ภูริช มหาดำรงค์กุล ทายาทพ่อค้าขายนาฬิการุ่นที่สอง


นิตยสารผู้จัดการ( ธันวาคม 2534)



กลับสู่หน้าหลัก

"หนทางพิสูจน์ม้า กาลเวลาพิสูจน์คน" ภูริช มหาดำรงค์กุล นักค้านาฬิการายใหญ่ในประเทศไทย หลังจากหายเงียบไปก็ได้เป็นข่าวคราวขึ้นมาในฐานะกรรมการผู้จัดการของบริษัทใหม่ "เมืองทองไซโก" ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่างกลุ่มเมืองทองและบริษัทไซโก คอร์ปอเรชั่นแห่งญี่ปุ่น ในสัดส่วน 70 : 30 โดยมีสองผู้ยิ่งใหญ่แห่งวงการนาฬิกาโลก มร.เรอิจิโร ฮัตโตริ ประธานกลุ่มบริษัทไซโก และมงคล กาญจนพาสน์ เป็นประธานกิตติมศักดิ์ บริษัทนี้จะทำหน้าที่เป็นบริษัทธุรกิจจัดจำหน่ายนาฬิกาไซโกที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย โดยมีทุนจดทะเบียนถึง 150 ล้านซึ่งนับว่าสูงที่สุดของกลุ่มไซโกในภูมิภาคนี้

ในตลาดนาฬิกาเมืองไทย ตระกูลที่ผูกขาดความเป็นผู้นำในธุรกิจการค้านาฬิกามีอยู่เพียงสองตระกูลใหญ่ คือ กาญจนพาสน์ และมหาดำรงค์กุล ซึ่งต่างก็มีประวัติศาสตร์การสร้างอาณาจักรการค้าขึ้นมาร่วมกัน จากตัวแทนจำหน่ายนาฬิกาชั้นนำของสวิสและญี่ปุ่นก็พัฒนาขึ้นสู่ฐานะผู้ร่วมลงทุนกับบริษัทไซโก ตั้งบริษัทเมืองทองไซโกขึ้นในปีนี้

"การร่วมทุนครั้งนี้จะทำให้เราได้โนว์ฮาวเกี่ยวกับระบบที่ไซโกใช้อยู่ทั้งหมด เช่น ระบบคอมพิวเตอร์สมัยใหม่ ซึ่งเรียกว่า MARK FOUR SYSTEM เชื่อมโยงเครือข่าย 100 สาขาทั่วโลกโดยตรง ตลอดจนระบบการบริหารสินค้าแบบ MERCHANDISING ที่รวดเร็วและทันเกมมาก" ภูริช มหาดำรงค์กุล เล่าให้ฟัง

นอกจากนี้ ไซโกยังมีโครงการลงทุนในผลิตภัณฑ์ที่ไม่เกี่ยวกับเวลาทางด้านอิเล็คทรอนิกส์ คือ ตั้งบริษัทไซโกเอปสัน คอร์ปอเรชั่น ผู้ผลิตพรินเตอร์ยี่ห้อ "เอปสัน" คอมพิวเตอร์ และเครื่องของนาฬิกาควอทซ์อีกด้วย แต่โครงการมูลค่า 800 ล้านนี้

ภูริช เล่าว่า น่าเสียดายมากที่เจอปัญหาเรื่องระบบกำจัดน้ำเสียซึ่งนิคมอุตสาหกรรมเกี่ยงให้สร้างเอง ขณะที่ทางมาเลเซียพร้อมจัดการเรื่องนี้ให้ทำให้บริษัทแม่ได้ย้ายไปลงที่มาเลเซียแทน

บริษัทเมืองทองไซโก มิใช่บริษัทที่เริ่มต้นนับหนึ่ง แต่เกิดจากภูมิหลังการค้าและสายสัมพันธ์ส่วนตัวที่ยาวนานนับ 30 ปีกับบริษัทไซโก คอร์ปอเรชั่นแห่งญี่ปุ่น ตั้งแต่ปี 2504 จากกิจการบริษัทเมืองทองที่เริ่มต้นธุรกิจร้านขายนาฬิกาเล็ก ๆ มีดิเรก มหาดำรงค์กุล หรือ "ก่าว โลพก" เป็นช่างซ่อมนาฬิกาฝีมือดี มีคนค้าขายหน้าร้านเก่งอย่าง "เสี่ยเม้ง" มงคล กาญจนพาสน์ และมี "เสี่ยซ้ง" บิดาของบุรินทร์ วงศ์สงวน เป็นผู้คอยตกแต่งร้านให้สวยงามดึงดูดสายตาของลูกค้า

ต่อมากิจการค้าขายนาฬิกาได้กลายเป็นฐานการเงินสำคัญของทั้งสองตระกูลเพื่อลงทุนในแขนงอื่น ๆ เช่น แบงก์นครหลวงไทย ซึ่งมหาดำรงค์กุลต้องประสบความล้มเหลวในภาวะวิกฤตสถาบันการเงินปี 2528 ส่วนธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ของกลุ่มบริษัทบางกอกแลนด์และธนายงของกาญจนพาสน์กลับเติบโตในปัจจุบัน

ถึงกระนั้นก็ตาม ธุรกิจค้านาฬิกา ซึ่งถือเป็นธุรกิจเก่าแก่ของทั้งสองตระกูลก็ยังคงดำรงอยู่เป็นหลัก โดยเฉพาะอาณาจักรธุรกิจนาฬิกาของเสี่ยเม้งได้เติบใหญ่ครบวงจร โดยมีฐานธุรกิจอยู่ที่ฮ่องกง และสิงคโปร์ ในนามของโรงงานสเตลักซ์ และบริษัท STELUX WATCH HOLDING ซึ่งเพิ่งได้รับการส่งเสริมจากรัฐบาลสิงคโปร์ให้เป็น OPERATION HEAD OFFICE ได้รับสิทธิพิเศษทางภาษีต่าง ๆ ในธุรกิจนาฬิกา ปีที่แล้วกลุ่มสเตลักซ์มียอดขายทั้งสิ้น 1,200 ล้านเหรียญฮ่องกงหรือประมาณ 4 พันล้านบาท

ส่วนสายธุรกิจค้านาฬิกาของตระกุลมหาดำรงค์กุล หลังจากเสี่ยงเม้งได้ปักหลักฐานที่ฮ่องกงในช่วงผันผวนทางการเมืองไทยปี 2514-2520 กิจการค้นาฬิกาในไทย ดิเรก ดิลก และชัยโรจน์ มหาดำรงค์กุล ก็ได้บุกเบิกธุรกิจต่อไปในนามของบริษัทกาลทองเทรดดิ้งซึ่งเป็นเอเย่นต์นาฬิกาไซโก บริษัทศรีทองพาณิชย์ซึ่งเป็นตัวแทนจำหน่ายนาฬิกา "ราโด้" และ "ซิติเซ่น" รวมทั้งตั้งโรงงาน "คอสโม" ทำกล่องนาฬิกาตัวเรือน หน้าปัด และชิ้นส่วน

ล่าสุดการตั้งบริษัทร่วมทุนกับบริษัทแม่ ไซโกในนามของบริษัท "เมืองทองไซโก" ก็ช่วยเสริมความแข็งแกร่งยิ่งขึ้นในทีมงานบริหารมืออาชีพที่ภูริช มหาดำรงค์กุล ดูแลอยู่ในฐานะกรรมการผู้จัดการซึ่งย้ายเก้าอี้ตำแหน่งมาจากบริษัทกาลทองเทรดดิ้ง ที่ยุติกิจกรรมทางการตลาดนาฬิกาไซโกแล้ว

"นโยบายของเราจะรุกตลาดมากขึ้น อัตราการเติบโตปีหน้าเราจะเน้นครองส่วนแบ่งตลาดมากขึ้น ขณะนี้ผมเชื่อว่า ไซโกมีส่วนแบ่งไม่ต่ำกว่า 30% ของมูลค่าตลาดไม่ต่ำกว่าพันล้านบาท" ความคาดหมายของภูริช มหาดำรงค์กุลนี้ กล่าวว่า มีส่วนหนึ่งที่ขึ้นอยู่กับนโยบายการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มที่จะกระทบการค้า

"ตอนนี้ร้านค้าตัวแทนเราสับสนไม่รู้ว่าจะไปทางไหน ถ้าหากต้องใช้ภาษีมูลค่าเพิ่ม เราก็แนะนำเขาสองทาง คือ ระยะสั้นและระยะยาว แผนระยะสั้นก็คืออย่าตุนสต็อกสินค้า เช่น ซื้อนาฬิกาหลาย ๆ แบบแต่ละแบบไม่มากเรือน ตรงนี้เขาจะได้ DISPLAY SHARE และมาร์เก็ตแชร์ในอนาคต ส่นแผนระยะยาวปรับปรุงกิจการเป็นรูปบริษัท ตั้งเงินเดือนตัวเอง เพื่อมีค่าใช้จ่ายไว้หักได้เป็นการเตรียมตัวเข้าสู่ระบบภาษีที่ถูกต้องและไม่ซ้ำซ้อน" ภูริชเล่าให้ฟังถึงแผนการตั้งรับภาษีใหม่

"ในอนาคต ภาษีเทศบาลและภาษีการค้าจะถูกเปลี่ยนเป็นภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% ซึ่งทำให้โครงสร้างราคาชัดเจนไม่ซับซ้อน ขณะที่ตอนนี้อากรขาเข้าของนาฬิกาข้อมือ คือ 20% ที่รวมภาษีดังกล่าวข้างต้นด้วย แต่ถ้าไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงด้านอากรนำเข้านอกจากภาษีมูลค่าเพิ่ม ผมเชื่อว่าคนไทยไม่ต้องซื้อนาฬิกาแพงจากต่างประเทศอีกต่อไป" นิรันดร์ หงสานุกูลสันติ์ ผู้จัดการทั่วไปซึ่งทำงานกับกาลทองมา 6 ปีและมีสายสัมพันธ์ส่วนตัวกับครอบครัวมหาดำรงค์กุลมานานก่อนจะมาทำงานที่นี่ นิรันดร์เคยเป็นอดีตผู้จัดการฝ่ายขายของบริษัทไทยเท็กซ์ไทล์ อินดัสทรี ของบุญนำ บุญนำทรัพย์

การรุกตลาดให้ได้ส่วนแบ่งตลาดมากขึ้นนั้น กลยุทธ์ทางด้าน TRADE PROMOTION และ SALES PROMOTION ต้อง AGGRESSIVE โดยขึ้นอยู่กับทีมงานหนุ่มสาวนักบริหารที่มีอายุไม่เกิน 40 ปี นับตั้งแต่ภูริช มหาดำรงค์กุล กรรมการผู้จัดการ นิรันดร์ หงสานุกุลสันติ์ ผู้จัดการทั่วไป โคโซ อาดาชิ รองกรรมการผู้จัดการที่เป็นชาวญี่ปุ่นประสานงานระหว่างประเทศ อภิชาติ เทียมจรัส รองผู้จัดการทั่วไป มณเธียร ธนานาถ ผู้จัดการอาวุโสฝ่ายการตลาด 1 ผู้มีประสบการณ์จากบริษัทเพรสโก้และโค้ก เอ็กซ์ปอร์ตฯ วลี วรชัยธนากร ผู้หญิงคนเดียวในทีมที่ดูแลฝ่ายการตลาด 2 ในฐานะผู้จัดการอาวุโสและกิตต เกียรติธนะบำรุง ผู้จัดการแผนกบริการงานขายที่ดูแลร้านค้าตัวแทนจำหน่ายไม่ต่ำกว่า 700 แห่ง ซึ่งผูกสายสัมพันธ์การค้ามาตั้งแต่รุ่นพ่อถึงรุ่นลูก และต้องช่วงชิงความเป็นหนึ่งในใจของตัวแทนขายเหล่านี้ให้ได้ ขณะที่คู่แข่งก็มีเป้าหมายเดียวกัน

ความแข็งแกร่งของภาพพจน์นาฬิกาไซโกในไทยยังมีความเป็นผู้นำในตลาดนาฬิกาญี่ปุ่นอยู่สูงมาก นอกจากนี้ยังมีบริษัทแม่สนับสนุนสินค้ารุ่นใหม่ ๆ ที่ครอบคลุมทุกเซกเมนต์ตลาดได้ครบถ้วน ตั้งแต่นาฬิกาแฟชั่นที่มุ่งกลุ่มเป้าหมายระดับสูง ไซโกก็มีนาฬิกา "LASSALE" และ "CREDOR" นาฬิกาที่เหมาะสำหรับตลาดระดับกลางก็มียี่ห้อ "PULSAR" และตลาดระดับล่างก็มียี่ห้อ "ALBA" และ "LORUS"

"จากผลสำรวจของดีมาร์และอาร์ดีอาร์ที่เราจ้างมา พบว่า อิมเมจของไซโกนำและพฤติกรรมผู้บริโภคคนไทยทุกวันนี้เปิดกว้างรับแฟชั่นใหม่ ๆ ได้เร็วกว่าเดิม ยี่ห้อดัง ๆ เช่น กุชชี่ เริ่มเป็นที่ยอมรับราคาระดับนี้กันแล้ว เดี๋ยวนี้คนไทยไม่กลัวของแพง ขอให้คุณภาพดีแล้วกันยอมเสียเท่าไรเท่ากัน" ภูริช ได้สะท้อนความเห็นถึงความตื่นตัวด้านคุณภาพของคนไทยที่ยอมสู้ราคา

นอกจากความแข็งแกร่งของภาพพจน์สินค้าแล้ว ภูริช ได้เน้นถึงนโยบายการบริการหลังขาย ซึ่งมีโครงการจะเปิดใหม่อีกสองแห่ง คือ ที่หาดใหญ่และต้นปีหน้าที่เชียงใหม่ นอกเหนือจากเดิมที่มีศูนย์บริการ และโชว์รูมที่กรุงเทพฯ สองแห่ง คือ สีลม และเวิลด์เทรด เซ็นเตอร์

ในปีหน้านาฬิกาไซโกได้รับเกียรติเป็นนาฬิกาที่ใช้จับเวลาในกีฬาโอลิมปิคครั้งที่ 25 ซึ่งจะจัดขึ้นที่ประเทศสเปน ภูริชได้เล่าให้ฟังจะมีการทำ TRADE PROMOTION แคมเปญรณรงค์ใหญ่สำหรับร้านค้าตัวแทนที่ทำทะลุเป้าจะได้รับรางวัลไปกินเที่ยวชมกีฬาโอลิมปิคที่เมืองบาเซโลนา ประเทศสเปนด้วย และมีกิจกรรม "DISPLAY CONTEST" ที่ส่งเสริมกลยุทธ์การจัดแต่งหน้าร้านให้ดึงดูดใจ โดยทางบริษัทจะจัดอุปกรณ์ตกแต่งร้านให้ เช่น สติ๊กเกอร์โมบาย "ไซโก" ฯลฯ นอกจากนี้บริษัทได้ลงทุนสร้างความสัมพันธ์อันดีกับร้านค้าตัวแทนโดยตรงด้วยการจัดทำ "สารไซโก" ที่ช่วยให้ร้านค้ารับรู้ข้อมูลการเปลี่ยนแปลงใหม่และเป็นสื่อกลางเชื่อมสายสัมพันธ์ระหว่างร้านค้าตัวแทน 700 แห่งเข้าด้วยกัน

ส่วนทางด้านการส่งเสริมการขายให้กับร้านค้า ภูริชเล่าว่า ได้มีการเตรียมทุ่มงบโฆษณา ซึ่งจะผ่านทางบริษัทเอเยนซีประกิตแอนด์เอฟซีบีเป็นเงินไม่ต่ำกว่า 10 ล้านบาท ซึ่งในอดีตบริษัทกาลทองได้เคยทุ่มงบโฆษณาและส่งเสริมการขายในงานฟุตบอลโลกมาแล้ว จนประสบความสำเร็จด้านยอดขาย

สงครามการตลาดในปีหน้าจึงน่าจับตาถึงความดุเดือดระหว่างยักษ์ใหญ่สองค่ายทั้งฝ่าย "ซิตี้เชน" ของตระกูลกาญจนพาสน์ และ "เมืองทองไซโก" ที่บริหารโดยภูริชทายาทมหาดำรงค์กุลรุ่นที่สอง ซึ่งต่างก็ชิงความเป็นเจ้าแห่งเวลาบนข้อมือคนไทย !!



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.