|
กว่า 40% ของกองทุนรวม บริหารโดยศิษย์เก่าศศินทร์
โดย
นภาพร ไชยขันแก้ว
นิตยสารผู้จัดการ( พฤศจิกายน 2550)
กลับสู่หน้าหลัก
"เงินออมที่อยู่ในกองทุนรวมทุกวันนี้มีมูลค่าสูงถึง 1 ล้านล้านบาท คุณอยากให้ฝรั่งมาเป็นผู้บริหารหรือเปล่า ถ้าถามคนลงทุนหรือลูกค้า เขาอาจจะบอกว่าใครก็ได้ขอให้ได้ผลตอบแทนดีที่สุด ผมก็คิดยังงั้น แต่ว่าถ้าดูเทียบกับภาพรวมของประเทศแล้ว เศรษฐกิจเงิน 1 ล้านล้าน อยู่ในมือการจัดการของฝรั่งหรือคนต่างชาติ ซึ่งมุมมองหรือความสนใจของเขาอยู่ที่อื่น ไม่ได้โฟกัสอยู่ในไทย มันเหมาะสมหรือเปล่า แม้ว่าคนเหล่านั้นจะเก่งก็ตาม"
เป็นคำถามที่น่าค้นหาคำตอบของอดิศร เสริมชัยวงศ์ กรรมการผู้จัดการ บลจ.ไทยพาณิชย์ ศิษย์เก่าศศินทร์ หลักสูตร MBA รุ่น 10 เข้าเรียนปี 2535
ปัจจุบันเขาเป็นนายกสมาคมศิษย์เก่าศศินทร์ โดยมีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละ 2 ปี นับจากปี 2550 เป็นต้นไป
แม้ว่าศิษย์เก่าของศศินทร์จะกระจายไปอยู่หลายๆ วงการ โดยส่วนใหญ่ที่คนรู้จักจะอยู่ในแวดวงการเงินการธนาคารก็ตาม แต่ดูเหมือนว่าในอุตสาหกรรมจัดการกองทุนรวม ศิษย์เก่าศศินทร์ได้มีโอกาสแสดงบทบาทในฐานะผู้บริหารระดับสูงมากที่สุด
ในปัจจุบัน มี บลจ.ถึง 3 แห่งที่มีกรรมการผู้จัดการเป็นศิษย์เก่าศศินทร์ ได้แก่ อดิศร เสริมชัยวงศ์ ของ บลจ.ไทยพาณิชย์ โชติกา สวนานนท์ ของบลจ.ทหารไทย และฉัตรพี ตันติเฉลิม ของ บลจ.กรุงศรีอยุธยา
แต่หากย้อนอดีตกลับไป ยังมีบลจ. อีก 2 แห่งที่มีศิษย์เก่าศศินทร์เป็นผู้บริหารสูงสุด ได้แก่ บลจ. วรรณ อินเวสเม้นท์ ที่มีกิตติรัตน์ ณ ระนอง เป็นกรรมการผู้จัดการ และ บลจ.บัวหลวง ซึ่งมี ธิติ เวชแพศย์ เป็นกรรมการผู้จัดการ เช่นกัน
ซึ่งเป็นที่น่าสังเกตว่าทั้ง 2 คนหลัง ปัจจุบันได้เข้ามาช่วยงานกับศศินทร์อย่างเต็มตัว ในฐานะรองผู้อำนวยการฝ่ายบริหารสถาบัน
หากเปรียบอดิศรเป็นเสมือนตัวแทนของศศินทร์ในภาคธุรกิจจัดการกองทุนแล้ว เขาถือเป็นตัวแทนที่ประสบความสำเร็จคนหนึ่ง เพราะสามารถบริหารทรัพย์สินที่อยู่ในรูปของกองทุนรวมให้เพิ่มสูงขึ้นจาก 1.2 หมื่นล้านบาท ในช่วงเริ่มต้นหลังจากมีการปรับโครงสร้างของ บลจ.ไทยพาณิชย์ เมื่อ 4 ปีก่อน มาเป็น 2.8 แสนล้านบาทในปัจจุบัน
ที่สำคัญเขาเป็นตัวแทนของคนที่ได้ก้าวเข้ามาสู่วงการการเงินการธนาคารจากการที่ได้ตัดสินใจเข้าเรียนต่อระดับปริญญาโทที่ศศินทร์
อดิศรจบปริญญาตรีจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยจบสาขาเครื่องกล สมัยเรียนที่วิศวะ จุฬาฯ เขาได้เกรดเฉลี่ยปานกลาง แม้ว่าจะเป็นคนเรียนเก่งก็ตาม เพราะเขารู้สึกว่าการเรียนวิศวะ ไม่ตรงกับความต้องการของตัวเขามากนัก
"ระบบการศึกษาบ้านเรามีปัญหามานาน สอนให้เด็กท่องจำ ต้องสอบให้ได้ที่ 1 แต่ไม่สอนให้เด็กรู้ว่าโตแล้วจะไปทำอะไร ถนัดอะไร นี่คือปัญหา ผมเป็นผลพวงอันหนึ่ง ตอนเป็นเด็กก็ถูกปลูกฝังว่าเรียนให้เก่งๆ ต้องสอบได้ที่ 1 จะได้ไม่ลำบาก และหากสอบเข้ามหาวิทยาลัยจะต้องเลือกเรียนหมอ หรือวิศวะเท่านั้น ก็ไม่รู้ว่าทำไม ไม่เข้าใจ ไม่รู้ว่าสิ่งที่เรียนแล้วจะชอบไหม"
หลังจากเรียนจบวิศวะ อดิศรได้ไปใช้ชีวิตเป็นวิศวกรอยู่ช่วงหนึ่ง ในฐานะลูกจ้าง จนตอนหลังได้เป็นผู้ประกอบการ โดยร่วมกับเพื่อนเปิดบริษัทรับเหมาติดตั้งระบบ แต่เขาก็ยังไม่รู้สึกสนุกกับงาน ในที่สุดตัดสินใจมาเรียนต่อที่ศศินทร์
เขายอมรับว่าการมาเรียนที่ศศินทร์ช่วยเปิดโลกทัศน์ให้เขาเป็นอย่างมาก เพราะได้ขยายมุมมองให้เห็นภาพกว้างของธุรกิจทั้งในและต่างประเทศ ที่สำคัญคือไม่มีการตีกรอบความคิดให้กับผู้เรียน
แต่ละปีศศินทร์จะมีนักเรียนแลกเปลี่ยน โดยอดิศรถูกส่งไปเรียนที่เคลล็อกก์เป็นระยะเวลา 1 เทอม ซึ่งเขา สามารถเก็บเกี่ยวประสบการณ์จากการเรียนที่นี่ได้อย่างมาก
"ที่เคลล็อกก์มีวิชาหนึ่งทั้งชั้นมีคนเรียน 30-40 คน เป็นฝรั่งทั้งหมด แต่ตอนสอบมีได้เกรด A 3 คน ผมเป็นคนหนึ่งที่ได้ พิสูจน์ให้เห็นว่าฝรั่งกับคนไทยก็ไม่แตกต่างกัน ขอให้ขยัน ตั้งใจก็สู้เขาได้"
หลังจบการศึกษาจากศศินทร์ อดิศรได้ก้าวเข้าสู่วงการเงินอย่างเต็มตัว โดยได้ไปเป็นผู้จัดการกองทุนให้กับกองทุน GIC ที่สิงคโปร์อยู่ 2 ปี ก่อนกลับมาเมืองไทย เป็นกรรมการผู้จัดการ บลจ.บีโอเอ และ ย้ายมาอยู่ บลจ.ไทยพาณิชย์ ในช่วงที่เริ่มมีการจัดโครงสร้างธุรกิจในเครือของธนาคารแห่งนี้ใหม่ เมื่อปี 2546
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|