ชี้สินค้าไทยอ่อนหัดสร้างแบรนด์


ผู้จัดการรายวัน(1 พฤศจิกายน 2550)



กลับสู่หน้าหลัก

คณะกรรมการส่งเสริมตราสินค้าไทย ชี้ แบรนด์ไทยอ่อนแอ ขาดการสร้างแบรนด์ ผู้ประกอบการรายเล็กขาดงบประมาณ ชง 3 แบรนด์ไทยโมเดลต้นแบบ สปอนเซอร์ มาม่า มาลี ชี้กุญแจแห่งความสำเร็จ แนะกระแสสุขภาพ ธรรมชาติ ความสะดวก คุณค่าบูม แต่การอิงกระแสต้องดูผลระยะยาว

วานนี้ (31 ต.ค.50) คณะกรรมการส่งเสริมตราสินค้า หอการค้าไทย ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย จัดเสวนา เรื่อง Thailand’s Top Brands : Top of Maid Recall โดยเชิญ 3 แบรนด์ไทยโมเดลต้นแบบที่ประสบความสำเร็จ ได้แก่ บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปมาม่า สปอนเซอร์ และน้ำผลไม้มาลี ร่วมเสวนา

นายชูเดช เตชะไพบูลย์ ประธานคณะกรรมการส่งเสริมตราสินค้าไทย กล่าวว่า ขณะนี้มีสินค้าภายใต้แบรนด์ไทยเกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก แต่มีจุดอ่อนด้านการสร้างแบรนด์ เนื่องจากมีผู้ประกอบการส่วนใหญ่เป็นรายเล็ก ไม่มีงบประมาณในการทำตลาดหรือสร้างแบรนด์ ประกอบกับตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา ภาวะเศรษฐกิจของประเทศไทยชะลอตัวลง ทำให้การสร้างแบรนด์สินค้าไทยเป็นไปได้ค่อนข้างยาก แต่มั่นใจว่าหลังจากที่มีการเลือกตั้ง น่าจะเป็นจังหวะดีที่ผู้ประกอบการจะเริ่มหันมาสร้างแบรนด์อย่างจริงจัง

สำหรับคณะกรรมการส่งเสริมตราสินค้าไทย หอการค้าไทย ได้จัดตั้งขึ้นเมื่อเดือนเมษายน ที่ผ่านมานี้ เพื่อผลักดันด้านการสร้างแบรนด์ให้กับสินค้าไทย โดยในปีหน้านี้มีแผนจะนำ 3-4 แบรนด์ที่มีศักยภาพมาสร้างแบรนด์ ภายใต้การใช้งบ 5 ล้านบาท โดยจะปรับทั้งบรรจุภัณฑ์ การดูแลการผลิตให้ได้มาตรฐาน และทำประชาสัมพันธ์ นำร่องด้วยกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค และหลังจากปี 2551 จะผลักดันการสร้างแบรนด์ให้กับสินค้าอย่างน้อย 5-10 แบรนด์ โดยคณะกรรมการส่งเสริมตราสินค้าไทยฯ ปัจจุบันมีสมาชิก 2.8หมื่นราย แบ่งเป็น กรุงเทพฯ 4,000 ราย

3แบรนด์ไทยโมเดลต้นแบบสร้างแบรนด์

นางสุวรรณา โชคดีอนันต์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท มาลีสามพราน จำกัด มหาชน ผู้ผลิตน้ำผลไม้กระป๋องตรามาลี กล่าวว่า น้ำผลไม้มาลีเริ่มดำเนินธุรกิจเมื่อปี 2507 จากนั้นเริ่มสร้างแบรนด์อย่างจริงจังเมื่อปี 2511 ปัจจุบันมาลีเป็นแบรนด์ที่อยู่ในตลาด 39 ปี เหตุผลที่ทำให้มาลีกลายเป็นไทยแบรนด์ที่ขยับอันดับขึ้นจาก 285 เป็น 207 ในเอเชีย มาจากการสร้างแบรนด์อย่างต่อเนื่อง ด้วยการเปลี่ยนรูปลักษณ์ โลโก้ และปรับโพซิชันนิ่งใหม่ เพื่อสร้างแบรนด์มาลีให้มีความแตกต่างจากน้ำผลไม้ที่หันมาชูจุดขายในเรื่องของสุขภาพ จึงวางมาลีเป็นแบรนด์ที่มีความเชี่ยวชาญผลไม้ ภายใต้สโลแกน”มาลี รู้ดีเรื่องผลไม้“

อีกทั้งบริษัทยังเน้นการใช้แบรนด์มาลีขยายโปรดักส์ไลน์ใหม่ๆ เพราะมองว่าเป็นแบรนด์ที่อยู่ในใจผู้บริโภค ขณะเดียวกันก็สร้างความเชื่อมั่นใจกับผู้บริโภค อย่างไรก็ตามการสร้างแบรนด์ต้องใช้งบมหาศาล ดังนั้นหากสินค้ามีคุณภาพแบรนด์จะไปด้วยตัวมันเอง เพราะมีผลวิจัยพบว่า การโฆษณาที่ดีที่สุด คือ การบอกปากต่อปาก ซึ่งได้ผลดีกว่าการโฆษณาผ่านสื่อด้วยซ้ำ

นายสานิต หวังวิชา ผู้จัดการฝ่ายการตลาด บริษัท ที.ซี.ฟาร์มาซูติคอล อุตสาหกรรม จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตเครื่องดื่มกระทิงแดงและสปอนเซอร์ กล่าวว่า เดิมทีบริษัทจำหน่ายยาเป็นหลักก่อน จากนั้นเฉลียว อยู่วิทยา หรือประธานบริษัท ได้เล็งเห็นว่าเครื่องดื่มเกลือแร่สอดคล้องกับความต้องการของคนไทย จึงได้เปิดตัวลงสู่ตลาดเมื่อปี 2528 ซึ่งในขณะนั้นมีแบรนด์ที่เป็นผู้นำตลาดได้แก่ “อีโก้”

เหตุผลที่ทำให้สปอนเซอร์ขึ้นมาเป็นผู้นำตลาดครองส่วนแบ่ง 69% จากมูลค่าตลาด 1,929 ล้านบาท มาจากการสร้างแบรนด์ให้แตกต่างเพื่อให้สินค้าโดดเด่นและเกิดการจดจำ มีสโลแกนที่เข้าใจง่าย และชัดเจน เช่น สปอนเซอร์ สโลแกนเดิม”เครื่องดื่มมีคุณค่าราคาน้ำอัดลม” ล่าสุดเปลี่ยนเป็น”เสียเหงื่อดื่มสปอนเซอร์ อีกทั้งยังต้องมีรสชาติที่ต้องถูกปากคนไทยและสอดคล้องกับราคา อย่างไรก็ตามบางครั้งการสร้างแบรนด์ไม่ต้องการสื่อสาร แต่เป็นรูปของการกระทำ เช่น สปอนเซอร์เป็นเครื่องดื่มเกลือแร่ จึงสนับสนุนกิจกรรมการออกกำลังกาย หรือพูดง่ายๆ สอดแทรกกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับสินค้า

นายเพชร พะเนียงเวทย์ ผู้จัดการฝ่ายพัฒนาธุรกิจ บริษัท ไทยเพรซิเดนด์ฟูดส์ จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปมาม่า กล่าวว่า มาม่าไม่ได้เป็นแบรนด์แรกที่เปิดตัวในตลาดบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป แต่เป็นแบรนด์ที่ 3 รองจากไวไว และยำยำเป็นแบรนด์แรกที่ทำตลาดบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป แต่ปัจจุบันมาม่ากลับเป็นผู้นำตลาดครองส่วนแบ่ง 52% จากมูลค่าตลาด 1 หมื่นล้านบาท ทั้งนี้เป็นเพราะมาม่ามีการสร้างแบรนด์ไม่หยุดนิ่ง และสร้างความแตกต่างของแบรนด์ ขณะเดียวกันมีระบบการจัดจำหน่ายที่แข็งแกร่งจากบริษัทสหพัฒน์ วางสินค้าให้สอดคล้องกับกลุ่มเป้าหมาย อาทิ เส้นชาเขียว โฮลวีต เจาะกลุ่มรักสุขภาพ โอเรียลทอล คิทเช่น เจาะกลุ่มพรีเมียม

กระแสที่มีผลต่อสินค้าแบรนด์ไทย

สำหรับกระแสที่มีผลต่อการสินค้าแบรนด์ไทย ผู้เข้าร่วมเสวนาร่วมกล่าวแสดงความคิดเห็นว่า กระแสที่กำลังมาแรงในขณะนี้ ได้แก่ สุขภาพ ธรรมชาติ ความสะดวกสบาย คุณค่า ประหยัดพลังงาน ราคาน้ำมัน อย่างไรก็ตาม กระแสที่มาแรงผู้ประกอบการต้องพิจารณาถึงผลดีและผลร้ายต่อการสร้างแบรนด์ด้วย และส่งผลระยะยาวหรือไม่ อย่างมาลีปรับตัวโดยอิงกระแสสุขภาพ เพราะโพซิชันนิงสินค้าสอดคล้องกับกระแส ขณะเดียวกันก็เป็นกระแสที่เอื้อประโยชน์ต่อแบรนด์ในระยะยาว


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.