|
ความสำคัญของ Networking
โดย
นภาพร ไชยขันแก้ว
นิตยสารผู้จัดการ( พฤศจิกายน 2550)
กลับสู่หน้าหลัก
องอาจ ประภากมล ยอมรับกับ "ผู้จัดการ" ว่า การตัดสินใจเข้าเรียนต่อ MBA ที่ศศินทร์ของเขา เพราะเขาเห็นความสำคัญของคำว่า Networking
องอาจเป็นศิษย์เก่าหลักสูตร MBA รุ่นที่ 8 ปี 2533 ปัจจุบันเป็นรองประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายคอมเมอร์เชียล บริษัททรู วิชั่นส์
เขามีเพื่อนร่วมรุ่นอย่างเช่นชนินทร์ ศิริสันต์ กรรมการผู้จัดการ บริษัทชนินทร์ กรุ๊ป รวมถึงมาริสา มหาดำรงค์กุล ตระกูลแห่งธุรกิจนาฬิกา
และเขาก็เป็นอีกบทพิสูจน์หนึ่งที่แสดงให้เห็นว่าศศินทร์ไม่ได้ผลิตบุคลากรขึ้นมาสำหรับป้อนให้กับวงการการเงินการธนาคารเท่านั้น
องอาจเป็นคนที่ไปใช้ชีวิตอยู่ต่างประเทศตั้งแต่เด็ก โดยถูกส่งไปเรียนชั้นประถมปีที่ 5 ที่สิงคโปร์ ตั้งแต่อายุได้เพียง 11 ขวบ และจบปริญญาตรีวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ จาก University of Massachusetts, Amherst สหรัฐอเมริกา
หลังเรียนจบกลับมาเมืองไทยได้เข้าไปเป็นวิศวกร วางระบบให้กับบริษัทยูไนเต็ด คอมมูนิเกชั่น (UCOM) ที่เพิ่งได้รับสัมปทานโทรศัพท์เคลื่อนที่จากการสื่อสารแห่งประเทศไทย
"คนพูดกัน เด็กเรียนเมืองนอกไม่มีเพื่อนมัธยมกับมหาวิทยาลัย ซึ่งถือว่าเป็นช่วงที่ดีที่สุด คืออนาคตเมื่อโตขึ้นมา สำหรับคนที่เรียนในประเทศ ต่างคนต่างมีหน้าที่การงานและแต่ละคนอยู่ในตำแหน่งที่เชื่อมกันได้หมด แต่คนที่เรียนเมืองนอกก็จะขาดตรงนี้"
ก่อนที่เขาจะตัดสินใจเลือกเรียนที่ศศินทร์ พ่อของเขามีส่วนสนับสนุน เขาเองก็เห็นว่าศศินทร์มีเคลล็อกก์ กับวาร์ตันเข้ามาเป็นพาร์ตเนอร์ ซึ่งเขาก็รู้จักโรงเรียนทั้งสองเป็นอย่างดี อาจารย์ผู้สอนส่วนใหญ่มาจากต่างประเทศ และขณะนั้นเขาเองไม่ต้องการกลับไปเรียนต่างประเทศอีก เพราะถือว่าได้ผ่านมาหมดแล้ว
ดังนั้นเขาตระหนักถึงความสำคัญของเครือข่ายสายสัมพันธ์ในการทำงานในอนาคต เมื่อในประเทศไทยมีศศินทร์ ทุกอย่างจึงเข้าล็อกกับเขาถึง 100%
เขาตัดสินใจลาออกจาก UCOM เลือกเรียนสายการตลาดที่ศศินทร์เต็มเวลา มูลเหตุที่เขาเลือกเรียนด้านการตลาดเป็นเพราะเห็นว่างานวิศวกรรมในเมืองไทยไม่เน้นการทำงานที่วิจัยและพัฒนา เนื่องจากไม่ได้เป็นฐานการผลิตของอุตสาหกรรม จึงเห็นว่าอนาคตในวิชาชีพนี้คงไปได้ไม่ไกล
"ผมก็ดูแล้วว่าถ้าอยู่เป็นวิศวกร ก็คงจะโต แต่จะโตแบบไม่ใช่ธุรกิจหลัก มีรุ่นพี่พูดว่า การที่เราเป็นเอ็นจิเนียร์ ควบกับบิสซิเนส มันน่าจะดี แต่ถ้าเรามีประสบการณ์ด้านการบริหาร น่าจะโตได้"
แม้ว่าเขาจะเลือกเรียนด้านการตลาดเป็นหลัก แต่ก็เรียนการเงินและการจัดการควบคู่กันไปด้วย การเรียนเป็นไปอย่างชนิดเข้มข้น และไม่เคยเจอมาก่อน เรียน 1 สัปดาห์ หลังจากนั้นก็สอบ
"ผมจะเล่าให้ฟังสนุกๆ คือมันเป็น semi-quarter คือ quarter หนึ่งจะมี 10 สัปดาห์ แต่เมืองไทยเป็น Semester ประมาณ 4 เดือนหรือ 16 สัปดาห์ ของเคลล็อกก์เป็น quarter แต่เนื่องจากอาจารย์เคลล็อกก์จะมาทั้ง 10 สัปดาห์คงไม่ไหว เขาจะมาแค่ครึ่งหนึ่ง สมมุติว่าเราเรียนในหนึ่ง quarter เราลงวิชาสัก 5-6 ตัว แสดงว่า ครึ่ง quarter เหลือ 3 วิชา แล้วแต่อาจารย์มาจะลงตัว 3-4 วิชา แต่มันเกิดเรื่องช็อก! คือคุณลองจินตนาการดู สัปดาห์แรกจบยังงงๆ อยู่เลย พอเขาบอกว่า สัปดาห์หน้าจะต้องสอบ accounting ไม่รู้เรื่องเลย เราไม่เคยเจอ แบบว่าเรียนไปแค่หนึ่งในสามของวิชา แล้วจะสอบ ก็ได้เพื่อนที่เรียนด้วยกันทางด้านบัญชี มาช่วยติวให้" เป็นจุดเริ่มต้นสายสัมพันธ์ที่เขาได้รับจากการเรียนในศศินทร์
หลังจากที่เขาเรียนจบ ตลาดการเงินกำลังเติบโต เขาลองไปทำงานในภาคการเงินอยู่ระยะสั้นๆ ที่ซิตี้แบงก์ แต่ก็ไม่ชอบ จนเมื่อบริษัทพรอคเตอร์ แอนด์ แกมเบิล (P&G) เรียกตัวเขาไปทำงาน เขาจึงได้ทำด้านการตลาดอย่างเต็มตัว โดยเริ่มจากการดูแลผลิตภัณฑ์แชมพูสระผมแพนทีน
เมื่อมีโอกาสได้ทำงานที่ P&G ทำให้องอาจรู้ตัวว่าการตลาดคือตัวตนที่แท้จริงของเขา เพราะเขาไม่ชอบงานที่ต้องทำประจำ เขาพบว่าการตลาดเป็นการนำเสนอนวัตกรรม มีการคิดค้นที่ไม่สิ้นสุด ไม่หยุดนิ่ง ทำให้เขารู้สึกสนุก ในตอนนั้นแทบจะบอกได้ว่าเขาสามารถเล่าเรื่องของผลิตภัณฑ์ วิธีการทำตลาด ได้เป็นฉากๆ อย่างชนิดเจาะลึกทีเดียว
แม้ว่าเขาจะบอกว่างานที่ P&G สนุกก็ตาม แต่เขาก็ต้องลาออกเพื่อไปช่วยงาน ดร.อาชว์ เตาลานนท์ ซึ่งกำลังปลุกปล้ำบริษัทเทเลคอมเอเซีย ที่ได้รับสัมปทานโทรศัพท์พื้นฐาน 2 ล้านเลขหมาย และต้องกลับไปทำงานทางด้านวิศวกรรมอีกครั้ง แต่ในที่สุดเขาก็ได้หันมาทำงานทางด้านการตลาด โดยขอย้ายไปเป็นผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด บริษัทยูทีวี เคเบิ้ล เน็ตเวิร์ค ที่ขายรายการบันเทิง แทนการขายแชมพู
เขาทำงานยูทีวีเรื่อยมาจนบริษัทเปลี่ยนมาเป็นทรู วิชั่นส์ ในทุกวันนี้
ดูเหมือนในจำนวน networking ที่เขามี เขาจะสนิทสนมกับรุ่นพี่อย่างชัยวัฒน์ อุทัยวรรณ์ มากเป็นพิเศษในฐานะที่ต้องมีส่วนดูแลศิลปิน AF 2 ที่หนึ่งในนั้นเป็นลูกสาวของชัยวัฒน์ รุ่นพี่ของเขานั่นเอง
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|