ตลาดหุ้นลุยศึกษาแปรรูป ฟุ้งผลตอบแทน7ปี500%


ผู้จัดการรายวัน(5 พฤศจิกายน 2550)



กลับสู่หน้าหลัก

ตลาดหลักทรัพย์ฯ ยันต้องสร้างความชัดเจนก่อนแปรรูปตลาดหุ้นทั้งเรื่องการจัดโครงสร้าง-การกระจายหุ้น-นโยบายการสร้างกำไร ย้ำหากไม่เปลี่ยนแปลงบทบาทตลาดทุนไทยจะหายไปจากตลาดทุนโลก ด้าน "กอบศักดิ์" เผยปีนี้ตลาดหุ้นให้ผลตอบแทนกว่า 33% ขณะที่ตั้งแต่ปี 2000 ให้ผลตอบแทนสูงเกือบ 500% เผยขนาดตลาดหุ้นไทย 7 ล้านล้านบาท อยู่ในอันดับ 35 ของตลาดทุนทั่วโลก

นางภัทรียา เบญจพลชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าวถึงความคืบหน้าและแนวทางการแปรรูปตลาดหลักทรัพย์ฯ ว่า ปัญหาใหญ่ที่หลายฝ่ายกังวลคือ การกระจายหุ้นและโครงสร้างกรรมการบริษัทหลังการแปรรูป เนื่องจากมีความกังวลว่าการแปรรูปอาจจะก่อให้เกิดความเสี่ยงทางด้านธุรกิจ รวมทั้งยังมีความกังวลเกี่ยวกับการเข้ามาแสวงหาผลกำไรจากการแปรรูป และการพิจารณาถึงหน่วยงานที่จะต้องเข้ามารับผิดชอบการพัฒนาตลาดทุนไทยด้วย ดังนั้นคณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์ฯ จึงได้มีมติให้จ้างผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศเข้ามาศึกษาถึงความจำเป็นและรูปแบบที่เหมาะสมกับตลาดหุ้นไทย

ขณะที่ปัจจัยที่มีผลทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของธุรกิจตลาดหลักทรัพย์ฯ อย่างรุนแรงนั้น มีอยู่หลายประเด็น เช่น แนวโน้มการดึงบริษัทข้ามชาติที่มีขนาดใหญ่เข้ามาจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ซึ่งเป็นทางเลือกอีกทางของบริษัทที่ต้องการสร้างสภาพคล่องและสร้างมูลค่าของบริษัทให้สูงขึ้น รวมถึงการสร้างธุรกรรมข้ามตลาด (Cross Border Trading) จากเดิมที่เคยกระจุกตัวอยู่ในสหรัฐฯ ซึ่งปัจจุบันได้แพร่หลายเข้ามาในตลาดหุ้นเอเชีย เช่น ญี่ปุ่น สิงคโปร์ เป็นต้น

นอกจากนี้ ด้านผู้ลงทุน กองทุนทางการเงินขนาดใหญ่ และสถาบันตัวกลางในธุรกิจหลักทรัพย์จะมีบทบาทมากขึ้น ทำให้ตลาดหลักทรัพย์ฯ ต้องเร่งปรับตัวตามกระแสการเพิ่มประสิทธิภาพ โดยการขยายธุรกิจให้มีความครบวงจร และการควบคุมในเรื่องต้นทุนของธุรกรรมที่เกิดขึ้น ขณะเดียวกันจะต้องปรับเปลี่ยนหลักเกณฑ์ต่างๆ เพื่อปรับเปลี่ยนหน้าที่จากผู้ควบคุมเป็นผู้อำนวยการให้ธุรกิจในตลาดทุนเติบโตได้เร็วขึ้น และต้องพยายามลดการปกป้องธุรกิจหลักทรัพย์ในประเทศ

"ประเด็นที่ค่อนข้างเป็นห่วงสำหรับธุรกิจหลักทรัพย์ในประเทศ คือ การทำธุรกรรมระหว่างบริษัทหลักทรัพย์มากขึ้นโดยไม่ต้องผ่านตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่ควรจะเป็นศูนย์กลางสำหรับการซื้อขายหลักทรัพย์"

ส่วนผู้ที่เกี่ยวข้องกับตลาดทุนและสินค้าในตลาดทุนที่เปลี่ยนไปนั้น ตลาดหลักทรัพย์ฯ จะได้เห็นการขยายตัวของนักลงทุนเก็งกำไร (เฮดจ์ฟันด์) กองทุนส่วนบุคคล อย่างมากจนในที่สุดสินค้าในตลาดหลักทรัพย์จะไม่ใช่เพียงหุ้นของบริษัทจดทะเบียน แต่จะมีหลักทรัพย์ใหม่เกิดขึ้นไม่ว่าจะเป็น Derivatives ETF ซึ่งถือว่าเป็นสินค้าที่ต้องเร่งสร้างขึ้นเพื่อเพิ่มความน่าสนใจ

สำหรับทางเลือกในการแปรรูปตลาดทุน มี 3 แนวทาง คือ 1.การเข้าเป็นส่วนหนึ่งของตลาดหลักทรัพย์ในโลก 2. การทำงานร่วมกันในภูมิภาค และ 3. ถ้าไม่ทำอะไรเลยบทบาทในการเป็นตลาดทุนจะลดลงไปจากตลาดโลก

นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้บริหารสถาบันวิจัยเพื่อตลาดทุน กล่าวเพิ่มเติมว่า การพิจารณาคัดเลือกที่ปรึกษาศึกษาการแปรรูปตลาดหุ้นไทยจากต่างประเทศจะได้ข้อสรุปภายในปีนี้ และคาดว่าสามารถได้ผลการศึกษาประมาณกลางปี 2551 และคาดว่าจะใช้เวลาในการแปรรูปอีกประมาณ 3 ปี หลังจากอีกประมาณ 1 ปีจึงจะสามารถเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้

สำหรับภาพรวมการลงทุนและผลตอบแทนจากการลงทุนในตลาดหุ้นไทยนั้น นายกอบศักดิ์ กล่าวว่า ตั้งแต่ต้นปี 50 ถึง ต.ค. ตลาดหุ้นไทยมีผลตอบแทนประมาณ 33.5% ถือว่าอยู่ในระดับที่สูงเมื่อเทียบกับตลาดหุ้นในภูมิภาคและตลาดหุ้นทั่วโลก โดยตลาดดาวน์โจนส์ ให้ผลตอบแทน 11.8% นิกเกอิ -2.8% สิงคโปร์ 27.5% จีน 112.1% และฮ่องกง 57.0%

ขณะที่หากพิจารณาผลตอบแทนตั้งแต่ปี 2000 ถึงปัจจุบัน พบว่า ตลาดหุ้นไทย สามารถสร้างผลตอบแทนถึง 491% โดยส่วนหนึ่งเป็นผลจากการไหลเข้าของเงินจากต่างประเทศ จากปี 2549 ที่ผ่านมามียอดซื้อสุทธิของนักลงทุนต่างชาติกว่า 8.8 หมื่นล้านบาท ขณะที่ตั้งแต่ต้นปี 2550 นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิในตลาดหุ้นไทยประมาณ 1.1 แสนล้านบาท ทำให้มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (มาร์เกตแคป) ปรับตัวเพิ่มขึ้นไปสูงกว่าระดับ 7 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 91% เมื่อเทียบกับจีดีพีของประเทศ

ทั้งนี้ แม้ว่ามาร์เกตแคปจะปรับตัวเพิ่มขึ้นแต่หากพิจารณาถึงเดือนกันยายนพบว่า ตลาดหุ้นไทย มีมูลค่าตามราคาตลาดรวมอยู่ในอันดับ 35 เมื่อเทียบกับตลาดหุ้นทั่วโลก ขณะที่จำนวนบริษัทจดทะเบียนจำนวน 520 บริษัทจัดอยู่ในอันดับที่ 22 เมื่อเทียบกับตลาดหุ้นในภูมิภาค

"สัดส่วนน้ำหนักของตลาดหุ้นไทยในดัชนี MSCI Asia Ex Japan ตลาดหุ้นไทยมีน้ำหนักเพียง 2% ซึ่งถือว่าอยู่ในสัดส่วนที่ต่ำมาก" นายกอบศักดิ์ กล่าว

สำหรับพฤติกรรมต่อการลงทุนในตลาดหุ้นของประชาชนในประเทศ พบว่า นักลงทุนที่ลงทุนในหุ้นรวมถึงกองทุนมีเพียง 9% ขณะที่มากกว่า 90% ของประชากรในประเทศที่ยังไม่สนใจที่จะลงทุนผ่านตลาดหลักทรัพย์ฯ โดยสัดส่วนบัญชีนักลงทุนต่อจำนวนประชากรไทย ณ สิ้นปี 2548 อยู่ที่ประมาณ 0.44% ซึ่งแสดงให้เห็นว่าประชาชนส่วนใหญ่ยังเลือกที่จะลงทุนผ่านการฝากเงินกับธนาคารพาณิชย์ แม้ว่าจะได้รับอัตราผลตอบแทนในระดับที่ไม่สูงเมื่อเทียบกับผลตอบแทนจากตลาดทุน

ด้านนางสาวโสภาวดี เลิศมนัสชัย กรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า แผนในปีหน้าศูนย์รับฝากจะปรับการชำระราคาจากเดิมที่ใช้ T+3 เป็น T+2 เนื่องจากในประเทศต่างๆ ทั่วโลกได้มีการปรับการชำระราคามาเป็น T+2 นานแล้วและกำลังจะเปลี่ยนเป็น T+1 และในอนาคตที่สุดจะเป็นการชำระราคาแบบทันที (เรียลไทม์) ซึ่งเพื่อให้เกิดความสะดวกสบายให้แก่นักลงทุนมากขึ้น

ทั้งนี้ ในอนาคตจะมีการเชื่อมต่อระบบการซื้อขายกับต่างประเทศมากขึ้น เพื่อเป็นการเพิ่มสินค้าให้กับนักลงทุนที่สนใจจะลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ต่างประเทศและเพิ่มช่องทางในการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติที่จะเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นไทย


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.