Helen Clark นายกหญิงจากเมืองกีวี

โดย ชาคริต เทียบเธียรรัตน์
นิตยสารผู้จัดการ( พฤศจิกายน 2550)



กลับสู่หน้าหลัก

จากศตวรรษที่ 19 จนถึงปัจจุบัน ประเทศนิวซีแลนด์เป็นผู้นำด้านสิทธิสตรีของโลกอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่เป็นประเทศแรกที่ให้ผู้หญิงมีสิทธิเลือกตั้งในปี 1893 ไปจนถึงเป็นประเทศแรกที่มี ส.ส.หญิง และเป็นประเทศแรกที่ให้ผู้หญิงเข้าศึกษาในมหาวิทยาลัย และถ้าพูดถึงบรรดาผู้นำทางการเมืองหญิงทั่วโลกที่ได้เข้ามาบริหารประเทศในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา คงหาใครที่สามารถมาเทียบเคียงกับเฮเลน คล้าก นายกรัฐมนตรีของประเทศนิวซีแลนด์ได้ยาก เพราะแม้แต่นิตยสารฟอร์บเองยังเคยจัดนางเข้าสู่ทำเนียบ 20 สตรีผู้ทรงอิทธิพลที่สุดในโลก

ในสังคมการเมืองของนิวซีแลนด์นั้น มีสองขั้วหลักๆ แบบเมืองฝรั่งทั่วโลกคือ แนว อนุรักษนิยม ซึ่งมีพรรคชาตินิวซีแลนด์เป็นผู้นำ กับแนวสังคมนิยม ซึ่งมีพรรคแรงงานเป็นหัวใจ แม้ว่าในเวลาต่อมาเฮเลน คล้ากจะเป็นผู้นำพรรคแรงงานที่โด่งดังที่สุดในรอบ 50 ปีของเมืองกีวี

แต่สำหรับชาวอนุรักษนิยมแล้ว เฮเลน ก็ไม่ใช่คนอื่นคนไกลที่ไหนเพราะตระกูลคล้าก นั้นเป็นสมาชิกพรรคชาติฯ มาหลายอายุคนแล้ว และเฮเลนเองก็ได้รับการศึกษาในสถาบัน สำหรับพวกอนุรักษ์ที่มีอันจะกินอย่างโรงเรียน สตรีเอพซ่อมแกรมม่า ก่อนที่จะเข้าศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยโอ๊กแลนด์ในคณะรัฐศาสตร์ จุดนี้เองที่เป็นจุดเปลี่ยนแปลงในชีวิตของเฮเลน เนื่องจากมหาวิทยาลัยโอ๊กแลนด์ในยุคนั้นเปรียบเสมือนศูนย์กลางของนักศึกษาฝ่ายซ้าย ในเมืองกีวี และเฮเลนเองก็เป็นนักศึกษาซึ่งได้ฉายแววผู้นำตั้งแต่ยังสาวๆ โดยเป็นผู้นำ นักศึกษาประท้วงการส่งทหารไปรบในเวียดนาม ซึ่งส่งผลให้เฮเลนเข้าเป็นสมาชิกพรรคแรงงาน แทนที่จะเข้าเป็นฝ่ายพรรคชาติฯ ตามที่ตระกูล คล้ากปฏิบัติกันมา

หลังจากที่เฮเลนคว้าปริญญาโท เกียรติ นิยมได้ตั้งแต่อายุ 24 ปี มหาวิทยาลัยได้เลือก ให้เฮเลนช่วยสอนในขณะที่ศึกษาต่อในระดับปริญญาเอก อย่างไรก็ตาม เฮเลนหลงเสน่ห์ การเมืองอย่างถอนตัวไม่ขึ้นและประสบความ สำเร็จจากการลงสมัครรับเลือกตั้งที่เขตเม้าท์ อัลเบิร์ต ซึ่งส่งผลให้เฮเลนต้องกลายเป็น นักการเมืองอาชีพตั้งแต่อายุ 31 ปี

แต่ทว่านโยบายของพรรคแรงงานที่ใช้ ตั้งแต่ปี 1984 กลับทำให้รัฐบาลแรงงานระส่ำ ระสายโดยเฉพาะนโยบายลอยค่าเงิน ส่งผลให้ ค่าเงินดอลลาร์นิวซีแลนด์ลดลงจาก 1 ดอลลาร์ กีวีเท่ากับ 1 เหรียญสหรัฐ ตกไปสู่ 2 ดอลลาร์ นิวซีแลนด์เท่ากับ 1 เหรียญสหรัฐ ประกอบกับ นโยบายขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่มสูงถึง 12.5% และนโยบายแปรรูปรัฐวิสาหกิจส่งผลให้รัฐบาลแรงงานเสียศูนย์และพ่ายแพ้การเลือกตั้งอย่าง ถล่มทลายต่อพรรคชาติฯ ในปี 1990 ความพ่ายแพ้นี้เองได้ส่งผลให้เฮเลนก้าวสู่ทำเนียบ ผู้นำหญิงคนแรกของพรรค และยังเป็นผู้นำคนแรกที่มาจากตระกูลอนุรักษนิยม ซึ่งเป็นฝ่ายตรงข้ามกับเลเบอร์อย่างสิ้นเชิง เพราะว่า นักการเมืองเลือดเลเบอร์แท้ๆ นั้นได้ออกไปแพ้เลือกตั้งถึง 3 คน

มีคำกล่าวว่าการเมืองนั้นนอกจากความรู้ความสามารถแล้ว ต้องมีดวงอีกด้วยนั้นเป็นเรื่องที่จริงที่สุดสำหรับเฮเลน คล้าก และหากพูดถึงก้างขนาดยักษ์ที่เฮเลนไม่สามารถเขี่ยได้ก็คงหนีไม่พ้นนายกรัฐมนตรีจิม โบลเจอร์ ซึ่งสยบผู้นำพรรคแรงงานมาแล้ว 4 คน รวมถึงเฮเลนเองซึ่งแพ้การเลือกตั้งแบบไม่เป็นท่าในปี 1996 แต่ดวงของเฮเลน นั้นไม่ธรรมดา เพราะโบลเจอร์นั้นได้พิฆาตตนเองในปีต่อมา

ที่จริงแล้วโบลเจอร์มีความคิดซ่อนเร้น ตั้งแต่หนุ่มๆ แล้วว่านิวซีแลนด์ควรจะเป็นสาธารณรัฐและเลือกตั้งประธานาธิบดีไปเลย แต่ด้วยความที่ตนเป็นชาวอนุรักษนิยมจะพูดโพล่งตอนที่ปีกยังอ่อนก็ดูจะไม่สมควร ทีนี้พอเป็นนายกมานานๆ เข้าลายก็เริ่มออก ขั้น แรกคือขอเปลี่ยนชื่อเรียกของเครื่องราชอิสริยาภรณ์ในเมืองกีวีก่อน ตรงนี้อย่าไปคิดว่าเป็นเรื่องเล็กนะครับ เพราะว่าเครื่องราชฯระดับนี้ใครได้รับพระราชทาน จะได้เป็นท่านเซอร์ หรือคุณหญิงกันทุกคน ทีนี้การเปลี่ยนชื่อเครื่องราชฯ จากคำว่า อัศวินของพระราชินี มาเป็นบุคคลพิเศษของนิวซีแลนด์ ทำให้ชาวอนุรักษนิยมหลายคนรับไม่ได้ แต่โบลเจอร์เองกลับไม่สนใจ และเข้าสู่แผนสองโดยการประกาศแนวคิดของตนอย่างโพล่งๆ ว่าเมืองกีวีควรจะเป็นสาธารณรัฐและผู้นำสูงสุดของประเทศ ควรจะเป็นประธานาธิบดีที่มาจากการเลือกตั้ง แถมยังพูดเสียด้วยว่าไม่ชอบธงชาตินิวซีแลนด์ เพราะดันมีรูปร่างเหมือน ธงออสเตรเลียจึงเสนอให้เปลี่ยนธงชาติเสียเลยและตบท้ายว่าควรจะยกเลิกบทบาทของ องคมนตรีไปด้วยเป็นของแถม ขณะที่โบลเจอร์ ไปเยือนสกอตแลนด์ยังพูดว่าตนได้เข้าเฝ้าควีน และได้กราบบังคมทูลเรื่องการเปลี่ยนเมืองกีวี ให้เป็นสาธารณรัฐ และตบท้ายเสียด้วยว่า พระองค์ไม่ได้ทรงกริ้วแต่อย่างใด งานนี้บรรดา ผู้บริหารพรรคชาติฯ จึงเรียกประชุมด่วนและ เสนอให้ลงคะแนนเสียงปลดโบลเจอร์จากการ เป็นหัวหน้าพรรคและสรรหาผู้นำคนใหม่ทันที โดยชิพเล่ย์ได้รับเลือกเป็นนายกฯ คนใหม่ ส่งผลให้นโยบายสาธารณรัฐนิวซีแลนด์กับธงชาติใหม่หายไปพร้อมกับตำแหน่งของโบลเจอร์ขณะที่จะนั่งเครื่องบินกลับบ้าน

คนที่ดีใจที่สุดงานนี้ไม่ใช่ใคร นอกจาก เฮเลน คล้าก เพราะก้างขนาดมหึมาหายไปที่ สกอตแลนด์ แถมดวงของเฮเลนนั้นเรียกว่าดีเป็นพิเศษ เพราะชิพเล่ย์ดันมาเจอพิษต้มยำกุ้ง ตอนเข้าสู่ตำแหน่งพอดี การผันผวนของค่าเงิน จาก 1 ดอลลาร์สหรัฐต่อ 1.5 เหรียญกีวี มาอยู่ที่ 1 ดอลลาร์สหรัฐต่อ 3 กีวีดอลลาร์นั้นทำให้คะแนนเสียงของชิพเล่ย์ตกอย่างรวดเร็ว ทำให้เฮเลนชนะการเลือกตั้งปี 1999 ในที่สุด

จุดเด่นของเฮเลนคือการยกสถานะของสตรีในเมืองกีวีให้อยู่สูงที่สุดในโลก โดยเห็นได้จากการเลือกมากาเร็ต วิลสัน ให้เป็นประธานสภาหญิง แต่งตั้งท่านผู้หญิงเอเลียสเป็นประธานศาลฎีกา และได้กราบทูลให้ควีน ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ท่านผู้หญิงคาร์ทไรท์เป็นผู้สำเร็จราชการ เรียกได้ว่าสมัยของเฮเลนนั้น ทั้งผู้แทนพระองค์ ประมุขฝ่ายนิติบัญญัติ ประมุขฝ่ายบริหาร และประมุขฝ่ายตุลาการต่างเป็นผู้หญิงโดยถ้วนหน้า

แต่จุดขายจริงๆ ของเฮเลนคือนโยบาย ประชานิยม ซึ่งได้ผลต่อชาวรากหญ้าเป็นอันมาก นโยบายประชานิยมนั้นแท้จริงแล้วเป็นนโยบายหลักของพรรคการเมืองเอียงซ้ายเพราะมีความเป็นสังคมนิยมหน่อยๆ คือการที่รัฐจัดสรรสวัสดิการและเงินช่วยเหลือให้กับประชาชนที่ด้อยโอกาส ทุพพลภาพ ตกงาน ผู้สูงอายุ หรือยากจน โดยมีตั้งแต่การรักษาพยาบาลฟรี เรียนฟรี มีเงินสวัสดิการช่วยเหลือ ตรงนี้ผมขอทำความเข้าใจสักนิดว่าคำว่าสังคมนิยมนี้ไม่ได้หมายถึงคอมมิวนิสต์อย่างที่ชาวไทยบางคนเข้าใจกัน ความคิดแนว สังคม นิยมเป็นเพียงความคิดทางการเมืองแนวเสรีนิยมแนวหนึ่งซึ่งทำให้เกิดพรรคการ เมืองที่หากินกับชาวรากหญ้าและผู้ประกอบกรรมาชีพ ซึ่งในอดีตฝรั่งจะเรียกพวกนี้ว่า เติร์ดเอสเตด เวิร์คกิ้งคลาส หรือพีแซนทรี นโยบายพวกนี้อยู่ตรงข้ามกับแนวอนุรักษนิยม ซึ่งหาเสียงกับนายทุน นักธุรกิจ และตระกูลเก่า ซึ่งฝรั่งจะเรียกฐานเสียงพวกนี้ว่า บูชวาซี ไปจนถึงอีลีท ในประเทศฝรั่งที่เป็นประชาธิป ไตย จะมีพรรคการเมืองแนวสังคมนิยมและหลายครั้งก็จะได้เป็นรัฐบาล เช่น พรรคสังคม นิยมในฝรั่งเศส พรรคแรงงานในอังกฤษ หรือ แม้แต่พรรคเดโมแครตในอเมริกา

สำหรับนโยบายประชานิยมของเฮเลน คล้ากนั้นมีกลุ่มผู้มุ่งหวังแน่นอนคือนักศึกษา ชาวพื้นเมือง คนงานรวมไปถึงคนตกงานและ พวกขี้เกียจทำงาน นโยบายของเฮเลนคือ ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเพื่อเอาใจคนงาน โดยเพิ่มจาก 9 ดอลลาร์ต่อชั่วโมงไปถึง 11.50 ดอลลาร์ต่อ ชั่วโมง ซึ่งคิดคร่าวๆ เท่ากับว่าผู้จ้างต้องจ่าย เงินเดือนเพิ่มให้ลูกจ้างไร้ฝีมือเดือนละ 500 ดอลลาร์ หรือ 12,500 บาททันที นอกจากนี้ยังแจกเงินกินเปล่าให้กับชาวพื้นเมืองที่รายได้ น้อยไปจนถึงเงินสวัสดิการให้คนที่ตกงาน รวมถึงพวกขี้เกียจทำงาน ซึ่งเดือนหนึ่งจะได้คนละ 3 หมื่นบาทจนถึง 5 หมื่นบาททีเดียว นอกจากนี้ยังเพิ่มผู้มุ่งหวังคือ นักศึกษา โดยให้เงินกู้ขณะเรียนหนังสือโดยไม่มีดอกเบี้ยแถม ค่าขนมจากรัฐบาลให้อีกสัปดาห์ละ 3,500 บาท หรือ 140 ดอลลาร์ ตรงนี้ในขั้นแรกฟังดูเหมือนว่าจะเป็นเรื่องที่ดี เพราะนักศึกษาฝรั่ง นั้นเขาต้องหาเงินจ่ายค่าเล่าเรียนเอง และโดย มากต้องหางานพิเศษทำเพื่อเป็นค่าใช้จ่าย แต่ ปัญหาของนโยบายนี้คือทำให้นักศึกษาจำนวน หนึ่งทำเรื่องกู้แล้วเอาไปซื้อรถ ซื้อเครื่องเสียง ซื้อโทรศัพท์มือถือ โดยไม่มีดอกเบี้ย และสุดท้ายก็เรียนไม่จบและรัฐก็เสียเงินเปล่าหลายล้านดอลลาร์ต่อปี

แต่ที่แน่ๆ คือทำให้ชาวรากหญ้านั้นติดประชานิยมกันแบบถอนตัวไม่ขึ้น ส่วนนโยบาย 30 บาทของไทยนั้นเขาเพิ่มสิทธิที่จะเอาไปใช้ได้กับทุกที่รวมถึงคลินิกเอกชน ซึ่งตรงจุดนี้ยังรวมถึงค่ายา ซึ่งถ้าใครมีบัตรคอมมูนิตี้ แม้แต่ยาหยอดตาก็ได้ส่วนลดจากร้านขายยา

นอกจากนี้เฮเลนยังมีบทบาทที่สูงมาก ในเวทีการเมืองโลก แม้ว่านิวซีแลนด์จะเป็นประเทศระดับกลางแต่นโยบายของเฮเลนนั้นกลับทำให้เมืองกีวีเป็นผู้นำของแนวคิดใหม่ๆ ในโลกเสมอ รวมทั้งการเป็นตัวตั้งตัวตีในสนธิสัญญาเกียวโต การยืนหยัดต่อนโยบายเขต ปลอดนิวเคลียร์และนโยบายสนับสนุนการค้าเสรี

อย่างไรก็ตาม เฮเลน คล้าก ก็มาเจอตอเข้าจนได้จากนโยบายการขายรัฐวิสาหกิจเพราะการขายรัฐวิสาหกิจด้านการพลังงานให้ ต่างชาติส่งผลค่าไฟในนิวซีแลนด์สูงเป็นเงาตามตัว ความพยายามในการขายสนามบิน โอ๊กแลนด์ให้กับเอมิเรตส์ ทำให้เกิดการประท้วงจนถึงขั้นขึ้นศาลทีเดียว สุดท้ายศาลตัดสินให้การขายสนามบินเป็นโมฆะ ส่งผลกระทบต่อคะแนนเสียงของรัฐบาลอย่างมาก นอกจากนี้นโยบายขึ้นดอกเบี้ยและภาษีสร้างความไม่พอใจเป็นวงกว้าง สุดท้ายการที่ไปเป็นตัวตั้งตัวตีในสนธิสัญญาเกียวโตได้ส่งผลกระทบต่อชาวนิวซีแลนด์โดยตรง เพราะเมือง กีวีต้องจ่ายเงินในการสร้างคาร์บอนไดออกไซด์ ในชั้นบรรยากาศโลกเช่นเดียวกับประเทศที่ไปลงนามทั้งหมด ทีนี้รัฐบาลก็เลยมาลงที่ผู้ใช้ รถใช้ถนนคือ เก็บภาษีคาร์บอนจากค่าน้ำมัน ส่งผลให้ราคาน้ำมันในนิวซีแลนด์พุ่งขึ้นสูงถึงลิตรละ 1.73 ดอลลาร์ หรือ 43 บาทต่อลิตร ทำให้คะแนนเสียงของเฮเลนตกไปให้ฝ่ายค้าน กว่า 10 เปอร์เซ็นต์

ในการเลือกตั้งครั้งต่อไป ที่จะมาถึงในปี 2008 เฮเลนต้องทำการบ้านอย่างหนักเพื่อกู้คะแนนนิยมที่เสียไปให้ได้หากไม่สำเร็จนายกหญิงแกร่งของนิวซีแลนด์ อาจจะต้องวางมือทางการเมือง


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.