|
ตลท.เล็งจ้างต่างชาติศึกษาแปรรูป
ผู้จัดการรายวัน(2 พฤศจิกายน 2550)
กลับสู่หน้าหลัก
บอร์ดตลาดหลักทรัพย์ฯ เตรียมจ้างผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศศึกษาแปรรูปตลาดหุ้นไทย คาดได้ข้อสรุปภายในครึ่งแรกของปี 51 ด้าน "ปกรณ์" มั่นใจดัชนีตลาดหุ้น-วอลุ่มคึกคัก หลังรัฐบาลใหม่ดันโครงการเมกะโปรเจกต์ แต่ต้องดูแลค่าเงิน-เงินเฟ้อให้มีเสถียรภาพ ระบุตลาดทุนเป็นช่องทางระดมทุนเหตุสภาพคล่องในระบบแบงก์ 4-5 แสนล้านบาทไม่เพียงพอต่อการลงทุนของรัฐ-เอกชน ลั่นหากยกเลิกมาตรการกันสำรอง 30% จะส่งผลดีตลาดตราสารหนี้ จากที่ผ่านมาวอลุ่มหดเหลือ 4 พันล้านบาท จากเดิม 4.6 หมื่นล้านบาท
นายปกรณ์ มาลากุล ณ อยุธยา ประธานกรรมการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เปิดเผยว่า คณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์ฯ มีมติให้จ้างผู้เชี่ยวชาญระดับโลกเข้ามาศึกษาในเรื่องการแปรรูปของตลาดหลักทรัพย์ฯ เพื่อพิจารณาถึงรูปแบบที่เหมาะสม โดยการศึกษานั้นจะให้ผู้เชี่ยวชาญศึกษาก่อนว่าตลาดหุ้นไทยมีความแข็งแกร่งในด้านใดบ้าง ซึ่งหากตลาดหุ้นไทยยังไม่มีการแปรรูปเป็นบริษัทจำกัดจะสามารถแข็งขันกับตลาดหุ้นทั่วโลกได้หรือไม่
ทั้งนี้ หากตลาดหุ้นไทยจะมีการแปรสภาพเป็นบริษัทจำกัด รูปแบบไหนจะเหมาะสมกับตลาดหุ้นไทย หากได้ผลสรุปการวิจัยแล้วตลาดหลักทรัพย์ฯ จะมีการเชิญบุคคลในวงการตลาดทุนเข้ามาหารือ เพื่อที่จะทำให้ตลาดลักทรัพย์ฯ มีศักยภาพในการที่จะดึงเงินออมของโลกเข้ามาลงทุนและช่วยสนับสนุนให้เศรษฐกิจของประเทศมีการเติบโตมากขึ้น
สำหรับสาเหตุที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ จะมีการจ้างผู้เชี่ยวชาญมาศึกษาในเรื่องการแปรรูปนั้น เนื่องจากกระแสตลาดทุนทั่วโลกมีการแปรรูปเป็นบริษัทจำกัดแล้วหลายประเทศ ซึ่งประสบความเสร็จในการแปรรูปเป็นอย่างดี เช่น ตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกง ที่ดัชนีราคาหุ้นปรับตัวเพิ่มขึ้นสูงกว่าดัชีนีดาวโจนส์ ฟุตซี่ ขณะที่ตลาดหลักทรัพย์มาเลเซียเองได้มีการปรับตัวอยู่ในระดับที่ดีเช่นกัน
"ปัจจุบันนี้มีตลาดหุ้นที่ยังไม่แปรรูปถือว่ามีจำนวนน้อยมาก เช่น ตลาดหุ้นไทย อินโดนีเซีย จีน เวียดนาม อิสราแอล"
นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้บริหารสถาบันวิจัยเพื่อตลาดทุนและดูแลฝ่ายพัฒนากลยทธ์ สายงานวิจัยและข้อมูลสารสนเทศ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า สัปดาห์หน้าตลาดหลักทรัพย์ฯ จะเปิดให้สถาบันต่างประเทศที่สนใจจะเข้ามาศึกษาการแปรรูปตลาดหลักทรัพย์ฯ ยื่นข้อเสนอในการศึกษา ซึ่งคาดว่าภายในสิ้นปีนี้จะทราบผู้ที่จะเข้ามาเป็นผู้ศึกษา และจะเริ่มศึกษาในต้นปีหน้าและคาดว่าจะได้ผลการศึกษาในช่วงครึ่งปีแรก 2551 โดยขณะนี้ก็มีผู้สนใจที่จะเข้ามาศึกษาจำนวนมาก
นายปกรณ์ กล่าวว่า ภาวะการลงทุนในตลาดหุ้นไทยในปี 2551 คาดว่าดัชนีและประมาณการซื้อขายจะปรับตัวดีขึ้น หลังจากมีการจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ รวมทั้งทุกพรรคการเมืองมีแนวนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ อาทิ โครงการก่อสร้างระบบสาธารณูปโภคขนาดใหญ่ (เมกะโปรเจกต์) เช่น การก่อสร้างรถไฟฟ้าใต้ดิน รถไฟรางคู่ เป็นต้น ซึ่งจะทำให้ให้ภาคเอกชน และนักลงทุนต่างประเทศมีความมั่นใจที่จะเข้ามาลงทุน ส่งผลให้ภาคอุตสาหกรรมที่มีกำลังการผลิตที่เต็มกำลังการผลิตแล้ว ในช่วงที่ผ่านมามีการขยายกำลังการผลิตมากขึ้น เช่น อุตสาหกรรมเคมีคอลทีใช้กำลังการผลิตที่ 102% ปิโตรเลียม ที่ 90.3% กลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ 87.9% กลุ่มรถยนต์ที่ 84.9% เครื่องใช้ไฟฟ้า 80.9%
"เศรษฐกิจจะมีการเติบโตที่ดีได้ แต่รัฐบาลใหม่จะต้องมีการผลักดันโครงการเมกะโปรเจกต์อย่างจริงจัง ไม่ใช่เป็นเพียงนโยบายเท่านั้น เพราะหากรัฐบาลเป็นผู้นำในการลงทุน จะทำให้ภาคเอกชนที่รอความชัดเจนมีความมั่นใจที่จะลงทุนด้วย ทั้งการลงทุนของภาครัฐและเอกชนจะเป็นแรงขับเคลื่อนที่สำคัญที่ทำให้ประเทศไทยเข้าสู่วัฏจักรใหม่ในการลงทุนอีกครั้ง"
ขณะเดียวกัน ทางการจะต้องดูแลเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนให้เงินบาทมีเสถียรภาพ เพราะหากเงินบาทแข็งค่ากว่าประเทศคู่แข่งอาจจะส่งผลกระทบต่อความสามารถในการส่งออกสินค้าของไทย ซึ่งการส่งออกถือเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ รวมทั้งการดูแลปัญหาเงินเฟ้อและผลกระทบจากราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น เพราะหากอัตราเงินเฟ้อปรับตัวสูงขึ้นจะทำให้อัตราดอกเบี้ยในระบบปรับตัวสูงขึ้นเช่นกัน
นายปกรณ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีสภาพคล่องส่วนเกินในระบบธนาคารพาณิชย์ประมาณ 4-5 แสนล้านบาท หากพิจารณาความต้องการใช้เงินทุนของภาครัฐที่จะมีการออกตราสารหนี้ในปี 2551 เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ ไถ่ถอนพันธบัตรที่ครบกำหนด และชดเชยการขาดทุนให้แก่กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ที่มีมูลค่ารวมทั้งสิ้นประมาณ 2.9 แสนล้านบาท ขณะที่ภาคเอกชนคาดว่าจะมีการออกหุ้นกู้ใกล้เคียงปี 2550 จำนวน 1.8 แสนล้านบาท เพื่อนำไปขยายการลงทุน ซึ่งจะทำให้เม็ดเงินสภาพคล่องส่วนเกินของธนาคารพาณิชย์ไม่เพียงพอในการรองรับการลงทุนของภาครัฐและเอกชน ดังนั้นตลาดทุนไทยจึงเป็นแหล่งที่จะรองรับการระดมทุน
ทั้งนี้ การพัฒนาประเทศให้มีการเจริญเติบโตอย่างยั่งยืนนั้นจะต้องมีการดึงเม็ดเงินออมจากต่างประเทศเข้ามาลงทุนในประเทศไทย ซึ่งเข้ามาลงทุนโดยตรงในตลาดหุ้นและตราสารหนี้ ซึ่งประเด็นที่สำคัญคือมาตรการกันเงินสำรอง 30% โดยที่ผ่านมาส่งผลกระทบรุนแรงต่อตลาดตราสารหนี้ ทำให้ปริมาณการซื้อขายลดลงเหลือ 1%หรือประมาณ 5 พันล้านบาท ในช่วงเดือนกันยายน 2550 จากเดิมที่มีประมาณการซื้อขาย 19% หรือ 4.6 หมื่นล้านบาทในเดือนกันยายน 2549
"ที่ผ่านมาธปท.ได้มีการออกมาบอกว่ามาตรการกันสำรอง 30% เป็นเพียงระยะสั้นเท่านั้น เมื่อค่าเงินอ่อนค่าลงจะมีการทบทวนมาตรการ แต่จะมีการยกเลิกในช่วงไหนจึงจะเหมาะสมที่สุด ดังนั้นหากมีการยกเลิกจริงจะส่งผลดีต่อตลาดตราสารหนี้"
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|