|
กลยุทธ์การตลาด:ฮุนไดรุกตลาดไทยอีกครั้งจะยิ้มร่าหรือน้ำตาริน
ผู้จัดการรายสัปดาห์(29 ตุลาคม 2550)
กลับสู่หน้าหลัก
“ตลาดรถยนต์ในประเทศไทยเป็นตลาดที่มีความสำคัญมากในภูมิภาคนี้”
โยชิซึมิ คุราตะ ประธาน บริษัท ฮุนได มอเตอร์ (ไทยแลนด์) จำกัด เปิดเผย
“ฮุนไดได้ทำการศึกษา และเตรียมการอย่างจริงจัง มาตั้งแต่ 4 ปีที่แล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของการบริการหลังการขาย ซึ่ง ฮุนได ประเทศไทย ให้ความสำคัญสูงสุด ภายใต้นโยบาย Red Carpet Strategy ด้วยการลงทุนเปิดโชว์รูมมาตรฐานเดียวกับฮุนไดทั่วโลก ที่พร้อมจะให้บริการลูกค้าทั้งใหม่และเก่า ควบคู่ไปกับสินค้าคุณภาพระดับโลก ซึ่งจะเป็นกลยุทธ์สำคัญในการสร้างความมั่นใจให้กับลูกค้า ชาวไทย”
นโยบาย Red Carpet Strategy เป็นแนวคิดในการให้บริการลูกค้าอย่างใกล้ชิด ให้ลูกค้ารู้สึกได้ถึงความเป็นคนพิเศษ เมื่อรวมเข้ากับรูปแบบการบริการเดียวกับฮุนไดทั่วโลก มาปรับใช้ให้เข้ากับความต้องการของลูกค้าชาวไทย ถือเป็นหัวใจสำคัญในการสร้างความพึงพอใจสูงสุดให้กับลูกค้า
โชว์รูมมาตรฐานแห่งนี้ ตั้งอยู่บนถนนพหลโยธินตรงข้ามตึกช้าง บริหารงานโดยทีมงานของ ฮุนได ประเทศไทย โชว์รูมตกแต่งภายในที่สะท้อนความเรียบง่าย บ่งบอกถึงเอกลักษณ์ความเป็นแบรนด์ฮุนได ลูกค้าที่แวะมาที่โชว์รูม และศูนย์บริการจะได้รับการต้อนรับและบริการที่อบอุ่น มั่นใจได้ในคุณภาพการบริการที่ได้มาตรฐาน โดยทีมช่างที่ผ่านการอบรมอย่างเข้มงวดจากบริษัทแม่ มาตรฐานการบริการของฮุนได นอกจากนี้ยังเร่งขยายเครือข่ายผู้แทนจำหน่ายให้ครอบคลุมพื้นที่สำคัญทั้งกรุงเทพฯ และหัวเมืองใหญ่ โดยมีเป้าหมายอยู่ที่ 60-70 แห่ง ภายในปี 2552
“ฮุนได ประเทศไทย อยู่ในขั้นเตรียมความพร้อม ในการบุกตลาดไทยอย่างเต็มรูปแบบในช่วงไตรมาส 4 ปีนี้อย่างแน่นอน โดยเตรียมสินค้าคุณภาพ ที่ประสบความสำเร็จมาแล้วทั่วโลก ทั้งรถเก๋ง, SUV และรถสปอร์ตขนาดเล็ก โดยวางกลุ่มลูกค้าเป็นคนรุ่นใหม่ และลูกค้ากลุ่มครอบครัว ที่ต้องการรถที่ให้ความคุ้มค่าสูงสุดในการใช้งานจริง และนโยบายที่สำคัญที่สุดของเรา คือการสร้างความพึงพอใจสูงสุดให้กับลูกค้าของเรา ทั้งในแง่การบริการหลังการขาย และการเตรียมความพร้อมด้านอะไหล่” คุราตะ กล่าว
รถยนต์ 3 รุ่น ที่พร้อมจะเปิดตัวในช่วงไตรมาสที่ 4 ประกอบด้วย
1. ฮุนได โซนาต้า ประกอบในประเทศไทย ณ โรงงานธนบุรีประกอบยนต์
2. ฮุนได ซานตาเฟ่ รถ SUV นำเข้าจากประเทศเกาหลีใต้
3. ฮุนได คู้ป รถสปอร์ตขนาดเล็กนำเข้าจากประเทศเกาหลีใต้
“สาเหตุที่เราเลือกโรงงานธนบุรี ในการประกอบรถโซนาต้า เนื่องจากเรามีความเชื่อมั่นในคุณภาพ และประสบการณ์อันยาวนานของโรงงานแห่งนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งฝีมือในการประกอบของแรงงานไทย ที่ไม่เป็นสองรองใคร จะช่วยให้ลูกค้าเกิดความเชื่อมั่นในคุณภาพของสินค้าฮุนไดได้เป็นอย่างดี” มร.คุราตะ กล่าวเสริม
“การเปิดสินค้าพร้อมกันถึง 3 รุ่น แสดงถึงความมุ่งมั่นและการให้ความสำคัญสูงสุดกับตลาดรถยนต์ในประเทศไทย ซึ่งถือเป็นศูนย์กลางยานยนต์ที่สำคัญของภูมิภาคนี้ นับเป็นตลาดหลักสำคัญที่จะสร้างการเติบโตให้กับฮุนไดในอนาคต เนื่องจากการให้สิทธิพิเศษด้านภาษี ภายใต้กรอบความร่วมมือการค้าเสรี ไทยจะเป็นฐานการแลกเปลี่ยนสินค้าหลักของฮุนไดในอนาคต ด้วยความพร้อมของไทย ในด้านแรงงาน ตัวสินค้ารถยนต์ และชิ้นส่วนยานยนต์ เป็นประเทศที่มีศักยภาพสูงสุดแห่งหนึ่ง และนี่คือเหตุผลหลักที่ฮุนไดจะต้องสร้างฐานรากของธุรกิจในเมืองไทย จะต้องเติบโตอย่างยั่งยืนในตลาดแห่งนี้ เพื่อเป็นฐานความสำเร็จของฮุนไดในตลาดโลก”
“การเปิดตัวสินค้า โดยวางตำแหน่งสินค้าในระดับบนเป็นอีกหนึ่งความตั้งใจจริงในการสร้างแบรนด์สินค้าฮุนไดในประเทศไทย ต้องการให้ยอดขายในช่วงแรกสัมพันธ์กับการให้บริการที่ดีเลิศจากนั้นในปีหน้า และปีต่อๆ ไป” คุราตะ กล่าว
“เมื่อความพร้อมในเรื่องของศูนย์บริการมีเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ฮุนไดจึงค่อยเปิดตัวรถรุ่นใหม่ๆ ให้หลากหลายยิ่งขึ้น เพื่อเข้าถึงลูกค้าทุกกลุ่ม และการรับประกันคุณภาพสินค้า 5 ปี ไม่จำกัดระยะทางเป็นรายแรกในประเทศไทย ในรุ่นโซนาต้า เป็นข้อพิสูจน์ถึงคุณภาพของโซนาต้า และความจริงจังมุ่งมั่นในการทำตลาดในไทยได้เป็นอย่างดี”
ฮุนไดลงตลาดไทยอีกครั้ง จะประสบความสำเร็จหรือไม่
บทเรียนจากครั้งที่แล้วคืออะไร
อะไรคือปัจจัยความสำเร็จครั้งนี้
บทวิเคราะห์
รถเกาหลีเคยได้รับความนิยมอย่างสูงในช่วงก่อนเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ
เข้ามาในตลาดไทยช่วงที่แบรนด์เกาหลีไม่ได้รับความนิยมและมองว่าเป็นสินค้าด้อยคุณภาพ และตอนนั้นก็ไม่มีละครเกาหลีเสียด้วยซ้ำ
ภายใต้สภาพเช่นนั้น รถเกาหลีกลับสามารถปักหลักในตลาดไทย ด้วยการหาช่องว่างที่รถญี่ปุ่นไม่ลงไปเล่น เปิดเกมรถที่เล็กกว่า Compact Car กุมเซกเมนต์ที่เติบโตเร็ว จนกระทั่งญี่ปุ่นไหวตัวทันไม่ปล่อยให้รถเกาหลีเริงร่า ออก Subcompact Car โตโยต้า ชู โซลูน่า ฮอนด้า ชู ซิตี้ กดดันรถเกาหลีไม่ให้โงหัวขึ้นได้
หลังวิกฤตเศรษฐกิจ รถเกาหลีต้องถอนตัวออกจากตลาดไทยไปโดยปริยาย เพราะบริษัทแม่เสียหายหนัก อย่างไรก็ตาม หลังจากนั้นรถเกาหลีก็ฟื้นตัวได้ในตลาดยุโรปและสหรัฐอเมริกา โดยเฉพาะอย่างยิ่งฮุนไดที่ได้รับการยอมรับอย่างมากในด้านคุณภาพ เหนือกว่าโตโยต้าเสียอีกในตลาดอเมริกา (เพียงแต่ผู้บริโภคยังคิดว่าโตโยต้าเหนือกว่าอยู่นั่นเอง)
ปัจจุบันสินค้าเกาหลีมาแรงมาก ทั้งซัมซุงและแอลจี ถือว่าไม่น้อยหน้าแบรนด์ญี่ปุ่นแต่อย่างใด ในด้านภาพยนตร์และละครชุดนั้น เกาหลีเหนือกว่าญี่ปุ่นมานานแล้ว
สภาพเช่นนี้การกลับสู่ตลาดไทยของฮุนไดก็ไม่น่าจะเป็นเรื่องที่ยากจนเกินไปนัก
ฮุนไดประสบความสำเร็จอย่างยิ่งยวดในตลาดตะวันตก ทว่าตลาดไทยมีเพียงรถเกียเท่านั้นที่ได้รับความนิยม แต่ก็เป็นตลาดเล็กๆ และสินค้ามีความแตกต่างในกรณีของเกียร์คาร์นิวัล
ฮุนไดคิดว่าคุณภาพตนเองค่อนข้างเหนือกว่าเมื่อสิบกว่าปีที่แล้ว แบรนด์ก็แข็งแกร่งมากขึ้นจนสามารถต่อกรกับแบรนด์ญี่ปุ่นได้ ถ้าหากจะด้อยเป็นเพียง Brand Perception เท่านั้น ความเสียเปรียบเช่นนี้หากเจาะตลาดโดยการเข้าสู่ตลาดรถ Subcompact Car ย่อมยากที่จะเกิด เพราะการแข่งขันรุนแรงมาก ลำพังโตโยต้าและฮอนด้าซัดกันก็เลือดสาดอยู่แล้ว ขืนลงไปปะทะกันซึ่งๆ หน้าก็ยากจะประสบความสำเร็จ
ดังนั้นฮุนไดจึงเข้าตลาดบน ที่มีการแข่งขันน้อยกว่าและไม่รุนแรงเท่า อีกทั้งฮุนไดมีเงื่อนไขความสำเร็จมากกว่าการลงไปเล่นในตลาดรถเล็ก
ตลาดที่ลงไปจับนั้นมีช่องว่างให้ลงไปเล่น เพราะเป็นตลาดรถใหญ่ ที่ผู้บริโภคดูคุณภาพมากกว่าราคาขายต่อ และองค์กรจะเป็นผู้ซื้อด้วย ต่างจากตลาด Subcompact Car และ Compact Car ที่คนทั่วไปเป็นผู้ซื้อ โอกาสเจาะตลาดค่อนข้างยาก
การนำ Red Carpet Strategy มาให้บริการในประเทศไทยเช่นเดียวกับประเทศอื่นๆ ทั่วโลกที่เคยประสบความสำเร็จมาแล้วนั้น แสดงให้เห็นว่าฮุนไดจะนำความเป็น Global Standard มาใช้ในเมืองไทย ซึ่งก็คือการนำชื่อเสียงและคุณภาพที่ได้รับการยอมรับในระดับโลกมาเป็นตัวเจาะตลาด ซึ่งสอดคล้องกับการนำผลิตภัณฑ์ระดับบนบุกตลาดก่อน เพื่อแสดงให้เห็นถึงคุณภาพที่ได้รับการยอมรับไปทั่วโลก เมื่อกลุ่มเป้าหมายระดับบนได้รับความพึงพอใจกับคุณภาพสินค้าก็จะทำให้ Perception ของแบรนด์ฮุนไดดีขึ้น ในระหว่างนั้นก็ต้องสร้างศูนย์บริการและดีลเลอร์เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
เมื่อถึงวันนั้นฮุนไดจะนำ Subcompact Car และ Compact Car ลงสู่ตลาดอย่างแน่นอน เพราะเป็นตลาดใหญ่ที่หอมหวาน
ซึ่งฮุนไดไม่พลาดอยู่แล้ว
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|