ดีเซลกำมะถันต่ำความภูมิใจเงียบ ๆ ของไทยออยล์


นิตยสารผู้จัดการ( ธันวาคม 2534)



กลับสู่หน้าหลัก

เมื่อออกจากบ้าน พอเจอควันรถ ก็เกิดอาการแสบตา ตาแดง น้ำตาไหล หรือบางคนรู้สึกแสบคันและระคายเคืองบริเวณผิวหนัง ฯลฯ

นี่เป็นชะตาของชาวกรุงและคนเมืองใหญ่ที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ในปัจจุบัน อันเป็นผลจากการพัฒนาประเทศทีเน้นหนักด้านวัตถุโดยไม่มีแผนระยะยาว

เหล่านี้เป็นเพียงอาการเบื้องต้นซึ่งจะเกิดขึ้นอยู่เสมอจากปริมาณกำมะถันในน้ำมันดีเซลที่กระจายแผ่คลุมบรรยากาศ ใครที่หายใจเอากำมะถันเข้าไปมาก ๆ จะทำให้หลอดลมอักเสบ หรือบ่อยเข้าก็จะทำให้โลหิตจาง อันเป็นเตุให้สุขภาพเสื่อมทรุดลงเป็นลำดับ

ขณะที่ความต้องการใช้น้ำมันดีเซลมีปริมาณมาก ไม่ว่าจะเป็นรถบรรทุก รถกระบะ โดยเฉพาะรถโดยสาร หรือขสมก.ในกรุงเทพฯ เมื่อผนวกกับกำมะถันในดีเซลแต่ละลิตรแล้ว ยิ่งทำให้ปริมาณกำมะถันในบรรยากาศเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

ถ้าพูดถึงมาตรฐานกำมะถันในดีเซลของประเทศที่พัฒนาและให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมแล้วจะไม่เกิน 0.50% ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มประเทศในยุโรปหรือย่านอเมริกา ดีเซลที่ใช้จะมีกำมะถันไม่เกิน 0.30% เป็นส่วนใหญ่ โดยเฉพาะรัฐแคลิฟอร์เนียได้กำหนดให้มีกำมะถันเพียง 0.05% ในปี 2534

ยกเว้นบางประเทศที่สูงกว่า 0.50% เช่น ตุรกี เวเนซูเอล่า

ทางด้านประเทศในภูมิภาคเอเชีย ดีเซลจะมีกำมะถันไม่เกิน 0.40%

ส่วนของไทย กระทรวงพาณิชย์กำหนดสเปกปริมาณกำมะถันไว้ที่ 1.00% ซึ่งสูงกว่าประเทศอื่นในโลก โดยโรงกลั่นบางจากและโรงกลั่นเอสโซ่จะกลั่นดีเซลระดับกำมะถันประมาณ 0.80-0.90% มีโรงกลั่นไทยออยล์ที่กลั่นดีเซลกำมะถันต่ำ 0.40% ตั้งแต่ปีก่อน

นับเป็นการชูธงคุณภาพดีเซลของไทยออยล์เต็มตัว ทั้งที่รัฐบาลประกาศให้มีผลบังคับใช้สเปกนี้ (0.5%) ในวันที่ 1 กันยายน 2536

อนึ่ง การกลั่นน้ำมันแต่ละชนิด ตามธรรมดาโรงกลั่นจะกลั่นสูงกว่าสเปกไว้เล้กน้อย เพื่อเป็นหลักประกันต่อคุณภาพอย่างแน่นอน หรือเป็นการเผื่อเหนียวนั่นเอง ผลงานชิ้นนี้เป็นไปตามแผนพัฒนาและเพิ่มกำลังการกลั่นของไทยออยล์ในหน่วยกลั่นที่เรียกว่า TOC-3 หรือหน่วย CCR ซึ่งไม่เพียงแต่จะแปรสภาพน้ำมันหนักอย่างน้ำมันเตามาเป็นน้ำมันเบาอย่างดีเซลเท่านั้น แต่เป็นดีเซลที่มีกำมะถันต่ำดังกล่าว

อย่างไรก็ตาม ดีเซลกำมะถันต่ำจะมีต้นทุนเพิ่มขึ้นประมาณ 3 สตางค์ต่อลิตร เพื่อมิให้ไทยออยล์ต้องขึ้นราคาและผลักภาระราคาดีเซลกำมะถันต่ำแก่ผู้บริโภค รัฐบาลจึงชดเชยให้ลิตรละ 3 สตางค์

ขณะที่ดีกรีความเป็นพิษของอากาศทับทวีขึ้นทุกวัน ล่าสุดทางสำนักงานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (สพง.) ได้เตรียมแผนกำหนดจะให้ดีเซลมีกำมะถัน 0.5% ซึ่งคาดว่าจะประกาศใช้เร็ว ๆ นี้ แม้ว่าอีก 2 โรงกลั่นจะยังกลั่นไม่ได้ก็ตาม

ในช่วงแรกก่อนถึงวันที่ 1 กันยายน 2536 สพง.จะผ่อนปรนให้โรงกลั่นบางจากและโรงกลั่นเอสโซ่ ตลอดจนผู้ค้าน้ำมันรายอื่นนำเข้าน้ำมันดีเซลได้ โดยกำหนดเป็นดีเซลกำมะถันต่ำ 0.5% เท่านั้น เพราะปกติดีเซลเป็นน้ำมันที่ไทยต้องนำเข้าถึง 50% ของความต้องการดีเซลทั้งหมดอยู่แล้ว ก่อนที่ทั้ง 2 โรงกลั่นจะปรับปรุงและติดตั้งหน่วยกลั่นที่กลั่นดีเซลกำมะถันต่ำตามกำหนดวไ

ทั้งนี้ เมื่อกำหนดใช้สเปกดีเซลกำมะถันต่ำก่อน กำหนดในปี 2536 รัฐบาลจะเป็นผู้ชดเชยต้นทุนส่วนต่างที่เพิ่มขึ้นประมาณ 3 สตางค์ต่อลิตรเหมือนกับที่ปฏิบัติต่อไทยออยล์

นี่เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งของการเป็นผู้นำด้านคุณภาพของไทยออยล์ในช่วงครบรอบ 30 ปีในปีนี้ นอกจากนี้ ไทยออยล์ยังพร้อมที่จะลดอุณหภูมิการกลั่นดีเซลจาก 370 มาเป็น 357 ได้ทันที หากรัฐบาลมีนโยบายอย่างนี้ เพราะแม้จะทำให้ปริมาณดีเซลลดลง 7% จากการลดอุณหภูมิการกลั่น แต่ละช่วยลดปริมาณควันดำ ซึ่งเป็นวิธีการหนึ่งที่จะส่งผลให้มลพิษในบรรยากาศลดลงด้วย

จากนั้นก็จะเป็นแผนพัฒนาคุณภาพน้ำมันเตาในลำดับถัดไป ซึ่งไม่รวมถึงแผนการเพิ่มกำลังกลั่นเมื่อหน่วยกลั่นที่ 4 เริ่มกลั่นได้ในกลางปีหน้าแล้ว ไทยออยล์จะมีกำลังกลั่นสูงถึง 190,000 บาร์เรลต่อวัน จัดเป็นโรงกลั่นที่ใหญ่และทันสมัยที่สุดในประเทศ

น้ำมันดีเซลกำมะถันต่ำ จึงกลายเป็นความภูมิใจเงียบ ๆ ของไทยออยล์กับการฉลองครบรอบ 30 ปีเป็นการภายในด้วยการตั้งกองทุนสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรีฯ เป็นกองทุนการศึกษาที่ตั้งขึ้นเพื่อเทิดพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ซึ่งจะพระราชทานแก่บุคคลทั่วไปโดยไม่จำกัดระดับการศึกษา สาขาวิชาทั้งในและต่างประเทศ

ดังนั้น "ไม่ว่าไทยออยล์จะได้รับอนุมัติให้เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์หรือไม่ก็ตาม เพราะต้องขึ้นอยู่กับนโยบายของรัฐบาลแต่ละสมัยเป็นสำคัญ แต่คุณภาพน้ำมันเป็นเป้าหมายหลักของไทยออยล์ตลอดไป" แหล่งข่าวระดับสูงจากไทยออยล์กล่าว...!



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.