จากมันสมองและสองมือของลูกผู้หญิงคนหนึ่งที่มีวิชาติดตัวเพียงแค่ใบประกาศนียบัตรชั้นมัธยมต้น
แต่สามารถสร้างธุรกิจให้ขยายใหญ่โตครบวงจรในปัจจุบันได้ จึงเป็นเรื่องที่น่าจะได้รับการกล่าวถึง
สุชาดี มณีวงศ์ เจ้าของเสียงเย็น ๆ เรียบง่ายของรายการกระจกหกด้าน ที่ฉายทางทีวีช่อง
7 ทุกวันช่วงค่ำ กำลังขยายอาณาจักรของตนเองให้ครบวงจรตามพลังในการทำงานที่เธอมีอยู่
เธอเริ่มจากการเปิดบริษัททรี ไลอ้อน ซึ่งเป็นโปรดักชั่นเฮาส์ผลิตรายการสู่โทรทัศน์และทำรายการสปอตวิทยุ
ก็คือบริษัทที่ทำการผลิตรายการกระจำหกด้านและรับจ้างผลิตสารคดีทั่วไปในปัจจุบันนี้
การประสบความสำเร็จในด้านการผลิตรายการสารคดีอย่างมากมายนั้น สุชาดีบอกว่า
เธอมีส่วนช่วยที่เป็นมืออาชีพร่วมล้มลุกคลุกคลานมากับเธออย่างจริงจัง คือ
ดรล์ รัตนทัศนีย์ ซึ่งก่อนจะมาอยู่ทรี ไลอ้อนนี้ ดรล์เป็นผู้ที่อยู่ในวงการบริษัทโฆษณาเป็นมือครีเอทีฟจากลินตาสมาก่อน
สุชาดี ยอมรับว่า ความสำเร็จที่ได้รับไม่ใช่มาจากมันสมองของเธอเองทั้งหมด
แต่มาจากความร่วมมือของเพื่อนที่ช่วยกันสร้างขึ้นมาให้บริษัทเล็ก ๆ ขยายใหญ่โต
ขณะเดียวกันแรงจากความตั้งใจทำงานของพนักงานที่เป็นคนรุ่นใหม่ไฟแรงก็เป็นแรงหนุนให้ทรีไลอ้อนก้าวมาได้ไกลจากศูนย์จนมีรายได้
50 ล้านบาทในทุกวันนี้
แม้ว่าวงการโปรดักชั่นเฮาส์จะมีปัญหาเรื่องการซื้อตัวพนักงาน ปริมาณการโยกย้ายงานของบุคลากรในองค์กรเหล่านี้มีสูงเหมือนเช่นวงการโฆษณาก็ตาม
แต่ทรี ไลออนอาจเรียกได้ว่าไม่คอยประสบปัญหาการซื้อตัว ทั้งนี้เพราะนโยบายในการบริหารงานของสุชาดี
คือ การสร้างบุคลากรของทรี ไลอ้อนขึ้นมาเองจากการฟูมฟักให้ตั้งไข่เมื่อเริ่มต้นและผลักดันให้โตทันความต้องการ
"การสร้างบุคลากรของตนเองขึ้นมาโดยรับเด็กจบใหมไม่เป็นงานเข้ามาฝึกฝนจนชำนาญงาน
และตั้งให้เขาใหญ่โตตามความสามารถ แต่ละคนสามารถป้องกันปัญหาสมองไหลได้ดี
เพราะบุคคลเหล่านี้เป็นผู้ที่มีการศึกษาสูง ความบริสุทธิ์ทางความคิด อุดมการณ์
และคุณธรรมในหัวใจมีอยู่สูง จึงกลายเป็นเรื่องที่เราไม่ได้ผูกมัดเขาด้วยเงิน
แต่การผูกตัวด้วยหัวใจมีค่าเหนือสิ่งอื่นใด" สุชาดี มณีวงศ์ กรรมการผู้จัดการบริษัททรีลเลี่ยนส์บริษัทในเครือทรี
ไลอ้อน กล่าวกับ "ผู้จัดการ"
การเติบโตของบุคลากรภายในองค์กรย่อมหมายถึงการเติบโตของบริษัทฯ ด้วย สุชาดีเชื่อเช่นนั้น
!!!
ว่ากันตามจริงแล้ว การเติบโตของทรี ไลอ้อนเป็นเรื่องธรรมดาของบริษัทเกิดใหม่ที่ทั่วไปก็เป็นเช่นนี้
แต่สิ่งที่น่าสนใจและสมควรหยิบยกมากล่าวถึง คือ ทรี ไลอ้อน โตขึ้นมาอย่างไม่มีระบบบริหารงานแบบสากล
คือ MANAGEMENT BY OBJECTIVE (MBO)
หมายความว่า สุชาดีไม่มีเป้าหมายในการทำงาน หรือวางแผนในอนาคตไว้ล่วงหน้า
และเดินตามแผนงานที่วางไว้ แต่สุชาดีทำงานอย่างถือคติ "ทำวันนี้ให้ดีที่สุด"
ซึ่งเหมือนกับให้บริษัทอยู่ไปได้ในวัน ๆ หนึ่งเท่านั้น หรืออาจเรียกได้ว่าทำงานไปแบบไม่มีความใฝ่ฝัน
"การที่ยึดคติทำวันนี้ให้ดีที่สุด ไม่ได้หมายความว่า ไม่ให้บริษัทโต
บริษัทจะขยายตัวไปตามกลไกของมันเองด้วยพื้นฐานของความมั่นคง หากเราทำวันนี้ซึ่งเป็นรากฐานที่แข็งแรงแล้ว
วันข้างหน้าจะเป็นอย่างไรก็ตาม ทรี ไลอ้อนจะไม่มีวันล้ม ซึ่งอาจหมายถึงว่า
การเติบโตจะเป็นไปอย่างช้า ๆ ที่ไม่เร่งร้อนก็ได้" สุชาดี กล่าวถึงเหตุผลที่ค่อนข้าง
CONSERVATIVE
ทรี ไลอ้อน เติบโตมาจากการทำรายการสารคดีกระจกหกด้าน จนสามารถสร้างชื่อเสียงในวงการและได้รับการยอมรับเป็นอย่างดี
ทุกวันนี้ทรี ไลอ้อน จึงมีรายการผลิตสารคดีเพิ่มอย่างมากมาย
อาทิ รายการในวันหยุดนักขัตฤกษ์ หรือวันหยุดพิเศษ ทรี ไลอ้อน ได้เข้าไปทำรายการสารคดีบันทึกวันหยุด
สารคดีเหล่านี้โดยส่วนใหญ่จะยึดแนวเรื่องจริงที่เกิดในสังคมกรุงเทพฯ ทุกวันนี้
อันเนื่องมาจากปัญหาสิ่งแวดล้อมหรือเรื่องราวที่เกิดขึ้นสด ๆ ร้อน ๆ ซึ่งเป็นพิษเป็นภัยต่อสังคมไทย
นอกจากนี้ ในปีหน้าซึ่งเป็นปีที่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ มีพระชนมายุครบ
60 พรรษา ทางทรี ไลอ้อนได้รับเกียรติและความไว้วางใจจากสำนักพระราชวังให้ทำการผลิตรายการสารคดีชีวประวัติของพระองค์ท่านต่อจากที่บริษัทแปซิฟิค
คอมมิวนิเคชั่นที่สมเกียรติ อ่อนวิมลทำอยู่ในปีนี้ ซึ่งเป็นการผลิตรายการที่ใช้งบประมาณหลายล้านบาท
รายการบันทึกวันหยุดแม้จะเป็นสารคดีแต่ก็จะต่างกับรายการสารคดีกระจกหกด้านโดยสิ้นเชิง
คือ กระจกหกด้านจะเป็นเรื่องแห้ง ๆ ที่เกิดขึ้นมาแล้วในอดีตและนำมาเล่ากันฟัง
โดยฝังแง่คิดและบทเรียนในอดีตเพื่อเป็นแง่คิดข้อเตือนใจในปัจจุบันได้
สุชาดี กล่าวว่า ทรี ไลอ้อนมีบุคลากรหลัก ๆ อยู่ 3 คน คือ ดรล์ รัตนทัศนีย์
ซึ่ง ณ วันนี้มีตำแหน่งเป็นกรรมการผู้จัดการพรชัย ธีระลักษณ์ เป็นบรรณาธิการกระจกหกด้าน
และปฤษณา รามสูรย์ เป็นผู้จัดการทั่วไปและทำหน้าที่บริหารด้านการเงินด้วย
ซึ่งเป็นตำแหน่งใหม่ที่เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อไม่นานมานี้ หลังจากที่ทรี ไลอ้อนอยู่มาได้แบบไม่มีระบบบริหารและวางแผนการเงิน
"เงินที่นำมาลงทุนผลิตรายการและซื้อเวลาอยู่ทุกวันนี้ ไม่ใช่มาจากการกู้เงินแต่มาจากน้ำพักน้ำแรงที่สะสมมาเองทั้งหมด
หมายความว่า ถ้าจะลงทุนทำอะไรจะดูว่าต้องใช้เงินเท่าไร ก็จะเพียรพยายามทำงานและเก็บเงินจนพอใช้จ่าย
แล้วจึงเริ่มลงมือทำ ทุกวันนี้ ทรี ไลอ้อน จึงเป็นบริษัทเดียวในเมืองไทยก็ว่าได้ที่ทำธุรกิจอย่างไม่มีหนี้สิน"
สุชาดีเล่าถึงที่มาของความจำเป็นในการดึงเพื่อนซึ่งอดีตเป็นผู้ช่วยผู้จัดการฝ่าการเงินธนาคารเอเซียเข้ามาบริหารด้านการเงิน
นอกจากบุคลากรหลักทั้ง 3 คนที่กล่าวถึงแล้ว ทรี ไลอ้อนยังมีสายเลือดแท้
ๆ ของสุชาดีอีก 4 คนเข้ามาช่วยงานสืบทอดเจตนารมณ์ก่อนที่เธอจะเกษียณตัวเอง
ซึ่งแต่ละคนจะเรียนในด้านที่จบออกมาช่วยงานบริษัทไดั้นที อาทิ แมสคอม ซาวน์
เอนจีเนีย เป็นต้น
เมื่อ ทรี ไลอ้อน เติบโตและมีหลักที่มั่นคงแล้วตามแนวความคิดทำวันนี้ให้ดีที่สุดได้แล้ว
การขยายอาณาจักรต่อไปจึงเป็นเรื่องที่สุชาดีต้องทำเพื่อให้ครบวงจร ประกอบกับการเติบโตของบุคลากรภายในองค์กรเป็นไปอย่างรวดเร็วกลายเป็นเรื่องที่เธอต้องหาทางออกให้กับเขาเหล่านั้น
"ทรีลเลี่ยนส์" บริษัทเอเยนซี่เพื่อการซื้อสื่อโฆษณาจึงเกิดขึ้น
เมื่อมีบริษัทผลิตรายการแล้ว บริษัทที่ซื้อสื่อขายสื่อ และรับทำโฆษณาน่าจะเป็นบริษัทที่รองรับความต้องการนี้ได้ดี
!!!
สุชาดีบริหารทรีลเลี่ยนส์ในตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ โดยละทิ้งตำแหน่งในทรี
ไลอ้อน ให้บรรดาเพื่อน ๆ เป็นผู้ดูแลแล้วตนเองออกมาบริหารงานบริษัทใหม่ โดยมุ่งหวังว่านอกจากการซื้อสื่อและขายสื่อแล้ว
เธอจะใช้โปรดักชั่นเฮาส์ของเธอให้เป็นประโยชน์ในการผลิตโฆษณาด้วย ซึ่งบริษัทโฆษณาในปัจจุบันน้อยรายที่จะมีโปรดักชั่นเฮาส์เป็นของตนเอง
แม้ว่าสุชาดีจะบริหารงานอย่างถือคติ "ทำวันนี้ให้ดีที่สุด" เหมือนคนที่ไม่มีเป้าหมายในชีวิต
แต่เธอก็ยังสร้างความหวังในอนาคตด้วยเหมือนกันว่า บริษัทที่เธอสร้างมาด้วยมันสมอง
และสองมือของเธอนั้นจะกลายเป็นอาณาจักรที่ครบวงจรในอนาคตได้ก่อนที่เธอจะปลดเกษียณตัวเองเมื่อวัย
50 ปีมาถึงในอีก 5 ปีข้างหน้านี้