"เอกชน"แห่กู้ลงทุนเหตุระดมผ่านตลท.ยาก


ผู้จัดการรายวัน(6 พฤศจิกายน 2550)



กลับสู่หน้าหลัก

ตลท.จับมือสมาคมบจ.สำรวจมุมมองซีอีโอบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ พบส่วนใหญ่เชื่อเศรษฐกิจปีหน้าจะโตจากปีนี้ 0.50% เป็น 4.5-4.9% ขณะที่การลงทุนจะเพิ่มขึ้นหลังการเลือกตั้ง ชี้ส่วนใหญ่เลือกกู้แบงก์ลงทุน เหตุขั้นตอนการระดมทุนผ่านตลาดหลักทรัพย์ฯ ค่อนข้างยุ่งยาก ขณะที่เอกชนส่วนใหญ่หวังรัฐบาลใหม่เดินหน้าโครงการเมกกะโปรเจกต์ ด้านสมาคมบจ.เตรียมนัดถกก.ล.ต.ลดขั้นตอนระดมทุน

วานนี้ (5 พ.ย.) สถาบันวิจัยเพื่อตลาดทุน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ร่วมกับสมาคมบริษัทจดทะเบียนไทย แถลงผลสำรวจความคิดเห็นผู้บริหารบริษัทจดทะเบียน Thailand Economic Outlook Survey (CEO Survey) ไตรมาส 3/2550 ซึ่งประเด็นสอบถามคือแนวโน้มเศรษฐกิจ การเมือง การลงทุนของภาคเอกชน ณ อาคารตลาดหลักทรัพย์ฯ

นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้บริหารสถาบันวิจัยเพื่อตลาดทุนตลท. เปิดเผยว่า สถาบันวิจัยฯได้มีการสอบถามผู้บริหารบริษัทจดทะเบียน(บจ.)จำนวน 110 บริษัท ใน 8 อุตสาหกรรม ซึ่งมีมูลค่าตลาดรวม (มาร์เกตแคป) คิดเป็น 50% ของมาร์เกตแคปรวมของทั้งตลาด โดยได้ส่งแบบสำรวจในช่วงสัปดาห์ที่ 2 ของเดือนตุลาคม ซึ่งผู้บริหารบจ.มองว่า อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจไทย (GDP) ปีหน้าจะปรับตัวดีขึ้นกว่าปี 50 ประมาณ 0.50% ซึ่งส่วนใหญ่มองว่าจะเฉลี่ยอยู่ที่ 4.5-4.9% และ 5-5.4%

ทั้งนี้ เศรษฐกิจปีนี้คาดว่าจะเติบโตเฉลี่ย 4-4.5% ซึ่งใกล้เคียงกับที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คาดไว้ซึ่งอยู่ที่ 4.3-4.8% ส่วนปัจจัยการเมืองหลังการเลือกตั้ง 50% มองว่าจะทำให้การเมืองมีเสถียรภาพมากขึ้น ขณะที่ 32% มองว่าสถานการณ์ทางการเมืองเหมือนเดิม และ 18% มองว่าจะมีเสถียรภาพน้อยลง ขณะที่ทิศทางเศรษฐกิจในอีก 6 เดือนหลังการเลือกตั้ง 75% มองว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้น อีก 18% มองว่าเหมือนเดิม ส่วนอีก 7%มองว่าจะแย่ลง

สำหรับสิ่งผู้บริหารบจ.ต้องการให้รัฐบาลชุดใหม่มีการดำเนินการมากที่สุดนั้น ผู้บริหารจำนวน 52 บริษัท ต้องการให้เร่งการลงทุนโครงการเมกกะโปรเจกต์ ขณะที่ผู้บริหาร 44 บริษัท ต้องการให้กระตุ้นการบริโภคในประเทศ ขณะที่ผู้บริหาร 18 บริษัทต้องการให้ทางการดูแลในเรื่องค่าเงิน และผู้บริหาร 12 บริษัท ต้องการให้กระตุ้นการส่งออก ขณะที่ผู้บริหารในภาคธุรกิจส่งออกนั้นผู้บริหารจำนวน 16 บริษัท ต้องการให้รัฐบาลชุดใหม่ดูแลเรื่องความผันผวนค่าเงิน ผู้บริหารจำนวน 13 บริษัทต้องการให้เร่งโครงการเมกกะโปรเจกต์ ผู้บริหารจำนวน 9 บริษัท ต้องการให้กระตุ้นการบริโภค

นายกอบศักดิ์ กล่าวอีกว่า จากการสำรวจแนวโน้มการลงทุนของบริษัทเอกชนในอีก 12 เดือนข้างหน้าผู้บริหารบจ.66% มองว่าจะมีการลงทุนเพิ่มขึ้น ขณะที่ 29% มองว่าจะมีการลงทุนเท่าเดิม ส่วนอีก 5% มองว่าจะมีการลงทุนลดลง ซึ่งเงินที่จะใช้ในการลงทุนนั้น 76 บริษัท ตอบว่าจะมาจากการขอสินเชื่อจากธนาคารพาณิชย์ในประเทศ ในขณะที่ 64 บริษัทจะ ใช้กำไรสะสมของบริษัท ส่วนอีก 20 บริษัทมองว่าจะออกหุ้นกู้ภายในประเทศ และ 16 บริษัทมองว่าจะเพิ่มทุนหรือระดมทุนจากผู้ถือหุ้น โดยบริษัทส่วนใหญ่จะขอสินเชื่อแบงก์จากมองเศรษฐกิจดีทำให้สามารถปล่อยสินเชื่อมากขึ้น

สำหรับปัจจัยที่จะกระทบต่อแผนการลงทุนมากสุด 3 อันดับแรก คือ เศรษฐกิจภายในประเทศ รองมาปัจจัยการเมือง และอัตราแลกเปลี่ยน ส่วนปัจจัยเสี่ยงจากระบบเศรษฐกิจโลกจากปัญหาสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์คุณภาพต่ำของสรัฐอเมริกา (ซับไพรม์) 81% มองว่าจะมีความรุนแรงปานกลาง 11% มองว่าจะไม่รุนแรง และอีก 8% ว่ามีผลกระทบรุนแรงมาก ซึ่งผู้บริหาร บจ.มองว่าปัญหาซับไพร์มจะส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจ 71% อีก 28% มองว่าไม่ได้รับผลกระทบ และมี 1% มองว่าจะได้รับผลกระทบมาก

นายกอบศักดิ์ กล่าวว่า จากการสอบถามบริษัทที่ประกอบธุรกิจส่งออกมองถึงแนวโน้มการส่งออกในอีก 3 เดือนข้างหน้าพบว่า 47% มองว่าจะมีการส่งออกจะปรับดีขึ้น และอีก 47% มองว่าการส่งออกจะเท่าเดิมและ 6% มองว่าการส่งออกจะต่ำ ซึ่งจาการสอบถามในเรื่องผลกระทบจากค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นนั้น 35% มองตอบว่าได้รับผลกระทบบ้าง 32% ตอบไม่มีผลกระทบ ขณะที่ 18% ตอบมีผลทางด้านบวกบ้าง ขณะที่ 11% มองว่าได้รับผลกระทบคอนข้างมาก

นอกจากนี้ จากการสอบถามในเรื่องต้นทุนการดำเนินงานและการปรับเพิ่มขึ้นราคาสินค้านั้นในไตรมาส4/50 พบว่า 78% มองว่าวัตถุดิบจะปรับตัวเพิ่มขึ้น และมองว่าราคาสินค้าที่ผลิตจะปรับตัวเพิ่มขึ้น 40% แต่การปรับราคาสินค้าของผู้ประกอบการทำได้ในสัดส่วนที่ต่ำกว่าราคาวัตถุดิบที่เพิ่มขึ้น ซึ่งจะส่งผลกระทบต่ออัตรากำไรขั้นต้น(มาร์จิ้น)ของบริษัทในไตรมาส4/50 หากบริษัทไม่มีการลดต้นทุนในการผลิต ส่วนการสำรวจในการคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อในอีก 12 เดือน ซึ่งผู้บริหารส่วนใหญ่มองว่าเฉลี่ยอยู่ที่2-3% รองมามองว่าจะอยู่ที่ 3-4%

นางเพ็ญศรี สุธีรศานต์ ผู้อำนวยการ สมาคมบริษัทจดทะเบียนไทย กล่าวว่า การที่ผู้บริการบจ.มองว่าการระดมทุนผ่านตลาดหุ้นไทยกระทำการได้ยากขึ้นเนื่องจาก มีกฎเกณฑ์ต่างๆจำนวนมาก และหลายขั้นตอนการดำเนินงาน เช่น การเพิ่มทุน จะต้องมีการจ้างที่ปรึกษาทางการเงิน ขณะที่การออกหุ้นกู้ต้องการการจัดอันดับเครดิตเรทติ้ง ฯลฯ ซึ่งทางสมาคมบจ.อยู่ระหว่างการหารือกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)ในการลดขึ้นตอนการอนุมัติทำให้สามารถระดมทุนผ่านตราสารหนี้ทำได้สะดวกมากขึ้น ก็จะสร้างความน่าสนใจในการลงทุนมากขึ้น


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.