สูบ 5 แสนล้านกลบเจ๊งบาท "แบงก์ชาติ"ขอวงเงินเพิ่ม-พรบ.เงินตราถูกแช่แข็ง


ผู้จัดการรายวัน(31 ตุลาคม 2550)



กลับสู่หน้าหลัก

ไฟลนก้นแบงก์ชาติ หลังผ่านไป 10 เดือน ขาดทุนอัตราแลกเปลี่ยนแล้ว 6.5 แสนล้านบาท ต้องขอออกพันธบัตรใหม่เพิ่มอีก 5 แสนล้าน ลดผลขาดทุนค่าเงิน เผยผู้ว่าฯ ขอรัฐมนตรีคลังเสนอ ครม.เมื่อต้นเดือน ให้เหตุผลต้องใช้บริหารอัตราแลกเปลี่ยน ส่งผลวงเงินแตะ 2 ล้านล้านบาท แต่ยังไม่มีวี่แววเพียงพอรับมือเงินไหลเข้าฉุดบาทแข็งค่าซ้ำซาก ขณะที่ ร่าง พ.ร.บ.เงินตราถูกนายกฯ ติดเบรกก่อนเข้า ครม. พร้อมสั่ง รมว.คลัง ไปทำประชาพิจารณ์มาก่อน งานนี้ลากยาวถึงรัฐบาลหน้า "ฉลองภพ" ยกธงขาวแล้ว

แหล่งข่าวจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ต้นเดือนที่ผ่านมา นางธาริษา วัฒนเกส ผู้ว่าฯ ธปท.ได้ทำหนังสือถึงนายฉลองภพ สุสังกร์กาญจน์ รมว.คลัง เพื่อขอเพิ่มวงเงินในการออกพันธบัตร ธปท.อีก 5 แสนล้านบาท วัตถุประสงค์ในการขอเพิ่ม เนื่องบจาก ธปท.มีความจำเป็นที่ต้องใช้พันธบัตรเป็นเครื่องมือในการดูดซับสภาพคล่องจากเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐฯ ที่คาดว่าจะไหลเข้าอย่างต่อเนื่องและเพื่อให้งานบริหารนโยบายอัตราแลกเปลี่ยนของ ธปท.มีประสิทธิภาพมากขึ้น

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เดิมที ธปท.มีวงเงินสำหรับออกพันธบัตรเพียง 1.1 ล้านล้านบาท ต่อมาเมื่อเดือนเมษายน 2550 ได้ขอเพิ่มวงเงินออกพันธบัตรอีก 4 แสนล้านบาท กระทั่งล่าสุดหลังจากแนวโน้มดอลลาร์อ่อนค่า ขณะที่เงินบาทแข็งค่าต่อเนื่อง ธปท.จึงขอออกพันธบัตรเพื่อลดการขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยน ทำให้ถึงขณะนี้ ธปท.ขอวงเงินในการออกพันธบัตรรวม 2 ล้านล้านบาท โดยยังไม่แน่ใจว่าจะเพียงพอต่อสถานการณ์ในขณะนี้หรือไม่

"สาเหตุของการขอเพิ่มวงเงินในการออกพันธบัตรอีก 5 แสนล้านบาทนี้เนื่องจากวงเงินในการออกพันธบัตรของธปท. 1.5 ล้านล้านบาทใกล้จะเต็มวงเงินในปลายปีนี้แล้วจึงขอขยายวงเงินเพิ่มไว้ และธปท.เองเห็นว่าแนวโน้มดอลลาร์อ่อนเงินบาทแข็ง ทำให้มีเงินทุนไหลเข้าสู่ประเทศไทยมากขึ้น" แหล่งข่าว ธปท.กล่าวและว่า ธปท.อยู่ระหว่างรอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเสนอเข้า ครม. อย่างไรก็ตามทราบว่าเรื่องนี้อยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.)

นอกจากนี้ ได้คาดการณ์ล่วงหน้าว่าภายหลังการเลือกตั้งในวันที่ 23 ธันวาคมนี้ รัฐบาลชุดใหม่ โดยเฉพาะพรรคประชาธิปัตย์ที่มีโอกาสที่จะเข้ามาบริหารประเทศ ประกาศเป็นนโยบายยกเลิกมาตรการกันสำรองเงินตราต่างประเทศ 30% ธปท.จึงต้องขอกันวงเงินออกพันธบัตรไว้ เพราะหากมีการยกเลิกมาตรการ 30% จริงจะทำให้มีเงินทุนไหลเข้ามาก

"ที่ผ่านมา ได้พยายามลดสัดส่วนทุนสำรองระหว่างประเทศที่ถือในรูปสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ลงโดยล่าสุดเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมามีการถือเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐในสัดส่วน 58% และพยายามเพิ่มสัดส่วนในการถือครองเงินสกุลอื่น ทั้งยูโรและเยนเพิ่มขึ้นเพื่อลดความเสี่ยงจากการถือครองเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐเพียงอย่างเดียว แต่ยอมรับว่า 10 เดือนที่ผ่านมาขาดทุนทางบัญชีจากอัตราแลกเปลี่ยน 6.5 แสนล้านบาท"

ข้อมูล ธปท.ล่าสุด ณ วันที่ 19 ต.ค.ที่ผ่านมา แจ้งว่า เงินสำรองระหว่างประเทศอยู่ที่ 81,815 ล้านเหรียญ และมีภาระสัญญาซื้อขายเงินตราต่างประเทศล่วงหน้า (ฟอร์เวิร์ด) อีก 15,339 ล้านเหรียญ ทำให้มีเงินทุนสำรองระหว่างประเทศสุทธิทั้งสิ้น 97,154 ล้านเหรียญ จากต้นปี 50 ที่เงินทุนสำรองระหว่างประเทศสุทธิ 74,459 ล้านเหรียญ (ทุนสำรอง 66,769 ล้านเหรียญ ฐานะฟอร์เวิร์ด 7,690 ล้านเหรียญ) ดังนั้นตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบันหรือประมาณ 10 เดือนที่ผ่านมา มีเงินสำรองระหว่างประเทศสุทธิเพิ่มขึ้น 22,695 ล้านเหรียญ (แปลงเป็นเงินบาท ณ 34 บาทต่อดอลลาร์ จะอยู่ที่ 771,630 ล้านบาท) และแม้ในปัจจุบันปริมาณเงินทุนสำรองจะเพิ่มขึ้น แต่เมื่อใดที่ค่าเงินดอลลาร์อ่อนค่า และส่งผลให้เงินบาทแข็งค่าขึ้น เมื่อมีการแปลงเป็นสกุลเงินบาท ทำให้มูลค่าเงินทุนสำรองสุทธิลดลง โดย 10 เดือนที่ผ่านมา พบว่า ธปท.ขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนในเงินทุนสำรองระหว่างประเทศสุทธิทั้งสิ้น 651,755 ล้านบาท

ขิงแก่ถอยร่าง พ.ร.บ.เงินตรา

ก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วานนี้ (30 ต.ค.) มีกระแสข่าวว่า ตามวาระ ครม. นายฉลองภพ สุสังกรกาญจน์ รมว.คลัง จะนำร่างพ.ร.บ.เงินตรา พ.ศ.... ฉบับแก้ไข เสนอต่อที่ประชุม ครม. เพื่อขอความเห็นชอบก่อนเสนอต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) อีกครั้ง ปรากฏว่า ที่ประชุม ครม. วานนี้ ไม่มีการหารือในเรื่องดังกล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เนื่องจากที่มีหนังสือให้ชะลอออกมาและไม่มีการยืนยันว่า จะเสนอครม.เพื่อพิจารณาหรือเสนอ สนช.อีกครั้งหรือไม่ ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 29 ต.ค. หรือ 1 วันก่อนประชุม ครม. กระทรวงการคลังได้รับหนังสือคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ลงนามโดย พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี ระบุว่า ขอให้ชะลอร่างพ.ร.บ. ฉบับนี้ไว้ก่อน โดยให้กระทรวงการคลัง ศึกษาร่างพ.ร.บ.อย่างรอบด้าน และให้ขอคำปรึกษาจากสถาบันพระปกเกล้า โดยจัดระดมความคิดเห็นกับประชาชน นักวิชาการ นักกฎหมายอย่างรอบด้าน

ด้าน นายฉลองภพ กล่าวว่า จะเลิกผลักดันร่าง พ.ร.บ.เงินตรา เข้า สนช.ในสมัยของรัฐบาลชุดนี้แล้ว เพื่อไม่ให้เกิดความขัดแย้งขึ้นในสังคม เนื่องจากเรื่องดังกล่าวกลายเป็นประเด็นทางการเมืองไปแล้ว โดยมองว่าสังคมไทยยังยึดติดกับแนวคิดเดิมที่ไม่ไว้ใจธนาคารกลาง หลังจากการบริหารทุนสำรองที่ผิดพลาดของธนาคารแห่งประเทศไทยในช่วง 10 ปีก่อนที่เป็นสาเหตุให้เกิดวิกฤติเศรษฐกิจ ตนอยากฝากให้รัฐบาลใหม่และ ธปท.ทำความเข้าใจกับสังคมให้มากขึ้นในประเด็นเหล่านี้ และแก้ไขทัศนคติที่ยึดติดกับแนวคิดเดิม เพื่อให้ประเทศเดินหน้าต่อไป

ก่อนหน้านี้ นายฉลองภพพยายามที่จะผลักดัน พ.ร.บ.เงินตรา เข้าเสนอที่ประชุม ครม.เพื่อให้ สนช.ตีตราหลายครั้งหลายครา แต่ก็ต้องชะลอไว้ทุกครั้ง ครั้งล่าสุดนายฉลองภพยอมที่จะตัดมาตราที่ 16 (วรรค 34/2,3,4) ในร่าง พ.ร.บ.ฯ สาระสำคัญในมาตราดังกล่าวก็คือการรวมบัญชี ธปท.กับบัญชีคลังหลวงเข้าด้วยกัน ทำให้คณะศิษย์หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโณ ออกมาเคลื่อนไหวคัดค้าน เพราะไม่ต้องการให้ส่วนรวมเสียหาย โดยเห็นว่าการยอมให้มีการกลบผลขาดทุนอัตราแลกเปลี่ยนที่เกิดจากการบริหารของ ธปท. หรือการนำเงินคลังหลวงไปใช้หนี้กองทุนฟื้นฟู และหนุนหลังการออกธนบัตรเป็นเรื่องที่ไม่เหมาะสม


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.