|
'ยูเนี่ยนฟุทแวร์'รื้อธุรกิจเพิ่มทุน400ล.ลุยผลิตชิ้นส่วนอิเลกฯ
ผู้จัดการรายวัน(31 ตุลาคม 2550)
กลับสู่หน้าหลัก
นายทรงศักดิ์ ธรรมภิมุขวัฒนา กรรมการผู้จัดการ บริษัท ยูเนี่ยนฟุทแวร์ จํากัด (มหาชน) หรือ UF เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทมีมติให้เพิ่มทุนจดทะเบียนของบริษัทฯ จากเดิม 200 ล้านบาท เป็น 600 ล้านบาทโดยจะเพิ่มทุนอีก 40 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้ (พาร์) หุ้นละ 10 บาท โดยจะจัดสรรให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิมในอัตราส่วนหุ้นเดิม 1 หุ้นสามารถใช้สิทธิซื้อหุ้นเพิ่มทุนได้ 2 หุ้นในราคาหุ้นละ 10 บาท
ทั้งนี้ หากผู้ถือหุ้นเดิมไม่ใช้สิทธิตามสิทธิในการจองซื้อหุ้นเพิ่มทุนให้จัดสรรหุ้นในส่วนที่เหลือทั้งหมดให้แก่ บริษัท สหยูเนี่ยน จำกัด (มหาชน หรือ SUC ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของบริษัท
สำหรับเงินที่ได้รับจากการเพิ่มทุนบริษัทในครั้งนี้ บริษัทจะนำไปซื้อสินทรัพย์เพื่อประกอบธุรกิจใหม่เกี่ยวกับการรับจ้างผลิตชิ้นส่วนอีเลกทรอนิกส์ ประเภทคอมพิวเตอร์ ประมาณ 280-300 ล้านบาท และนำไปชำระหนี้คงค้าง 100-120 ล้านบาท
ในส่วนของการปรับเปลี่ยนธุรกิจครั้งใหม่ เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับการดำเนินงานของบริษัท ที่ได้หยุดดำเนินธุรกิจรองเท้า หลังจากประสบปัญหาขาดทุนต่อเนื่องมาในช่วงหลายปี นอกจากนี้ ยังเป็นการคงสถานะในการเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ เพื่อประโยชน์ต่อผู้ถือหุ้น ซึ่งจะได้รับประโยชน์จากผลตอบแทนที่ได้รับจากการลงทุนในรูปแบบเงินปันผล โดยบริษัทคาดว่าจะมีกำไรในช่วงประมาณ 3-5 ปี
อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการบริษัทได้มีมติในการแก้ไขเพิ่มเติมหนังสือ บริคณห์สนธิ ของบริษัท ข้อ 4 เพื่อให้สอดคล้องกับการเพิ่มทุนจดทะเบียนของบริษัท และแก้ไขข้อบังคับบริษัทว่าด้วยชื่อ และดวงตราสำคัญของบริษัทในดวงตราสำคัญของบริษัท โดยเปลี่ยนชื่อใหม่เป็นบริษัท ยูเนี่ยนเทคโนโลยี่ (2008) จํากัด (มหาชน) โดยใช้ชื่อภาษาอังกฤษ "Union Technology (2008) Public Company Limited"
นายทรงศักดิ์ กล่าวอีกว่า ที่ประชุมคณะกรรมการมีมติให้ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับกับการรับจ้างผลิตชิ้นส่วนอีเลคทรอนิกส์ประเภทคอมพิวเตอร์ โดยบริษัทจะดำเนินการในการซื้อสินทรัพย์จาก SUC เพื่อประกอบธุรกิจใหม่ ขณะที่จะเช่าที่ดิน อาคารโรงงาน Cleanroom และอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องจาก SUC ซึ่งจะทำสัญญาเช่าเป็นปีต่อปี และต่ออายุสัญญาเช่าทุกปีตราบเท่าที่ยังทำธุรกิจอยู่ ขณะเดียวกัน บริษัทจะได้รับคําสั่งผลิตชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์จากSUC ซึ่งถือว่าเป็นรายการปกติทางการค้าโดยทั่วไป โดยบริษัทได้แต่งตั้งบริษัท แอสเซท โปร แมเนจเม้นท์ จำกัด เป็นที่ปรึกษาทาง การเงินอิสระ และให้ความเห็นรายการดังกล่าว
ทั้งนี้ การดำเนินการดังกล่าวระหว่างบริษัท ยูเนี่ยนฟุท-แวร์ฯ กับบริษัทสหยูเนี่ยนฯ ถือว่าเป็นการทำรายการที่เกี่ยวโยงกัน แต่เป็นไปเพื่อแก้ไขสถานการณ์การดำเนินงานของบริษัทฯ ให้ดำเนินงานต่อไปได้ และสามารถคงสถานะการเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯต่อไป โดยการทำรายการที่เกี่ยวโยงกันในครั้งนี้ ต้องผ่านมติจากที่ประชุมผู้ถือหุ้น ซึ่งผู้เกี่ยวโยง คือ SUC จะไม่ออกเสียงในที่ประชุมผู้ถือหุ้นที่จะจัดประชุมผู้ถือหุ้นในวันที่ 11 ธ.ค. 50 เฉพาะรายการซื้อทรัพย์สินและเช่าที่ดินอาคารโรงงานและ CLEAN ROOM และทรัพย์สินถาวรอื่นๆ จาก SUC
นอกจากนี้ คณะกรรมการบริษัทและคณะกรรมการตรวจสอบ มีความเห็นว่าเพื่อประโยชน์สูงสุดของUF บริษัทฯควรเข้าทำรายการดังกล่าว เพื่อลดความเสียหายของบริษัท ที่ปัจจุบันมีส่วนของผู้ถือหุ้นติดลบ ซึ่งต่อไปในอนาคตประมาณ 3 ถึง 5 ปี ผู้ถือหุ้นจะได้รับผลตอบแทนในรูปของเงินปันผลจากการดำเนินธุรกิจใหม่นี้
อนึ่ง ก่อนหน้านี้บริษัท ยูเนี่ยนฟุทแวร์ฯ แจ้งการประกาศปิดดำเนินธุรกิจรองเท้า เนื่องจากอุตสาหกรรมรองเท้ามีการแข่งขันสูงจากต่างประเทศ ประกอบกับปัจจุบันเป็นตลาดของผู้ซื้อน้อยราย ทำให้มีโอกาสน้อยในการเจรจาต่อรองเงื่อนไขและราคาขาย ถึงแม้บริษัทฯ ได้พัฒนาทั้งระบบการบริหารจัดการ และกระบวนการผลิตอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด แต่ความสามารถในการทำกำไรก็ลดลงทุกปี และบริษัทฯ ประสบผลขาดทุนติดต่อกันมาเกินกว่า 3 ปี
ขณะเดียวกัน ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท ยังมีมติให้เพิกถอนหลักทรัพย์ของบริษัทฯ ออกจากการเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ก่อนผู้ถือหุ้นจะคัดค้านการถอนบริษัทออกจากการเป็นบริษัทจดทะเบียน โดยมีผู้เห็นด้วยในการถอนหลักทรัพย์จำนวน 1,941,897 เสียง ขณะที่ไม่เห็นด้วยในการถอนหลักทรัพย์ฯ จำนวน 13,425,561 เสียง หรือ 87.26% ของจำนวนหุ้นที่ออกเสียง หรือ 67.12% ของทุนชำระแล้ว (ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ 10,602,580 เสียง หรือ68.91% ของจำนวนหุ้นที่ออกเสียง หรือ 53.01% ของทุนชำระแล้ว และผู้ถือหุ้นรายย่อย 2,822,981เสียง หรือ 18.35% ของจำนวนหุ้นที่ออกเสียง หรือ 14.11% ของทุนชำระแล้ว)
นอกจากนี้ ยังมีมติให้ขอรับความช่วยเหลือทางการเงินจากบริษัทสหยูเนี่ยนฯ หรือ SUC โดยขอให้ SUC ค้ำประกันทางการค้าเกี่ยวกับ L/C หรือ T/R กับธนาคารจากเดิม90 ล้านบาท เป็น 160 ล้านบาทและให้บริษัทฯขอกู้ยืมเงินจาก SUC จำนวน 180 ล้านบาท
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|