บาทแข็งสุดรอบ 3 เดือน


ผู้จัดการรายวัน(2 พฤศจิกายน 2550)



กลับสู่หน้าหลัก

เงินบาทแข็งค่าแตะ 33.91 บาทต่อดอลล์ แข็งค่าสุดในรอบ 3 เดือน หลังผลประชุมเฟดตัดสินใจปรับลดดอกเบี้ยอีก 0.25% ตามคาด ทำให้ดอลลาร์อ่อนยวบ ค้าเงินคาดแนวโน้มบาทยังแข็งค่าต่อเนื่องประเมินแนวรับ 33.90 บาทต่อดอลล์

นักค้าเงินจากธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BBL กล่าวว่า ค่าเงินบาทวานนี้ (1 พ.ย.) ปิดตลาดที่ระดับ 33.93-33.94 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ โดยบรรยากาศระหว่างวันมีการเคลื่อนไหวไม่มากนัก แต่จะโน้มเอียงไปทางแข็งค่า แม้จะมีการรับรู้ผลการประชุมของธนาคารกลางสหรัฐฯ ที่ให้มีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงอีก 0.25% ก็ตาม โดยระหว่างวันค่าเงินบาทแข็งค่าสุดที่ 33.91 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ และอ่อนค่าสุดที่ 33.96 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ส่วนแนวโน้มในวันนี้ (2 พ.ย.) ทิศทางค่าเงินบาทยังคงจะแข็งค่าอย่างต่อเนื่อง จนกว่าจะมีการปัจจัยแปลกใหม่เข้ามาในตลาด โดยประเมินแนวรับไว้ที่ 33.90 บาทต่อสหรัฐฯ และแนวต้านที่ 33.95 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ

นักค้าเงินกล่าวว่า เงินบาทที่แข็งค่าขึ้นแตะ 33.91 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯหลังจากเฟดพิจารณาปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอีก 0.258%นั้น ถือเป็นการแข็งค่าสุดในรอบ 3 เดือนที่ผ่านมา

คลังระบุยังไม่จำเป็นต้องเพิ่มมาตรการดูแลค่าบาท

นายสมหมาย ภาษี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นอยู่ในปัจจุบันมีเครื่องมือในการดูแลค่าเงินที่เพียงพอแล้ว จึงไม่จำเป็นที่จะต้องมีมาตรการเพิ่มเติมขึ้นมาดูแลอีก แต่อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่าในปีนี้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) อาจจะมีผลการบริหารงานขาดทุน เนื่องจากการเข้าแทรกแซงค่าเงินบาท แต่ไม่สามารถบอกได้ว่าจะขาดทุนเท่าไร

ทั้งนี้ คาดว่าในปีหน้า ธปท.คงจะไม่มีผลการดำเนินงานขาดทุนอีก เนื่องจากธปท.ได้มีการกระจายเงินไปลงทุนในสินทรัพย์อื่นมากขึ้น โดยจากเดิมที่ลงทุนในเงินสกุลดอลลาร์ 80% มาเป็น 50% เท่านั้น ซึ่งทำให้สามารถควบคุมความเสี่ยงได้ดีขึ้น.

คาดหยวนไม่แข็งพรวดพราด

ด้านศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินทิศทางเงินหยวนภายใต้แรงกดดันจากนานาชาติให้ทางการจีนปรับนโยบายด้านอัตราแลกเปลี่ยนเพื่อให้เงินหยวนแข็งค่าขึ้นว่า แม้จะมีแรงกดดันดังกล่าว แต่โอกาสที่เงินหยวนจะปรับเพิ่มค่าแบบก้าวกระโดดคราวละมากๆนั้น มีความเป็นไปได้น้อยมาก ทางการจีนอาจจะยังคงเลือกวิธีการเพิ่มความยืดหยุ่นให้กับค่าเงินและปล่อยให้เงินหยวนแข็งค่าในระดับที่ไม่รุนแรงเกินไป พร้อมๆกับการเข้าดูแลเพื่อรักษาเสถียรภาพให้กับตลาดอัตราแลกเปลี่ยนอย่างต่อเนื่อง ซึ่งการไม่ดำเนินนโยบายอัตราแลกเปลี่ยนแบบสร้างความประหลาดใจให้กับตลาดด้วยการปล่อยลอยตัวค่าเงินหรือทำการปรับเพิ่มค่าเงินหยวนคราวละมากๆนั้น น่าจะเป็นปัจจัยที่ช่วยสร้างเสถียรภาพให้กับกระแสการหมุนเวียนของเงินทุนโลกไม่ให้ตกอยู่ในภาวะผันผวนมากไปกว่าปัจจัยแวดล้อมที่กำลังเผชิญอยู่ ซึ่งนั่นก็อาจเป็นผลดีต่อสกุลเงินในภูมิภาครวมทั้งเงินบาท

แต่อย่างไรก็ตาม การขยับแข็งค่าอย่างค่อยเป็นค่อยไปของเงินหยวนก็มีนับอีกด้านหนึ่งว่า ทางการจีนจะยังคงดูแลการเคลื่อนไหวของเงินหยวนอย่างใกล้ชิด เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบทางลบอย่างฉับพลัน ตลอดจนเพื่อรักษาความสามารถทางการแข่งขันของสินค้าส่งออกของจีน ดังนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทยจึงยังคงมีความกังวลในศักยภาพทางการแข่งขันของสินค้าส่งออกไปทยเมื่อเทียบจีน โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเงินบาทต้องตกอยู่ภายใต้สภาวะการอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์ในระยะถัดไป ในขณะที่เงินหยวนยังคงอยู่ภายใต้การดูแลจัดการอย่างใกล้ชิดของทางการจีน ก็อาจทำให้ผู้กำกับดูแลของทางการไทยอาจต้องเผชิญกับความท้าทายในการรักษาเสถียรภาพให้กับค่าเงินบาท เพื่อบรรเทาผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับความสามารถในการแข่งขันของภาคส่งออกของไทย เมื่อเงินบาทอาจต้องเผชิญกับการร่วงลงของค่าเงินดอลลาร์ในระยะถัดไปอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.