|
นักธุรกิจเวียดนาม อายุเฉลี่ยแค่ 25 ปี
นิตยสารผู้จัดการ( พฤศจิกายน 2550)
กลับสู่หน้าหลัก
เวียดนามในทศวรรษนี้เปลี่ยนแปลงไปค่อนข้างมาก ยิ่งเห็นตัวเลขอัตราการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (GDP) ตลอดระยะเวลา 7 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่ปี 2543-2549 ที่โตเฉลี่ยปี 7.5% รองจากจีนและอินเดียเท่านั้น
สิ่งที่ทำให้เวียดนามเปลี่ยนแปลงได้มากขนาดนี้ก็เพราะ "คน"
คนเวียดนามในวัยทำงาน โดยเฉพาะนักธุรกิจหน้าใหม่มีอายุโดยเฉลี่ย 25 ปีเท่านั้น สอดคล้องกับข้อมูลของบริษัทหลักทรัพย์ซาคอม แบงก์ ซิเคียวริตี้ (SBS) ที่บอกว่าความก้าวหน้าของเวียดนามเกิดจากคนรุ่นใหม่วัยหนุ่มสาว และประชากรมากกว่าครึ่งหนึ่งของประเทศมีอายุน้อยกว่า 25 ปี จากประชากรทั้งประเทศที่มีมากกว่า 84 ล้านคน
SBS เป็นตัวแทนภาพคนรุ่นใหม่ของเวียดนามได้เป็นอย่างดี เพราะบริษัทแห่งนี้มีประธานกรรมการบริหารอายุ 30 ปี มีอายุเฉลี่ยของพนักงานเพียง 25 ปี ถึงขนาดที่ Nguyen Huy Cuong ผู้จัดการฝ่ายประเมินค่าธุรกิจ SBS ยังบอกว่าเขาเองที่ปีนี้อายุ 31 ปี ก็ถือว่ามีอายุมากแล้วในบริษัท
ด้วยอายุเฉลี่ยของคนทำงานวัยเบญจเพสนี้เอง ถ้ามองในด้านบวกก็ถือว่ามีความกระตือรือร้น ใฝ่รู้ และไฟแรง แต่หากมองอีกด้านหนึ่ง ประสบการณ์และความเชี่ยวชาญนั้นถือว่ายังมีไม่มากนัก ยิ่งหาก คนเหล่านี้ต้องเข้ามาทำธุรกิจในตลาดเงินและตลาดทุน
เหตุนี้เองจึงทำให้ SBS เข้ามาประเทศไทยและเซ็นสัญญากับบริษัทหลักทรัพย์ทิสโก้ เพื่อต้องการให้ทิสโก้ถ่ายทอดประสบการณ์และ ความเชี่ยวชาญในธุรกิจโบรกเกอร์ ธุรกิจวาณิชธนกิจตลอดจนความรู้ ในงานวิจัย โดยมีสัญญาผูกพันกัน 1 ปี
"ตลาดทุนในประเทศเวียดนามกำลังเติบโตมากในเวลานี้ แต่ประเทศไทยเองได้ก้าวผ่านจุดนี้มากว่า 30 ปีแล้ว ดังนั้นจึงมั่นใจในความรู้ ความเชี่ยวชาญต่างๆ ของทิสโก้" หงวน โฮ นัม ประธานกรรมการบริหารกล่าวในงานแถลงข่าวเมื่อวันที่ 11 ตุลาคมที่ผ่านมา
ก่อนหน้านั้นได้มีการเซ็นสัญญาความร่วมมืออย่างเป็นทางการระหว่างตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และตลาดหลักทรัพย์นครโฮจิมินห์ (HOSE) ไปแล้วเมื่อวันที่ 10 กันยายน ณ ประเทศเวียดนาม
ด้านทิสโก้ก็ต้องการรู้จักตลาดทุนและตลาดเงินของเวียดนามเพิ่มมากขึ้น เพราะไพบูลย์ นลินทรางกูร กรรมการผู้จัดการ ยอมรับว่า ยังไม่รู้จักประเทศเวียดนามดีพอ ฉะนั้นจึงเป็นโอกาสที่ดีที่จะให้ทีมงาน ทั้งสองฝ่ายได้เรียนรู้และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ซึ่งกันและกัน แต่ทิสโก้ จะเป็นผู้ถ่ายทอดมากกว่า เพราะต้องช่วย SBS นำรัฐวิสาหกิจเวียดนาม เข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งเป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลเวียดนามที่ต้องการให้มีการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ
SBS มีทุนจดทะเบียน 69 ล้านเหรียญสหรัฐ เป็นบริษัทลูกของกลุ่มซาคอมแบงก์ ซึ่งเป็นธนาคารพาณิชย์แห่งแรกที่เข้าจดทะเบียนใน HOSE มีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (Market Capitalization) รวม 1.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ มีผู้ถือหุ้น อาทิ International Financial Corporation (IFC) ในเครือธนาคารโลก ANZ Bank จากออสเตรเลีย และ Dragon Capital Holding จากอังกฤษ
SBS เป็นโบรกเกอร์ที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 3 ใน HOSE มีส่วนแบ่งการตลาดค่านายหน้าประมาณ 10%
อย่างไรก็ดี ปัจจุบันประเทศเวียดนามมีบริษัทหลักทรัพย์ทั้งหมด 61 แห่ง แต่ทั้งหมดเป็นบริษัทท้องถิ่น ซึ่งเป็นปัจจัยบ่งชี้ให้เห็นว่าการเติบโตยังอยู่ในวงจำกัด และบริษัทหลักทรัพย์ท้องถิ่นเหล่านี้ยังมีความต้องการผู้ที่มีความรู้เชี่ยวชาญในตลาดเงิน และตลาดทุนเข้าไปช่วยเหลือ อีกมาก เพื่อเตรียมความพร้อมที่จะนำบริษัทใหม่ๆ เข้าตลาดหลักทรัพย์ เพราะมีการคาดการณ์ไว้ว่าในอีก 5 ปีข้างหน้าจะมีบริษัทเข้าจดทะเบียน ในตลาดหลักทรัพย์เพิ่มอีก 1,500 แห่ง
เวียดนามมีตลาดหลักทรัพย์ 2 แห่ง คือ HOSE ก่อตั้งเมื่อปี 2543 มีบริษัทจดทะเบียน 117 แห่ง มีมูลค่าตลาดรวม 18 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่วนตลาดหลักทรัพย์ฮานอยก่อตั้งเมื่อปี 2548 มีบริษัทจดทะเบียน 91 แห่ง มีมูลค่าตลาดรวม 7.49 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
ความร้อนแรงของตลาดหลักทรัพย์เวียดนาม ดูได้จากการเติบโต ของดัชนีราคาหุ้นที่ผ่านมา ตั้งแต่ปี 2540 โตโดยเฉลี่ย 84% ต่อปี และในปี 2549 โตมากที่สุดถึง 144% และดัชนีขึ้นไปสูงสุดที่ 1,170.67 จุด เมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2550
ไม่เพียงเท่านั้น ข้อมูลของ ADB ยังได้ตอกย้ำว่าในปีหน้าเวียดนามยังจะเติบโตและร้อนแรงเพิ่มขึ้นอีก โดยจะมีอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจมากกว่า 8% ประชากรรุ่นใหม่จะมีการบริโภคและอุปโภค เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ธุรกิจค้าปลีกจะเติบโตมากกว่า 20%
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|