ปตท.ส่อเหลวจัดหาก๊าซ ไฟฟ้าไทยเข้าสู่วิกฤต


ผู้จัดการรายวัน(2 พฤศจิกายน 2550)



กลับสู่หน้าหลัก

ปตท.จัดหาก๊าซฯ ส่อล้มเหลว ไม่ยอมการันตีป้อนโรงไฟฟ้าใหม่ กฟผ.และไอพีพีได้ทั้งหมด เสียงอ่อยนำเข้า LNG มีคู่แข่งมาก จับตาก๊าซฝั่งตะวันตกเต็มส่งผลให้ต้องปรับแผนการผลิตใหม่หมด คาดดันใช้น้ำมันเตามากขึ้น เผยหากนำเข้า LNG ไม่ทันปี 2552 ก๊าซจะเริ่มทยอยขาดและจะหนักหากไม่ได้ M 9 เข้าเสริมปี 2553 ไฟฟ้าไทยวิกฤติแน่ “ปิยสวัสดิ์” แจง ปตท.ต้องรับผิดชอบให้ได้ตามแผน ด้านผู้ค้าน้ำมันโอดปรับราคาน้ำมันยากขึ้น เหตุถูกกดดันจากสังคมหนัก ยันค่าการตลาดต.ค.ลดหนักเหลือเฉลี่ยแค่ 50 สตางค์ต่อลิตรเท่านั้น

แหล่งข่าวจากวงการพลังงาน เปิดเผยว่า ขณะนี้ บมจ.ปตท.ยังไม่สามารถให้ความมั่นใจในการจัดหาก๊าซธรรมชาติเพื่อป้อนโรงไฟฟ้าใหม่ให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และผู้ผลิตไฟฟ้าภาคเอกชนหรือ ไอพีพีเนื่องจากความไม่แน่นอนในการจัดหาแหล่งก๊าซธรรมชาติจากแหล่ง M9 จากพม่า และการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลวหรือ LNG จากต่างประเทศที่ล่าสุดหลายประเทศทั่วโลกต่างหันไปซื้อ LNG จำนวนมากทั้งจีนและญี่ปุ่นหลังจากราคาพลังงานได้ปรับตัวสูงขึ้นส่งผลให้การเจรจาซื้อขายของ ปตท.ยังไม่คืบหน้าและมีแนวโน้มว่าการจัดหาจะเป็นไปได้ยาก

“ล่าสุด ปตท.ยืนยันปริมาณก๊าซให้เฉพาะโรงไฟฟ้า 4 แห่งให้ กฟผ.เท่านั้นส่วนโรงใหม่จากนั้นยังไม่การันตี ขณะที่ไอพีพีจะป้อนให้ได้ 2 แห่งเท่านั้น และจะยืนยันชัดเจนเมื่อมีการนำเข้า LNG ซึ่งวันนี้ยังไม่มีคำตอบ” แหล่งข่าวกล่าว

ปัจจุบันโรงไฟฟ้าในระบบท่อฝั่งตะวันตก ประกอบด้วยโรงไฟฟ้าไตรเอ็นเนอร์ยี่ ที่มีความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติ 125 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน โรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วมราชบุรี 375 ล้านลบ.ฟุตต่อวัน วังน้อย 100-305 ล้านลบ.ฟุตต่อวัน โรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมพระนครใต้ชุดที่ 1 ใช้ 65 ล้านลบ.ฟุตต่อวัน โรงไฟฟ้าพลังความร้อนพระนครใต้ ใช้ 150 ล้านลบ.ฟุตต่อวันทำให้ก๊าซฝั่งตะวันตกเต็มระบบพอดีที่ระดับ 1,110 ล้านลบ.ฟุตต่อวัน

ปี 2551 โรงไฟฟ้าระยอง 1-2 และ พระนครใต้ชุดที่ 3 เข้าระบบฝั่งตะวันตกมีความต้องการใช้ก๊าซฯเพิ่มขึ้น 325-375 ล้านลบ.ฟุตต่อวัน ดังนั้นโรงไฟฟ้าความร้อนร่วมพระนครใต้ชุด1 และโรงไฟฟ้าพลังความร้อนพระนครใต้ จึงต้องเปลี่ยนจากการใช้ก๊าซฝั่งตะวันตกไปใช้ก๊าซฯตะวันออกที่ปริมาณ 215 ล้านลบ.ฟุตต่อวันและลดปริมาณการใช้ก๊าซที่ โรงไฟฟ้าพลังความร้อนราชบุรีลง 90 ล้านลบ.ฟุตต่อวัน แล้วเปลี่ยนไปใช้น้ำมันเตาและหรือลดปริมาณการใช้ก๊าซที่วังน้อยลงอีก 20-70 ล้านลบ.ฟุตต่อวัน อย่างไรก็ตามขึ้นอยู่กับว่ากฟผ.จะเลือกใช้น้ำมันเตาที่โรงไฟฟ้าราชบุรีหรือ บางปะกง

ปี 2553 โรงไฟฟ้าพระนครเหนือยูนิต 1 เข้าระบบฝั่งตะวันตกมีความต้องการใช้ก๊าซฯเพิ่มขึ้นอีก 125 ล้านลบ.ฟุตต่อวันทำให้ต้องเปลี่ยนการใช้ก๊าซฯโรงไฟฟ้าวังน้อยไปใช้ก๊าซฯในอ่าวไทยทั้งหมด และหากมีก๊าซเหลือจึงไปเพิ่มการการใช้ก๊าซฯที่โรงไฟฟ้าความร้อนราชบุรี

ปี 2554-2555 โรงไฟฟ้าใหม่ส่วนของการรับซื้อไฟจากไอพีพี ที่จะเข้าระบบ 3 โรงต้องการใช้ก๊าซฯเพิ่มขึ้นอีก 300 ล้านลบ.ฟุตต่อวันแต่ในระบบตะวันตกมีก๊าซฯเหลือจำนวน 100-150 ล้านลบ.ฟุตต่อวัน ดังนั้นจึงทำให้ก๊าซฯฝั่งตะวันตกเพียงพอสำหรับโรงไฟฟ้าใหม่เพียง 1 โรง ส่งผลให้ปตท.จะต้องจัดหาก๊าซฯแหล่งใหม่เพิ่มเติมคือแหล่ง M 9 เท่ากับ 300 ล้านลบ.ฟุตต่อวันและติดตั้งคอมเพรสเซอร์เพื่อให้มีก๊าซฯเพียงพอสำหรับโรงไฟฟ้าใหม่อีก 2 โรง

“จะเห็นว่าความเสี่ยงจากการใช้ก๊าซฯ ผลิตไฟที่สูงกว่า 70% กำลังเป็นปัญหาด้านการจัดหาที่ไม่ทันรองรับ และความต้องการของไทยโตปีละ 5% แต่ก๊าซในอ่าวไทยกำลังนับถอยหลังลดลงปี 2551 จะลดลง 50 ล้านลบ.ฟุตกรณีไม่ค้นพบใหม่ๆ เลย และกรณีที่การจัดหาก๊าซจากแผนของปตท.คือ LNG ไม่เข้ามาภายในปี 2552 รวมไปถึงส่วนเกินจาก 3 ล้านตันและแหล่ง M 9แล้ว โรงไฟฟ้าจะทยอยพึ่งการใช้น้ำมันแทนตั้งแต่ปลายปี 2551 เป็นต้นไปซึ่งจะมีผลให้ค่าไฟสูงขึ้นมากและปี 2555 อาจกลายเป็นวิกฤติไฟฟ้าเพราะโรงไฟฟ้าวันนี้ที่จะสวิงไปใช้น้ำมันเตาได้หลักๆ มีเพียง 3 โรงคือบางปะกง กระบี่ และราชบุรี”แหล่งข่าวกล่าว

ปิยสวัสดิ์โยน ปตท.รับผิดชอบ

นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ รมว.พลังงาน กล่าวว่า กรณีที่ก๊าซอาจขาดแคลนในช่วงหนึ่งเพราะการจัดหาไม่ทันรองรับความต้องการนั้นก็เป็นไปได้หากมีการใช้อย่างปัจจุบัน โดยไม่ทำอะไรเลย ซึ่งการจัดหา LNG ของปตท.จะเข้ามาเสริมกับความต้องการในประเทศดังนั้น ปตท.คงจะต้องเร่งรัดนำเข้าให้ได้ตามแผนงานที่วางไว้ รวมไปถึงการเจรจาแหล่ง M 9 ของพม่าซึ่งมีความชัดเจนว่าคงจะไม่มีปัญหาอะไร

“สิ่งที่จำเป็นคืออีก 20 ปีถ้ายังคงเน้นการผลิตไฟจากก๊าซธรรมชาติอย่างเดียวคงขาดแน่ๆ การจัดหาก๊าซตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าหรือพีดีพีฉบับใหม่ก็น่าจะจัดหาได้ตามแผน ส่วนราคา LNG จะแพงหรือเปล่าคงไม่รู้แต่ก็จะดีกว่าน้ำมันเตาแน่นอน” นายปิยสวัสดิ์กล่าว

นายจิตรพงษ์ กว้างสุขสถิตย์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่กลุ่มสำรวจและผลิตก๊าซธรรมชาติ บมจ.ปตท.กล่าวว่า ปตท.กำลังเร่งรัดการจัดหา LNG ซึ่งยอมรับว่ามีผู้เข้ามาซื้อในตลาดโลกทำให้แข่งขันสูง คาดว่าจะเข้ามาได้กลางปี 2554 พร้อมกับยังเร่งพัฒนาแหล่งก๊าซฯจากที่ต่างๆ เข้ามาเสริมด้วย เพราะไม่เช่นนั้นแล้วความต้องการใช้จะไม่เพียงพอ

โดยขณะนี้กำลังที่จะเร่งเจรจาราคารับซื้อก๊าซจากแหล่ง M 9 ของพม่า ที่คาดว่าจะได้ข้อสรุปภายในสิ้นปีนี้ ซึ่งเบื้องต้นคาดว่าจะเข้าระบบได้ประมาณปี 2554 ในปริมาณ 300-400 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันก่อน นอกจากนี้จะเร่งพัฒนาแหล่งอาทิตย์ คาดว่าจะเข้าระบบในปี 2551 แหล่งเจดีเอในปี 2552 และแหล่งบงกชใต้ในปี 2554

แหล่งข่าวจากกระทรวงพลังงานกล่าวว่า คงต้องติดตามปัญหาดังกล่าวอย่างใกล้ชิดเพราะความไม่แน่นอนในการจัดหามีสูงเนื่องจากราคาพลังงานของโลกปรับเพิ่มขึ้นมากและมีการแย่งกันซื้อพอสมควรทำให้ไทยซึ่งมีอำนาจต่อรองต่ำค่อนข้างมีปัญหา ซึ่งล่าสุดกระทรวงพลังงานจึงได้หันไปซื้อไฟฟ้าจากลาวมากขึ้นจาก 5,000 เมกะวัตต์เป็น 7,000 เมกะวัตต์เพื่อป้องกันปัญหาไว้ระดับหนึ่ง และได้เร่งรัดให้กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติเปิดให้การสัมปทานการสำรวจและขุดเจาะปิโตรเลียมในไทยให้มากขึ้น

ขึ้นราคาขายปลีกยากฉุดค่าการตลาด

นายธีรพจน์ วัชราภัย ประธานบริษัทเชลล์ในประเทศไทย จำกัด เปิดเผยว่า ปัญหาระดับราคาน้ำมันตลาดโลกที่สูงขึ้นส่งผลให้การปรับราคาขายปลีกของผู้ค้าในประเทศไม่ได้สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง เนื่องจากถูกกดดันจากผู้บริโภคและสังคม ดังนั้นหากราคาน้ำมันตลาดโลกยังสูงต่อเนื่องจนถึงสิ้นปีคาดว่า บมจ.ปตท.คงจะปรับราคาขายปลีกได้ยากซึ่งจะมีผลให้ค่าการตลาดช่วง 2-3 เดือนสุดท้ายปีนี้เฉลี่ยจะติดลบหรือไม่เกิน 50 สตางค์ต่อลิตรเท่านั้นซึ่งส่งผลให้ผู้ค้าน้ำมันต้องขาดทุน

“ ค่าการตลาดที่คุ้มทุนจะอยู่ที่ประมาณ 1.50 บาทต่อลิตรสำหรับผู้ค้ารายเก่าและรายใหม่จะต้องอยู่ที่ประมาณ 1.80 บาทต่อลิตร แต่เฉลี่ยทั้งปีคาดว่าจะอยู่ประมาณ 1 บาทต่อลิตร ซึ่งก็ใกล้เคียงหรือดีกว่าปีแล้วเล็กน้อย ซึ่งเดิมคาดว่าจะดีกว่าแต่มาช่วงสิ้นปีน้ำมันตลาดโลกขึ้นไปมาก” นายธีรพจน์กล่าว

ทั้งนี้ เชลล์คงจะไม่เป็นผู้นำในการปรับเพิ่มราคาขายปลีกเช่นปีที่ผ่านมาโดยจะต้องรอ ปตท.ในฐานะรายใหญ่เนื่องจากการปรับราคาขึ้นนำมีผลให้เกิดการเสียส่วนแบ่งการตลาด อย่างไรก็ตามเชลล์ได้ปรับตัวด้วยการปรับปรุงปั๊มใหม่ที่มีอยู่ 570 แห่งแต่จะไม่มีการขยายเพิ่ม

นายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ปตท.กล่าวว่า คงต้องติดตามราคาน้ำมันตลาดโลกอย่างใกล้ชิดเนื่องจากมีการสวิงตัวสูงแต่ ปตท.จะไม่มีการปรับเปลี่ยนราคาในช่วงสัปดาห์นี้อีก เพื่อลดภาระให้กับประชาชน อย่างไรก็ตามราคาขายปลีกที่ปรับไปล่าสุดยังคงมีผลทำให้ค่าการตลาดต่ำอยู่หากน้ำมันตลาดโลกปรับขึ้นต่อเนื่องความจำเป็นในการปรับเปลี่ยนยังมีสูง

นายอนุสรณ์ แสงนิ่มนวล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทบางจากปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ขณะนี้บางจากต้องแบกรับภาระขาดทุนจากราคาน้ำมันประมาณ 3-4 ล้านบาทต่อวัน ซึ่งตั้งแต่ช่วงต้นปีที่ผ่านมาขาดทุนสะสมไปแล้ว 100-200 ล้านบาท โดยค่าการตลาดน้ำมันทั้ง 3 ผลิตภัณฑ์ตั้งแต่ต้นปีเฉลี่ยอยู่ที่ 1 บาทต่อลิตร แต่เฉพาะเดือน ต.ค.ค่าการตลาดเฉลี่ยอยู่เพียง 50 สตางค์ต่อลิตรเท่านั้น

“ จากบางจากจำหน่ายแก๊สโซฮอล์และไบโอดีเซล (บี5)ด้วย จึงทำให้ช่วยดึงค่าการตลาดขึ้นมา โดยค่าการตลาดของไบโอดีเซล (บี5)อยู่ที่ 20 สตางค์ต่อลิตร ส่วนค่าการตลาดแก๊สโซฮอล์เฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 7-8 สตางค์ต่อลิตร แม้ว่าจะอยู่ในระดับต่ำแต่ก็ยังไม่ติดลบเหมือนกับค่าการตลาดเบนซินและดีเซลที่ติดลบ 40-50 สตางค์ต่อลิตร “นายอนุสรณ์กล่าว

ม็อบ กฟผ.บุกจี้เลิก พรบ.พลังงาน

นายศิริชัย ไม้งาม ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ กฟผ. (สร.กฟผ.) กล่าวว่า วานนี้ (1 พ.ย.) ได้นำตัวแทนพนักงานกฟผ.ประมาณ 300 คนเดินทางไปพบกับ รมว.พลังงานเพื่อที่จะขอให้รัฐบาลหมายเหตุในพระราชบัญญัติประกอบกิจการพลังงานพ.ศ. .... ที่อยู่จะมีการพิจารณาจาก สนช.เป็นวาระที่ 2 วันที่ 7พ.ย. นี้ด้วยการกำหนดว่า พ.ร.บ.ฉบับนี้ไม่ใช้กับ กฟผ. เนื่องจากหากกฏหมายนี้ผ่านไปพนักงานกังวลว่าจะนำไปสู่การแปรรูปกิจการ กฟผ.ในที่สุด

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายปิยสวัสดิ์ได้เข้าประชุมสนช.และไม่ได้มารับหนังสือคัดค้านโดยส่งนายพรชัย รุจิประภา ปลัดพลังงานมารับแต่ สร.กฟผ.ไม่พอใจจึงจะขอชุมนุมต่อไปจนกว่าจะได้ข้อยุติเป็นที่พอใจ และนายศิริชัยระบุว่าจะมีม็อบมาเสริมอีกในวันนี้ (2 พ.ย.) รวมประมาณ 1,000 คน

นายสมบัติ ศานติจารี ผู้ว่า กฟผ.กล่าวว่า ผู้บริหาร กฟผ.ไม่ได้สนับสนุนการประท้วงครั้งนี้แต่อย่างใด ซึ่งเป็นสิทธิพนักงานที่ห่วงใยข้อกฏหมาย ซึ่งผู้บริหารจะได้ทำความเข้าใจทุกฝ่ายและยืนยันจะไม่สร้างความเดือนร้อนให้ประชาชน.


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.