ทุบทิ้ง TCDC!! ยุบรวมเป็น IDCL


นิตยสารผู้จัดการ( พฤศจิกายน 2550)



กลับสู่หน้าหลัก

"TCDC เป็นสิ่งที่ดีที่รัฐบาลเก่าทำไว้นะ เป็นสิ่งที่ดีน้อยอย่างที่มี และเป็นการคิดออกนอกกรอบที่ควรสนับสนุนต่อไป"

เป็นคำกล่าวทิ้งท้ายของ ศ.ดร. ชัยอนันต์ สมุทวณิช ประธานองค์กรใหม่ "สถาบันการเรียนรู้และสร้างสรรค์ (สรส.)" (IDCL : Institute of Discovery & Creative Learning) ซึ่งมีศาสตราจารย์ สุรพล วิรุฬห์รักษ์ รักษาการเป็นผู้อำนวยการคนใหม่และอยู่ภายใต้ OKMD (สบร. : สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้) ที่มี ดร.อภินันท์ โปษยานนท์ เป็นประธานบอร์ดชุดใหม่ หลังปฏิวัติรัฐประหาร 19 กันยายน 2549

กว่าหนึ่งปีที่บอร์ดชุดใหม่ของ OKMD ใช้เวลาศึกษาทบทวน 7 แท่งหน่วยงาน คือ สถาบันวิทยาการการเรียนรู้ ศูนย์ส่งเสริมผู้มีความสามารถพิเศษแห่งชาติอุทยานการเรียนรู้ (TK Park) สถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ (สพร.) ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC) ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ของประเทศไทย และศูนย์คุณธรรม ที่อยู่ใต้สังกัดโดยยึดนโยบาย 4 ป. -ประหยัด-โปร่งใส-เป็นธรรม-ประสิทธิภาพ

ปรากฏว่าหนึ่งในเป้าหมายนั้นคือ TCDC : ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ ซึ่งเป็นโครงการริเริ่มสร้างสรรค์โดยพันศักดิ์ วิญญรัตน์ ประธาน OKMD คนแรกและทีมงานคนหนุ่มสาวรุ่นใหม่ แม้จะเป็นโครงการของรัฐที่มุ่งสร้างกระบวนทัศน์ด้าน creative value economy ด้วยมาตรฐานการทำงานสูงและมือสะอาด จึงมีผลงานในรอบสองปีจากจำนวนสมาชิก 15,000 คน จัดนิทรรศการไปแล้ว 12 งาน จัดสัมมนาไป 57 รายการ ทำงานใหญ่ระดับนานาชาติ 2 ครั้ง รวมจำนวนคนใช้บริการ TCDC ไม่ต่ำกว่า 680,000 คน ยังไม่นับรวมประโยชน์ที่บริษัทไทยกว่า 40 แห่งนำวัสดุไทย 80 ชิ้นผ่าน Material ConneXion ทั้ง 4 สาขาที่นิวยอร์ก มิลาน โคโลญจน์ จนกระทั่งได้รับคำสั่งซื้อสร้างรายได้เริ่มต้น 76 ล้านบาท

แต่เมื่อ 22 ตุลาคมศกนี้ ในวันแถลงข่าวเพื่อแจ้งความชอบธรรมต่อการควบรวม TCDC กับสถาบันพิพิธภัณฑ์เพื่อการเรียนรู้แห่งชาติ (สพร.) ที่เกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 17 ตุลาคม ดร.อภินันท์ ประธาน OKMD ได้เอ่ยถึงหลักการและเหตุผลการควบรวม รวมทั้งอ้างรายงาน น่าตกใจ 4 ข้อของ สตง.ว่าด้วยไม่ประหยัด-ไม่คุ้มค่า-ไม่ได้ตามนโยบาย และแผน-อัตราเงินเดือนผู้บริหารไม่เหมาะสม รวมถึงประกาศจัดตั้งไม่ถูกต้องตามพระราชกฤษฎีกา

ทั้งหมดปรากฏเป็นตัวเลขที่แถลงถึง TCDC โดยไม่มีตัวเลขของหน่วยงานอื่นๆ เช่น TK Park ร่วมเปรียบเทียบด้วย คือ ค่าเช่าสถานที่ และค่าตัวทีมผู้บริหารระดับสูง งานนี้จึงชี้ไปที่ผู้อำนวยการ TCDC ไชยยง รัตนอังกูร ได้ค่าจ้างเดือนละ 3.7 แสนบาท ซึ่งทำสัญญาจ้างทำงานถึงปี 2553 แต่กลับถูกปลดออกทันทีโดยไม่ได้รับการแจ้งเป็นลายลักษณ์อักษรเมื่อมีการควบรวม ขณะที่ประเด็นฟุ่มเฟือยที่เกิดจากค่าเช่า ดิ เอ็มโพเรียมเฉลี่ยเดือนละ 3.9 ล้านบาทต่อ 4,000 กว่า ตร.ม. ได้ละเลยต่อบริบทการเกิดของ TCDC ในสังคมเมืองที่มีวิถีชีวิตประจำวันในศูนย์การค้า

"ที่จริงผมทึ่งมากกับที่ตั้งของ TCDC ตั้งแต่ยังไม่ได้เข้ามาในบอร์ด ผมเดินขึ้นไปดูชั้น 6 ดิ เอ็มโพเรียมโดยไม่ได้คิดอะไรมาก แต่พอไปเห็น ผมก็ตกตะลึง...คือประทับใจมากๆ โอ้โฮ! มันเทียบเท่านิวยอร์ก ถามว่าที่เอ็มโพเรียมดีอย่างไร? ผมว่าดีที่สุด จาก BTS ไปมาสะดวก เป็นที่คนรุ่นใหม่รวมตัวกันคับคั่ง โดย TCDC ที่ ดิ เอ็มโพเรียม ทำงานได้มาตรฐานระดับโลกที่สูงมากมีทั้งระบบขนส่งและประกันค่าเสียหาย เราก็ต้องรักษามาตรฐานนี้ไว้ให้ได้ในที่ใหม่" ดร.สุเมธ ชุมสาย ณ อยุธยา หนึ่งในกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของ OKMD กล่าว

สถานที่ใหม่ของ OKMD กับหน่วยงานในสังกัดทั้งหมดเช่น IDCL จะย้ายไปในปีหน้า ก็คือ อาคาร "จตุรัสจามจุรี" หรือเรียกตามสมัยนิยมก็คือ "จามจุรีสแควร์" ซึ่งเพิ่งสร้างเสร็จตั้งอยู่ตรงข้ามวัดหัวลำโพง หัวมุมสามย่าน และบอร์ดใหม่ OKMD ลงมติเลือกที่นี่ โดยจะนำเอาหน่วยงานในสังกัดที่เคยกระจัดกระจายที่เซ็นทรัลเวิลด์, ตึกออลซีซั่น, คิวเฮ้าส์ และดิ เอ็มโพเรียม มาไว้รวมกันที่นี่ทั้งหมด

"ปัจจุบันที่เราเจรจาเช่า 3 จุดคือ บริเวณชั้น 2 และชั้น 3 ที่เราวางแผนเป็นพื้นที่บริการของหน่วยงานใหม่ (IDCL) เนื้อที่เช่าทั้งหมดรวมแล้วประมาณ 2,000 กว่า ตร.ม." ดร.อภินันท์เล่าให้ฟังพร้อมชี้แจงเงื่อนไขสัญญาเช่า 6 ปี โดย 3 ปีแรกไม่ต้องจ่ายค่าเช่า ทำให้ทั้ง 6 ปีจะเสียค่าเช่าเฉลี่ยปีละ 16.1 ล้านบาท

จากตารางจะเห็นว่าค่าใช้จ่ายระหว่างเข้าสู่กระบวนการยุบ TCDC-หยุดทำกิจกรรม-แยกบัญชีสินทรัพย์ที่มีค่า-ย้ายไปที่ใหม่ในราว เดือนพฤษภาคม 2551 เป็นต้นทุนที่สูงมากที่สูญเสียทั้งเงินและโอกาส จากชื่อเสียงของ TCDC โดยส่วนรวม โดยไม่ใช้ประโยชน์จากที่เก่าที่ ดิ เอ็มโพเรียม ซึ่งลงทุนค่าออกแบบระบบและตกแต่งไปแล้ว 200 ล้านบาท ให้คุ้มค่าก่อนหมดสัญญาในปี 2551

เป็นที่น่าสังเกตว่า ระบบการออกแบบพื้นที่ทั้งหมดตามมาตรฐานโลกของ TCDC ที่ไม่สามารถเคลื่อนย้ายหรือย้ายได้ อาจจะถูกเหมาไปขายให้กับบริษัทเอกชนที่สนใจ เพื่อนำเงินไปพัฒนาที่ใหม่ที่ต้องใช้เงินตกแต่งและวางระบบถึง 81 ล้านบาท

นอกจากนี้ การลดพื้นที่ลงจากเดิม 4,483 ตร.ม. เหลือเพียง 2,562 ตร.ม. ได้สะท้อนให้เห็นว่า ความแตกต่างของแนวคิดการจัดการ TCDC ที่เปลี่ยนไปของบอร์ดใหม่ OKMD ซึ่งกระทบต่อกระบวนทัศน์ และความพึงพอใจของฐานสมาชิก TCDC เดิมจำนวน 15,000 คน ที่ได้รับบริการจากห้องสมุด ห้องสมุดวัสดุเพื่อการออกแบบ ห้องนิทรรศการและร้านค้าที่มีคอนเซ็ปต์ผูกกันเป็นหนึ่งเดียว

"ผมไม่เชื่อและอยากถามว่ายุบทำไม ในเมื่อของเก่าดีอยู่แล้ว เขามีอำนาจอยู่ในมือ อยากทำอะไรก็ทำได้ ประเทศไทยเป็นเช่นนี้มานานแล้ว เป็นเรื่องของเกม อยากถามว่าเมื่อย้ายไปที่ใหม่แล้วสมาชิกจะได้รับประโยชน์จากที่เคยได้รับเหมือนเดิมหรือไม่ เช่น ห้องสมุด พื้นที่จัดนิทรรศการต่างๆ แต่อย่างน้อยก็เรื่องบรรยากาศซึ่งเป็นนามธรรมที่มีค่ามาก ครั้งนี้เชื่อว่าเมื่อเปลี่ยนสถานที่ ความรู้สึกก็จะเปลี่ยน" นี่คือความเห็นของเป็นเอก รัตนเรือง หนึ่งในสมาชิกและวิทยากรของ TCDC

การเปลี่ยนเป็นหน่วยงาน IDCL ที่เกิดจากการควบรวม TCDC กับสถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติที่ต่างสายพันธุ์ DNA ครั้งนี้ มาจากแรงกดดันจากสถานการณ์การเมืองและเศรษฐกิจโดยตรง ที่อ้างถึงความฟุ่มเฟือยของหน่วยงาน TCDC และโอกาสที่เข้าไม่ถึงของคนจน โดยทางกรรมาธิการที่ตั้งโดย สนช. สมาชิกสภานิติบัญญัติ (สนช.) ได้พิจารณาอย่างเคร่งเครียด และสำนักงบประมาณได้อนุมัติงบดำเนินงานทั้งปี 2551 เพียง 76 ล้านบาท และงบบุคลากร 72 ล้าน

กว่าจะได้งบปี 2551 ออกมาบนเงื่อนไขกดดัน TCDC ให้ลดค่าใช้จ่ายมากที่สุด ภายใต้ข้อจำกัดนี้ ทีมเดิมของ TCDC สามารถเสนอแผนอยู่รอดได้ด้วยการแสวงหาเครือข่าย เช่น บริติช เคาน์ซิล ในการจัดกิจกรรมนิทรรศการและสัมมนาต่างๆ ได้โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย นอกเหนือจากการลดเงินเดือน 7 ผู้บริหารลง 30% และลดจำนวนพนักงานลงก่อนหน้านี้แล้ว

ถึงอย่างไรก็ไม่รอด ในที่สุดอำนาจการตัดสินใจที่จะยุบ TCDC แล้วควบรวมกับพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้ฯ ก็เป็นของบอร์ด OKMD ชุดใหม่นี้ ซึ่งขณะแถลงข่าวยังไม่มีแผนชัดเจนในการรองรับผลกระทบจากการควบรวมที่ TCDC ได้รับว่าจะชดใช้ให้กับสมาชิก TCDC 15,000 คนอย่างไร? Material ConneXion Bangkok ที่เป็นห้องสมุด วัสดุเพื่อการออกแบบ จะยังคงได้รับการดำเนินการอย่างต่อเนื่องหรือไม่? โครงการที่ริเริ่มไปแล้วเช่น www.tcdcconnect.com จะดำเนินการต่อไปอย่างไร? แผนด้านบุคลากรและผลตอบแทนของคน สองหน่วยงานหลังควบรวมจะดำเนินการอย่างไร?

เหนือสิ่งอื่นใด บอร์ด OKMD จะยังคงใช้ชื่อและโลโกของ TCDC หรือไม่? เฉกเช่นเดียวกับชื่อและโลโกของสถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติจะเลือกปฏิบัติกันอย่างไร? ทั้งหมดล้วนกระตุกต่อมคิดที่ฝังอยู่ในรหัส DNA ของคน TCDC


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.