|
ได้เวลา K NOW (อ่านว่าเค-นาว)
โดย
นภาพร ไชยขันแก้ว
นิตยสารผู้จัดการ( พฤศจิกายน 2550)
กลับสู่หน้าหลัก
การออกมาปรากฏตัวต่อสาธารณะเป็นครั้งแรกในรอบเกือบ 2 ปี ของบัณฑูร ล่ำซำ ที่ได้ประกาศทิศทางธุรกิจใหม่ของเครือธนาคารกสิกรไทย ซึ่งใช้ชื่อว่า K NOW ย่อมน่าจะมีความหมายมากกว่าแค่การแถลงข่าวธรรมดา
เกือบ 2 ปี ที่ชื่อบัณฑูร ล่ำซำ เงียบหายไปจนบางคนอาจคิดว่าธนาคารกสิกรไม่มีการเปลี่ยนแปลงอะไรมากนัก นอกจากการเปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่บ้างเป็นบางครั้ง
ว่ากันว่าในช่วงเวลาดังกล่าวในความรู้สึกของบัณฑูรกำลังเกิดอาการ "เบื่อ" ที่เห็น ในตลาดการเงินมีแต่ผลิตภัณฑ์เดิมๆ การแข่งขันระหว่างธนาคารก็เหมือนเดิม มีสินค้าเหมือนกันทุกอย่าง ดังนั้นทุกคนกำลังแข่งขัน ในสิ่งที่เหมือนกันและพยายามแสวงหาจุดขาย ที่แตกต่าง สร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ หรือคุณภาพ ของบริการ แต่เมื่อมองลงไปลึกๆ แล้วจะพบ ว่าเงื่อนไขก็ไม่แตกต่างกัน
บัณฑูรกำลังชี้ให้เห็นว่าธุรกิจกำลังติด กับดักของตัวเอง คิดว่าได้ทำมาหมดทุกอย่าง แล้ว ธนาคารเองก็คิดว่ามีผลิตภัณฑ์ทางการเงินครบถ้วนแล้ว
เหตุเหล่านี้จึงทำให้บัณฑูรลุกขึ้นมาโชว์ปาฐกถาพิเศษ "แนวคิดใหม่ในการทำธุรกิจของเครือธนาคารกสิกรไทย" ที่เป็นนวัตกรรมความคิดในการทำธุรกิจของเครือธนาคารกสิกรไทย เป็นเรื่องที่ไม่เคยพูดมาก่อน ซึ่งบัณฑูรได้ยืนโชว์ปาฐกถาพิเศษนี้ร่วมชั่วโมงให้กับสื่อมวลชนได้ฟังเป็นครั้งแรกของปีนี้ เมื่อ 1 ตุลาคมที่ผ่านมา
K NOW เป็นแนวคิดที่บัณฑูรต้องการ สร้างองค์ความรู้ให้กับลูกค้าธนาคารกสิกรไทย โดยองค์ความรู้ที่เกิดขึ้นนี้ธนาคารจะเป็นผู้เริ่มสร้างขึ้นมา ความรู้ที่เกิดขึ้นนี้เป็นข้อมูลที่ผ่านการสังเคราะห์มาแล้วอย่างดี ซึ่งข้อมูลเหล่านี้สามารถนำไปใช้ได้จริงๆ กับชีวิตส่วน ตัวหรือธุรกิจของลูกค้า โดยจุดหมายปลาย ทางของแนวคิดนี้ก็เพื่อให้ลูกค้ามีความสุขในชีวิตอย่างแท้จริง
สิ่งที่บัณฑูรพยายามทำมากที่สุดในขณะนี้คือให้ผู้บริหารและพนักงานของธนาคาร กสิกรขยายกรอบความคิดให้กว้างขึ้น ไม่ยึดติดกับผลิตภัณฑ์การเงินที่มีอยู่ นับว่าเป็นความท้าทายอย่างยิ่งสำหรับตัวเขา
"เป็นแนวคิดที่พูดแล้วเข้าใจไม่ง่ายนัก ไม่ใช่แนวคิดใหม่ แต่คนมักจะลืมเพราะว่าทำธุรกิจไป ทุกธุรกิจก็จะติดในสินค้าของตัวเอง นี่เป็นจุดบอดของธุรกิจคือติดอยู่ในสินค้า เดิมของตัวเอง มองโจทย์แค่ตรงนั้น มองโจทย์ แค่ธุรกิจการเงิน มองโจทย์ว่าฉันเป็นแค่สายการบิน มองโจทย์ธุรกิจผลิตรองเท้าต่างๆ พวกนี้ไม่ได้มองโจทย์ที่กว้างว่าจริงๆ ลูกค้ามีความต้องการมากกว่านั้น"
โจทย์ของบัณฑูรและคำพูดที่ซ่อนอยู่ใน K NOW นั้นมีเป้าหมายปลายทางอยู่ที่ลูกค้าก็จริง แต่ผู้ที่จะทำให้เกิดผลได้ ก็คือพนักงานเครือกสิกรไทยที่มีกว่า 1 หมื่นคนนั่นเอง โดยโจทย์นี้มี 2 ส่วน ส่วนแรก พนักงานต้องสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ทางด้านการเงินที่ควบคู่ไปกับองค์ความรู้ขึ้นมาโดยผลิตภัณฑ์ จะต้องเป็นสากลที่ต้องมีนวัตกรรมเข้ามาผสมผสานเพื่อแข่งขันได้ทั้งในและต่างประเทศ เพราะคู่แข่งไม่ได้อยู่เฉพาะในเมืองไทยเท่านั้น
โจทย์ที่สอง การบริหารต้นทุนที่ชาญฉลาด จะทำอย่างไรให้บริหารจัดการ กระบวน การทำงาน จัดหาวัตถุดิบ ให้ส่วนต่างกำไรระหว่างรายได้กับรายจ่ายที่จะทำให้ธุรกิจอยู่ต่อไปได้
ซึ่งแนวคิด K NOW ผู้บริหารตั้งแต่ระดับผู้อำนวยการไปจนถึงกรรมการผู้จัดการ 300-400 คน ต่างได้รับโจทย์นี้ที่สำนักงานใหญ่ ราษฎร์บูรณะ ในช่วงเช้าวันเดียวกันกับที่สื่อมวลชนร่วมฟังในช่วงบ่าย บัณฑูรก็ยอม รับว่าแนวคิดนี้ยังเป็นเรื่องใหม่ของผู้บริหารที่ต้องใช้เวลาทำความเข้าใจ
บัณฑูรกล่าวอย่างหนักแน่นว่า K NOW เป็นแนวทางที่ชัดเจนที่สุดและจะเป็นทิศทาง ของกสิกรไทยในทศวรรษหน้า
"แนวคิด K NOW จะมีการพูดอีกครั้ง ในการประชุมใหญ่ประจำปี ให้ผู้บริหารและพนักงานรับฟังในเดือนธันวาคม เพื่อสร้างความเข้าใจไปในทิศทางเดียวกัน" ผู้บริหารกสิกรท่านหนึ่งกล่าวกับ "ผู้จัดการ"
หากมองให้ลึกลงไป คำว่า K NOW ไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นใหม่หรือแนวคิดใหม่ที่เกิดขึ้น เมื่อเร็วๆ นี้ แต่แนวคิดนี้เกิดขึ้นมานานแล้ว ในเครือกสิกรไทยเป็นส่วนหนึ่งที่เป็นนโยบายเมื่อ 7 ปีที่ผ่านมา โปรแกรมยุทธศาสตร์ ทั้ง 8 ประการที่มีเป้าหมายพัฒนาระบบบริหารความสัมพันธ์กับลูกค้า ทำให้ลูกค้ามีความรู้สึก ที่ดีตั้งแต่แรกและมีต่อเนื่องไปตลอดกระบวน การที่เขาเข้ามาสัมผัสกับธนาคาร และเมื่อจบสิ้นธุรกรรมแต่ละครั้งลูกค้าจะกลับมาใช้บริการอีก
ยุทธศาสตร์ดังกล่าวยังได้พูดถึงการบริหารเชิงข้อมูลเพื่อเพิ่มผลตอบแทนและพัฒนาธุรกิจอิเล็กทรอนิกส์ โดยการทำงานของธนาคารทุกกระบวนการจะต้องสามารถกระทำโดยผ่านช่องทางไซเบอร์สเปซไปพร้อมกันได้ด้วย
ซึ่งก่อนหน้านี้บัณฑูรได้กล่าวไว้ว่า ยุทธศาสตร์ทั้ง 8 ประการ จะเริ่มเกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมทีละเรื่อง ส่วนการบริหารเชิงข้อมูลกำลังจะเห็นชัดขึ้นในปี 2551
การพัฒนาข้อมูลบนโลกไซเบอร์ของ K NOW ได้ใช้เวลาพัฒนามาร่วม 1 ปี โดยมีทีมงานเข้ามาดูแลส่วนนี้โดยเฉพาะ และเพื่อ ให้เห็นภาพและเข้าใจมากขึ้นเขายกตัวอย่าง เว็บไซต์ของธนาคารชื่อว่า www.homesmiles club.com เป็นเว็บไซต์ที่รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องบ้านทุกอย่าง อาทิ แบบบ้าน อุปกรณ์ตกแต่งบ้าน รวมไปถึงฮวงจุ้ย เป็นเรื่องที่คนส่วนมากให้ความสนใจ รวมทั้งบัณฑูรก็มีความสนใจและมีความรู้เรื่องนี้ไม่ใช่น้อย ถึงกับออกตัวว่าในอนาคตอาจจะเป็นผู้หนึ่งที่ให้คำปรึกษาเรื่องฮวงจุ้ย นอกจากความรู้ที่เกี่ยวกับบ้านแล้ว KBANK ยังได้สอดแทรกผลิตภัณฑ์ทางด้านการเงินของธนาคารเข้าไป ด้วย ขณะนี้มีสมาชิก 35,000 คน ให้บริการมาเป็นระยะเวลา 1 ปี มีจำนวนผู้เยี่ยมชมเว็บไซต์ 6-7 แสนราย และจะครบ 1 ล้าน รายภายในปีนี้
ชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโสฝ่ายบริหารผลิตภัณฑ์และการตลาด สินเชื่อผู้บริโภค ธนาคารกสิกรไทย ในฐานะผู้บริหารเว็บไซต์ดังกล่าว ให้เหตุผลที่เลือกพัฒนาข้อมูลสินเชื่อบ้านเป็นอันดับแรก เป็นเพราะว่าลูกค้าที่ใช้บริการสินเชื่อบ้านมีประมาณ 50% จากลูกค้าที่ใช้บริการสินเชื่อทั้งหมดของธนาคารกสิกรไทย และในปีนี้คาดว่าจะมีสินเชื่อบ้านประมาณ 90,000 ล้าน บาท
โฮมสไมล์คลับเป็นเพียงตัวอย่างที่บัณฑูรยกมาให้เห็นภาพชัดเจนมากขึ้นเท่านั้น แต่ต่อไป KBANK จะพัฒนาเว็บไซต์สุขภาพ โรงพยาบาล โดยแนะนำข้อมูล อาทิ จะผ่าตัด ที่ไหน บริการอย่างไรจะสอดคล้องกับความต้องการและมีประสิทธิภาพในงบประมาณที่มีจำกัด สุขภาพก็เป็นสิ่งหนึ่งเป็นปัจจัย 4 เรื่องการศึกษาและอื่นๆ ที่ประกอบกันเป็นชีวิตส่วนตัวของมนุษย์
สิ่งที่บัณฑูรกำลังสร้างขึ้นเป็นสังคมชุมชนบนอินเทอร์เน็ต เพื่อให้มีการสื่อสารระหว่างธนาคารกสิกรไทยกับลูกค้า เป็นการกระตุ้นให้มีการสื่อสารระหว่างกันเพิ่มมากขึ้น ไม่เพียงเท่านั้นการจัดสัมมนาให้กับผู้ประกอบ การระดับเอสเอ็มอีจำนวน 3 รุ่น หรือ 1,400 คนที่ผ่านมาให้เรียนรู้การทำธุรกิจด้านต่างๆ อาทิ การตลาด กฎหมาย การจัดการบัญชี เข้าอบรมในเวลาหัวค่ำเป็นเวลาหลายเดือน ซึ่งกลุ่มผู้เข้ารับการอบรมเหล่านี้เป็นทั้งลูกค้าธนาคารและไม่ใช่ลูกค้า แต่ในอนาคตบัณฑูร ก็หวังไว้ลึกๆ ว่า ผู้ประกอบการเหล่านั้นจะหันมาใช้บริการของธนาคารกสิกรต่อไป
นอกเหนือจากการสร้างองค์ความรู้ให้กับกลุ่มเอสเอ็มอีแล้ว เขายังมองว่าเป็นการ สร้างเพื่อนและสร้างเครือข่ายเพื่อช่วยเหลือกัน เป็นอุตสาหกรรมใหม่ที่ธนาคารสร้างขึ้นมา และยังเป็นโจทย์ใหม่ของประเทศไทยที่สนับสนุนกลุ่มเอสเอ็มอี เพราะกลุ่มนี้จะเป็นฐานให้เศรษฐกิจเติบโตได้
"K NOW เป็นมิติใหม่ที่เรามองโจทย์ ของการสนองความต้องการของธุรกิจ K NOW อ่านอีกอย่างหนึ่งว่า โนว์ (KNOW) แปลว่า รู้ ตรงกลางเป็นลูกแก้ว มีกุญแจ สิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อชีวิตลูกค้าของเครือธนาคารกสิกรไทย ทั้งชีวิตที่เป็นส่วนตัวและชีวิตที่เป็น ธุรกิจ ที่ทำให้ธุรกรรมการเงินสนองความต้องการ เราไม่ได้เสนอผลิตภัณฑ์ตัวใดตัวหนึ่ง แต่เครือธนาคารกสิกรไทยมองตลาดที่กว้างมากไปกว่าเดิม มากว่าผลิตภัณฑ์ แต่จะสร้าง อุตสาหกรรมองค์ความรู้ เพื่อให้ชีวิตของลูกค้าประสบความสำเร็จ เราได้ใช้คำว่าเครือธนาคารกสิกรไทย สำหรับชีวิตวันนี้และ ตลอดไป หรือภาษาอังกฤษ KASIKORNBANK GROP : A People to Simplify your Life ในความจำกัดปริมาณเงินที่มีอยู่ และเวลา 24 ชั่วโมง จะเป็นจุดเริ่มต้นของอุตสาหกรรม ใหม่ ซึ่งแทรกมากับอุตสาหกรรมการเงิน ซึ่งเครือธนาคารกสิกรไทยจะพัฒนาต่อไปเรื่อยๆ"
มุมมองในการดำเนินธุรกิจธนาคารกสิกรไทยของบัณฑูรในทศวรรษหน้า ไม่ได้มองเพียงธุรกรรมทางการเงินเพียงด้านเดียว แต่เขาได้มองลึกลงไปถึงชีวิตมนุษย์ว่า มนุษย์ต้องการความสุขในชีวิตและชีวิตของมนุษย์คนหนึ่งจะมี 2 ด้าน คือ ชีวิตที่ต้องทำงานหาเงินและชีวิตอีกด้านหนึ่งคือ การใช้เงินถือว่าเป็นมุมมองที่ลึกซึ้งและละเอียดอ่อน
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|