|
บทพิสูจน์แห่ง "หนองหว้า" เกษตรกรก็รวยได้
โดย
สุภัทธา สุขชู
นิตยสารผู้จัดการ( พฤศจิกายน 2550)
กลับสู่หน้าหลัก
หลายคนเชื่อว่า เกษตรกรรมกับความยากจนมักเป็นของคู่กัน ทว่ากลุ่มเกษตรกรแห่งหมู่บ้านหนองหว้า ผู้มีรายได้ต่อครัวเรือนเฉลี่ยร่วมแสนบาทต่อเดือนคงเป็นบทพิสูจน์ที่คัดค้านความเชื่อข้างต้นได้เป็นอย่างดี แต่กว่าจะมีความสำเร็จในวันนี้แน่นอนว่าต้องมีระบบวิธีคิดและกระบวนการจัดการที่ดีเป็นเบื้องหลังที่ควรค่าแก่การเรียนรู้และเป็นแบบอย่าง
บ้านหลังใหญ่หลังคาติดจาน UBC ในบ้านครบครันด้วยเครื่องอำนวยความสะดวก ไม่ต่างจากบ้านเรือนชาวกรุงเทพฯ รอบบ้านมีทั้งรถยนต์ รถกระบะ รถมอเตอร์ไซค์ และจักรยานเรียงรายอยู่ภายใต้อาณาเขตกว่า 20 ไร่ต่อบ้านหนึ่งหลัง
นี่คือสภาพความเป็นอยู่ของเกษตรกรที่เห็นได้ทั่วไป ทันที ที่เลี้ยวรถเข้าสู่อาณาจักร "โครงการหมู่บ้านเกษตรกรรมหนองหว้า" ณ หมู่บ้านหนองหว้า ตำบลบ้านซ่อง อำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา
ภาพเหล่านี้แทบไม่เหลือเค้าความหลังเมื่อ 30 ปีก่อน ดินแดนอันเป็นที่ตั้งโครงการผืนนี้เคยเป็นเพียงที่รกร้างและแห้งแล้งจนไม่สามารถปลูกพืชเศรษฐกิจอันใดได้ นอกจากมันสำปะหลังที่ออกผลมาเป็นหัวมันคุณภาพต่ำ และ "ความยากจน"
จนกระทั่งปี 2520 เมื่อเครือบริษัทเจริญโภคภัณฑ์ริเริ่มโครงการหมู่บ้านเกษตรกรรมหนองหว้า อันมีแนวคิดเพื่อส่งเสริม อาชีพการเลี้ยงหมูควบคู่ไปกับการเพาะปลูกให้กับเกษตรกรผู้ยากจนและไร้ที่ทำกิน โดย ซี.พี.ให้การสนับสนุนด้านวิทยาการ ความรู้และเทคโนโลยีการเลี้ยงหมูที่ถูกต้องและมีประสิทธิภาพ รวมถึงรับผิดชอบการจัดหาตลาดจำหน่ายสุกรให้แก่เกษตรกรกลุ่มนี้
ทั้งนี้ แนวทางของโครงการฯ เริ่มตั้งแต่การรวบรวมที่ดิน ราว 1,250 ไร่ มาจัดสรรเป็น 50 แปลง แปลงละ 20 กว่าไร่ สำหรับเกษตรกรที่ผ่านการคัดเลือกให้เข้าร่วมโครงการฯ ทั้งสิ้น 50 ราย โดยมีหลักเกณฑ์การคัดเลือกคือ เป็นเกษตรกรเจ้าของที่ขายที่ดินให้โครงการฯ หรือไม่มีที่ทำกินเป็นของตัวเอง และยากจน
จากนั้น ซี.พี.ในนามโครงการฯ จึงนำรายชื่อเกษตรกรทั้ง 50 ราย ไปกู้เงินก้อนแรกที่ธนาคารกรุงเทพ 18 ล้านบาทโดย ซี.พี.เป็นผู้ค้ำประกันวงเงินกู้และบริหารเงินก้อนนี้ เงินส่วนหนึ่งถูกนำไปเป็นค่าที่ดินและค่าใช้จ่ายในการสร้างบ้านพักให้เกษตรกร สร้างโรงเรือนเลี้ยงสุกร รวมถึงเป็นเงินลงทุนในการจัดสร้างระบบสาธารณูปโภคต่างๆ ภายในโครงการฯ
เงินอีกส่วนถูกใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการเลี้ยงหมูโดย ซี.พี.นำหมูแม่พันธุ์ 30 ตัว และหมูพ่อพันธุ์อีก 2 ตัว มาให้ เกษตรกรเลี้ยงเพื่อผลิตลูกหมูคุณภาพอายุ 8 สัปดาห์ แล้วนำมาขายคืนให้กับโครงการฯ ในสนนราคาอยู่ที่ตัวละไม่ต่ำกว่า 70 บาทต่อหมูคุณภาพ 1 ตัว อันเป็นราคาประกันขั้นต่ำซึ่งมักจะสูงขึ้นทุก 1-2 ปี ซึ่งปีหนึ่งๆ เกษตรกรที่ตั้งใจเลี้ยงหมูจะมีผลผลิตเป็นลูกหมูอย่างน้อยปีละ 480 ตัว
"ในการบริหารชุมชน ความจำเป็นขั้นพื้นฐานของพวกเขา จะถูกตอบสนองก็ต่อเมื่อพวกเขามีรายได้ดี เราก็เริ่มต้นพัฒนาอาชีพหลักของพวกเขาคือการเลี้ยงหมู พัฒนาให้เลี้ยงหมูได้ผลผลิตดี มีต้นทุนต่ำ กำไรเยอะ เราใช้เวลากับตรงนี้นานจนวันนี้ก็ยังไม่สิ้นสุด เพราะมันมีสายพันธุ์ใหม่และนวัตกรรมใหม่อยู่เรื่อยๆ"
ภักดี ไทยสยาม กล่าวในฐานะผู้มีส่วนร่วมกับโครงการฯ ตั้งแต่ต้น ในช่วงแรกภักดีมีฐานะเป็นสัตวบาลที่ ซี.พี.ส่งมาประจำการที่หนองหว้า แต่พอโครงการฯ ดำเนินผ่านไป 3-4 ปีแรก ภักดีก็เปลี่ยนสถานะเป็นเกษตรกรในโครงการฯ โดยซื้อที่ดิน ต่อจากเกษตรกรเดิมรายหนึ่งที่ไม่ประสงค์จะเลี้ยงหมูต่อ
"มันเหมือนเราไม่ได้มาทำงานให้ ซี.พี.แต่เราเป็นส่วนหนึ่ง ของโครงการฯ เรามีอุดมการณ์ว่าต้องทำให้หมู่บ้านนี้สำเร็จให้ได้ ซึ่งหนทางไม่สำเร็จมันก็มีอยู่แค่ 2 อย่างคือ ไม่ขยัน อดทน และไม่ซื่อสัตย์ เราจึงปลูกฝังสิ่งเหล่านี้กับเกษตรกรไว้ตั้งแต่ช่วงแรกๆ" ภักดีย้ำกุญแจสำคัญนี้หลายครั้ง
ภายใต้ความเป็นผู้นำด้านวิทยาการและเทคโนโลยีการเลี้ยงหมูของ ซี.พี.ที่ถ่ายทอดให้กับเกษตรกรบ้านหนองหว้า และความอดทนของเกษตรกรเอง ในการเลี้ยงหมูปลอดสารอย่างเป็นระบบตามคำแนะนำของสัตวบาล หมูจากโครงการฯ จึงกลายเป็นต้นน้ำของผลิตภัณฑ์จากหมูเกรดพรีเมียมของ ซี.พี. ที่ส่วนใหญ่ถูกส่งขายให้ห้างหรูและส่งออกไปขายในต่างประเทศ เท่านั้น
ค่าจ้างเลี้ยงหมูที่ ซี.พี.ภายในนามโครงการฯ จ่ายให้แก่เกษตรกรผู้เลี้ยงหมู ผ่านค่าตอบแทนที่เป็นราคาขายหมู ทำให้เกษตรกรเหล่านั้นมีรายได้ไม่ต่ำกว่าเดือนละ 2-3 พันบาท แม้ไม่ใช่รายได้ที่สูงมาก แต่เมื่อเทียบกับความเป็นอยู่ที่แร้นแค้นและไม่มีอาชีพทำกินก่อนมีโครงการฯ นี่ย่อมถือเป็นทางเลือกที่ดีที่ ซี.พี.หยิบยื่นให้กับเกษตรกรทั้ง 50 ครัวเรือน
โดยเฉพาะเงื่อนไขที่แสนดึงดูดใจสำหรับคนที่ไม่เคยมีที่ทำกินและที่อยู่ นั่นก็คือกรรมสิทธิ์ในที่ดิน บ้านพัก และโรงเรือน ที่จะตกเป็นของเกษตรกรเหล่านี้ทันทีเมื่อครบ 10 ปี อันเป็นระยะเวลาที่หนี้สินตั้งต้นก้อนโตพร้อมดอกเบี้ยที่มีกับธนาคารกรุงเทพจะถูกชำระคืนหมดพอดี
ด้วยความขยันอดทนและซื่อสัตย์ต่อส่วนรวม เกษตรกรทั้ง 50 รายจึงเลี้ยงหมูปลดหนี้เฉพาะเงินต้นก็สูงถึง 18 ล้านบาท ได้หมดตามกำหนด 10 ปี พวกเขาได้รับโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดิน โรงเรือน และบ้านพัก ตามกติกาที่โครงการฯ สัญญาไว้
หลังจาก 10 ปีผ่านไป การดำเนินงานโครงการฯ เริ่มเข้า สู่ระยะที่ 2 อันเป็นการเปลี่ยนจากรูปแบบ "โครงการ" ที่นโยบาย ต่างๆ ขึ้นตรงกับ ซี.พี.มาเป็นรูปแบบนิติบุคคล ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้น บีบให้เกษตรกรทั้ง 50 รายต้องร่วมกันคิดและช่วยตัวเองกันมากขึ้น
บริษัท หมู่บ้านเกษตรกรรมหนองหว้า จำกัด ถือกำเนิดขึ้นในปี 2531 โดยมีเป้าหมายสูงสุด 2 ประการ ได้แก่ บริษัทต้องอยู่ได้ และสมาชิกเกษตรกรต้องอยู่ดี นั่นคือมีรายได้ดี และ ความเป็นอยู่ดี ทั้งนี้ ผู้ถือหุ้นบริษัทหมู่บ้านฯ ประกอบด้วยเกษตรกรรุ่นบุกเบิกทั้ง 50 ราย ถือหุ้นรายละ 200 หุ้น ราคาพาร์ 100 บาทต่อหุ้น ขณะที่คณะกรรมการบริหาร 7 คน จะถูกเลือกมาจากกลุ่มเกษตรกรเหล่านี้นั่นเอง
แม้ภักดีจะไม่ใช่เกษตรกรชาวแปดริ้วโดยกำเนิด แต่ทันที ที่เปลี่ยนเป็นรูปแบบบริษัทจำกัด เขาได้รับเลือกจากสมาชิกหมู่บ้านให้เป็นประธานกรรมการมาตั้งแต่ต้นและนานถึง 15 ปีติดต่อกัน เว้นวรรคเมื่อปี 2547-2548 ก่อนกลับมารับตำแหน่งอีกครั้งจนถึงปัจจุบัน
อาจกล่าวได้ว่า บริษัทหมู่บ้านฯ ตั้งขึ้นมาเพื่อรับภาระและบทบาทแทนโครงการฯ นั่นก็คือ การซื้อพันธุ์สุกร อาหารสุกร ยาและวัคซีนจาก ซี.พี.ผ่านมาขายให้เกษตรกร ขณะเดียวกันก็รับซื้อลูกสุกรจากเกษตรกรในราคาประกันหรือสูงกว่า แล้วขายกลับคืนให้ ซี.พี.ส่วนหนึ่ง และขายให้กับลูกค้าทั่วไปอีกส่วน โดย กำไรที่ได้จากส่วนต่างถือเป็นรายได้ของบริษัท
"เกษตรกรอาจบอกว่าบริษัทเป็นนายหน้า แต่ถามว่าถ้าไม่มีบริษัท ใครจะค้าขายกับรายย่อยอย่างคุณ ฉะนั้นถ้าคุณไม่รวมกลุ่มกันให้มีอำนาจการต่อรองการซื้อขายอย่างนี้ มันก็อยู่ไม่รอด" คงไม่ผิดนักถ้าจะเรียกว่า นี่เป็นภาคปฏิบัติของทฤษฎี Cluster ในยุค 2 ทศวรรษก่อน
ในส่วนของเกษตรกรแต่ละราย เมื่อได้รับกรรมสิทธิ์ในที่ดิน บ้านพัก และโรงเรือนแล้ว หลายคนมีกำลังใจที่จะเลี้ยงหมู ต่อจึงนำทรัพย์สินเหล่านี้ไปเข้าธนาคารเพื่อกู้เงินมาซื้อพันธุ์สุกรเป็นของตนเองและใช้เป็นทุนหมุนเวียน โดยมีเกษตรกร 4-5 รายที่ไม่ถนัดและเบื่อเลี้ยงหมูขายสินทรัพย์ให้คนนอกแล้วย้ายออกไป
สำหรับคนใหม่ที่จะเข้ามาอยู่ ต้องผ่านเกณฑ์พิจารณาของคณะกรรมการหมู่บ้านก่อน และต้องยอมรับกฎเหล็ก 2 ข้อได้โดยไม่มีเงื่อนไขคือ เลี้ยงหมูเป็นอาชีพหลัก และต้องมีส่วนร่วมกับกิจกรรมพัฒนาหมู่บ้าน
ในกรณีที่สมาชิกไม่ยอมเข้าร่วมกับกิจกรรมของหมู่บ้าน หรือไม่ปฏิบัติตามกฎในการอยู่ร่วมกันอย่างเกื้อกูลของสมาชิก ในหมู่บ้าน ที่นี่ก็มีบทลงโทษเป็นมาตรการตัดความช่วยเหลือโดยคณะกรรมการหมู่บ้านและบริษัทหมู่บ้านฯ เช่น การไม่จ่ายทดแทน หมูในกรณีที่หมูบ้านนั้นติดโรคระบาด ซึ่งกองทุนโรคระบาดนี้หักจากเงินขายหมูตัวละ 5 บาท การไม่ช่วยจับลูกหมู ให้กับบ้านนั้น ซึ่งปกติการจับหมูต้องลงแขกช่วยกัน บางกรณีอาจร้ายแรงถึงขั้นเลิกสัญญาซื้อขายกับเกษตรกรรายนั้น เป็นต้น
"สิ่งที่ทำมีความหมายว่า เวลาจะทำอะไรให้มองส่วนรวม เป็นหลัก ถ้าส่วนรวมอยู่ไม่ได้ คุณก็ไม่มีทางอยู่ดีหรืออาจอยู่ไม่ได้ หากเปรียบบริษัทและหมู่บ้านเป็นแกนร่ม เกษตรกรแต่ละคนก็เป็น ซี่ร่ม คุณอาจดูสวยเพราะมีผ้าผูก แต่เมื่อไรที่แกนพัง เพราะทุกคนกัดกร่อน มันก็เป็นร่มต่อไปไม่ได้" น้ำเสียงเขาจริงจัง
นอกจากเลี้ยงหมูเป็นอาชีพหลัก เกษตรกรที่นี่ยังมีอาชีพเสริมอีกถึง 4 อย่าง ได้แก่ การทำสวนมะม่วง การปลูกไผ่หวาน การเลี้ยงไก่ชน และการทำสวนยางพารา แม้รายได้อาจจะเทียบ ไม่ได้กับอาชีพหลัก แต่ภักดีมองว่าอย่างไรเสียก็ควรจะต้องทำ
กว่าจะลงตัวที่อาชีพเหล่านี้ ภักดีและลูกบ้านลองผิดลองถูกมาแล้วหลายอย่าง เช่น ฟาร์มนกกระจอกเทศซึ่งปิดไปเพราะไข้หวัดนกระบาด หรือการเลี้ยงปลาสวยงามที่ต้องเลี้ยงปริมาณมากจึงจะเพียงพอกับความต้องการของตลาด หรือการเลี้ยงนกพิราบเนื้อที่ต้องใช้เวลาดูแลมากจนแทบไม่ได้ทำอย่างอื่น จึงต้องเลิกไป เป็นต้น
"สุดท้าย มันต้องกลับไปหาเบสิก เราเริ่มต้นมายังไง ดังนั้นอาชีพเสริมก็ควรเกี่ยวพันและไม่เบียดเบียนอาชีพหลัก อย่าทำเพราะเห็นว่าคนอื่นทำแล้วรวย ต้องดูว่า เรามีวัตถุดิบอะไร แล้วเราจะได้สินค้าที่ต้นทุนถูกลง สินค้าก็น่าจะแข่งขันได้"
จาก 30 ปีก่อนที่เกษตรกรบ้านหนองหว้าไม่มีแม้เงินเลี้ยง ปากท้อง ไม่มีที่อยู่อาศัย ไม่มีสินทรัพย์ติดตัว แม้กระทั่งความรู้ วุฒิการศึกษาของคนรุ่นพ่อแม่บางครัวเรือนรวมกันยังต่ำกว่า ป.4 แต่วันนี้ ลูกๆ ของเกือบทุกบ้านจบปริญญาตรี บ้างก็จบสูงกว่านั้น หลายครอบครัวมีบ้านหลังใหญ่ มีรถราคาหลายแสนบาทมากกว่า 1 คัน หลักทรัพย์ที่มีรวมมูลค่าไม่ต่ำกว่า 3 ล้านบาท ในปี 2549 รายได้รวมเฉลี่ยสูงกว่า 1 แสนบาทต่อเดือน
จึงไม่น่าแปลกใจที่มักได้เห็นเจ้าสัวธนินท์ เจียรวนนท์ เดินหน้าบานพาแขกจากต่างประเทศโดยเฉพาะแขกจากประเทศ จีน ทัวร์ชมหมู่บ้านหนองหว้าบ่อยครั้ง เพราะความภาคภูมิใจในความสำเร็จของโครงการนี้ที่มี ซี.พี.อยู่เบื้องหลัง เฉพาะปีนี้ เจ้าสัวก็พาแขกมาดูแล้วดูอีกไม่ต่ำกว่า 3 ครั้ง
"วันนี้ ซี.พี.กับบ้านหนองหว้าเป็นมากกว่าพ่อค้ากับลูกค้า แต่ผูกพันกันในฐานะที่ ซี.พี.เป็นแกนหลักในการจัดสร้างตรงนี้ พอโครงการสำเร็จ ซี.พี.ก็ได้ลูกค้าเพราะเราสั่งอาหารหมูจาก ซี.พี.ไม่ต่ำกว่า 15 ตันต่อวัน ถ้าจะหาตลาดขนาดนี้อย่างน้อยต้องใช้เซลส์ 5-6 คน แต่สำหรับ ซี.พี.ตลาดตรงนี้อาจจะเล็กนิดเดียว แต่ความสำคัญอยู่ที่ ซี.พี.เอาตรงนี้ไปประชาสัมพันธ์กับชาวโลกได้ว่า ซี.พี.ช่วยเหลือเกษตรกรไทยและสังคมไทยมานาน สิ่งนี้อาจจะเป็นบทหักล้างกับกลุ่มที่เดินขบวนต่อต้านว่า ซี.พี.เป็นบริษัทนายทุนทำลายเกษตรรายย่อย" ภักดีอธิบาย
สำหรับงานฉลองครบรอบ 30 ปีของโครงการฯ ที่จะจัดขึ้นในเดือนธันวาคมนี้ คณะกรรมการหมู่บ้านวางแผนจะจัดให้ใหญ่กว่าทุกปี ภักดีมองว่าหาก ซี.พี.จะเข้าร่วมจัดงานเพื่อโปรโมตตัวเองก็เป็นสิทธิอันชอบที่ทำได้ แต่หาก ซี.พี.ไม่ร่วมสนับสนุน เกษตรกรหนองหว้าก็ทำเองได้ โดยไม่ต้องรอหรือง้อ ซี.พี.หรือภาคราชการส่วนไหน
นี่ถือเป็นแนวทางที่เกษตรกรกลุ่มนี้ทำมาตลอด 30 ปี คือ การช่วยตัวเองโดยไม่งอมืองอเท้ารอให้ใครมาช่วย พวกเขาถึงมีทุกอย่างในวันนี้ได้
ในแง่การพัฒนาโครงการฯ และคุณภาพชีวิตเกษตรกร ดูจะไปได้ดี หากแต่ปัญหาที่น่าเป็นห่วงของที่นี่อยู่ที่การขาดช่วง ของเกษตรกรรุ่นใหม่ที่จะขึ้นมาสืบทอดกิจการเลี้ยงหมูจากรุ่นบุกเบิก หลายปีมานี้มีเกษตรกรร่วม 10 ครัวเรือน เมื่อส่งลูกเรียนจบก็เลิกเลี้ยงหมูเพราะทำต่อไม่ไหว และไม่มีคนรุ่นลูกมาสานต่อ
"ถ้าเราบริหารคนควบคู่ไปกับการสร้างรายได้ตั้งแต่ทีแรก เราก็จะไม่เสียบุคลากรที่จะมาช่วยตรงนี้ เมื่อ 20 ปีก่อนเรามุ่งหวังเพียงแต่เพื่อให้เด็กได้เรียน แต่ไม่เคยสอนเด็กพวกนั้นให้รักในหมู่บ้าน รักในอาชีพเลี้ยงหมู และเห็นว่าเป็นอาชีพที่มีเกียรติ ไม่ได้น่ารังเกียจ อะไรอย่างนี้เราไม่ได้สอนเขาตั้งแต่ตอนนั้น พอพวกเขาเรียนจบแล้ว หลายคนไปทำงานออฟฟิศในกรุงเทพฯ เพราะคิดว่าเป็นงานที่มีเกียรติกว่า"
จากวันเริ่มต้น มีเกษตรกรเลี้ยง หมูอยู่ 50 บ้าน เลี้ยงแม่หมูจำนวน 1,500 ตัว มาถึงวันนี้ แม้จะมีแม่หมูเพิ่มขึ้นเป็น 6 พันตัว แต่กลับมีคนเลี้ยงหมูอยู่แค่ 39 ราย ขณะที่แนวโน้มที่จำนวนเกษตรกรผู้เลี้ยงหมูในหมู่บ้านก็ดูจะลดลงทุกปี ปัญหาเรื่องความยั่งยืนในอาชีพการเลี้ยงหมูของเกษตรกรหนองหว้าจึงเป็นปัญหาที่ภักดี ให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก
จึงเป็นที่มาของ "โครงการหนองหว้ายั่งยืน" ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อสอนและปลูกฝังจิตสำนึกให้เด็กและเยาวชนในสาระสำคัญ 3 ประการ ได้แก่ ความรักในอาชีพเลี้ยงหมู สร้างความรู้สึกว่าอาชีพนี้มีเกียรติและความรักในบ้านหนองหว้า ผ่านกิจกรรมต่างๆ เช่น การฉายวิดีโอประวัติหมู่บ้านที่เปิดให้แขกต่างประเทศดู นำมาให้คนรุ่นใหม่ได้ดูด้วย หรือการพาเยาวชนไปเห็นว่าหมูที่พ่อแม่ของพวกเขาเลี้ยง สุดท้ายแล้วกลายเป็นเนื้อหมูเกรดเอราคาแพง ไม่ใช่หมูเขียงราคาถูก เป็นต้น
"เราเริ่มเป็นห่วงรุ่นที่สามว่า จะทำให้โครงการนี้ยั่งยืนไปถึงรุ่นลูกหลานเหลนได้หรือเปล่า"
สุดท้ายแล้ว หนุ่มใหญ่วัย 46 ปีคนนี้ก็ยังคงเป็นห่วงและ หนักใจเรื่องความยั่งยืน อันเป็นปัญหาเดิมที่เกิดขึ้นขณะนี้ในยุคของเขา และมีโอกาสจะเกิดขึ้นได้ง่ายในยุคหลัง เพราะเกษตรกร และเด็กรุ่นหลังจะไม่ค่อย "อิน" กับความยากลำบากของรุ่นบุกเบิก จนอาจลืมหวงแหนอาชีพเลี้ยงหมูที่พลิกฟื้นผืนดินหนองหว้าจนกลายเป็นแผ่นดินที่เลี้ยงชีพของเกษตรกรหนองหว้ารุ่นแล้วรุ่นเล่า
ในแง่ความยั่งยืนของอาชีพเกษตรที่จะหายไปจากบ้าน หนองหว้า คงเป็นเรื่องน่าเสียดาย เมื่อคิดว่าความเป็นต้นแบบของเกษตรกรหนองหว้าที่พิสูจน์ให้เห็นว่าอาชีพเกษตรก็มีเกียรติ และสร้างรายได้เลี้ยงครอบครัวให้อยู่สบายอย่างยั่งยืนได้ เพียงมี ความตั้งใจจริง ขยัน อดทน และซื่อสัตย์ ก็ยิ่งน่าเสียดายหากคนรุ่นหลังจะไม่สานต่ออาชีพเลี้ยงหมู รวมถึงแนวคิดและวิธีการ ในการพัฒนาชุมชนเข้มแข็งให้อยู่คู่หมู่บ้านหนองหว้าต่อไป
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|