|
An oak by the window...ว่าด้วย Last mile และการใช้อินเทอร์เน็ตฟรี
โดย
ธวัชชัย อนุพงศ์อนันต์
นิตยสารผู้จัดการ( พฤศจิกายน 2550)
กลับสู่หน้าหลัก
ประเด็นเรื่องบริการอินเทอร์เน็ตไร้สายควรจะเป็นสิ่งที่รัฐจัดหาให้แก่ประชาชนทั่วไป เหมือนๆ กับการสร้างถนน, การทำสวนสาธารณะ หรือของสาธารณะอื่นๆ ยังเป็นที่ถกเถียงกันโดยทั่วไป โดยเฉพาะในประเทศสหรัฐอเมริกาที่พูดถึงและลองผิดลองถูกกันมาพักหนึ่งแล้ว
ลองนึกถึงเมืองที่คุณอยู่เป็นเสมือนร้านกาแฟขนาดใหญ่ยักษ์ มีแพ็กเกจข้อมูลที่มองไม่เห็นด้วยตาเปล่าวิ่งวนไปมารอบตัว และในทุกๆ แห่งหนเหมือนอากาศที่เราหายใจเข้าออกอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน
หลายปีที่ผ่านมามีหลายๆ เมืองในประเทศสหรัฐอเมริกาประกาศแนวคิดเกี่ยวกับการสร้างเครือข่ายแบบไร้สายเพื่อให้บริการอินเทอร์เน็ตฟรีแก่ประชาชน อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนหลายๆ เมืองเหล่านั้นก็ค่อยๆ ยกเลิกความตั้งใจไปทีละเมืองๆ ไม่ว่าจะเป็นฮูสตัน, ชิคาโก, เซ็นต์หลุยส์ แม้แต่ซานฟรานซิสโก
จริงๆ แล้ว แนวคิดเรื่องการให้บริการอินเทอร์เน็ตไร้สายฟรีแก่ประชาชนนั้นเป็นแนวคิด ที่ถือว่าเข้าท่ามาก แต่ปัญหาก็คือ ทางรัฐหรือผู้บริหารเมืองต่างๆ ในสหรัฐอเมริกาต่างไม่ได้คิดว่าอินเทอร์เน็ตเป็นโครงสร้างพื้นฐานสาธารณะเหมือนอย่างทางรถไฟ, ท่อระบายน้ำ หรือถนน พวกเขายังเห็นว่ามันควรจะเป็นบริการที่ประชาชนควรจะจ่ายเงินให้แก่ผู้ให้บริการเอง นอกจากนี้รัฐยังมีความเชื่อที่ว่าหลายๆ เรื่องสามารถถ่ายโอนไปให้เอกชนเป็นผู้สร้างขึ้นมาจะง่ายกว่าโดยที่รัฐจะได้ระบบเหล่านั้นมาฟรีๆ ซึ่งความเชื่อที่ว่านี้เป็นแนวคิดเศรษฐ-ศาสตร์แบบผูกขาดของโครงสร้างพื้นฐานและทรัพยากรธรรมชาติรูปแบบในยุคเก่าที่เคยเป็นมา
นั่นหมายความว่า ประชาชนจะไม่มีวันได้ใช้อินเทอร์เน็ตแบบไร้สายคุณภาพสูงแบบฟรีๆ ถ้าพวกเขาต้องการพวกเขาก็จะต้อง จ่ายเงินให้กับบริการเหล่านี้เอง
ประเด็นปัญหาทางด้านเศรษฐศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับวงการโทรคมนาคมในรอบ 20 ปี ที่ผ่านมาเป็นเรื่องของสิ่งที่เรียกว่า last mile
Last mile หรือ Last kilometer เป็น การเชื่อมต่อขั้นสุดท้ายจากผู้ให้บริการการสื่อสารไปยังลูกค้า โดยมากใช้ในวงการโทร คมนาคมและเคเบิลทีวี โดย last mile ถือเป็นส่วนที่มีต้นทุนค่าใช้จ่ายสูงที่สุดเพราะจะต้องกระจายสายเคเบิลไปยังแต่ละบ้านๆ ซึ่งจะต้องอาศัยการลงทุนลงแรงครั้งใหญ่ นั่น คือจะต้องมีสายจริงๆ ต่อจากบ้านหรือบริษัท ไปยังชุมสายของโทรศัพท์หรือของบริษัทเคเบิล ต่างๆ ซึ่งนั่นหมายถึงเงิน อย่างไรก็ตาม นี่เป็นเรื่องของเทคโนโลยีแบบเก่า ซึ่งจำเป็นต้อง อาศัยบริษัทที่ผูกขาดการทำสายเหล่านี้ ปัญหา ต่อมาก็คือ last mile ทำให้เกิดปัญหาคอขวด ค่าใช้จ่ายและความเร็วของการใช้อินเทอร์เน็ต ทั้งหมดล้วนขึ้นกับ last mile นี้
นั่นหมายความว่าการจะล้าหลังหรือไม่ทางเทคโนโลยีล้วนขึ้นอยู่กับปัญหาเรื่อง last mile ทั้งสิ้น
เพื่อที่จะแก้ไขปัญหาเรื่อง last mile หลายๆ บริษัทจึงเริ่มทำการผสมผสานเครือข่ายแบบต่างๆ เข้าด้วยกัน ยกตัวอย่างเช่น การทำเป็น Fixed Wireless Access โดยการนำเครือข่ายไร้สายมาติดตั้งแทนเครือข่ายแบบใช้สายในส่วนที่ต้องเชื่อมต่อกับปลายทางแทน
ในขณะที่หนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทม์เองก็ได้รายงานเกี่ยวกับการให้บริการอินเทอร์เน็ตผ่านสายไฟฟ้าว่าจะเป็นที่นิยมในอีกหนึ่งหรือไม่กี่ปีข้างหน้า โดยรายงานนี้ตีพิมพ์ในช่วงปี 2004 ส่วนนักวิเคราะห์ของอุตสาหกรรมนี้ต่างคาดการณ์ถึงความนิยมของบรอดแบนด์ผ่านเสาไฟฟ้า ที่จะบูมขึ้นอย่างมากมาย แต่ปัจจุบันส่วนแบ่งตลาดของบรอดแบนด์แบบนี้มีเพียงแค่ 0.008 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นในประเทศสหรัฐอเมริกา
ปัญหาโลกแตกของบริษัทในวงการโทรคมนาคมเหล่านี้ก็คือ พวกเขาต้องแบกรับกับต้นทุนจม (sunk cost) มหาศาลที่ในทางหนึ่งก็เป็นการสร้างกำแพงกั้น (Barrier to entry) ไม่ให้หน้าใหม่ๆ เข้าสู่อุตสาหกรรมได้ด้วยเช่นกัน อย่างไรก็ตาม บริษัทโทรศัพท์และเคเบิลเหล่านี้ก็จะต้องใช้เวลาระยะหนึ่ง ซึ่งกินระยะเวลาหลายทศวรรษเพื่อที่จะสามารถเรียกเงินทุนเริ่มต้นหลายพันล้านเหรียญกลับคืนมา เมื่อถึงจุดนั้น พวกเขาจะสามารถตั้งราคาในระดับที่ ไม่มีคู่แข่งรายใดสามารถตั้งแข่งได้เลย ในขณะที่คู่แข่งในตลาดซึ่งพยายาม จะเข้ามาแข่งก็จะสามารถนำเสนอสินค้าที่ไม่แตกต่างกันเท่าไร แต่มีคุณภาพแย่กว่า นั่นคือ หน้าใหม่จะไม่สามารถยืนระยะได้ยาวนักในวงการนี้
แต่เมื่อมองไปที่รัฐบาลแล้ว สิ่งที่พวกเขาให้ความสนใจคือ งบประมาณที่ต้องใช้ใน การสร้างโครงสร้างพื้นฐานนี้และความจำเป็น ในแง่ว่าจะต้องให้บริการฟรีแก่ประชาชนจริงหรือไม่ เมื่อมองถึงระบบไร้สายที่จะช่วยให้รัฐ ไม่ต้องต่อสายเข้าไปยังแต่ละบ้าน หรือตั้งตู้ชุมสายสำหรับบริษัทขนาดใหญ่ รวมถึงเราท์เตอร์สำหรับระบบไร้สายก็ไม่ได้มีราคาแพงมากมายนักแต่สามารถใช้งานได้ดีพอสมควร โดยเฉพาะเมื่อพิจารณาจากหน่วยงาน ที่นำไปใช้อย่างจริงๆ จังๆ อย่างมหาวิทยาลัย เป็นต้น ก็พบว่ามีความเป็นไปได้สูงสำหรับภาครัฐ แต่เมื่อย้อนมองไปดูกรณีตัวอย่างระบบไร้สายที่สภาเมืองฟิลาเดลเฟียประกาศให้เป็นระบบเน็ตเวิร์กหลักของเมืองในปี 2004 ซึ่งหลายๆ ฝ่ายก็มองว่ามันน่าจะเป็นระบบที่ให้บริการฟรี หรืออย่างน้อยก็น่าจะเกือบฟรี แต่สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ สภาเมืองต้องใช้เงินมหาศาลโดยที่ไม่รู้ว่าจะได้ผลตอบแทนกลับมา เมื่อใด
ในปี 2005 ก็เริ่มชัดเจนแล้วว่า เมืองใหญ่หลายๆ เมืองล้วนไม่ต้องการที่จะสร้างเครือข่าย Wi-Fi ให้เป็นเครือข่ายสาธารณะ ในขณะเดียวกันเมืองอย่างฟิลาเดลเฟียและซานฟรานซิสโกกลับมองหาพันธมิตรเอกชนเพื่อให้บริการอินเทอร์เน็ตนี้ โดยรัฐจะให้สิทธิ์ แก่เอกชนในการสร้างเครือข่ายไร้สายและพยายามสร้างรายได้จากเครือข่ายที่สร้างขึ้นนี้ เช่น อาจจะติดตั้งอยู่กับโคมไฟถนนและเก็บค่าใช้บริการจากประชาชนโดยตรง นั่นจะทำให้สภาบริหารเมืองไม่ต้องมานั่งกังวลว่าพวกเขาจะประสบความสำเร็จหรือล้มเหลวจากโครงการเหล่านี้
อย่างไรก็ดี สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือโปรเจ็กต์ ที่เลิศหรูของรัฐบาลเหล่านี้กลับถูกส่งไปให้กับบริษัทเอกชนที่ไม่ได้มีคุณสมบัติเพียงพอที่จะทำให้มันประสบความสำเร็จได้ บริษัทเหล่านี้มักจะให้คำมั่นสัญญาที่เกินจริงไปและ สุดท้ายพวกเขาก็ทำไม่ได้ บริษัทอย่าง Earthlink ต้องไล่พนักงานของตนกว่าครึ่งรวมถึงหัวหน้างานในส่วน Wi-Fi สาธารณะนี้ด้วย โปรเจ็กต์ในชิคาโกและซานฟรานซิสโกก็ต้องหยุดไป ส่วนในฮูสตันก็ถูกปรับเงินเนื่องจากไม่สามารถส่งงานได้ภายในกำหนดเส้นตาย
นักวิเคราะห์หลายๆ รายมองว่าความ ผิดพลาดเหล่านี้เกิดขึ้นจากข้อจำกัดทางด้าน เทคนิคของ Wi-Fi แต่เมื่อมองว่าแม้ Wi-Fi จะมีข้อจำกัดหลายๆ อย่าง แต่เทคโนโลยีนี้ก็ประสบความสำเร็จอย่างสูงมากในมหา วิทยาลัยขนาดใหญ่ สาเหตุลึกๆ น่าจะมาจาก ปัญหาเชิงเศรษฐศาสตร์มากกว่า
เมื่อโครงการ Wi-Fi สาธารณะเปลี่ยนเป็นบริการภาคเอกชนก็ทำให้มันตกอยู่ในกับดักทางเศรษฐศาสตร์เหมือนกับโครงการภาครัฐอื่นๆ เครือข่ายไร้สายนี้จะต้องไปแข่งขันกับคู่แข่งที่มีโครงสร้างพื้นฐานที่ดีกว่า ซึ่งเป็นบริษัทที่ได้ลงทุนกับโครงสร้างพื้นฐานเหล่านี้มาหลายปีก่อนหน้านั้นแล้ว
จริงๆ แล้วการติดตั้งเครือข่ายไร้สายขนาดใหญ่นั้นไม่ได้แพงไปกว่าการติดตั้งสายเคเบิลไปยังแต่ละบ้าน แต่ก็ไม่ใช่เงินน้อยๆ เช่นกันและเพื่อที่จะเรียกคืนเงินลงทุนเหล่านั้น พันธมิตรเอกชนของภาครัฐเหล่านี้ก็จะต้องเก็บเงินค่าบริการจากประชาชนผู้ใช้บริการ นั่นเอง แต่ถ้าประชาชนเหล่านั้นมีสายเคเบิลหรือมีสายโทรศัพท์ต่อถึงบ้านพวกเขาอยู่แล้ว ทำไมพวกเขาจะต้องเปลี่ยนไปใช้เครือข่ายไร้สายล่ะถ้ามันไม่ได้ถูกกว่าหรือดีกว่ามาก และ พูดตามความจริง เครือข่ายไร้สายเหล่านี้ย่อมจะช้ากว่า ราคาไม่ได้ถูกกว่ากันมาก และ ย่อมจะน่าเชื่อถือน้อยกว่าบริการอินเทอร์เน็ตที่มีอยู่แน่นอน ความจริงเหล่านี้ย่อมทำให้บริษัทเอกชนผู้พยายามสร้างฝันเครือข่าย Wi-Fi สาธารณะต้องล้มเหลวกันมานักต่อนักแล้ว
ทุกวันนี้มีตัวอย่างไม่มากมายนักของเมืองที่ให้บริการ Wi-Fi ฟรีแก่ประชาชนอย่าง St.Cloud ที่มีประชากร 28,000 คน สามารถ ให้บริการเครือข่ายไร้สายฟรีให้กับคนทั้งเมืองได้ แต่พวกเขาก็ยังต้องเผชิญกับปัญหามากมายที่เกิด ไม่ว่าจะเป็นจุดรับสัญญาณที่เสียเป็นพักๆ
ประเทศอย่างสหรัฐอเมริกาเป็นประเทศที่อาศัยระบบสื่อสารของเอกชนในการให้บริการสาธารณะมาตลอด จึงเป็นเรื่อง ยากที่จะเปลี่ยนแปลงโครงสร้างได้ง่ายๆ เพราะถ้าเปลี่ยนคงต้องเปลี่ยนทั้งระบบ นี่อาจ จะเป็นบทสรุปที่ดีที่สุดก็เป็นได้
ความฝันในการสร้างบริการอินเทอร์เน็ตฟรีให้แก่ประชาชนของประเทศไทยคงต้องเอาประเทศสหรัฐอเมริกาเป็นกรณีศึกษาที่ดีกรณีหนึ่ง จริงๆ แล้วเราอาจจะยังไม่ต้อง ฝันไปไกลขนาดนั้น เพราะเพียงแค่เราโยกงบประมาณการลงทุนทางการศึกษาในแต่ละปีไปให้กับการซื้อคอมพิวเตอร์และบริการอินเทอร์เน็ตสำหรับโรงเรียนเพียงไม่กี่เครื่อง ระบบการศึกษาของไทยก็ดูจะพิกลพิการไปมากแล้วในช่วงระยะที่ผ่านมา
คำถามน่าจะเป็น เราพร้อมหรือยังมากกว่าสำหรับการก้าวไปใช้อินเทอร์เน็ตทั้งประเทศ
อ่านเพิ่มเติม
1. Last Mile, http://en.wikipedia.org/wiki/Last_mile
2. Wu, Tim (2007), 'Where's My Free Wi-Fi?,' http://www.slate.com/id/2174858
3. McNichol, Tom (2004), 'Plugging Into the Net, Through the Humble Wall Outlet,' The New York Times, October 28, 2004
4. Power line communication, http://en.wikipedia.org/wiki/Power_line_communication
5. Wood, Lamont (2007), 'Broadband over Powerline is ready to explode,' Computer World, http://www.computerworld.com/action/article.do?command=viewArticleBasic&articleId=9011985&pageNumber=1
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|