|
สหรัฐฯ แย่ ไทยยิ่งแย่กว่า
นิตยสารผู้จัดการ( พฤศจิกายน 2550)
กลับสู่หน้าหลัก
ข้อมูลของธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) ที่พูดถึงแนวโน้มเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทย ปี 2551 เรียกได้ว่าเป็นสัญญาณเตือนภัยให้กับนักธุรกิจไทยที่ต้องเร่งปรับตัวกันค่อนข้างมาก เพราะในปีหน้าธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ดถึงกับฟันธงว่าการส่งออกของไทยจะเหลือแค่ 8% จะเห็นการขาดดุล และการเคลื่อนย้ายทุนรุนแรงขึ้น
ไท ฮุย หัวหน้างานวิจัยเศรษฐกิจระดับ ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด กำลังชี้ให้เห็นว่าเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาในปีหน้ามีแนวโน้ม ชะลอตัวอย่างแน่นอน โดยมีเหตุผลสนับสนุน 3 ส่วน ด้วยกัน 1. ปัญหาซัพไพร์ม ที่เกิดจาก ภาคอสังหาริมทรัพย์ตกต่ำ 2. อัตราการว่างงานเพิ่มขึ้น และสุดท้าย การบริโภคมีการชะลอตัว
แม้ว่าธนาคารกลางหรือเฟดของสหรัฐอเมริกา จะพยายามแก้ปัญหาโดยการลดอัตราดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่อง และคาดว่าจะลดอีก 2 ครั้งในเดือนตุลาคมและธันวาคมนี้
สิ่งที่เกิดขึ้นกับอเมริกา อุสรา วิไลพิชญ์ นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด จึงตั้งโจทย์ขึ้นมาว่า ถ้าเศรษฐกิจสหรัฐฯ ชะลอตัว สิ่งที่ไทยจะได้รับผลกระทบนั้นมีหลายด้าน โดยเฉพาะภาคส่งออก ที่ไทยส่งออกไปสหรัฐอเมริกาจำนวน 15% จากมูลค่าการส่งออกรวม
แต่อุสราบอกว่าตัวเลขการส่งออกที่แท้จริงของไทยไปสหรัฐ อเมริกาจะอยู่ที่ 35% ซึ่งเกิดจากบางประเทศที่นำเข้าสินค้าจากไทย ไปผลิตเป็นสินค้าอีกครั้งหนึ่ง หรือที่เรียกกันว่า re-export ดังนั้นผลกระทบที่ได้รับจึงเพิ่มขึ้น จนทำให้ในปีหน้าภาคการส่งออกจะลดลงเหลือเพียง 8% จากปีนี้ที่มีอัตราการเติบโตโดยเฉลี่ย 10-12%
สัญญาณต่อไปคือดุลบัญชีเดินสะพัดจะลดลง เป็นเพราะว่า การส่งออกในปีหน้าจะลดลง แต่การนำเข้ากลับจะเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะน้ำมันที่นำเข้าในแต่ละปีมีจำนวนมากจนส่งผลให้มีการขาดดุล ถึง 2.5 พันล้านบาท เทียบกับเกินดุลในปีนี้ 4.8%
ส่วนค่าเงินบาทคาดว่าจะอ่อนลงไประดับที่ใกล้ๆ กับ 35 บาทต่อหนึ่งดอลลาร์สหรัฐภายในปีนี้ และจะอ่อนค่าลงไปอีกในครึ่งปีหน้าเป็น 36.5 บาท ส่วนที่ว่าจะมีความเป็นได้อีกหรือไม่ที่ค่าเงินจะแข็ง อุสรามองว่าเงินบาทที่แข็งค่ามากที่สุด 33.2 บาทเมื่อเดือนสิงหาคม ได้ผ่านไปแล้ว และมีความเป็นไปได้น้อยมากที่จะเห็นค่าเงินลงไปในระดับนั้นอีกรอบหนึ่ง
การเคลื่อนย้ายเงินทุนจะผันผวนค่อนข้างมาก โดยให้สังเกต ที่ตลาดหุ้นที่มีการซื้อขายเพิ่มสูงขึ้น แต่ในส่วนของผู้ซื้อต่างประเทศจะขายเพื่อทำกำไรและนำเงินเข้าไปอุดรอยรั่วของตลาดซัพไพร์มอีก เพราะปัญหายังไม่จบและอาจมีผลกระทบรอบ 2 ที่ว่ากันว่าอาจใช้เวลาถึง 18 เดือนนับจากนี้ไป
อุสราบอกว่าสิ่งที่น่าเป็นห่วงอีกเรื่องหนึ่งคือการปล่อยสินเชื่อ ของธนาคารในประเทศในปีนี้น้อยลงมากเหลือเพียงแค่ 2% เมื่อเปรียบ เทียบกับปีก่อนที่มีถึง 7-8% แสดงให้เห็นว่าการปรับลดอัตราดอกเบี้ย นโยบายเหลือ 3.25% ไม่สร้างความเชื่อมั่นให้กับธนาคารที่มีต่อเศรษฐกิจโดยรวมในปัจจุบัน ที่สำคัญคือภาคเอกชนที่มีการลงทุนน้อยมาก
ปัญหาที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในปีหน้าทำให้ธนาคารสแตนดาร์ด ชาร์เตอร์ดเสนอแนะให้ยกเลิกมาตรการการกันเงินสำรอง 30% และ เปิดทางให้เงินทุนต่างประเทศเข้ามาเพื่อรองรับตลาดพันธบัตรใหม่ๆ ที่จะเพิ่มมากขึ้นในอนาคต
ที่สำคัญถ้ามองภาพรวมเศรษฐกิจไทยในปีหน้าแล้วดูเหมือนว่า ยังไม่มีอะไรดีขึ้น เพราะราคาน้ำมันและสินค้าอุปโภคบริโภคจ่อคิวขึ้น ราคากันเป็นหางว่าวทีเดียว
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|