มไม่กี่คนที่ได้ร่วมเป็นผู้ถือหุ้นด้วยนั้น
ประเสริฐ เปิดเผยว่า "เราพยายามดำเนินธุรกิจนี้ให้มั่นคงก่อนที่จะเอาเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ
ซึ่งคิดว่าคงอีก 2 ปีข้างหน้า ตอนนี้ก็กำลังสร้างบ้านให้ อาจจะมีอาคารสำนักงานใหญ่ของเขาเอง"
เมโทรซิสเต็มส์ฯ ก่อตั้งเมื่อปี 2529 ปัจจุบันมีทุนจดทะเบียน 60 ล้านบาท
มีบริษัทในเครือ 3 แห่ง และมีศูนย์ฝึกอบรมทางด้านคอมพิวเตอร์อีกหลายแห่งทั่วกรุงเทพฯ
รวมทั้งทำโรงเรียนสถาบันสอนคอมพิวเตอร์ (MITS) ที่อาคารยูเอฟเอ็ม สยามสแควร์ด้วย
ในปลายปี 2535 เมโทรซิสเต็มส์ฯ มีโครงการจะย้ายบริษัทในเครือและแผนกบางแผนกไปอยู่ที่อาคารสกุลไทย
สุรวงศ์ทาวเวอร์ และกำลังอยู่ในระหว่างการจัดการก่อสร้างสำนักงานใหญ่ของเมโทรซิสเต็มส์ฯ
บนเนื้อที่ 18 ไร่ ใกล้บริเวณสวนหลวง ร.9 ซึ่งมีที่ดินและแบบแปลนเรียบร้อยแล้ว
ผู้บริหารหลักของเมโทรซิสเต็มส์ฯ คือ ธวิช จารุวจนะ ซึ่งเข้ามาร่วมงานกับกลุ่มศรีกรุงฯ
นับสิบปีแล้ว เคยได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการจัดการฝ่ายเครื่องสมองกล (คอมพิวเตอร์)
และเครื่องมือสื่อสารของศรีกรุงวัฒนาเมื่อปี 2527 ซึ่งช่วงนั้นสว่างยังมีบทบาทการบริหารงานในกลุ่มศรีกรุงอยู่มาก
เมโทรซิสเต็มส์ฯ เป็นบริษัทในเครือศรีกรุงฯ ที่เติบโตอย่างมาก ๆ โดยเฉพาะในช่วง
3 ปีที่ผ่านมา ซึ่งตลาดคอมพิวเตอร์โดยรวมมีอัตราการเติบโตสูงกว่าธุรกิจอื่น
ๆ เมโทรซิสเต็มส์ฯ เป็นผู้ขายเครื่องคอมพิวเตอร์ของไอบีเอ็ม ปัจจุบันได้รับการแต่งตั้งเป็นดีลเลอร์
เครื่องคอมพิวเตอร์หลักที่ทำรายได้ให้ในเวลานี้ คือ PC และ AS 400
ในสิ้นปี 2534 นี้ คาดหมายว่า เมโทรซิสเต็มส์ฯ จะทำยอดขายได้เฉียดพันล้านบาท
จากที่เคยทำได้ 644.91 และ 454.02 ล้านบาทในปี 2533 และ 2532 ตามลำดับ
เมโทรซิสเต็มส์ฯ ยังมีกำไรสะสมเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องมาเป็นเวลา 3 ปีแล้ว
คือ 2.52, 4.61 และ 7.16 ล้านบาทระหว่างปี 2531 - 2533 ตามลำดับ มีการจ่ายเงินปันผลทุกปี
ในปี 2533 มีสินทรัพย์รวมเท่ากับ 270.6 ล้านบาท หนี้สินรวม 203.15 ล้านบาท
หรือคิดเป็นสัดส่วนหนี้สินต่อสินทรัพย์รวมเท่ากับ 0.75 ซึ่งเป็นตัวเลขที่อยู่ในเกณฑ์ดี
ส่วนรายชื่อผู้ถือหุ้นที่ว่ากลุ่มศรีกรุงฯ ถือไว้ 70% หมายถึงกลุ่มศรีกรุงและผู้บริหารของศรีกรุง
ผู้ถือหุ้นที่เป็นบุคคลรายใหญ่สุด คือ ธวิช ถือไว้เป็นจำนวน 45.560 หุ้นเมื่อ
30 เมษายน 2534 และนิติบุคคลรายใหญ่สุด คือ บ.สหพัฒนภูมิ จก. ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของศรีกรุงฯ
จำนวน 176,500 หุ้น
ในอนาคต ศรีกรุงฯ คงต้องจัดเมโทรซิสเต็มส์ฯ เป็นกลุ่มธุรกิจที่ 5 หรืออาจจะเข้าแทนที่กลุ่มอสังหาริมทรัพย์ที่ไม่แน่ว่าจะได้แจ้งเกิดหรือไม่
ประเสริฐ รับว่า "การปรับโครงสร้างและแยกออกมาเป็น 4 ธุรกิจหลักช่วยให้บริหารงานได้คล่องขึ้น"
แต่โดยข้อเท็จจริงนั้นไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง คงมีแต่สว่าง THE FOUNDER ที่มีบทบาทการบริหารน้อยลงอย่างเห็นได้ชัด
หนังสือพิมพ์ต่างประเทศฉบับหนึ่ง บรรยายว่า ศรีกรุงฯ เป็นธุรกิจครอบครัวเหมือนกับแบงก์กรุงเทพฯ
นั่นเป็นการประเมินที่ผิดพลาดขนาดหนัก ผู้ถือหุ้นรายบุคคลมากที่สุดในศรีกรุงวัฒนาวันนี้
แม้จะยังเป็นสว่างและประเสริฐ แต่เขาทั้งสองไม่ได้มีทายาทหรือเครือญาติเข้ามาบริหารงานและเป็นใหญ่ในบริษัทในกลุ่มแม้แต่คนเดียว
ศรีกรุงฯ วันนี้หากเทียบกับกลุ่มธุรกิจใหญ่อื่น ๆ ที่มีรากฐานการเติบโตมายาวนานพอ
ๆ กันแล้ว ต้องนับว่าเป็นกลุ่มธุรกิจที่โตช้าหรือแทบจะกล่าวว่าหยุดนิ่งมากที่สุด
เหตุผลน่าจะมาจากเรื่องความบอบช้ำด้วยหนี้สินจำนวนมโหฬารที่ว่ากันว่ามีถึง
12 พันล้านบาท ประกอบกับ VISION ในการทำธุรกิจของผู้บริหาร
การที่มีคนเก่าแก่ร่วมงานกันมานานนับสิบ ๆ ปี และปัจจุบันก็ยังร่วมงานอยู่ด้วยนั้นอาจจะเป็นข้อดี
ในแง่ของกลุ่มบริษัทที่มีรากฐานเป็นผู้ผลิต แต่ก็อาจจะมีข้ออ่อนตรงที่ไม่มี
NEW BLOOD และ NEW IDEA เข้ามากระตุ้นให้เกิดการขยายธุรกิจเลย
น่าสังเกตว่า แม้ศรีกรุงฯ จะมีความเคลื่อนไหวในโครงการเรื่องอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นธุรกิจที่บูมอย่างมาก
ๆ และทำกำไรได้อย่างงาม แต่ศรีกรุงฯ ก็เข้ามาช้าเกินไป
สิ่งที่กลุ่มนี้ขาดอาจจะเป็นธุรกิจด้านการเงินที่เป็นขาสำคัญซึ่งในบรรยากาศที่ตลาดทุนในประเทศบูมอย่างมากเมื่อ
2 ปีก่อน กลุ่มธุรกิจใหญ่ ๆ ต่างขวนขวายหาแขนขาด้านนี้เข้ามาไว้ในอาณัติ
ศรีกรุงฯ ทำในอีกด้าน คือ พยายามผลักดันธุรกิจในเครือเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ
ให้มาก แต่ก็ยังไม่เคยใช้กลไกอะไรมากกว่านี้ในการขยับขยายแหล่งทุน
การปรับโครงสร้างหนี้ที่ผ่านมาช่วยพยุงให้ศรีกรุงวัฒนาดำเนินงานต่อไปได้
แต่จะทำให้ใหญ่ไปกว่านี้อีกหรือไม่นั้น คงเป็นเรื่องที่ยังไม่มีผู้บริหารคนใดในกลุ่มคาดคิด
!!