AISให้บริการทีวีมือถือ เปิดมิติใหม่ในการรับชมโทรทัศน์


ผู้จัดการรายวัน(30 เมษายน 2546)



กลับสู่หน้าหลัก

เอไอเอสเดินหน้ารุกธุรกิจนอนวอยซ์ทุกรูปแบบ ล่าสุดผนึกสถานีโทรทัศน์ 3,5,7,9,11 และไอทีวี บริการ TV on Mobile ในชื่อ "DigiLIVE" เปิดมิติใหม่ในการดูทีวีของไทยทางโทรศัพท์มือถือบนเครือข่ายจีพีอาร์เอสภายใต้แนวคิด Anytime, Anywhere, Everyone ดีเดย์กลางเดือนพ.ค.นี้ พร้อมอัดโปรโมชั่น 3 เดือน แรกกระตุ้นตลาด ตั้งเป้ายอดผู้ใช้บริการปีแรก 5 หมื่นราย

นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร กรรมการผู้อำนวยการ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือเอไอเอส ผู้ให้บริการ มือถือระบบจีเอสเอ็ม แอดวานซ์ และวัน-ทู-คอล! เปิดเผยว่าจากมุม มองของเอไอเอสที่เชื่อว่าบริการด้าน นอนวอยซ์จะมีบทบาทสำคัญต่อการอำนวยความสะดวกให้กับการใช้ชีวิตของประชาชน จึงพัฒนาบริการนอนวอยซ์ทั้งหมดภายใต้ชื่อ mbileLIFE และมีการจัดกลุ่มบริการให้มีรูปแบบที่เหมาะสมกับไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภค

การพัฒนาบริการของเอไอเอส มาจาก 2 ส่วนคือ 1. พัฒนาจากหน่วยงาน Future Lab ของเอไอ-เอส 2. ร่วมพัฒนา และร่วมให้บริการกับพันธมิตร ด้วยวิธีการดังกล่าวทำให้เอไอเอสมีแหล่งที่มาของ รูปแบบบริการที่หลากหลาย

จากการพัฒนาจาก Future Lab และความร่วมมือของพันธ มิตร ล่าสุดได้พัฒนาบริการ TV on Mobile โดยร่วมมือกับสถานีโทรทัศน์ทั้ง 6 ช่อง คือ 3,5,7,9,11 และไอทีวี ที่เป็นเจ้าของเนื้อหาหรือ คอนเทนต์ โดยใช้ชื่อบริการว่า DigiLIVE

บริการดังกล่าวผู้ใช้บริการของเอไอเอสสามารถรับชมรายการทีวีของทั้ง 6 สถานีตามผังรายการปกติผ่านโทรศัพท์มือถือบนเครือข่ายจีพีอาร์เอสได้ทุกที่ทุกเวลา

"TV on Mobile เป็นมิติใหม่ของการดูทีวี การผสมผสานของเทคโนโลยีทำให้เป็นโทรทัศน์มือถือได้"

นายกฤษณัน งามผาติพงศ์ รองกรรมการผู้อำนวยการ สายงานการตลาด เอไอเอส กล่าวว่า TV on Mobile จัดอยู่ในกลุ่มของ mobile LIFE Pro ที่นำเอาเทคโนโลยีวิดีโอ สตรีมมิ่ง มา พัฒนาให้เกิดความหลากหลายของรูปแบบบริการ ที่ผู้บริโภคสามารถเลือกใช้งานได้ตามความต้อง การ ไม่ว่าจะเป็นการเลือกชมรายการเฉพาะช่วงที่ สนใจ เช่น ที่เคยร่วมพัฒนากับไอทีวีในชื่อบริการ I-News ผ่านอุปกรณ์ประเภทพ็อกเก็ต พีซี

TV on Mobile เป็นบริการในลักษณะเรียลไทม์ ซึ่งจะทำให้โทรศัพท์มือถือกลายเป็นโทรทัศน์เคลื่อนที่ที่สามารถชมรายการผ่านเครือ ข่ายจีพีอาร์เอสของเอไอเอส ซึ่งเป็นการตอกย้ำแนวคิด Anytime, Anywhere, Everyone อย่างชัดเจนที่สุดอีกครั้งหนึ่ง

"การเปิดตัว DigiLIVE เป็นการทำตลาดที่ชัดเจนเกี่ยวกับนอนวอยซ์ทั้งหมด ซึ่งตลาดตรง นี้คาดว่าจะมีมูลค่าประมาณแปดพันล้านบาท"

บริการ DigiLIVE เกิดจากแนวคิดที่เอไอเอส ต้องการสร้างความสะดวกสบายให้แก่ผู้บริโภค และเอไอเอสเห็นว่าตลาดมือถือมีผู้ใช้มากถึง 18 ล้านเลขหมาย หากผู้ใช้บริการเหล่านี้มาใช้บริการ DigiLIVE โดยเลือกรายการที่ต้องการอยากดูจริง จะสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับบริการได้

DigiLIVE จะเริ่มเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการประมาณกลางเดือนพ.ค.นี้ โดยช่วงแรกเครื่องลูกข่ายของโทรศัพท์มือถือที่สนับสนุนการ ใช้งานจะเป็นรุ่นที่มีโปรแกรมเรียล เพล์เยอร์, วินโดวส์มีเดีย เพลย์เยอร์,พีวี เพล์เยอร์ซึ่งปัจจุบัน ประกอบด้วยโนเกีย 7650, 3650 อีริคสัน P800 และสมาร์ท สำหรับเครื่องลูกข่ายที่รองรับ Digi-LIVE ได้ขณนี้มีราคาประมาณ 2 หมื่นบาท

ส่วนวิธีใช้บริการเพียงเข้าไปยังเว็บพอร์ทัลของ mbileLIFE คือ wap.mbilelife.co.th และเลือกบริการ mbileLIFE Pro จากนั้นเข้าไป ยังบริการ DigiLIVE ก็จะสามารถเลือกชมราย การโปรดจาก 6 สถานีได้ทันที นอกจากนี้ ผู้ที่เดิน ทางไปต่างประเทศยังสามารถรับชมรายการต่างๆ จากทีวี 6 ช่องได้ เนื่องจากเอไอเอสได้มีการโรมมิ่งจีพีอาร์เอสแล้ว 10 ประเทศ แต่การรับชมรายการทีวีผ่าน โทรศัพท์มือถือจะช้ากว่าการให้บริการของทางสถานีโทรทัศน์ประมาณ 8-9 วินาที

สำหรับการจัดเก็บค่าบริการ DigiLIVE ใน ช่วง 3 เดือนแรกซึ่งเป็นช่วงของการจัดโปรโมชั่น ผู้ใช้จีเอสเอ็ม แอดวานซ์เหมาจ่ายค่าใช้จีพีอาร์เอส เดือนละ 499 บาท ส่วนผู้ใช้วัน-ทู-คอล! คิดค่าบริการจีพีอาร์เอสกิโลไบต์ละ 4 สตางค์ หรือประมาณ 5 บาทต่อนาที เป็นเวลา 3 เดือน โดยไม่คิดค่าคอนเทนต์

นายสุวิทย์ อารยะวิไลพงศ์ ผู้จัดการสำนักบริการ เอไอเอส กล่าวว่าเป้าหมายของการ ให้บริการ DigiLIVE คือสร้างความสะดวกสบาย ให้ผู้บริโภคมากที่สุด จากการจัดโปรโมชั่นเพื่อกระตุ้นตลาดใน 3 เดือนแรกคาดว่าจะมีผู้ใช้บริการประมาณ 1 หมื่นราย และคาดว่าจะถึง 5 หมื่นรายภายในปีแรก

ทั้งนี้ จากการสำรวจจากซัปพลายเออร์ที่นำ เข้าเครื่องลูกข่าย คาดว่าสิ้นปีนี้จะมีเครื่องที่รอง รับบริการ DigiLIVE ประมาณ 2 แสนเครื่อง

"DigiLIVE เป็นแนวโน้มของตลาด เพราะเทคโนโลยีมือถือสามารถผสมผสานได้กับหลายเทคโนโลยีไม่ว่าจะเป็นกล้องวิดีโอ พีดีเอ หรือทีวี" นายสุวิทย์กล่าวและว่า

การร่วมมือครั้งนี้เอไอเอสได้ฟรีในเรื่องของ คอนเทนต์ แต่สิ่งที่ทางสถานีโทรทัศน์ช่องต่างๆ จะได้จากเอไอเอสคือนวัตกรรมและรูปแบบใหม่ๆ ของการบริการ

"ทีวีช่องทางต่างๆ เขาต้องร่วมมือทุกราย เพราะไม่เช่นนั้นจะตกขบวน"



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.