"มิถุนาหน้า ถนนทุกสายมุ่งสู่ริโอ"


นิตยสารผู้จัดการ( ธันวาคม 2534)



กลับสู่หน้าหลัก

วันที่ 1-12 มิถุนายน 2535 คือช่วงเวลาที่จะมีการประชุมนานาชาติครั้งสำคัญเกิดขึ้นอีกครั้งหนึ่ง โดยบรรดาประเทศต่าง ๆ ในแต่ละภูมิภาคจะต้องตกลงกันว่าจะจัดการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างไร เพื่อนำไปสู่การพัฒนาแบบยั่งยืนหรือกระทั่งอาจจะหมายถึงเพื่อหาทางรอดให้กับมนุษยชาติและโลกใบนี้

การประชุมที่ว่าก็คือ การประชุมสหประชาชาติว่าด้วยสิ่งแวดล้อมและการพัฒนา UNITED NAITONS CONFERENCE ON ENVIRONMENT AND DEVELOPMENT UNICED หรือที่เรียกกันว่า "EARTH SUMMIT โดยมีองค์การสหประชาชาติเป็นเจ้าภาพจัดขึ้น ณ กรุงริโอ เดอจาเนโร ประเทศบราซิล

ความคิดเริ่มต้นของการจัดการประชุมนี้เกิดขึ้นจากการตระหนักว่า ความเสื่อมทรามทางนิเวศวิทยาและสิ่งแวดล้อมด้านใดด้านหนึ่งนั้น เป็นเรื่องที่ไม่มีขอบเขตอยู่เฉพาะที่เส้นพรมแดนแบ่งประเทศ หากแต่เป็นเรื่องที่โยงใยกันได้ทั้งโลก

ความตระหนักเช่นนี้ คือ สิ่งที่มีการอภิปรายกันอย่างจริงจังในการประชุมสหประชาชาติเมื่อเดือนธันวาคม ปี 2532 อันเป็นการประชุมสามัญครั้งที่ 44 โดยที่ประชุมก็เห็นว่าการจะแก้ปัญหาด้านนี้ได้ ประชาคมโลกทั้งหมด จะต้องมีความตื่นตัวและร่วมมือ กันอย่างพร้อมเพรียงในแนวทางที่มีความสอดคล้องกัน ดังนั้นการพบปะเพื่อถกเถียงและสร้างข้อตกลงในทางปฏิบัติจึงเป็น

ประเด็นทางด้านสิ่งแวดล้อมที่มีการยอมรับกันอย่างกว้างขวางว่าเป็นปัญหาระดับโลกในปัจจุบันหลักๆ แล้วมีอยู่ 4 เรื่องด้วยกัน คือ เรื่องโอโซน เรื่องความหลากหลายทางชีวภาพ เรื่องการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศและเรื่องกากเสียของวัตถุมีพิษ

ทางสหประชาชาติเริ่มให้ความสำคัญและหยิบยกประเด็นปัญหาสิ่งแวดล้อมเหล่านี้ขึ้นพิจารณาหลายปีมาแล้ว และบางประเด็นก็มีการดำเนินการภาคปฏิบัติไปบ้าง โดยเฉพาะเรื่องโอโซนได้ก้าวไปถึงระดับที่มีข้อกำหนดผูกพันที่ชื่อว่า "อนุสัญญากรุงเวียนนาเพื่อการพิทักษ์บรรยากาศชั้นโอโซน 1985" และ "พิธีสารมอนทรีออลว่าด้วยสารทำลายชั้นโอโซน 1987" เกิดขึ้นแล้ว โดยประเทศไทยก็ได้เข้าเป็นภาคีของทั้ง 2 ฉบับตั้งแต่เมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2532

สำหรับการประชุมที่กรุงริโอในปีหน้า ประเด็นที่จะได้รับการเน้นหนักเป็นพิเศษก็คือ ปัญหาการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศโลกและปัญหาการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งเป็นที่คาดหมายกันว่า จะมีการผลักดันจนถึงขั้นที่นานาประเทศให้การรับรองต่ออนุสัญญาว่าด้วยทั้ง 2 เรื่องนี้ นอกจากนั้นก็คงจะมีการรับรองกฎบัตรโลก (EARTH CHARTER) และรับรองแผนปฏิบัติการสำหรับศตวรรษที่ 21 (AGENDA 21) ด้วยเช่นกัน

ปัญหาเรื่องการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศได้รับการหยิบยกขึ้นสู่เวทีสมัชชาสหประชาชาติเมื่อปี 2531 โดยประเทศมอลตาเป็นผู้เสนอ จุดนี้เองทำให้เกิดองค์การ IPCC (INTERGOVERNMENTAL PANEL ON CLIMATE CHANGE) ขึ้นทำงานเกี่ยวกับเรื่องนี้โดยตรง มีการประเมินทางด้านวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศตลอดจนถึงผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและเศรษฐกิจ

จากผลการวิจัยศึกษาทำให้เป็นที่ยอมรับกันแล้วว่าสภาพภูมิอากาศของโลกนั้นมีแนวโน้มที่จะมีอุณหภูมิสูงขึ้น หรือกล่าวอย่างง่าย ๆ ว่า นับวันโลกจะยิ่งร้อนขึ้น ทั้งนี้โดยมีสาเหตุมาจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (GREENHOUSE GAS) ซึ่งมีตัวหลัก ๆ ก็คือ คาร์บอนไดออกไซด์ออกสู่อากาศในปริมาณมากเกินไป

ที่ผ่านมาได้เกิดการประชุมเคลื่อนไหวในระดับโลกเพื่อแสวงหาความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาเรื่องนี้หลายครั้งมาแล้ว ไม่ว่าจะเป็นเมื่อเดือนกันยายน ปี 2533 เดือนตุลาคม - พฤศจิกายน ปีเดียวกัน เดือนกุมภาพันธ์ ปี 2534 หรือเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ฯลฯ

แต่นอกเหนือจากเรื่องของการจัดองค์การการประชุม การกำหนดแนวทางเจรจาและการจัดตั้งคณะทำงานแล้วก็ยังไม่มีข้อตกลงอื่นใดที่ลงตัว โดยประเทศสหรัฐฯ มหาอำนาจผู้ยิ่งใหญ่ของโลกไม่ยินยอมที่จะกำหนดขอบเขตการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ในขณะที่ประเทศโลกที่ 3 ทั้งหลายก็พุ่งเป้าหมายไปในเรื่องของการถ่ายทอดเทคโนโลยี รวมทั้งเรียกร้องถึงภาวะผ่อนปรนและเงื่อนไขพิเศษต่าง ๆ เพื่อให้การลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกได้โดยไม่มีผลกระทบต่อการพัฒนาประเทศ เนื่องจากส่วนใหญ่แล้ว ก๊าซเรือนกระจกนั้นมาจากการผลิตและการใช้พลังงาน ถ้าต้องควบคุมก็ย่อมส่งผลกระทบในหลาย ๆ มิติทีเดียว

โดยเฉพาะปัญหานี้ได้มีการผูกโยงเข้ากับประเด็นเรื่องพื้นที่ป่าไม้ด้วย กล่าวคือ ป่าไม้นั้นมีส่วนช่วยดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ได้ ทำให้เกิดการประฌามต่อประเทศโลกที่ 3 และเรียกร้องให้ยุติการทำลายพื้นที่ป่าพร้อมกับหาทางเพิ่มเติมพื้นที่ด้วย

ส่วนประเด็นเรื่องความหลากหลายทางชีวภาพนั้นเกี่ยวข้องกับเรื่องของพันธุ์พืช พันธุ์สัตว์ จุลินทรีย์ ตลอดจนระบบนิเวศรวม ความหลากหลายมีความหมายรวมทั้งในเชิงจำนวนและในเชิงของความถี่ โดยที่ความหลากหลายของส่วนต่าง ๆ ในระบบธรรมชาติก็คือ ที่มาพื้นฐานของอาหารและยารักษาโรค การสูญเสียซึ่งความหลากหลายลงไปย่อมส่งผลกระทบอันร้ายแรงแก่มนุษย์ได้

การตระหนักต่อปัญหาประเด็นนี้ก็ได้ฟักตัวมาระยะเวลาหนึ่งแล้วเช่นเดียวกัน มีความพยายามที่จะกำหนดมาตรฐานระหว่างประเทศเพื่ออนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ ด้วยการจัดทำเป็นอนุสัญญาอันมีผลบังคับใช้เป็นการทั่วไปมาแล้วบางฉบับ เช่น อนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งพันธุ์พืชและพันธุ์สัตว์ที่ใกล้จะสูญพันธุ์ แต่กรอบบังคับไม่กว้างขวางพอ จึงมีการร่างอนุสัญญาว่าด้วยเรื่องนี้ที่มีความครอบคลุมมากขึ้นอีก 1 ฉบับ โดยขณะนี้อยู่ในขั้นของการพิจารณาครั้งที่ 3 ที่กรุงเจนีวา

ฉันทามติสำหรับการตกลงในประเด็นนี้นับว่าเกิดขึ้นได้ยากเช่นกัน เพราะเป็นประเด็นที่มีข้ออ่อนไหวในทางด้านผลประโยชน์ระหว่างประเทศโลกที่ 1 ที่พัฒนาแล้ว กับประเทศโลกที่ 3 ที่กำลังพัฒนาอยู่มากมาย และอย่างค่อนข้างจะซับซ้อน ทั้งเรื่องของเทคโนโลยีและลิขสิทธิ์ เนื่องจากส่วนใหญ่ของทรัพยากรที่เหลืออยู่บนผืนโลกใบนี้เป็นของประเทศโลกที่ 3 ในขณะที่ความก้าวหน้าที่วิทยาการเป็นของประเทศโลกที่ 1 การจะต้องนำ 2 สิ่งมาผนวกกันจึงไม่ใช่เรื่องง่าย หรือแม้แต่ระดับพื้นฐานมากกว่านั้น นั่นคือการเรียกร้องให้มีการพิทักษ์ความหลากหลายเอาไว้ให้มากที่สุดก็ยังก่อปัญหาได้มากมาย

ทรัพยากรนั้นร่อยหรอไปก็เพราะถูกใช้เป็นฐานการพัฒนา ส่วนความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อมก็คือผลผลิตที่คู่ขนานมากับความเจริญก้าวหน้าทางเศรษฐกิจ

ณ วันนี้โลกเริ่มรับรู้แล้วและกำลังแสวงหาแนวทางแก้ไข โดยเฉพาะประเทศโลกที่ 1 จริงจังต่อปัญหาที่เกิดขึ้นนี้มาก การพัฒนาโดยอิงพิงฐานทรัพยากรของประเทศโลกที่ 3 กลายเป็นความเลวร้ายอันจะต้องได้รับการปรับเปลี่ยน หรือเพิ่มเงื่อนไขให้สอดคล้องกับยุคสมัยใหม่อันเป็นยุคแห่งการพิทักษ์สิ่งแวดล้อม

แต่เงื่อนไขที่ได้รับการกำหนดขึ้นก็เสมือนเป็นบ่วงคล้องคอประเทศที่กำลังพัฒนา ผู้ซึ่งแท้จริงแล้วก็เพียงแต่ก้าวเดินตามรอยเท้าของบรรดาประเทศที่พัฒนาแล้วนั่นเอง

การหันมาเชิดชูสิ่งแวดล้อม และพูดถึงการพัฒนาแบบยั่งยืนของสหประชาชาตินับว่าเป็นมิติใหม่ที่โดยเนื้อหาแล้วมีคุณค่าอย่างยิ่ง ทว่าในขั้นการจัดการจะสามารถคงคุณค่าไว้ได้ด้วยการจัดกระบวนการอย่างมีความเป็นธรรมหรือไม่ออกจะมีความยุ่งยากมาก

อย่างไรก็ตาม...ไม่อาจปฏิเสธได้ว่า ในส่วนของการจัดการนี้ย่อมจะเป็นบทพิสูจน์ถึงเจตนาที่แท้จริงของความมุ่งมั่นว่า เรื่องสิ่งแวดล้อมจะต้องมาก่อนมากกว่าเท่าที่มีการประกาศชี้แจงออกมา

หากหวังจะให้การประชุม EARTH SUMMIT เป็นไปตามคาดหมาย คือ ไปไกลถึงขั้นที่มีการลงนามในข้อตกลงได้ การเจรจาต่อรองเพื่อหาทางประนีประนอมก็จะต้องลุล่วงไปก่อน

กว่าจะถึงเดือนมิถุนายนความเคลื่อนไหวในช่วงเวลานี้จึงนับว่าเป็นหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญยิ่งสำหรับทุก ๆ ฝ่าย นอกจากกลยุทธ์ทางการเจรจาแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากันก็คือ ข้อมูลจากการศึกษาวิจัย

ในฐานะสมาชิกหน่วยหนึ่งของประชาคมโลกที่มีความผูกพันอยู่ด้วยทั้งในมิติทางการเมืองและเศรษฐกิจ ประเทศไทยจำเป็นจะต้องเข้าร่วมกับการเคลื่อนไหวในแนวทางใหม่นี้ด้วย และในฐานะที่เป็นประเทศโลกที่ 3 ก็คงจะยิ่งต้องเตรียมการให้พร้อมและเข้มแข็งที่สุด เพราะแม้จะเป็นเวทีที่มีจุดประสงค์ในทางการพิทักษ์โลกโดยรวมแต่ในแง่ของการทำความตกลงระหว่างกัน

เวทีนี้ก็ยังคงจะเต็มไปด้วยการเชือดเฉือนและแพรวพราวด้วยยุทธวิธีช่วงชิงผลประโยชน์ไม่ต่างจากการประชุมระดับโลกว่าด้วยเรื่องอื่น ๆ แน่นอน



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.