ถนอมศรี สุวรรณรัตน์ ผจก.ภูธรหญิงคนแรกของบรรษัท


นิตยสารผู้จัดการ( ธันวาคม 2534)



กลับสู่หน้าหลัก

สุภาพสตรีบุคลิกคล่องแคล่ง ดูยิ้มแย้มแจ่มใสเป็นกันเองกับผู้พบเห็น มีตำแหน่งสุงสุดในฐานะผู้จัดการสำนักงานภาคเหนือตอนบน (ลำปาง) ของบรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หรือบรรษัทฯ ซึ่งเป็นที่รู้จักกันทั่วจังหวัด ผู้นี้ก็คือ ถนอมศรี สุวรรณรัตน์

เธอจะเป็นผู้อนุมัติปล่อยเงินกู้แก่โครงการลงทุนอุตสาหกรรมขนาดย่อม ครอบคลุม 6 จังหวัด คือ ตาก อุตรดิตถ์ แพร่ น่าน และพะเยา โดยมีลำปางเป็นศูนย์กลางมาตั้งแต่เดือนมีนาคม 2531

ถนอมศรีเป็นผู้หญิงคนแรกที่เป็นผลผลิตของบรรษัทฯ ซึ่งออกไปบริหารงานในสำนักงานแต่ละภาค เป็นลูกหม้อของที่นี่โดยเข้ามาเริ่มงานในปี 2517

เธอเริ่มต้นชีวิตวัยเยาว์ในต่างจังหวัด จบการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย คือ ม.ศ.5 ในตอนนั้นจากโรงเรียนวิเชียรมาตุ โรงเรียนประจำจังหวัดตรัง ทั้งที่ถนอมศรีเป็นคนคอนหรือนครศรีธรรมราช แต่มาอาศัยอยู่กับคุณลุงเชาว์ ชิโนกุล ซึ่งเป็นเทศมนตรีเทศบาลเมืองตรังผู้ให้ความอุปการะเธออย่างดีมาตลอด

จากนั้น ถนอมศรีก็เดินทางสู่เมืองกรุงแดนศรีวิไลซ์ และเลือกเป็นลูกแม่โดมในคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี ในช่วงใกล้จบได้ช่วยอาจารย์นงเยาว์ ชัยเสรี ตรวจงานบัญชี เมื่อมีคนแนะนำให้สมัครงานที่บรรษัท เธอก็ไม่รีรอ

โดยได้เริ่มต้นงานกับบรรษัทในส่วนการเงิน มีหน้าที่ติดต่อเบิกเงินให้ลูกค้า ติดต่อเงินกู้ต่างประเทศ "เป็นเหมือนการระดมเงินกลาย ๆ " ถนอมศรีย้อนเล่าถึงอดีตอย่างอารมณ์ดี

อยู่ได้ 4 ปีก็ขยับขึ้นมาเป็นหัวหน้าหน่วยทะเบียนลูกหนี้แจ้งหนี้ลูกค้า จากนั้นก็มาดูแลงานเงินตราต่างประเทศ เบิกเงินกู้อยู่ประมาณปีครึ่ง เรียกว่าเป็นการโยกย้ายในแนวนอนมาตลอด

จนถึงปี 2527 จึงได้รับแต่งตั้งให้เป็นหัวหน้าบริหารเงินกู้ที่ลำปาง ซึ่งมีตำแหน่งเทียบเท่าผู้ช่วยผู้จัดการ มีหน้าที่พิจารณาการปล่อยกู้ พอถึงปี 2529 ก็มีคำสั่งให้ย้ายไปเป็นผู้จัดการสำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่ขอนแก่น คลุมพื้นที่ 17 จังหวัดภาคอีสาน

ตอนนั้น บรรษัทจัดลำดับให้ขอนแก่นเป็นศูนย์ประสานงานการลงทุนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งในช่วงปี 2529-2531 "อยู่ที่นั่นช่วงนั้นขอนแก่นยังไม่บูมมากเหมือนในช่วง 2-3 ปีหลัง โดยสภาพแล้ว จะเห็นว่าฐานลูกค้าที่ขอนแก่นเยอะ แต่ถ้าดูภาพรวมของภาคอีสานจังหวัดอื่นมีการลงทุนน้อย ยกเว้นนครราชสีมา" ถนอมศรี ฉายภาพของอีสานในช่วงก่อนหน้านี้

"เมื่อเราเห็นเป็นอย่างนี้ ต่างก็มีความคิดพ้องกันว่า ควรจะตั้งสำนักงานที่โคราชเป็น SUB-BRANCH แต่ดูแล้วไม่คล่องตัวเท่าที่ควร จึงให้ขึ้นตรงต่อสำนักงานใหญ่ในกรุงเทพฯ ไม่ต้องเสียเวลาโดยผ่านทางจังหวัดขอนแก่นที่เป็นตัวกลางเป็นการช่วยลดขั้นตอน เพราะโคราชลูกค้าเยอะ แต่อยู่ไกลจากขอนแก่น เมื่อมีสำนักงานที่โคราชก็ช่วยให้บริการลูกค้าได้สะดวกและรวดเร็วขึ้น" ปัจจุบันบรรษัทจึงมีสำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือเพิ่มเป็น 2 แห่ง

โดยแยกเป็นสำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน (ขอนแก่น) คลุมพื้นที่ร้อยเอ็ด กาฬสินธุ์ ยโสธร มหาสารคาม อุดรธานี เลย หนองคาย สกลนคร นครพนม และมุกดาหาร

อีกแห่งหนึ่ง คือ สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนใต้ (นครราชสีมา) คลุมพื้นที่จังหวัดชัยภูมิ บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี

งานนี้ถนอมศรีเป็นคนหนึ่งที่มีบทบาทในการสานต่อให้เป็นจริงหลังจากที่มีกาผลักดันมาก่อนแล้ว

ประสบการณ์ที่ต่อเนื่องบวกกับความเป็นภูธร ผนวกกับสามีซึ่งทำงานอยู่กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศ ได้ย้ายมาอยู่ที่ลำปาง ถนอมศรีจึงเลือกที่จะมาเป็นผู้จัดการสำนักงานภาคเหนือตอนบน คือ ที่ลำปางแทนที่จะไปประจำที่หาดใหญ่หรือสุราษฎร์ฯ

แต่ไม่ว่าจะเป็นภาคไหน ถนอมศรีเล่าถึงความรู้สึกว่า "ความเป็นคนบ้านนอก จึงไม่รู้สึกหนักใจนัก แม้จะต้องมาอยู่ประจำในต่างจังหวัด" ในฐานะที่บังเอิญเป็นผู้จัดการหญิงภูธรคนแรกของบรรษัท

การเลี้ยงดูและวิถีชีวิตที่เธอได้รับการฝึกฝนมาแต่วัยเยาว์ ถนอมศรียอมรับว่า "ทำให้อยู่แบบผู้ดีก็ได้ อยู่แบบคนจนก็เป็น" เพราะตอนเด็ก ๆ เธอต้องทำทุกอย่าง ตั้งแต่ทำบัญชีโรงหนัง 3 แห่งในตัวเมืองตรัง ซึ่งเป็นเรื่องเงิน ๆ ทอง ๆ ที่เธอต้องเกี่ยวข้องจนถึงทุกวันนี้

อีกประการหนึ่ง เพราะความที่คุณลุงมีลูกผู้ชายทั้งหมด เธอจึงเป็นเด็กผู้หญิงคนเดียวที่คุณลุงเรียกให้ช่วยงานสารพัดโดยเฉพาะ "คุณลุงเป็นเทศมนตรี และอยู่ในแวดวงของนักการเมือง ทำให้ต้องช่วยต้อนรับแขก" เรียกว่าต้องไม่เลือกรับเขารับเราด้วย ทำให้ค่อย ๆ สะสมความเป็นอัธยาศัยดี และยิ้มง่ายโดยไม่รู้ตัวและทำงานได้หลายรูปแบบ

นี่เป็นจุดเด่นของถนอมศรีที่ต่างไปจากนักบริหารที่จบจากด้านการเงินหรือบัญชีอีกหลายคน ซึ่งมักจะมีบุคลิกที่ดูเงียบขรึม น่าเกรงขามเป็นส่วนใหญ่

ถนอมศรียอมรับว่า โดยส่วนตัวแล้วตนชอบงานท้าทายและประสบการณ์ใหม่ ๆ ...!

ดังนั้น เมื่อเธอมาเป็นผู้จัดการที่ลำปางในปี 2531 ผ่านไประยะหนึ่งก็เห็นว่าเชียงใหม่เป็นอีกจังหวัดหนึ่งในภาคเหนือ ที่มีศักยภาพในการลงทุนสูงครึ่งหนึ่งของโครงการที่ขอกู้และอนุมัติไปเป็นธุรกิจที่อยู่ในเชียงใหม่ และเป็นจังหวัดที่มีอัตราการขยายตัวสูงสุดในภาค

"มีความพร้อมทุกอย่าง เป็นทั้งศูนย์ท่องเที่ยว ศูนย์การเงิน ทางแบงก์ชาติก็ไปเปิดสำนักงาน สาธารณูปโภคก็พร้อม จึงคิดว่าบรรษัทควรมีออฟฟิศที่เชียงใหม่จะดีกว่า" ถนอมศรีเล่าถึงแนวคิดในช่วงที่เสนอให้มีสำนักงานที่เชียงใหม่

ประจวบเหมาะกับได้จังหวะตอนที่ศุกรีย์ แก้วเจริญ กรรมการผู้จัดการไปเยี่ยมสำนักงานลำปาง เธอก็เสนอความคิดนี้ไปและส่งเรื่องไปยังฝ่ายอำนวยการสาขาในกรุงเทพฯ จนได้รับอนุมัติในเวลาต่อมา

สิ่งเหล่านี้ถือเป็นหน้าที่ของผู้บริหารและทีมงานของสำนักงานภาคแต่ละแห่งที่จะต้องคอยเป็นหูเป็นตา เป็นแหล่งข้อมูลให้กับสำนักงานใหญ่เพื่อช่วยให้ภาพการลงทุนในภูมิภาคชัดเจนขึ้น

เฉพาะอย่างยิ่งนโยบายของบรรษัทนั้น มุ่งส่งเสริมอุตสาหกรรมขนาดย่อย ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นโครงการที่อยู่ตามจังหวัดต่าง ๆ เพื่อหนุนให้เกิดธุรกิจใหม่และกระจายการลงทุนออกสู่ภูมิภาคให้ได้ผลยิ่งขึ้น

สำหรับลำปางนั้น ถนอมศรีมองว่า จะส่งเสริมการท่องเที่ยวให้โดดเด่นเหมือนจังหวัดอื่นในภาคเหนือคงลำบาก เนื่องจากจุดท่องเที่ยวกระจายกันมากอยู่คนละเส้นทางกับเชียงใหม่ จะเที่ยวที่ใดที่หนึ่งต้องใช้เวลาเป็นวัน ขณะที่เชียงรายก็มีสนามบินของตน ทำให้ลำปางกลายเป็นเมืองผ่าน ไม่ใช่เมืองที่ผู้คนจะมุ่งหน้ามาเที่ยวโดยตรง

ทางออกที่ถนอมศรีเห็นพ้องกับผู้ว่าราชการจังหวัด ก็คือ การผลักดันให้เกิดสนามบิน ซึ่งล่าสุดกรมการบินพาณิชย์ตอบรับมาแล้ว กำหนดใช้พื้นที่ 11,600 ไร่ ได้แน่นอนแล้ว 2,600 ไร่ จะขอพื้นที่ป่าเสื่อมโทรมจากกรมป่าไม้ 4,000 ไร่ และที่เหลือต้องจัดหาเพิ่มเติม

การใช้พื้นที่มากขนาดนี้ นอกจากใช้ทำรันเวย์แล้ว จะสร้างโกดังเพื่อเป็นสนามบินพาณิชย์ส่งออกสินค้าจากที่นี่โดยตรง

เนื่องจากธุรกิจที่บรรษัทอนุมัติไป แนวโน้มช่วงหลังส่วนใหญ่จะเป็นการผลิตเพื่อส่งออก ไม่ว่าจะเป็นผลไม้กระป๋องของบริษัท อาหารสากล จำกัด หรือผักแช่แข็งส่งออก 100% ของบริษัทในเครือ คือ "ยูเนี่ยน ฟรอสท์" ซึ่งเพิ่งจะเริ่มผลิตในปีนี้ เครื่องใช้ในครัวเรือนจากเศษไม้สักและไม้ยางพาราแปรรูปของบริษัท ไซแอมริชวูด จำกัด เป็นต้น

ถนอมศรี ย้ำว่า บทบาทของบรรษัทในภูมิภาคไม่เพียงแต่เป็นการให้กู้เพื่อการลงทุนเท่านั้น แต่เน้นเป็นสถาบันการเงินเพื่อการพัฒนาโดยเฉพาะอุตสาหกรรมขนาดย่อม เพราะเป็นอุตสาหกรรมพื้นฐานของภาคเหนืออยู่แล้ว และจะเพิ่มบทบาทเป็นแหล่งเงินทุนระยะยาวแก่ผู้ประกอบการด้วย

ไม่ว่าจะเป็นศึกษาและส่งเสริมโครงการที่มีอนาคต แม้ว่าผู้ประกอบการจะไม่มีทุนก็ตาม ทั้งในรูปของการให้กู้และการร่วมทุน ตลอดไปจนถึงธุรกิจที่มีผู้ประกอบการเป็นผู้หญิงเพื่อส่งเสริมการสร้างงานสำหรับสตรีในแถบนี้ และช่วยป้องกันการไปขายแรงงานในกรุงเทพฯ

ประเด็นหลังเป็นเป้าหมายส่วนตัวของถนอมศรี "ผู้จัดการภูธรหญิง" คนแรกของบรรษัทที่อยากทำอะไรให้เป็นพิเศษกว่าผู้บริหารบุรุษเพศ อย่างน้อยก็ในฐานะผู้หญิงด้วยกัน



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.