|
25 ปี ศศินทร์ ศาสตร์ของ Business School
โดย
นภาพร ไชยขันแก้ว
นิตยสารผู้จัดการ( พฤศจิกายน 2550)
กลับสู่หน้าหลัก
"ปัญญาเป็นแสงสว่างรุ่งเรืองในโลก บัณฑิตทั้งหลายย่อมดัดฝึกตน" เป็นคำกล่าวของสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช ที่ปรากฏเป็นตัวหนังสือสีทองที่ติดภายในอาคารเรียนด้านหน้าของตึกศศปาฐศาลา (Sasa Patasala) ของสถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (Sasin Graduate Institute of Business Administration of Chulalongkorn University) เพื่อย้ำเตือนให้บัณฑิตศศินทร์ทุกคนได้ตระหนักว่าคุณค่าของการศึกษานั้นสำคัญเพียงใด
ศศินทร์เป็นชื่อที่ได้รับพระราชทานนามจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ โดยก่อนหน้านี้ที่เริ่มก่อตั้งสถาบันเมื่อวันที่ 15 กันยายน 2525 มีชื่อเดิมว่าสถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (Graduate Institute of Business Administration : GIBA) หรือเรียกกันในขณะนั้นว่า จีบ้า ในเวลาต่อมาได้เปลี่ยนชื่อมาเป็นศศินทร์จวบเท่าทุกวันนี้
สถาบันความรู้แห่งนี้ก่อเกิดเป็น Business School ที่เปิดการเรียนการสอนในระดับบัณฑิตศึกษา (นานาชาติ) ทางด้านบริหารธุรกิจ การตลาด การจัดการ และสาขาที่เกี่ยวข้องรูปแบบการเรียนการสอนของศศินทร์ เป็นหลักสูตรเอ็มบีเอ (Master of Business Administration : MBA) ที่สอนเป็นภาษาอังกฤษแห่งแรกในเมืองไทยเมื่อปี 2525 เกิดจากความร่วมมือกันระหว่างจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย The Kellogg School of Management ของมหาวิทยาลัยนอร์ทเวสเทิร์น ที่มีชื่อเสียงด้านการตลาด และ Wharton School ของมหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนียมีความชำนาญในหลักสูตรด้านการเงิน และเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำด้านบริหารธุรกิจของสหรัฐอเมริกา
เมื่อ 15 กันยายนที่ผ่านมาเป็นวันครบรอบ 25 ปี ของศศินทร์ หากเปรียบเทียบกับอายุของคนแล้วก็เป็นวัยเบญจเพสเต็มตัว เป็นวัยที่แข็งแรง มุ่งมั่น และมีฝันที่แรงกล้า
ศาสตราจารย์เติมศักดิ์ กฤษณามระ เล่าย้อนอดีตก่อนที่จะก่อตั้งศศินทร์ให้กับ "ผู้จัดการ" ฟังว่าความคิดที่จะก่อตั้งศศินทร์ในครั้งแรกเกิดจากบัญชา ล่ำซำ ขณะนั้นเป็นกรรมการผู้จัดการธนาคารกสิกรไทย อดีตนิสิตคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ในฐานะที่บัญชาเป็นกรรมการสภาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยคนหนึ่ง ได้เคยพูดกับ ดร.เกษม สุวรรณกุล อธิการบดีของจุฬาฯ ในห้วงเวลานั้นว่า จุฬาฯ ไม่มีคณะวิชาเกี่ยวข้องกับบริหารธุรกิจจริงๆ จะมีก็เพียงแต่คณะพาณิชย-ศาสตร์การบัญชี ที่เน้นเรียนทางด้านบัญชี ดังนั้นการไปเรียนต่อต่างประเทศเป็นเรื่องค่อนข้างลำบาก และในขณะนั้นประเทศไทยกำลังต้องการบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถทางด้านการบริหารธุรกิจ
ศศินทร์จึงเกิดจากแนวคิดของคน 3 คน คนแรก บัญชา ล่ำซำ คนที่สอง ดร.เกษม สุวรรณกุล และคนที่สาม ศาสตราจารย์เติมศักดิ์ กฤษณามระ ปัจจุบันเป็นผู้อำนวยการของศศินทร์
"ศศินทร์นี่ คุณบัญชาเป็นพ่อ ดร.เกษม สุวรรณกุล เป็นแม่ ผมเป็นคนเลี้ยงเท่านั้น เป็นคนเลี้ยงลูก แต่ก็เลี้ยงมา 25 ปี ไม่ยอมปล่อย" เป็นคำพูดเปรียบเทียบของศาสตราจารย์เติมศักดิ์ที่ปฏิเสธว่าเขาไม่ใช่ผู้ก่อตั้งเป็นคนแรก
การก่อตั้งในช่วงแรก นอกเหนือจาก 3 คนที่ร่วมกันเป็นผู้ผลักดัน บัญชายังได้ดึง ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล ในฐานะศิษย์เก่าวาร์ตัน และเทพ รุ่งธนาภิรมย์ ศิษย์เก่าเคลล็อกก์ ซึ่งเป็นผู้บริหารอยู่ในธนาคารกสิกรไทยขณะนั้น เข้ามาช่วยอีกแรง เพื่อคัดเลือกมหาวิทยาลัยในต่างประเทศมาเป็นพาร์ตเนอร์ และให้ตรงกับเจตนารมณ์ของสถาบันที่ต้องการพัฒนาบัณฑิตบริหารธุรกิจอย่างก้าวกระโดด ด้วยการเชื้อเชิญอาจารย์จากมหาวิทยาลัยที่เป็นพาร์ตเนอร์เข้ามาเป็นผู้สอน ขณะเดียวกันก็นำหลักสูตรมาปรับใช้ในการเรียนไปพร้อมๆ กัน
ในช่วงเลือกมหาวิทยาลัยมาเป็นพาร์ตเนอร์นั้น ศาสตราจารย์เติมศักดิ์เองยอมรับว่าทำงานแบบมวยวัด เพราะไม่รู้ว่าอะไรคือสิ่งที่ดี ครั้งแรกเขาตัดสินใจที่จะเลือกมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด เพราะเขาเรียนจบจากสถาบันดังกล่าวแต่สุดท้ายไม่ได้เลือก เพราะอธิการบดีขณะนั้นเพิ่งถูกรถชนเสียชีวิต คนที่รักษาการจึงไม่ตัดสินใจ เลยต้องเสาะหามหาวิทยาลัยแห่งใหม่
ศาสตราจารย์เติมศักดิ์ให้เหตุผลที่ไม่เลือกมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด เพราะว่ามีประสบการณ์การเรียนอยู่ชั่วระยะเวลาหนึ่ง และไม่ชอบระบบการสอนที่เน้นแต่เรื่อง case method นำสถิติมาเป็นตัวอย่างในการสอน ต้องใช้เวลาเรียนนานจนเกินไป
ที่ไม่เลือกเอ็มไอที เพราะเป็นสถาบันที่เก่งวิทยาศาสตร์ มีความเชี่ยวชาญในด้านฮาร์ดแวร์ แต่ไม่มีด้านซอฟต์แวร์ ซึ่งลักษณะของคนไทยไม่เหมาะ ส่วนที่มหาวิทยาลัยชิคาโก เน้นหนักด้านวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ก็เริ่มกลัว จนสุดท้ายเลือกวาร์ตันกับเคลล็อกก์ ที่เทพและ ม.ร.ว.ปรีดิยาธรแนะนำเพราะเห็นว่า เป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำที่ติดระดับท็อปของสหรัฐอเมริกา เป็นมหาวิทยาลัยที่เปิดกว้างในเชิงความคิด มี inter-national relation เป็นเรื่องประจวบเหมาะที่ทั้งสองมหาวิทยาลัยมีความคิดที่จะเปิดรับและเรียนรู้ประเทศอื่นๆ นอกเหนือจากสหรัฐอเมริกา
ศาสตราจารย์เติมศักดิ์เล่าถึงวิธีการเรียนการสอนของเคลล็อกก์ ที่ประสบความสำเร็จในการจัดตั้ง Execu-tive Education Center สอนผู้บริหาร โดยเจมส์ แอล แอลัน เป็นเศรษฐีที่สนับสนุนเงินทุนเพื่อก่อตั้งศูนย์ดังกล่าว และอาจารย์ที่มาสอนในศูนย์แห่งนี้จะต้องมีผลงานวิชาการนำเสนอผ่านสื่อสิ่งพิมพ์ ส่วนอาจารย์ที่ไม่มีความรู้ทางด้านธุรกิจ ก็จะเปิดเอส เซ็นเตอร์ขึ้นมาสอนในช่วงระยะเวลาสั้นๆ เพื่อให้นักเรียนที่เป็นนักธุรกิจที่มีประสบการณ์การทำงานโดยตรงเข้ามาเรียนกับอาจารย์
"อาจารย์ที่สอนและเก่งในทฤษฎี จะถูกนักธุรกิจต้อน เป็นความรู้จริงๆ เขาปฏิบัติอย่างไร ปัญหาคืออะไรเขาก็เห็น มันมีประโยชน์ในระดับหนึ่ง แต่ถ้าเป็นระดับอินเตอร์เนชั่นแนล เขาคงไม่มีปัญญามาเปิดสาขาในต่างประเทศ แต่ถ้ามีมหาวิทยาลัยที่ดี เขาก็ยินดีร่วมมือ" ศาสตราจารย์เติมศักดิ์กล่าว
เคลล็อกก์ก่อตั้งเมื่อ พ.ศ.2451 มีอายุ 99 ปี เป็นผู้นำการศึกษาด้านธุรกิจและงานวิจัย ซึ่งหนังสือพิมพ์วอลล์สตรีท เจอร์นัล ปี 2006 รายงานว่าเคลล็อกก์เป็นสถาบันการศึกษาอันดับหนึ่งทางด้านโปรแกรมการตลาด และ The Economist Intelligence Unit ปี 2006 ในเดือนกันยายนระบุว่า เคลล็อกก์เป็น Business School อันดับ 6 ของโลก ปัจจุบันมีศิษย์เก่า 50,000 คนทั่วโลก และมีพันธมิตรที่ร่วมก่อตั้งสถาบันในต่างประเทศ 3 แห่ง คือ 1. ศศินทร์ ประเทศไทย 2. The Indian School of Business ประเทศอินเดีย 3. Guang Hua School of Management ประเทศจีน
เคลล็อกก์ร่วมก่อตั้งสถาบันศศินทร์ขึ้นมา มีบัญชา ล่ำซำและศาสตราจารย์เติมศักดิ์เดินทางไปเจรจาด้วยตัวเอง การเจรจาง่ายและราบรื่น เพราะในตอนนั้น คณบดีของเคลล็อกก์มีความรู้ด้านการเงิน เกี่ยวข้องกับวอลล์สตรีท บัญชาซึ่งเป็นนายแบงก์อยู่จึงมีส่วนสำคัญในการติดต่อครั้งนี้เป็นอย่างมาก
ส่วนการเจรจากับวาร์ตันยิ่งง่ายกว่า เพราะเป็นความบังเอิญที่คณบดี Dr.Russell E. Palmer เป็นเพื่อนรักของศาสตราจารย์เติมศักดิ์ และเป็นนักบัญชีของสำนักงานไชยยศที่ศาสตราจารย์เติมศักดิ์เป็นผู้บริหารอยู่ด้วย
"โชคของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หรือศศินทร์ไม่ทราบ เพื่อนรักผมได้รับแต่งตั้งให้เป็นคณบดีของวาร์ตัน และเป็นนักบัญชีของสำนักงานไชยยศ ก็เลยชวนกันมา เขาก็ให้ความร่วมมือ ฉะนั้นก็เลยพูดกันง่ายหน่อย"
วาร์ตันเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำทางด้านบริหาร ธุรกิจของสหรัฐอเมริกา ก่อตั้ง พ.ศ.2424 หรือมีอายุ 126 ปี ปัจจุบันมีศิษย์เก่ากว่า 81,000 คน
สำหรับศศินทร์มีการบริหารงานในรูปแบบของเอกชน เพื่อตัดขั้นตอนการบริหารงานแบบราชการออกไป ซึ่งหมายความว่าต้องหาเงิน และจ้างอาจารย์เข้ามาสอนเองด้วยเช่นกัน ศศินทร์เริ่มรับนักศึกษารุ่นแรกเมื่อปี 2526 ซึ่งเป็นนักเรียนทุนทั้งหมด 32 คน อาจารย์ผู้สอนมาจากวาร์ตันและเคลล็อกก์ ทั้งหมดประมาณ 24 คน ใน 5 ปีแรกอาจารย์ผู้สอนมาจากต่างประเทศ หลักสูตรเอ็มบีเอจึงสอนกันอย่างชนิดเข้มข้น
ศาสตราจารย์เติมศักดิ์ในฐานะผู้อำนวยการได้ปรับวิธีการสอนให้อาจารย์เข้ามาสอนทีละ 2 คน สอนคนละ 6 สัปดาห์ เหตุที่จัดสรรเช่นนี้เป็นเพราะว่าอาจารย์ต่างชาติจะติดครอบครัว และการนำชาวต่างชาติเข้ามา 10 คน คนละ 1 ปี เป็นเรื่องที่ยุ่งยากและการนำเสนอผลงานอาจทำให้ไม่คล่องตัวในประเทศเขาเหล่านั้น
"เราก็เลยตกลงกัน เราขอว่ามาทีละ 2 คน คนหนึ่งสอน 6 สัปดาห์ แล้วกลับเลย แทนที่จะสอนตามปกติในมหาวิทยาลัยจะสอนวิชาหนึ่งสัปดาห์ละ 2 ครั้ง ผมให้สอน 4 ครั้ง แต่แทนที่จะสอน 4 วิชาให้สอน 2 วิชา นักเรียนบางคนอาจบอกว่าโหดร้าย ยอมรับว่าไม่เหมาะกับวิชาบัญชี แต่เหมาะกับวิชาการตลาด ไม่ต้องทบทวน มีทั้งส่วนดี ส่วนเสีย แล้วที่ตลกไปกว่านั้น ปัจจุบันทั้งเคลล็อกก์ และวาร์ตันหันมาใช้แบบเรา บางวิชาเปิดพิเศษทำแบบเร่งรัด ก็เลยไม่รู้ว่าใครสอนใครกันแน่" ศาสตราจารย์เติมศักดิ์เล่าพร้อมกับเสียงหัวเราะ
วิธีการเรียนการสอนชนิดเข้มข้นเกิดจากศาสตราจารย์เติมศักดิ์ได้รับทุนจากซีด้า (Swedish International Development Agency) เขาส่งอาจารย์ 28 คนจาก คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาฯ ไปเรียนปริญญาโท ที่ประเทศสวีเดน ในตอนนั้นเขาสอนเป็นภาษาสวีเดน จึงแก้ไขปัญหาเปิดห้องเรียนสอนพิเศษเป็นภาษาอังกฤษ แต่เขาสอนทีละวิชา เรียนตั้งแต่เช้าจรดเย็น ไปจนถึงกลางคืน เริ่มตั้งแต่ 2 คืน และ 3 คืน วิธีการได้ถูกนำมาใช้ในศศินทร์ เพราะเห็นว่าประสบความสำเร็จ
นอกเหนือจากอาจารย์ต่างประเทศที่เข้ามาสอนแล้ว ศศินทร์ยังได้ส่งนักเรียนปี 2 ไปเรียนต่อที่เคลล็อกก์ และยังได้มีการแลกเปลี่ยนกับอีก 18 สถาบัน ศศินทร์ส่งไปเรียนปีละประมาณ 30 คน สถาบันต่างประเทศก็ส่งเข้ามาเรียนปีละ 40 คน
ด้วยปริมาณนักเรียนที่เพิ่มขึ้นทุกปี รวมถึงในบางครั้งอาจารย์ผู้สอนมีเจ็บไข้ ทำให้เรียนไม่ทัน ศศินทร์ตัดสินใจที่จะให้มีอาจารย์คนไทยเข้ามาสอนเพิ่มเติม แต่ไม่เกิน 50% ปัจจุบันอาจารย์ไทยที่สอน อาทิ กฤติกา คงสมพงษ์ ปวิตรา จินดาหรา สอนทางด้านการตลาด ส่วนด้านธุรกิจการเงินมีพิมาน ลิมปพยอม วันทนี สุรไพฑูรย์กร ผศ.ภัทเรก ศรโชติ
"บางวิชานักเรียนไม่ลงเรียน อย่างเช่นวิชา Basel Series of Statistic เป็นเรื่องของการจัดการ แม้แต่แบงก์ชาติยังไม่มีความเข้าใจ และได้ส่งอาจารย์ไปสอน วิชานี้จึงได้ย้ายผู้สอนไปสอนให้กับระดับปริญญาโทแทน"
ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ศศินทร์ผลิตบัณฑิตที่เปี่ยมไปด้วยคุณค่ามาแล้ว 23 รุ่น หรือกว่า 5,000 คน และมีความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาหลักสูตรใหม่ๆ เพื่อให้สอดรับโลกที่มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ภายใต้โลกที่ธุรกิจที่เชื่อมโยงกันอย่างไร้พรมแดน
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|