ทรัพย์สินทางปัญญา ของบัตเตอร์ฟลาย


นิตยสารผู้จัดการ( ธันวาคม 2534)



กลับสู่หน้าหลัก

ยามที่เกิดอาการเครียด เพียงเดินเข้าไปหาเครื่องเล่นสเตอริโอแล้วหมุนคลื่นหาเพลงดี ๆ ที่ผสมผสานลงตัวกันอย่างกลมกลืนในการเรียบเรียงเสียงประสาน

ฟังถ้อยคำร้องที่เปล่งเสียออกมาจากนักร้องชั้นดีลื่นไหลตามจังหวะของทำนองดนตรีที่สร้างสรรค์ และกำกับโดย "ศิลปินผู้อำนวยเพลง" เพียงแค่นี้อาการความเครียดก็จะหายไปอย่างปลิดทิ้ง เหลือไว้แต่ความสุนทรีย์ทางอารมณ์

ดนตรีจึงเป็นยาขนานเอกสำหรับผู้ป่วยทางจิตใจของบรรดามนุษยชาติทั้งหลาย และด้วยคุณค่าของความเป็นสากลในตัวของมันเองที่ไม่มีการขีดเส้นแบ่งในการให้ความสุนทรีย์แก่มนุษย์โดยปราศจากเชื้อชาติและภาษานี้เอง ดนตรีจึงกลายเป็นมรดกของโลก

ความที่ดนตรีเป็นสมบัติของมนุษยชาติที่มีความสืบเนื่องจากชนรุ่นหนึ่งสู่ชนอีกรุ่นหนึ่งอย่างไม่มีวันตายนี้เอง

งานประดิษฐ์สร้างสรรค์งานดนตรีของศิลปินผู้ประพันธ์ จึงเป็นทรัพย์สินทางปัญญาชนิดหนึ่งที่ควรได้รับการพิทักษ์ปกป้องรักษาจากระเบียบกฎหมายทางสังคมอย่างเคร่งครัด เนื่องจากว่าอาชีพนักดนตรีไม่ใช่อาชีพของคนเต้นกินรำกินอีกต่อไป หากแต่เป็นอาชีพของคนที่มีความรู้ความชำนาญเฉพาะด้านเหมือนอาชีพอื่น ๆ ทั่วไป

มีการผลิตสินค้า คือ เพลงออกมาสู่ผู้บริโภค เหมือนนักเขียนผลิตนวนิยายออกสู่ตลาดบรรณพิภพ

ทุกวันนี้นักเขียนนวนิยายได้รับการคุ้มครองจากกฎหมายลิขสิทธิ์อย่างเต็มที่ "ทันทีที่นักเขียนขายลิขสิทธิ์ผลงานให้สำนักพิมพ์ เขาจะได้ผลตอบแทน 10% ของราคาขายคูณด้วยจำนวนพิมพ์ทันที" อำนวยชัย ปฏิพัทธ์เผ่าพงศ์ นักแปลและนักเขียนชื่อดังเคยเล่าให้ฟังถึงค่าตอบแทนของนักเขียนที่ขายผลงานให้สำนักพิมพ์

ถ้าผลงานของนักเขียนนักแปลรายใดได้รับการตีพิมพ์เพิ่มอีกเท่าไร ก็จะได้รับผลตอบแทนซ้ำในลักษณะเดียวกัน

ข้อเท็จจริงนี้ได้รับการปฏิบัติกันมานานนับ 10 ปีแล้ว จนกลายเป็นระบบที่มาตรฐานได้รับการยอมรับทั่วไปในตลาดบรรณพิภพเมืองไทย

ส่วนนักเขียนนักแปลคนไหนจะได้ผลตอบแทนจากการผลิตผลงานออกมามากน้อยเพียงไร ก็ขึ้นอยู่กับคุณภาพและความนิยมของตลาด นักเขียนบางคนได้รับผลตอบแทนจากงานชิ้นหนึ่ง ๆ ของเขาสูงเกือบ 500,000 บาท ขณะที่บางคนอาจได้เพียง 20,000 บาทเท่านั้น

ดูไปแล้ว ผลงานของนักเขียนมีหลักประกันมีมาตรฐานสูงกว่าผลงานของนักดนตรีเสียอีก

ทุกวันนี้ ผลงานของนักดนตรีไม่มีหลักประกัน ระบบการซื้อขายผลงานไม่มีมาตรฐานขึ้นอยู่กับอำนาจการต่อรองกับบริษัทโฆษณาและบริษัทผู้ผลิตและจำหน่ายเทป

"ถ้าเป็นผลงานทำดนตรีประกอบโฆษณาสินค้าที่เรียกว่า "จิงเกิ้ล" ราคา 30,000 บาท ถ้าเป็นสารคดีตกราคา 70,000 บาท และภาพยนตร์ 100,000 บาท" จิรพรรณ อังศวานนท์ กรรมการผู้จัดการบริษัทกลุ่มบัตเตอร์ฟลาย เล่าให้ฟังถึงค่าตอบแทน

จิรพรรณ พื้นฐานเรียนกฎหมายจากธรรมศาสตร์ก่อนที่จะมาเข้าเรียนโปรแกรมบริหารธุรกิจระดับปริญญาโทที่ธรรมศาสตร์ทางด้านอาชีพ จิรพรรณ เป็นนักดนตรีฝีมือชั้นครูของเมืองไทย ผลงานการสร้างสรรค์ดนตรีได้รับการยอมรับจากตลาดว่า เข้าขั้นคุณภาพสูง แม้ว่าเขาจะไม่เคยเล่าเรียนทางดนตรีจากสถาบันใดเลย

บริษัทบัตเตอร์ฟลายที่จิรพรรณกับดนู ฮันตระกูล และเพื่อน ๆ วงบัตเตอร์ฟลายก่อตั้งเมื่อ 13 ปีก่อน เพื่อทำธุรกิจเป็นโปรดักชั่นเฮาส์ทางดนตรี ถือได้ว่าเป็นบริษัทผู้นำตลาดด้านทำดนตรีประกอบโฆษณาที่มีส่วนแบ่งตลาดประมาณ 40-50% ในปัจจุบัน

แม้จะเป็นผู้นำตลาด แต่จิรพรรณก็มีความเห็นว่าค่าตอบแทนจากผลงานดนตรีที่สร้างสรรค์และขายออกไป มีราคาถูกมากเมื่อเทียบกับคุณค่าของมันในฐานะเป็นทรัพย์สินทางปัญญาชนิดหนึ่ง ไม่ต่างอะไรกับผลงานการสร้างซอฟต์แวร์คอมพิวเตอร์ของบริษัทซอฟท์แวร์เฮาส์

"ผมว่าน่าจะถึงเวลาแล้วที่ผลงานทางดนตรี ควรที่จะมีระบบการคิดค่าตอบแทนจากการขายลิขสิทธิ์ในผลงานที่ได้มาตรฐานเหมือนในต่างประเทศตามกฎหมายลิขสิทธิ์ หรืออย่างน้อยที่สุดก็น่าจะเหมือนวงการธุรกิจสิ่งพิมพ์" จิรพรรณกล่าวถึงการริเริ่มของเขาในเรื่องราคาผลงานดนตรีของบัตเตอร์ฟลาย

ต้นทุนการผลิตดนตรีเพื่อประกอบโฆษณาชิ้นหนึ่ง ๆ มีค่าใช้จ่ายที่ตายตัวอยู่หลายรายการ ไม่ว่าจะเป็นค่าประพันธ์เนื้อร้องและทำนอง ค่านักร้องนักดนตรี ค่าห้องบันทึกเสียงและค่าจัดการ ค่าใช้จ่ายเหล่านี้จะเพิ่มขึ้นทันทีถ้าหากงานชิ้นนั้นต้องปรับปรุงใหม่ตามความต้องการของลูกค้า

ยิ่งปรับปรุงมากครั้งงานชิ้นนั้นก็ไม่คุ้ม จนอาจประสบปัญหาขาดทุนในที่สุด

"ผมว่าค่าตอบแทนควรจะอยู่ในหลักการท่ขึ้นอยู่กับจำนวนเวลาของการเผยแพร่ว่านานเพียงใด อาจเป็นปีต่อปี และอัตราค่าราคาผลงานต่อสัญญาควรเป็นเปอร์เซ็นต์ไม่ใช่ขายขาดเหมือนทุกวันนี้" จิรพรรณพูดถึงแนวคิดการคิดค่าผลงานดนตรีตามหลักการของกฎหมายลิขสิทธิ์

บัตเตอร์ฟลายเป็นผู้นำทางคุณภาพด้านดนตรีมาแล้ว ถ้าจะเป็นผู้ริเริ่มและผู้นำสิ่งใหม่ ๆ ในเชิงสร้างสรรค์และพัฒนาระบบการคิดค่าตอบแทนในผลงาน ซึ่งถือเป็นทรัพย์สินทางปัญญาชนิดหนึ่งให้ก้าวออกจากยุคหินที่เป็นอยู่เวลานี้ ก็ถือว่าเป็นผลงานที่ช่วยยกระดับคุณภาพทางการจัดการธุรกิจด้านดนตรีของประเทศขึ้นมาอีกก้าวหนึ่งที่เรียกได้ว่าเข้าขั้นมาตรฐานระดับสากล



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.