|

เป้าหมายสู่ Golden Jubilee
โดย
นภาพร ไชยขันแก้ว
นิตยสารผู้จัดการ( พฤศจิกายน 2550)
กลับสู่หน้าหลัก
บทบาท 25 ปีแรกของศศินทร์เพื่อป้อนบัณฑิตให้ในประเทศ 100% ปัจจุบันการเข้ามาของโลกาภิวัตน์ทำให้ธุรกิจไม่สามารถอิงกับพื้นที่ตั้งเพียงอย่างเดียว บทบาทของศศินทร์ก็ต้องเปลี่ยนแปลงไป ทั้งศาสตราจารย์เติมศักดิ์ กฤษณามระ, กิตติรัตน์ ณ ระนอง และเหล่าศิษย์เก่าต่างคิดตรงกันว่า นับแต่นี้ไปศศินทร์จะต้องเป็น International Business School ชั้นนำในภูมิภาคนี้
กลยุทธ์ของศศินทร์ที่เตรียมก้าวเข้าแข่งขันในระดับอินเตอร์เนชั่นแนล มี 3 ส่วนหลักๆ
ส่วนแรกคือการขยายแคมปัส (campus) ไปยังจังหวัดภูเก็ต เป็นกลยุทธ์เพื่อดึงความสนใจจากต่างประเทศเข้ามายังประเทศไทย ใช้จังหวัดภูเก็ตเป็นจุดมุ่งหมาย โดยจัดการอบรม ในระยะสั้น 3-6 เดือน เพื่อรองรับผู้เรียนรวมไปจนถึงผู้บริหารทั้งในและต่างประเทศให้เดินทาง เข้ามาเรียนเพิ่มเติม ซึ่งตรงกับคอนเซ็ปต์ที่ว่าความรู้เรียนได้ตลอดชีวิต (lifelong learning) นับว่าเป็นการเจริญรอยตามเคลล็อกก์และวาร์ตันที่มีแคมปัสกระจายอยู่ทั่วสหรัฐอเมริกา
ที่ผ่านมาองค์กรขนาดใหญ่ทั้งในประเทศและต่างประเทศมักส่งผู้บริหารไปเรียนต่างประเทศเพิ่มเติมเสมอ อาทิ บริษัทปูนซิเมนต์ไทย ที่ต้องส่งผู้บริหารไปเรียนคอร์สสั้นๆ ที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดทุกปี ดังนั้นในอนาคตจึงมีความเป็นไปได้ที่บริษัทเหล่านี้จะส่งผู้บริหารมาเรียน ที่ศศินทร์ ภูเก็ตแทน
ส่วนที่ 2 คือการเข้าไปมีส่วนร่วมสนับสนุนมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยระดับภูมิภาคแห่งแรกที่ศศินทร์เข้าไปอย่างจริงจัง ในรูปแบบที่เคลล็อกก์เคยให้การสนับสนุนกับศศินทร์ในช่วงเริ่มก่อตั้ง
ที่ตั้งมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงถือเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญทางการค้า เป็นประตูสู่อินโด จีน เป็นตลาดที่กำลังถูกจับตา เหมือนกับที่ศศินทร์เริ่มวางรากฐานและเปิดโอกาสให้นักศึกษา ต่างชาติโดยเฉพาะจากประเทศเพื่อนบ้านเข้ามาเรียน อย่างเวียดนาม ทำให้นักธุรกิจไทยที่เรียนอยู่ในศศินทร์มีโอกาสเรียนรู้ข้อมูลเกี่ยวกับเวียดนามมากขึ้น และเป็นการสร้างสายสัมพันธ์ เบื้องต้นก่อนที่จะเข้าไปทำธุรกิจในเวียดนาม
แต่กลยุทธ์ที่สำคัญที่สุด คือ การดึงกิตติรัตน์ ณ ระนอง และธิติ เวชแพศย์ เข้ามาร่วม ทำงานในตำแหน่งรองผู้อำนวยการฝ่ายบริหาร ทั้งสองมีความรู้และประสบการณ์ร่วม 20 ปีที่ทำงานในภาคเอกชนมา 100% ทำให้ศศินทร์สามารถเรียนรู้ได้ว่าปัจจุบันความต้องการของภาคเอกชนอยู่ตรงไหน
ธิติเคยอยู่บริษัทเชลล์แห่งประเทศไทย ธนาคารกรุงเทพ และเป็นผู้บริหารของ บลจ.บัวหลวง ส่วนกิตติรัตน์ ชีวิตการทำงานที่ผ่านมาเขาอยู่ในแวดวงธุรกิจการเงินมาโดยตลอด ตำแหน่งล่าสุดก่อนเข้ามาที่ศศินทร์เป็นกรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
กิตติรัตน์เริ่มต้นทำงานเป็นผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์และฝ่ายต่างประเทศ บริษัทหลักทรัพย์เอกธำรง หลังจากนั้นเป็นกรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม วรรณ อินเวสเม้นท์ เขาจำได้แม่นยำว่าเป็นผู้บริหารกองทุนวงเงิน 1.8 หมื่นล้านบาท ในเวลาต่อมาเขาถูกโยกให้ไปจัดโครงสร้างของบริษัทหลักทรัพย์เอกเอเซีย ที่มีเอกธำรงร่วมถือหุ้นและมีโอกาสไปร่วมทุนกับเพื่อนๆ ตั้งบริษัทคาเธ่ย์ แอสแซท แมนเนจเมนท์ ทำหน้าที่ที่ปรึกษาและร่วมลงทุน
การเข้ามาของกิตติรัตน์เป็นสถาน การณ์คล้ายคลึงกับในช่วงที่เขาได้รับคัดเลือก ให้เข้าไปเป็นกรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ฯ เพราะเขาเติบโตมากับธุรกิจหลักทรัพย์ตลอด จึงรู้ความคาดหวังของภาคเอกชนที่มีต่อบทบาทและหน้าที่ของตลาดหลักทรัพย์ฯ เป็นอย่างดี
ประสบการณ์ในภาคเอกชนที่กิตติรัตน์ เรียนรู้และสั่งสมมานาน ทำให้เขารู้ดีว่าภาคเอกชนมีความคาดหวังอย่างไรกับสถาบันที่เปิดสอนด้านบริหารธุรกิจ และคนที่เรียนจบมา ทางด้านบริหารธุรกิจได้คาดหวังว่าจะสามารถ นำสิ่งที่ตกผลึกเข้ามาพัฒนาศศินทร์ในอีก 25 ปีข้างหน้าได้ตรงตามความต้องการของภาคธุรกิจ
นอกจากนี้กิตติรัตน์ยังมีมุมมองที่เกิดจากความคิดในฐานะของผู้เรียน เหมือนในอดีตที่เขาเคยเป็นนักศึกษาศศินทร์ว่าเขาต้อง การเรียนอะไรและต้องการให้สถาบันสนับ สนุนด้านใด รวมทั้งสิ่งที่เขาเรียนเชิงทฤษฎีเขาจะนำหลักการเรียนเปรียบเทียบกับสถานการณ์จริงๆ เพราะตัวอย่างที่สอนในห้องเรียน บางอย่างปรับใช้ได้กับธุรกิจในเมืองไทย แต่บางอย่างก็ตรงกันข้าม เป็นเพราะความแตกต่างทางความคิดและวัฒนธรรม
"เราจะทำยังไงกับโลกที่เปลี่ยนแปลงไปมากขึ้นเรื่อยๆ ของเก่าก็ทิ้งไม่ได้ ฉะนั้นสิ่งที่สถาบันต้องทำก็คือการปูพื้นให้ดี เสนอ lifelong learning คือจบแล้วกลับมาเติมได้ตลอด มาเข้าชั้นเรียนได้ เข้าสู่เว็บไซต์เพื่ออัพเดทหรืออบรมสัมมนา เอ็มบีเอที่สอนใน 10 ปีที่แล้วและ 10 ปีนี้มันแตกต่างกัน เขาจะต้องมาเรียนอีกทีแล้ว ไม่เช่นนั้นเขาจะสื่อสารกับเด็กใหม่ที่เรียนจบเอ็มบีเอไม่รู้เรื่อง"
ศาสตราจารย์เติมศักดิ์บอกว่าเขาดีใจ ที่ได้กิตติรัตน์มาทำงานด้วย เพราะประสบ การณ์ในภาคธุรกิจถึงกว่า 20 ปี ทำให้สามารถ ช่วยแสดงความคิดเห็นได้หลายๆ ด้าน และกิตติรัตน์ยังเป็นศิษย์เก่าศศินทร์ที่จบมาโดยได้คะแนนเกรด 4 ซึ่งมีเพียง 8 คนเท่านั้น ตั้งแต่ศศินทร์เปิดสอนมา 25 ปี
25 ปีที่ผ่านมาศศินทร์เป็นสถาบันการศึกษาที่ประสบความสำเร็จในการสร้างบัณฑิตป้อนให้กับธุรกิจเมืองไทยเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งเติมศักดิ์เรียก 25 ปีที่ผ่านมาว่า silver jubilee the twenty-fifth anniversary ส่วนการฉลองครบรอบ 25 ปีต่อไป คือ golden jubilee the fiftieth เขาเรียกช่วงเวลานับจากนี้ไปว่า from silver to gold
ศศินทร์อยู่ระหว่างวางบทบาทใหม่ของ ตนเองในอีก 25 ปีข้างหน้า โดยมีเป้าหมายให้เป็นสถาบันระดับนานาชาติ International Business School เพิ่มขึ้นจากเดิมที่เปิดรับนักศึกษาภายในประเทศเป็นส่วนใหญ่ และมีนักศึกษาต่างประเทศเรียนอยู่ 15% อาทิ เยอรมนี สิงคโปร์ เวียดนาม แต่การเป็นอินเตอร์เนชั่นแนล บิสซิเนส สกูล ไม่ได้หมายความว่าจะละทิ้งนักศึกษาไทย ศศินทร์จะทำหน้าที่ทำให้ผู้เรียนไม่ว่าชาติใดสามารถจบออกไปอย่างมีความสามารถ ในการบริหารจัดการ
เมื่อมองตามหลักภูมิศาสตร์ที่ตั้งของประเทศไทยในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ไทยจะอยู่ตรงกลาง ฝั่งตะวันตกมีพม่า บังกลาเทศ อินเดีย ปากีสถาน ส่วนจีน อินเดียกำลังเติบโตด้วยตัวเลข 2 หน่วย เวียดนามกำลังตื่นตัว และหวังว่าพม่ากำลังค่อยๆ ฟื้นตัว หน้าที่ของศศินทร์ ก็เพื่อเป็นศูนย์กลางการศึกษาในระดับภูมิภาค เพื่อที่เรียนจบแล้วสามารถไปทำงานที่ลาว เวียดนาม กรุงเทพฯ สิงคโปร์ หรือเกาหลี การเรียนรู้จึงเป็นโลกที่ไร้พรมแดน
ปัจจุบันโลกธุรกิจกำลังพูดถึงประเทศที่เกิดใหม่ อย่างเช่น จีน เกาหลี บราซิล อินเดีย รัสเซีย และประเทศเหล่านี้จะเกี่ยวข้องกับประเทศไทยมากขึ้น โดยเฉพาะจีนและอินเดีย
"ผมว่าธุรกิจเราไปใช้ภาษาอังกฤษมาก เพราะอังกฤษสื่อได้ในขณะนี้ แต่เมื่อประเทศใหม่เกิดขึ้นจะไม่ใช้ภาษาอังกฤษเพียงอย่างเดียวแล้ว เราจะเริ่มใช้ภาษาจีนเข้ามาเป็นวิชาเลือก เป็นสิ่งที่เราต้องรู้บ้าง จุฬาฯ เป็นสถาบันหนึ่งที่เข้าไปตกลงกับรัฐบาลจีน เรียกว่าขงจื้อ เราจะเอาคนของขงจื้อที่มีอยู่ในเวลานี้มีอยู่ 5 คนมาสอนให้" ศาสตราจารย์เติมศักดิ์บอก
ศาสตราจารย์เติมศักดิ์ยังบอกอีกว่าในอีก 20 ปีข้างหน้าถ้าไม่รู้ภาษาจีนคงจะลำบากที่จะทำธุรกิจในระดับโลก ดังนั้น ศศินทร์กำลังจะเปิดรับอาจารย์ที่มีความชำนาญด้านภาษาต่างประเทศมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นจีน อินเดีย เกาหลี และในปีหน้าศศินทร์ได้เพิ่มวิชาเลือกใหม่ ให้นักเรียนได้เรียนภาษาจีน
การเปิดโอกาสให้ทุนการศึกษานักศึกษาต่างประเทศได้เข้ามาร่ำเรียนที่ศศินทร์ เป็นอีก แนวทางหนึ่งที่จะเป็นโอกาสให้มีการเรียนรู้ธุรกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน รวมไปถึงการเชื่อมโยงในฐานะศิษย์เก่าที่จะก่อเกิดขึ้นในอนาคตอีกด้วย
ศาสตราจารย์เติมศักดิ์บอกว่า "ถ้าเรามีนักศึกษาที่มีคุณภาพมาจากเวียดนามสัก 1 คน ในชั้นเรียน วันหนึ่งนิสิตในห้องซึ่งจบไปแล้วจะไปร่วมหุ้นกับเวียดนาม เขาก็ต้องให้เพื่อนเขาอ้างอิง ไม่ใช่เดินเข้าไปสุ่มสี่สุ่มห้า เข้าหุ้นกับผู้มีอิทธิพล เข้าไปในธุรกิจไม่เหมาะสม ก็อาจจะกระทบกระเทือนได้"
ด้วยวัตถุประสงค์ที่ต้องการเปิดกว้างรับนักศึกษาเอเชียแปซิฟิกเพิ่มขึ้นในอนาคต ศศินทร์ จึงเข้าร่วมเป็นสมาชิกจัดตั้ง Association of Asia-Pacific Business Schools : AAPBS มี 14 ประเทศร่วมกันเพื่อแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมในประเทศเอเชียแปซิฟิกมากขึ้น โดยมีมหาวิทยาลัยชินฮั้วของปักกิ่งเป็นประธาน ใช้เวลาดำเนินงานก่อตั้งเมื่อ 3 ปีที่ผ่านมา
มหาวิทยาลัยที่ร่วมก่อตั้งเป็นมหาวิทยาลัยหลักของแต่ละประเทศ อาทิ เอไอเอ็มของฟิลิปปินส์ เอ็นยูเอสของสิงคโปร์ ศศินทร์ของไทย นอกจากนี้มีทั้งญี่ปุ่น เกาหลี จีน ส่วนอินโด นีเซีย และมาเลเซีย ยังไม่ได้จัดตั้งมหาวิทยาลัยเข้าร่วม
เป้าหมายการขยายรับนักศึกษาในย่านเอเชียแปซิฟิกเพิ่มขึ้น ศศินทร์ได้เปิดสอนวิชาใหม่เพิ่มเติมอีก 2 วิชา คือ CSR (Corporate Social Responsibility) เปิดสอนเมื่อปี 2549 โดยมีกิตติรัตน์เป็นผู้สอน ซึ่งเมื่อก่อนวิชานี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งที่สอนเพียง 1-2 ชั่วโมงก็จบกันไป แต่ตอนนี้วิชาแขนงนี้กำลังได้รับความสนใจสูงขึ้น จึงกลายเป็นวิชาที่ต้องเรียนกันอย่างละเอียด เรียนอย่างรู้จริง
ส่วนอีกวิชาที่เปิดสอน คือวิชาการทำธุรกิจในประเทศเพื่อนบ้าน โดยมีนักเรียนรุ่นแรก 40 คน นักเรียนสามารถเลือกเรียนประเทศที่ต้องการ และในปีนี้พวกเขาเลือกเรียนเวียดนาม ผู้เรียนแทบจะไม่ได้เข้าห้องเรียน เพราะต้องไปพบกับกงสุลที่นครโฮจิมินห์ พบอธิบดีกรมการค้า ระหว่างประเทศ ไปกรมส่งเสริมการส่งออก คุยกับทูตเวียดนามในไทย และบินไปพบนักธุรกิจ เวียดนาม เป็นวิชาใหม่ที่กิตติรัตน์เป็นที่ปรึกษา
"เราไม่ได้ทำอะไรโครมคราม ที่จริงแล้วในช่วงระยะเวลา 25 ปีที่ผ่านมา มีนักศึกษาอยู่ 23 รุ่น มีนักศึกษาต่างประเทศอยู่ในห้องทุกรุ่น เพียงแต่เรามองเห็นแนวโน้มเพิ่มขึ้น อย่างปีนี้มีนักศึกษาเรียนเกี่ยวกับเวียดนาม 40 คน เขามาช่วยเติมเต็มให้นักศึกษาไทยในระดับหนึ่งให้มีเพื่อนร่วมชั้นในต่างประเทศ เราไม่ต้องการให้นักศึกษาต่างชาติกลายเป็นเครื่องมือให้นักศึกษา ไทยไปสู่สากล แต่เขาต้องได้อะไรที่ค้นหาอยู่"
จะเห็นว่าหลักสูตรการสอนของศศินทร์ที่ได้ปรับเพิ่มให้สอดคล้องกับนักศึกษาและโลกธุรกิจ แต่ศาสตราจารย์เติมศักดิ์ยังเชื่อมั่นว่าวิชาบริหารธุรกิจหลักสูตรเอ็มบีเอในอนาคตยังมีอยู่ และพิจารณาหลักสูตรของฝั่งอเมริกาเปรียบเทียบกับยุโรปที่มีความเจริญก้าวหน้า แต่ทุกแห่งเดินตามหลักสูตรของอเมริกา
หลักสูตรของอเมริกาเป็น Business Administration มองดูลักษณะหน้าที่ในการบริหาร เน้นหนักการบริหารการจัดการ แต่หลักสูตรอังกฤษหรือยุโรปมองในเชิงการค้า อเมริกันไม่ต้อง ค้ากับใคร ส่วนใหญ่ค้าขายกันใน 50 รัฐ ฉะนั้นการจัดการสำคัญมากไม่ต้องพึ่งพาต่างประเทศ แต่อังกฤษและยุโรปธุรกิจพึ่งพาการส่งออกจึงเน้นเรียนรู้ด้านเศรษฐศาสตร์ สถิติ กฎหมาย ประวัติศาสตร์ เศรษฐกิจ เพราะต้องไปค้าขายกับต่างประเทศ อย่างเช่น อินเดีย แอฟริกา
ฉะนั้นหลักสูตรของอเมริกาจะคำนึงถึง เป้าหมาย ลักษณะแผนงาน การดำเนินงาน ประเมินผล แล้วมีวิชาประกอบการ การเงิน หน้าที่การตลาด บุคคล และการจัดการ ซึ่งสูตรสำเร็จรูปอันนี้นำไปใช้กับทุกธุรกิจ
บุคลากรเป็นอีกส่วนหนึ่งที่ศศินทร์ให้ความสำคัญ เปิดรับอาจารย์ทั้งในและต่างประเทศมากขึ้น ซึ่งทาบทามตั้งแต่ยังไม่จบปี 4 ข้อดีของอาจารย์จบใหม่มีความสามารถ ในงานวิจัย ส่วนอาจารย์ต่างประเทศก็สามารถ เป็นที่ปรึกษาให้กับประเทศของตนเองได้
ส่วนผู้บริหาร กิตติรัตน์มีแนวคิดว่าต้องเพิ่มรองผู้อำนวยการอีก 1 คน มาดูแล ฝ่ายพัฒนาธุรกิจ ซึ่งเขาดูแลควบคู่กับฝ่ายวิชาการอยู่ขณะนี้ นอกเหนือจากธิติที่เป็นรองผู้อำนวยการฝ่ายบริหารและรองผู้อำนวย การฝ่ายการศึกษา
ก่อนที่จะกำหนดเป้าหมายอีก 25 ปีข้างหน้าให้มีภาพชัดเจนขึ้น กิตติรัตน์คาดหวังไว้ว่าในอีก 10 ปีข้างหน้าศศินทร์จะต้องมีนักศึกษาเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งเท่าตัวจากปัจจุบันที่มีกว่า 5 พันคน เรื่องนี้ไม่น่าจะเป็นเรื่องยาก สำหรับศศินทร์ เพราะชื่อเสียงของสถาบันนี้ติด 1 ใน 5 ของเอเชียมากว่า 2 ทศวรรษแล้ว
ทว่าถนน golden jubilee anniversary ที่มีเป้าหมายให้ศศินทร์เป็น International Business School ที่กำลังรออยู่ข้างหน้า นับ เป็นความท้าทายของผู้บริหารในยุคนี้อย่างมากทีเดียว
กลับสู่หน้าหลัก
 ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|