เพียงหนึ่งเดือนกับจุดเริ่มต้นเล็ก ๆ ด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์แมคอินทอช 2
เครื่องและพนักงาน 4 คนสำหรับรับงานกราฟิกดีไซน์
สุรช ล่ำซำ ก็ตัดสินใจระดมทุนเพิ่มขึ้นจากเดิม 2 ล้านบาทเป็น 5 ล้านบาททันที
เพิ่มเครื่องคอมพิวเตอร์อีก 6 เครื่อง พนักงานอีก 6 คน และย้ายสำนักงานขนาดห้องเดียวจากถนนสีลม
มาอยู่ที่อาคารพาณิชย์ 2 ชั้นในซอยหลังสวน
"ถ้าเราขยับขยายใหญ่ขึ้น ตลาดก็มีแน่ ๆ" คือเหตุผลการโตของกราฟิกเดสก์ที่สุรช
ล่ำซำ บอกกับ "ผู้จัดการ"
สุรช ล่ำซำ เป็นบุตรชายคนโตของบรรยงค์ ล่ำซำ กรรมการผู้จัดการธนาคารกสิกรไทย
และภรณี ล่ำซำ หลังจากที่เรียนจบชั้นประถม 4 ที่โรงเรียนสาธิตประสานมิตร
เขาบินไปเรียนต่อที่สหรัฐอเมริการะดับจูเนียร์ไฮสกูลที่รัฐแมสชาชูเชตต์ แล้วย้ายไปเรียนไฮสกูลที่รัฐคอนเน็ตติกัต
ต่อปริญญาตรีที่นิวยอร์คทางด้าน RETAIL MARKETING ปริญญาใบสุดท้ายที่เขานำกลับมาเมืองไทยด้วยความภาคภูมิใจ
คือ ปริญญาโท GRAPHIC COMMUNICATION จากมหาวิทยาลัยนิวยอร์ก
เขามีความสนใจงานด้านคอมพิวเตอร์กราฟิกมาก จนกรทั่งเมื่อเรียนจบแล้ว ก็ยังคงทำงานต่ออีก
6 เดือนที่บริษัท P PRESS ในนิวยอร์ก ซึ่งเคยฝึกงานนานถึง 2 ปีในช่วงที่เรียนปริญญาโท
และถือว่าเป็นการจุดประกายความคิดตั้งบริษัททำนองนี้ขึ้นในเมืองไทย
บริษัท P PRESS จึงเปรียบเสมือนเป็นแม่แบบของกราฟิกเดสก์ จะมีความต่างกันก็ตรงที่ใหญ่กว่ากราฟิกเดสก์
10 เท่า แต่ในส่วนการทำงานมีลักษณะเหมือนกัน คือ เป็นบริษัทที่ใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ทำงานกราฟิกอย่างครบวงจร
ตั้งแต่รับงานออกแบบสิ่งพิมพ์ทุกชนิด ไม่ว่าจะเป็นงานชิ้นเล็ก ๆ อย่างเช่น
ออกแบบโลโก นามบัตร หรืองานชิ้นโตจำพวกออกแบบนิตยสารทั้งเล่ม หนังสือรายงานประจำปีของบริษัทหรือแม้กระทั่งออกแบบบรรจุภัณฑ์ด้วย
นอกจากนี้ ยังรับตกแต่งฟิล์มสไลด์หรือที่เรียกกันตามศัพท์เทคนิคว่า "RE-TOUCHING"
ซึ่งก่อนหน้านี้การตกแต่งฟิล์มต้องใช้ "มือ" ทำเท่านั้น ทำให้กินเวลานานเป็นอาทิตย์กว่าจะลบรอยที่ไม่งามทิ้งหรือเพิ่มสีสันให้เหนือจริง
แต่สำหรับผู้ที่ใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ได้คล่องจะสามารถประหยัดเวลาลงกว่าเดิม
100 เท่า รวมทั้งราคาก็ถูกกว่าด้วย และได้ผลงานไม่ต่างกับวิธีการทำด้วยมือ
และที่ขาดเสียมิได้ คือ เครื่อง LINOTRONIC 330 เป็นเครื่องถ่ายงานกราฟิกที่เสร็จแล้วให้ออกมาในรูปของแผ่นกระดาษโบร์ไมด์หรือเป็นแผ่นฟิล์มเพื่อใช้ในขั้นตอนการพิมพ์ต่อไป
ซึ่งจำเป็นต้องลงทุนควบคู่กันไปด้วยจึงจะเรียกว่าครบวงจรอย่างแท้จริง
การเป็นบริษัทคอมพิวเตอร์กราฟิกจึงไม่ใช่จะอาศัยบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถอย่างเดียว
ปัจจัยความพร้อมในเงินลงทุนด้านอุปกรณ์เครื่องมือราคาแพงก็เป็นสิ่งหลีกเลี่ยงไม่ได้
อย่างเช่น เครื่อง LINOTRONIC -330 เครื่องเดียวก็มีราคาถึง 3 ล้านบาทเศษ
หรือเครื่องทำ RE-TOUCHING ก็มีหลายราคาตั้งแต่ 2 แสนบาทขึ้นไปถึง 100 ล้านบาท
ขึ้นอยู่กับประสิทธิภาพการทำงาน
ถึงแม้ว่าบริษัทคอมพิวเตอร์กราฟิกจะมีเป็นจำนวนนับสิบขึ้นไป อาทิเช่น บริษัทเดียร์บุ๊ค
บริษัทออมนิวิชั่น ฯลฯ แต่สุรช ล่ำซำ ยืนยันว่า ตลาดด้านนี้จะโตวันโตคืนขึ้นเรื่อย
ๆ
"ดูอย่างบริษัทเอเจนซี่โฆษณาซิครับ ยังเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา" เขาพูดถึงประเด็นปัญหาที่
"ผู้จัดการ" ถามถึงงบการลงทุนที่สูง แต่โอกาสทางตลาดก็มีอยู่มากเช่นกัน
ซึ่งเขาคาดการณ์ล่วงหน้าว่าภายใน 18 เดือนคงได้ทุนคืน
เมื่อขยายงานใหญ่ขึ้นทำให้การดูแลเพียงคนเดียวย่อมเป็นไปไม่ได้ ประกอบกับเหตุผลส่วนตัว
คือ มีงานประจำในส่วนการตลาดของฝ่าย COMMUNICATION ENGINEERING ที่บริษัทล็อกซเล่ย์ด้วย
การเข้ามาดูงานที่กราฟิก เดสก์ จึงมีได้เฉพาะในช่วงเวลาเย็นเท่านั้น
พิมพา เบญจฤทธิ์ จึงมีโอกาสเข้ามาร่วมงานในฐานะเป็นผู้ถือหุ้นคนหนึ่งของผู้ถือหุ้นทั้งหมด
22 คน และยังร่วมเป็นกรรมการบริหาร รวมทั้งเป็นที่ปรึกษาด้านกราฟิกดีไซน์ด้วย
พิมพา ศึกษาต่อต่างประเทศตั้งแต่จบชั้นประถม 4 ที่โรงเรียนมาแตร์เดอีวิทยาลัยเช่นเดียวกับสุรช
จะต่างกันก็ตรงที่พิมพาเรียนต่อที่ประเทศอังกฤษ และมีความสนใจศิลปะวาดรูป
(ILLUSTRATION) ตั้งแต่เล็ก ๆ หลังจากจบไฮสกูลก็ต่อ RICHMOND COLLEGE OF
ART ซึ่งเป็นโรงเรียนเตรียมพื้นฐานทางศิลปะก่อนจะเข้าศึกษาระดับปริญญาตรีต่อไป
เธอได้เกียรตินิยมทางด้าน GRAPHIC DESIGN จาก MIDLESEX POLYTECHNIC และศึกษาหาประสบการณ์เพิ่มเติมอีก
3 เดือนที่เมืองฟลอเรนซ์ อิตาลี ก่อนบินกลับเมืองไทย
พิมพากลับมาอยู่เมืงอไทยนานเกือบ 10 ปีแล้ว แต่สำหรับสุรช เขากลับมาได้เพียง
6 เดือนเท่านั้น
เมื่อครั้งที่กลับจากอังกฤษ เธอไม่ได้ทำงานด้านกราฟิกดีไซน์ตามที่เรียนมาทันที
แต่ก็ได้ใช้ความรู้ทางอ้อมในฐานะที่เป็นผู้ช่วยผู้อำนวยการหอศิลปพีระศรีอยู่นานถึง
4 ปี หลังจากนั้นจึงได้มีโอกาสทำงานเป็นอาร์ตไดเร็กเตอร์ให้กับ วิล คอร์เปอเรชั่นประมาณ
2 ปี ซึ่งในช่วงนั้นคอมพิวเตอร์กราฟิกยังไม่เข้ามาเมืองไทย
"ชอบมากที่ใช้เครื่องคอมพิวเตอร์วาดรูป มันช่วยลดความอึดอัดลงได้มากเวลาที่วาดรูปด้วยมือไม่ได้อย่างที่คิดไว้"
เธอกล่าวกับ "ผู้จัดการ" ถึงความรู้สึกกับเครื่องคอมพิวเตอร์ซึ่งเธอมีโอกาสเรียนรู้และใช้งานเป็นเมื่อไม่นานนี้เอง
ถึงแม้ว่ากราฟิก เดสก์จะทำงานด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์แทนการทำงานด้วย "มือ"
แต่ทั้งเขาและเธอก็รู้ดีว่า การรู้จักใช้เครื่องเพียงอย่างเดียวโดยปราศจากฝีมือและหัวคิดในงานกราฟิก
ผลงานย่อมไม่สมบูรณ์ ฉะนั้น บุคลากรที่ต้องการควรมีทั้งสองส่วนเท่า ๆ กัน
"กว่าผมจะหาคนทำงานได้ก็เหนื่อย มีบางคนเก่งกราฟิกแต่ไม่เคยใช้เครื่องมาก่อน
เราก็สอนตั้งแต่หัดเปิดเครื่อง จนตอนนี้ใช้เครื่องได้คล่องพอควรแล้ว"
สุรช เล่าถึงปัญหาการขาดแคลนบุคลากรกับ "ผู้จัดการ"
อย่างไรก็ดี แม้ว่ากราฟิก เดสก์ จะเป็นน้องใหม่ในวงการ ที่มีอายุเพียง 4
เดือนเท่านั้น แต่ก็มีงานประดังเข้ามาไม่ขาดสาย เรียกได้ว่าตอนนี้มีงานเต็มกำลังคน
ลูกค้ารายใหญ่ในขณะนี้ คือ บริษัทฮัทชิสัน ซึ่งมอบหมายให้ กราฟิก เดสก์
ออกแบบทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับงานสิ่งพิมพ์ นอกจากนี้ก็มีงานจากบริษัท 124
คอมมิวนิเคชั่น บริษัทที่ทำด้านโปรโมชั่นโดยเฉพาะนิตยสารรายการโทรทัศน์ของสตาร์ทีวี
ซึ่งกำหนดออกฉบับแรกเดือนมกราคม 2535 และก็มีที่มาใช้บริการเฉพาะเครื่องถ่าย
LINOTRONIC 330 เท่านั้น อย่างเช่น บริษัทโอกิลวี่ แอนด์ เมเธอร์ และจิปาถะอื่น
ๆ อีก
"คิดว่าจุดแข็งของเรา คือ คนทำงานที่นี่มีประสบการณ์ด้านกราฟิกมาก่อนที่จะมาอยู่กับเรา
บวกกับการใช้คอมพิวเตอร์ทำงาน ทำให้งานออกมาเนียบ สวย และเร็วกว่าเดิมมาก"
พิมพา บอกกับ "ผู้จัดการ"
นอกจากนี้ ทางกราฟิก เดสก์ ยังวางแผนต่อไปในอนาคตในเรื่องการพัฒนาเครื่องคอมพิวเตอร์สำหรับงาน
RE-TOUCHING ให้มีประสิทธิภาพทำงานได้หลากหลายมากยิ่งขึ้น รวมทั้งช่วยย่นระยะเวลาการทำงานให้น้อยลง
ซึ่งย่อมหมายถึงการบริการลูกค้าได้มากยิ่งขึ้น และที่สำคัญคู่แข่งในด้านนี้ยังน้อยมาก
เพราะต้องอาศัยความรู้ประสบการณ์ และใช้เงินทุนสูงพอสมควร
เมื่อมีความพร้อมทั้งความรู้และบุคลากรระดับมืออาชีพเป็นฐานที่แข็งแรง เสริมด้วยความเป็น
"ล่ำซำ" ซึ่งเป็นตระกูลนักธุรกิจที่มีเครือข่ายกว้างขวาง กราฟิก
เดสก์ คงเติบโตได้อีกไกลอย่างแน่นอน