SME Size S

โดย สุภัทธา สุขชู
นิตยสารผู้จัดการ( พฤศจิกายน 2550)



กลับสู่หน้าหลัก

ว่ากันว่าอันญาดารุขายดีที่สุดในละแวกโครงการ 3 ซอย 3 ตลาดนัดสวนจตุจักร และดูเหมือนจะไม่ผิดไปจากคำเล่าลือมากนัก เพราะสินค้าที่วางในร้านสนนราคาที่ผิดแผกไปจากสินค้าที่วางขายในจตุจักร แม้เจ้าของร้านไม่อยากจะเอ่ยว่าทำรายได้มากมายขนาดไหน แต่ก็พอจะเดาได้ว่ามากพอที่จะอยู่รอดได้ในภาวะเศรษฐกิจเอาแน่เอานอนไม่ได้ดังเช่นทุกวันนี้

อันญาดารุเพิ่งจะเป็นแบรนด์ที่จดทะเบียนได้เพียง 1 ปี ขณะที่ร้านเพิ่งจะตกแต่งปรับปรุงใหม่อีกครั้งเมื่อไม่นานมานี้ แต่เป็นเพราะการร่วมลงขันระหว่างเพื่อนฝูงที่ต่างก็มีความเชี่ยวชาญในสาขาแตกต่างกัน บวกกับความรักในเครื่องหอมคล้ายๆ กัน ทำให้วันนี้อันญาดารุจึงไม่ได้หยุดอยู่ที่เพียงตลาดนัดสวนจตุจักรเท่านั้น

ปัจจุบันสาริศ เกษมเศรษฐ เฉลิมพล ชินเวชจิตวานิชย์ และศศิวิมล ชินเวชจิตวานิชย์ ต่างก็มีงานประจำของตนเอง และใช้ช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ในการมานั่งเฝ้าร้าน โดยแบ่งหน้าที่กันทำ ไม่ว่าจะเป็นสาริศที่ทำหน้าที่เป็นผู้ดูแลด้านการตลาด เพราะมีความเชี่ยวชาญด้านนี้อยู่เป็นทุน บวกกับความสามารถในการสื่อสารกับต่างประเทศ ทำให้สาริศเป็นผู้เจรจากับลูกค้าในต่างประเทศเพื่อดีลเรื่องการส่งออก และหาตลาดใหม่ๆ ให้กับสินค้าของตนเป็นหลัก

ขณะที่ศศิวิมลทำหน้าที่เป็น art director พลางๆ จากประสบการณ์และหน้าที่การงานที่เกี่ยวข้องกับสาขาภาพยนตร์และประสบการณ์ด้านการเป็นครีเอทีฟอยู่แต่เดิม

ส่วนเฉลิมพลเป็นคนดูแลด้าน operation ทั้งหมดของแบรนด์ และผลัดเปลี่ยนกันมาเยี่ยมเยือนร้านหากมีเวลาว่าง

สาริศบอกว่าในเมื่อทุกคนยังสนุกอยู่กับการทำงานประจำ ดังนั้นกิจกรรมของทางร้านจึงกลายเป็นเหมือนกับงานอดิเรกที่ตอบโจทย์ความต้องการของตนเอง และเน้นไปที่การให้เงินทำงานมากกว่าลงมาทำทุกอย่างด้วยตนเอง

นี่คือตัวอย่างของคนทำงานประจำ ที่เลือกจะใช้ความรู้ความชำนาญที่ตนเองมีพื้นฐานอยู่แล้วสร้างรายได้จากกิจการเสริมในยามว่างของตนเอง

"ผมให้เงินทำงาน ทุกคนยังแฮปปี้ที่จะทำงานที่ตนรักในฐานะพนักงานในองค์กรของตนเอง ส่วนร้านนี้ก็เป็นการตอบสนองความต้องการของตัวเอง เรียกว่าทำฝันให้เป็นจริง ผมสามารถจ้างคนอื่นๆ มาทำงานแทนผมได้ ผมสามารถ enjoy ชีวิตปกติในการทำงาน และสามารถมีกิจกรรมในยามว่างทำได้ วันไหนว่างก็มา ไม่ว่างก็มีคนทำงานแทนอยู่แล้ว" สาริศบอก

สาริศบอกว่าเขามองธุรกิจเล็กๆ ที่เป็นกิจกรรมหลังเลิกงานของเขาว่าเป็น SME ที่เรียกได้ว่ามีขนาด Size S แต่เมื่อถึงเวลาจะโตก็ทำได้ เพราะทุกอย่างเป็นการผลิตได้ด้วยการเพิ่มแรงงานเพียงเท่านั้น อีกทั้ง fixed cost ก็น่าจะลดลงด้วยระดับปริมาณของสินค้าที่เพิ่มขึ้นด้วย

ธุรกิจเล็กๆ เช่นนี้ไม่ต้องการพนักงานประจำมากมายนัก ปัจจุบันบริษัทแห่งนี้พนักงานที่จ้างงานมาจริงๆ เพียงแค่แพ็กเกจสินค้า และจ้างแอดมินไม่กี่คน รวมแล้วเพียง 10 กว่าชีวิตเท่านั้น

สินค้าทุกอย่างเป็นการทำด้วยมือ แฮนด์เมด ทั้งธูป เทียน ยกเว้นสบู่ และโลชั่นที่จ้างผลิต แต่เป็นสูตรเฉพาะของทางร้าน ทุกอย่างเลือกปรับกลิ่นจากความชอบของหุ้นส่วนเป็นฐาน ก่อนปรับให้ตรงกับความชอบแล้วนำมาผลิตเพื่อวางขาย โดยใส่ใจในเรื่องของรายละเอียดแพ็กเกจจิ้งและคุณภาพของสินค้าเป็นพิเศษ

ทุกวันนี้กว่า 40 เปอร์เซ็นต์ของลูกค้าคือคนไทย แถมยังเป็นขาประจำที่ซื้อซ้ำบ่อยครั้ง ไปแล้วกลับมาอีกอยู่เสมอ ที่เหลือเป็นต่างชาติและการส่งออก

แม้หากมองในแง่ของกระแสความนิยมในความสนใจในธรรมชาติมากขึ้นแล้ว อันญาดารุก็ย่อมจะเติบโตได้อีกไกลไม่ยากนัก โดยเฉพาะการเป็นแบรนด์สินค้าเครื่องหอมไทยที่ก็เห็นตัวอย่างมาแล้วจากหลายๆ แบรนด์ก่อนหน้านี้

แต่ทั้งสาริศและเพื่อนๆ ก็หวังเพียงแค่การเป็นร้านที่ทำเพื่อสนองตอบความต้องการของตัวเอง สามารถเลี้ยงและทำกำไรได้ไม่มากมายอะไรนัก

โดยหวังจะเปิดสาขาใหม่อีกหนึ่งสาขาที่ขายได้ทุกวันในหนึ่งเดือน ไม่ต้องหยุดวันทำงาน 5 วันแล้วเปิดขายได้เพียง 2 วันต่อสัปดาห์เหมือนเช่นสาขาที่จตุจักร เขาบอกว่าสาขาที่น้อย ทำให้มนตร์เสน่ห์ของร้านนั้นยังคงอยู่

ขณะที่การมีพันธมิตรคู่ค้าในญี่ปุ่นก็ทำให้แบรนด์ของเขากำลังจะขยายอย่างน้อย 15 สาขาในญี่ปุ่นภายใน 5 ปีนี้ ไม่นับรวมกับการส่งออกไปวางขายในฮ่องกง ฝรั่งเศส สิงคโปร์ และโรงแรมในกลุ่ม GHM ในเวียดนาม ที่นำสินค้าบางอย่าง เช่น โลชั่น ครีมอาบน้ำ และเทียนหอม เข้าไปวางขายในสปาบูติกช็อปของโรงแรม

"เราอยากไปแบบช้า แต่มั่นคง ไม่อยากเป็น mass และอยากให้คนตื่นเต้นเมื่อได้เห็นและได้ใช้ อยากเป็นแบบนั้น"

แม้จะโตได้ แต่สุดท้ายอันญาดารุก็ยังอยากจะก้าวอย่างมั่นคง และคงสถานะของการเป็น SME ขนาด S เอาไว้จนกว่าจะถึงเวลาเพิ่มขนาดในอนาคต เมื่อถึงวันโตก็จำเป็นต้องขยับขยาย แต่วันนี้อันญาดารุก็ยังเต็มใจเป็น SME ไซส์เล็กไปก่อน


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.