"ภัทร"ยันตปท.พร้อมลุยหุ้นไทย แนะโบรกฯเพิ่มบริการ-สินค้าให้ครบ


ผู้จัดการรายวัน(5 พฤศจิกายน 2550)



กลับสู่หน้าหลัก

หลังพันธมิตรทางธุรกิจยักษ์ใหญ่แห่งวงการการเงิน "เมอร์ริล ลินช์" ที่ทำธุรกิจร่วมกับบริษัทหลักทรัพย์ ภัทร จำกัด (มหาชน) หรือ PHATRA ได้แตกไลน์สู่การทำธุรกิจบริษัทหลักทรัพย์ในประเทศไทยอย่างเต็มรูปแบบด้วยการทุ่มเงินกว่า 300 ล้านบาทในการซื้อบริษัทหลักทรัพย์(บล.) เอเพกซ์ จำกัด จากบล.แอ๊ดคินซัน

"ผู้จัดการรายวัน" ได้สัมมนาพิเศษนายสุวิทย์ มาไพศาลสิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บล.ภัทร ถึงผลกระทบในเรื่องดังกล่าว รวมถึงแนวทางในการดำเนินธุรกิจหลักทรัพย์ของบริษัทในสถานการณ์ที่เต็มการแข่งขันและการปรับตัวเพื่อรองรับการเปิดเสรีค่าคอมมิชชันที่จะเกิดขึ้นในเร็วๆ นี้

นายสุวิทย์ ยืนยันว่าการร่วมธุรกิจระหว่างบล.ภัทร กับ เมอร์ริล ลินช์ จะยังคงอยู่ต่อไป ทั้งในด้านการทำธุรกิจและงานวิจัยต่อไปตามข้อผูกพันภายใต้สัญญาการให้บริการทางธุรกิจ และสัญญาความร่วมมือทางด้านงานวิจัย โดยสัญญาดังกล่าวข้างต้นเป็นข้อตกลงในการให้ความร่วมมือทางธุรกิจแต่ผู้เดียวในด้านต่างๆ โดยเฉพาะธุรกิจด้านนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ และธุรกิจด้านวาณิชธนกิจ รวมทั้งงานวิจัยที่ครอบคลุมถึงงานวิจัยที่เกี่ยวกับบริษัทไทยและหลักทรัพย์ของบริษัทไทย และสภาวะเศรษฐกิจ การเมือง ตลาดทุน ตลาดเงิน และอุตสาหกรรมต่างๆ ของประเทศไทย

ทั้งนี้ การเข้าซื้อหุ้นของบล.เอเพกซ์ จะช่วยให้เมอร์ริล ลินช์ สามารถพัฒนาธุรกิจในด้าน Fixed Income Currencies and Commodities ในประเทศไทย และให้ประโยชน์กับการดำเนินธุรกิจอื่นของเมอร์ริล ลินช์ ในประเทศไทย

สำหรับภาพรวมของธุรกิจหลักทรัพย์ เป็นเรื่องต้องยอมรับว่าธุรกิจหลักทรัพย์เป็นธุรกิจที่สามารถควบคุมตัวแปรต่างๆได้น้อยมาก มีปัจจัยมากมายที่ส่งผลกระทบมูลค่าการซื้อขายหลักทรัพย์ซึ่งเป็นรายได้หลักของบริษัทหลักทรัพย์ในปัจจุบัน ทำให้การประเมินรายได้ของผู้ประกอบการในแต่ละปีเป็นเรื่องที่ยากมาก ในขณะเดียวกันจำนวนผู้ให้บริการในปัจจุบันก็มีเยอะกว่าที่ควรจะเป็น

ทั้งนี้ ส่วนตัวมองว่าด้วยขนาดของอุตสาหกรรมหลักทรัพย์ในปัจจุบันหากจำนวนบริษัทหลักทรัพย์ลดลงเหลือเพียงครึ่งเมื่อเทียบกับจำนวนบริษัทหลักทรัพย์ที่มีอยู่จำนวน 39 บริษัทก็เชื่อว่าทั้งเรื่องการให้บริการ คุณภาพของบริษัทหลักทรัพย์ก็ยังรองรับจำนวนนักลงทุนที่มีอยู่ในปัจจุบันได้

จากข้อมูลอดีตที่ผ่านมาบริษัทหลักทรัพย์ที่มีส่วนแบ่งการตลาด (มาร์เกตแชร์) รวมกันเกิน 50% มีประมาณ 20 รายแต่ในปัจจุบันประมาณ 10 บริษัทแรกที่มีมาร์เกตแชร์สูงสุดมีส่วนแบ่งรวมกันเกิน 50% ทำให้ที่เหลือต้องเร่งปรับตัวหากต้องการอยู่รอดต่อไป

"การควบรวมกิจการระหว่างผู้ประกอบการหลักทรัพย์จะเกิดขึ้นอย่างไรต้องดูว่าหน่วยงานที่กำกับคิดเห็นกับเรื่องดังกล่าวอย่างไร จะมีการออกกฎเกณฑ์อะไรมาเพื่อบังคับให้มีการควบรวมหรือไม่ หรือจะมีการบีบด้วยเหตุผลบางอย่างจนสุดท้ายต้องมีการควบรวมกันเอง โดยในสถานการณ์แบบนี้มีเกือบครึ่งหนึ่งที่ต้องมีการปรับตัว"

ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบล.ภัทร กล่าวอีกว่า สำหรับบล.ภัทร ปัจจุบันการปรับเปลี่ยนโครงสร้างของรายได้เพื่อกระจายความเสี่ยงทำได้ตามเป้าหมายโดย 5 ปีที่ผ่านมาสัดส่วนรายได้เฉลี่ย 40% มาจากด้านวาณิชธนกิจ 50% มาจากนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ และอีกประมาณ 10% มาจากการลงทุนของบริษัท

ส่วนการลงทุนของบริษัทปัจจุบันบริษัทลงทุนผ่านพอร์ตลงทุนของบริษัทแล้วประมาณ 800 ล้านบาท เป็นการลงทุนในบริษัทขนาดกลางและขนาดเล็กที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์โดยครึ่งปีที่ผ่านมาบริษัทมีรายได้ที่ได้จากผลตอบแทนจากการลงทุนประมาณ 20% ของรายได้บริษัทและยังมีที่ยังไม่ได้บันทึกอีกจำนวนหนึ่ง โดยคณะกรรมการบริษัทได้อนุมัติการลงทุนผ่านพอร์ตลงทุนไว้ประมาณ 1,500 ล้านบาท

"การปรับเปลี่ยนของบริษัทหลักทรัพย์ที่จะต้องขึ้นอย่างต่อเนื่อง บล.ภัทรจะเปลี่ยนตัวจากโบรกเกอร์ที่ทำหน้าที่แค่ซื้อขายหุ้นเป็นเสมือนผู้ที่เข้าไปช่วยเหลือดูแลการลงทุนทั้งหมดของนักลงทุน โดยรูปแบบของสินค้าและบริการจะใกล้เคียงความต้องการและความเสี่ยงที่ยอมรับได้เพื่อความเหมาะสมของนักลงทุนแต่ละราย"

ขณะที่แนวทางในการปรับเปลี่ยนในอนาคตของบริษัท คือ การให้ลูกค้าของบริษัทเป็นคนกำหนดปัจจัยในเรื่องต่างๆ เข้ามาไม่ว่าจะเป็นผลตอบแทนจากการลงทุน รวมถึงสามารถในการรับความเสี่ยง จำนวนเงินที่พร้อมจะลงทุน ก่อนจะนำมาวิเคราะห์เพื่อแนะนำการลงทุนที่เหมาะสมกับลูกค้าแต่ละราย

นอกจากนี้ บริษัทจะมีการศึกษาในเรื่องการให้บริการเกี่ยวข้องการลงทุนในต่างประเทศ หลังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเปิดช่องให้นักลงทุนสามารถไปลงทุนในต่างประเทศเพื่อเป็นการกระจายความเสี่ยงจากเดิมที่ลงทุนเฉพาะในประเทศ และการนำสินค้าเข้ามาเพิ่ม เช่น ตราสารอ้างอิง

สำหรับการขายหุ้นออกมาของกลุ่มผู้บริหารของบริษัทในช่วงที่ผ่านมาเกิดขึ้นเพราะความจำเป็นของผู้บริหารรายนั้นๆ แต่หากพิจารณาโครงสร้างผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัทใน 21 มี.ค. 50 อันดับ 1.RUAMPHON PHATRA INTERNATIONAL CORP. ซึ่งเป็นการรวมตัวของผู้บริหารประมาณ 30 กว่าคนถือหุ้นในจำนวน 78,399,997 หุ้น หรือ 36.72 % ขณะที่ในส่วนที่มีการขายเป็นของผู้บริหารแต่ละรายไม่เกี่ยวข้องกับหุ้นของ RUAMPHON PHATRA INTERNATIONAL CORP.


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.