Rene Ozorio ดีไซเนอร์ tableware ของภัทรา พอร์ซเลน

โดย น้ำค้าง ไชยพุฒ
นิตยสารผู้จัดการ( พฤศจิกายน 2550)



กลับสู่หน้าหลัก

ว่ากันว่า เมื่อประดิษฐ์เข้าไปในโชว์รูมแสดงสินค้าของภัทรา พอร์ซเลน เขาใช้เวลาในการเดินพิจารณาทุกชิ้นเซรามิกพอร์ซเลนที่มีอยู่ไม่ต่างอะไรกับการยืนมองงานศิลปะสักชิ้นที่วางอยู่ในนิทรรศการงานศิลปะ

เรื่องเล่าที่เชื่อถือได้อีกเรื่องหนึ่งก็คือ คอเซรามิกตัวจริงจะดูออกว่างานเซรามิกชิ้นไหนปิดงานด้วยมือคนและเครื่องจักร ขณะที่ผู้ที่นิยมในการสะสมเซรามิกก็มักจะให้ความสำคัญตั้งแต่การออกแบบลวดลายไปจนถึงอรรถประโยชน์ในการใช้สอย

เมื่อเป็นเช่นนั้น การจะซื้อใจลูกค้าเซรามิกทั่วโลกได้ การรักษาคุณภาพตั้งแต่เริ่มแรกออกแบบถือเป็นหัวใจสำคัญไม่แพ้กับกระบวนการผลิตอย่างอื่นที่ตามมา

เป็นเวลาหลายปีแล้วที่ภัทรา พอร์ซเลน เลือกจ้างนักออกแบบภาชนะบนโต๊ะอาหาร หรือ tableware designer ชั้นนำของโลกเป็นผู้ออกแบบ shape ต่างๆ ให้

Rene Ozorio ดีไซเนอร์ชาวฝรั่งเศสที่เคยเป็น tableware designer ให้กับแบรนด์ tableware ชื่อดังระดับโลกหลายแบรนด์ คือหนึ่งในดีไซเนอร์ที่ภัทรา พอร์ซเลน ลงทุนควักกระเป๋าจ้างมาร่วมงานด้วย

ภัทรา พอร์ซเลน จ้าง Rene Ozorio เป็นดีไซเนอร์แบบ freelance มานานหลายปี จนกระทั่งสุรพงศ์เห็นความสำคัญของการสร้างแบรนด์ให้เติบโตด้วยการออกแบบสินค้าให้โดดเด่นอย่างต่อเนื่องกันให้ได้มากที่สุด จึงทำ contract ระยะเวลา 2 ปีกับ Rene Ozorio ซึ่งเพิ่งครบ 2 ปีเมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมา ปัจจุบัน Rene Ozorio เป็นที่ปรึกษาด้านดีไซเนอร์ให้กับภัทรา

Rene Ozorio เกิดที่ฮ่องกง แต่ครอบครัวย้ายไปอยู่ที่แคนาดาก่อนที่เขาจะทำงานและใช้เวลาส่วนใหญ่ของชีวิตอยู่ในฝรั่งเศส ความหลากหลายของทั้งภาษาและวัฒนธรรมผลักดันให้ Rene Ozorio เป็นที่รู้จักในกลุ่มอุตสาหกรรมเซรามิกดีว่า เขาเป็นผู้มีความรู้ความสามารถ และความเข้าใจ หรือ multi skill ในวัฒนธรรมการออกแบบ tableware ให้ตรงกับคนทั้งฝั่งอเมริกา ยุโรป และเอเชียได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะการออกแบบ tableware สำหรับห้องจัดเลี้ยงที่ให้ความสำคัญกับการจัดวางชิ้นงานที่ใช้สอยได้จริง และไม่เป็นส่วนเกิน

เช่นในโรงแรมแต่ละแห่ง ห้องจัดเลี้ยงแต่ละที่จะมีขนาดโต๊ะที่ไม่เท่ากัน บางโรงแรมโต๊ะเล็ก บางที่โต๊ะใหญ่กว่า เมื่อจำเป็นต้องออกแบบ tableware ให้กับโรงแรมโดยเฉพาะต้องถามขนาดโต๊ะว่ากว้างหรือยาวเท่าไร โต๊ะกลม หรือเหลี่ยม ใช้เก้าอี้จัดวางจำนวนเท่าไร เมื่อได้ขนาดแล้วจะคำนวณว่าต้องใช้จานขนาดเท่าไร ถ้วย แก้ว ถ้วยน้ำจิ้มขนาดเท่าไรจึงจะเหมาะสม

เพราะสินค้าเซรามิก 1 shape นั้นต่ำสุดคือ 32 ไอเท็ม ทั้งจานหลัก จานรอง ถ้วย ชาม ถ้วยกาแฟ ถ้วยชา ถ้วยน้ำจิ้ม ซึ่งมีขนาดไอเท็มที่แตกต่างกันออกไป ขณะที่ shape หลักมีทั้งหมด 150 ไอเท็ม เพื่อให้เหมาะกับการใช้งานของลูกค้า และเหมาะกับขนาดโต๊ะ การเลือกใช้ที่แตกต่างกันด้วย ความยุ่งยากของการออกแบบจึงไม่เพียงแต่ใช้กำลังแรงกายและสมองเท่านั้น แต่ยังหมายถึงการดึงเอาความเป็นศิลปินเข้ามาใช้อย่างเต็มที่อีกด้วย

ปัจจุบันภัทรา พอร์ซเลนมีทีมดีไซเนอร์คนไทยคอยรับไอเดียต่อจาก Rene Ozorio 3-4 คน ช่วง 2 ปีมานี้ภัทรา พอร์ซเลนสามารถออกสินค้าใหม่ถึง 8 shape ช่วยให้ภัทราสามารถกระตุ้นตลาดและขึ้นราคาแต่ละ shape ได้สูงขึ้นด้วย ทั้งๆ ที่โดยปกติ 1 ปี ธุรกิจเซรามิกมักออกสินค้าเพียง 1 shape ต่อปีเท่านั้น

นอกเหนือจากการออกแบบผลิตภัณฑ์ให้ภัทรา พอร์ซเลนแล้ว ปัจจุบัน Rene Ozorio ยังทำ Co-Brand กับภัทรา พอร์ซเลนเพื่อผลิตแบรนด์ Rene Ozorio วางจำหน่ายไปทั่วโลกอีกด้วย


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.