4 ขุนพลน้ำมันยุค "ชาติชาย"


นิตยสารผู้จัดการ( มกราคม 2533)



กลับสู่หน้าหลัก

มาถึงยุคที่นายกชาติชายเป็นใหญ่ในแผ่นดิน กล่าวได้ว่ามีคณะ 4 ขุนพลน้ำมันที่เป็นกุนซือสำคัญในการผลักดันแนวนโยบายเรื่องพลังงานทั้งหมด เฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องน้ำมัน ยิ่งต้องพิถีพิถันกันเป็นพิเศษ เพราะน้ำมันเพียงหยดเดียว เป็นได้ทั้งคุณและโทษ

ทีมนี้เป็นที่ยอมรับว่า เป็นทีมที่มีฝือไม่ยิ่งหย่อนกว่ามีในยุคนายกเปรม

กร ทัพพะรังสี รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ขุนพลคนที่หนึ่งเพื่อนร่วมรุ่นเซนต์คาเบรียลกับโสภณ สุภาพงษ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัทบางจากปิโตรเลียม จำกัด แต่ต่างบุคลกิ ต่างสไตล์ (หากสนใจในสิ่งเดียวกันก็คือเรื่อง "จิต") จบปริญญาตรีในวิชาการจัดการอุตสาหกรรม จากมหาวิทยาลัยคลาร์ค แห่งสหรัฐอเมริกา มีประสบการณ์การทำงานกับทูตการค้าแคนาดา 7 ปี ทำให้เขาได้เรียนรู้โลกธุรกิจอุตสาหกรรมอย่างกว้างขวาง

เขามีประสบการณ์ทางการเมือง เคยเป็นเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสมัยที่พลตรีชาติชาย ชุณหะวัณเป็นนายกรัฐมนตรีเคยเป็นเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมสมัยนายกฯเปรม 5

ช่วงนี้ เป็นช่วงที่ทำให้กรได้รับผิดชอบด้านปิดตรเลียมอย่างจริงจังขึ้นจนมีบทบาทโดดเด่นขึ้นมา กระทั่งมีเสียวิจารณ์ว่า เขานี่แหละคือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสหกรรมตัวจริง ใครจะมาค้า ๆ ขาย ๆ เกี่ยวกับน้ำมันล่ะก้อจะต้องเข้าพอเจรจาหารือกับเขา

เมื่อเขาขึ้นมาเป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เขาจึงได้รับแต่งตั้งให้เป็นประธานอนุกรรมการนโยบายปิโตรเลียม ตำแหน่งเดียวกับ ร.ท.ศุลี มหาสันทนะ มือทองด้านน้ำมันในยุคนายกเปรม ซึ่งเป็นส่วนที่จะต้องกลั่นกรองเรื่องปิโตรเลียมที่สำคัญก่อนจะเสนอเข้าบอร์ดใหญ่หรือคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ ที่มีพลเอกชาติชาย นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน

เขาพยายามที่จะปลอดพันธนาการให้กับภาคเอกชน โดยเฉพาะด้านน้ำมันเขาต้องการเห็นราคานำมันเป็นไปตามกลไกตลาด เขาจึงพยายามชักชวนนักลงทุนจากต่างประเทศเข้ามาทำธุรกิจค้าน้ำมัน ขุดเจาะ สำรวจปิโตรเลียมมากขึ้น จนเห็นว่า มีข่าวของการเจรจาหารือเรื่องปิโตรเลียมหรือสนใจตั้งปั๊มน้ำมัน ซึ่งเป็นเรื่องที่ได้มีการกำหนดไว้ในแผนพัฒนาฉบับที่ 6 พร้อมท้งพยายามปรับโครงสร้างราคาหรืออย่างน้อยก็รักษาโครงสร้างราคาน้ำมันเดิมไว้มิให้บิดเบือนมากกว่าเดิม สืบเนื่องต่อจากยุคของ ร.ท.ศุลี เสมอ ๆ

ถ้าถามใจกรแล้ว เขาคงบอกว่า อยากให้ขึ้นราคาน้ำมันให้เป็นไปตามต้นทุนที่แท้จริง แต่เมื่อเขาเป็นนักการเมือง บางครั้งทำให้เขาต้องพูดว่า "อย่างพูดว่าขึ้นราคาเลย มันแสลงใจ" และบางครั้งก็ออกมาย้ำเป็นระยะว่า ถึงเวลาแล้วที่จะต้องปรับราคาน้ำมัน เพื่อให้รู้กันทั่ว ๆ ว่า ยังไงก็ต้องขึ้นราคาน้ำมันแน่ และเมื่อขึ้นจริง จะได้ไม่รู้สึกอะไรมาก เพราะได้บอกให้เตรียมใจไว้ก่อนแล้ว

แต่ล่าสุด เขาบอกว่า จะต้องรอเวลาอีกระยะหนึ่ง แล้วจึงค่อยปรับราคาน้ำมัน ทำให้ดูประหนึ่งไม่รู้จะเอายังไงแน่ แต่มิใช่เรื่องแปลก เมื่อเขาเป็นนักการเมือง จึงจำเป็นที่จะต้องคิดหน้าคิดหลังให้รอบด้าน แม้ใจจริงอยากจะใช้หลักเศรษฐศาสตร์ในการแก้ปัญหา แต่ถ้าไม่คำนึงถึงผลกระทบด้านรัฐศาสตร์ ก็ไม่แน่นักว่าเขาจะมีโอกาสได้อยู่แก้ปัญหาด้วยหลักวิชาการที่เขาอยากทำ

เขาจึงต่างกับ ร.ท.ศุลี เขาเป็นนักการเมืองอยู่ในทีมของนักการเมืองขณะที่ ร.ท.ศุลีนั้นไม่ใช่ จึงทำให้แก้ปัญหาโดยอิงหลักการได้มากกว่า

"ถ้าเทียบกับอดีตรัฐมนตรีศุลีแล้ว ท่านเป็นคนที่ขยันอย่างมากและเข้าไปในรายละเอียดทุกตอนด้วยความที่รู้ว่า เมื่อลดราคาน้ำมันแล้ว ขึ้นยาก และคนไทยยังใช้น้ำมันไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร จะเห็นว่า ช่วงที่ราคาน้ำมันเริ่มลด ท่านพยายามชี้แจง ดึงไม่ให้ลดราคาน้ำมัน จนมีเงินกองทุนสะสมมาก เพราะคิดว่าราคาน้ำมันไม่แน่นอน เมื่ออ่อนตัวลงมากโอกาสที่จะสวิงกลับก็มีมาก ท่านจึงไม่ยอมลดราคาน้ำมันในช่วงก่อนวันที่ 25 พฤศจิกายน 2531 แม้ว่าจะมีกระแสเรียกร้องก็ตาม" แหล่งข่าวระดับสูงจากทำเนียบรัฐบาลกล่าวเปรียบเทียบคน 2 รุ่น 2 สมัย

แต่สถานการณ์ต่างกัน เมื่อนายกฯชาติชายเข้ามา ทุกคนก็เห็นด้วยที่จะให้ลดราคาเพื่อสร้างคะแนน ซึ่งเป็นจุดพลาดครั้งใหญ่

ที่จริงรัฐมนตรีกรเป็นคนหนุ่มที่เก่ง เรียนรู้เร็ว เข้าใจรายละเอียดได้ดีไม่ด้อยกว่ารัฐมนตรีศุลี แต่เพราะเป็นนักการเมือง จึงต้องคำนึงผลกระทบทางการเมืองมากกว่า บางเรื่องอาจจะไม่เห็นด้วย ก็อาจจะต้องคล้อยตามเพื่อรักษาภาพใหญ่ของรัฐบาลไว้

พิสิฎฐ ภัคเกษม เลขาธิการสภาพัฒน์ ขุนพลน้ำมันคนที่ 2 ผู้ซึ่งเป็นนักเศรษฐศาสตร์รุ่นที่ 3 หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่มีบทบาทสำคัญในการกำหนดแผนนโยบายเศรษฐกจไทย เขาเป็นลูกหม้อสภาพัฒน์ที่ดร.เสนาะ อูนากูล อดีตเลขาธิการสภาพัฒน์ "ปั้นมากับมือ" เพื่อให้รั้งตำแหน่งใหญ่ตัวนี้แทน

เขาเป็นกรรมการของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค เป็นเลขานุการาของคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ เป็นอนุกรรมการนโยบายปิโตรเลียม

สมัยที่เขาเป็นรองเลขาธิการสภาพัฒน์ เขาเป็นคนที่มีบทบาทสำคัญในการกำหนดนโยบายด้านพลังงาน โดยเน้นให้เอกชนลงทุนในธุรกิจปิโตรเลียมมากขึ้น ปล่อยให้มีการแข่งขันด้านราคามากขึ้น กระทั่งปล่อยให้ราคาขึ้นลงตามตลาด และให้กองทุนน้ำมันหมดไปในที่สุด

เขายังเป็นหัวเรือใหญ่ของสภาพัฒน์ในการศึกาาแผนการเพิ่มกำลังการกลั่นของประเทศโดยรวม และเขาเป็นประธานคณะทำงานพิจารณาด้านเศรษฐศาสตร์และการเงินของผู้ยื่นเสนอตั้งโรงกลั่นใหม่ขนาด 100,000 บาร์เรล

เขาวาดหวังที่จะเห็นราคาน้ำมันลอยตัว แต่ไม่ค่อยจะแสดงทัศนะที่ชัดเจนเกี่ยวกับราคาน้ำมันในขณะนี้ และดูจะฮือฮามาก เมื่อเขาตอบคำถามแนวโน้มรัฐบาลจะขึ้นราคาหรือไม่ "ให้ไปถามพระเจ้า" จนกลายเป็นคำที่คนในแวดวงพลังงานนำมากระเซ้ากันว่า "น้ำมันจะขึ้นหรือไม่ ไม่มีใครรู้ ยกเว้นพระเจ้า ไปถามพระเจ้าไม่ดีกว่าหรือ"

ขณะเดียวกัน ในบทบาทตำแหน่งอย่างเขา ดูเขาจะต้องเป็นกำแพงปกป้องรัฐบาลด้วย

เล่ากันว่า การที่ดร.อาณัติ อาภาภิรม ผู้ว่าการปตท. แสดงทัศนะต่อแนวโน้มราคาน้ำมันในการสัมมนา "ทิศทางเศรษฐกิจปี 33" ที่จัดโดยสมาคมเศรษฐศาสตร์ มหาวิทาลัยธรรมศาสตร์ ว่า "โดยส่วนตัวแล้วเห็นว่า ถึงเวลาที่ควรจะขึ้นราคาน้ำมัน เพราะราคาน้ำมันตลาดโลกขึ้นสูงไปมาก แต่คิดว่ารัฐบาลคงไม่กล้าขึ้น"

เมื่อเข้าที่ประชุมอนุกรรมการนโยบายปิโตรเลียม อาณัติจึงถูกตำหนิ พิสิฎฐถึงกับพูดว่า อาณัติมีสิทธิอะไรที่จะไปให้ความเห็นอย่างนั้น เรื่องนี้อยู่ที่การตัดสินใจของรัฐบาล

โดยอาณัติก็มิได้เอ่ยปากต่อคำอะไร แต่อาจจะต้องไปสรุปบทเรียนว่าการพูดอะไร แม้จะเป็นความเห็นส่วนตัว ก็หนีไม่พ้นที่จะต้องถูกมองว่า พูดในหัวโขนที่สวมอยู่

ครั้งจะตอบแบบภาษาการฑูต ก็ดูจะผิดจากความเป็นนักวิชาการและเป็นครูบาอาจารย์ที่มีลูกศิษย์ลูกหานับถืออยู่

ศิววงศ์ จังคศิริ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ขุนพลน้ำมันคนที่ 3 ผู้ซึ่งมีความสนิทสนมกับนายกฯชาติชายเป็นพิเศษ ในที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานฯ นายกฯชาติชายจะเรียกศิววงศ์ว่า "ศิ" เฉย ๆ

เขาเป็นคนที่มีความรู้ด้านปิโตรเลียมดี เป็นคนที่วงการเหมืองแร่ยอมรับฝีมืออย่างมาก เขาเป็นบอร์ดของปตท. เป็นผู้ใหญ่ที่ช่วยเป็นตัวกลางในการประสานและเจรจาสัญญาซื้อขายน้ำมันระหว่างบางจากปิโตรเลียมและปตท.

เขาเป็นคนที่ตั้งใจและจริงจังในการทำงานมาก คนที่เคยร่วมงานด้วยส่วนใหญ่จะยอมรับว่าเขาเก่ง ทันเหลี่ยมพ่อค้า และตรงไปตรงมา

ศิววงศ์กับบรรหาร ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมเข้ากันได้ดี ทำให้ฝีมือของเขาพลอดโดดเด่นมากขึ้น มีความเห็นสอดคล้องกันในเรื่องของบทบาทปตท. ที่ควรจะยังคงอยู่ มีส่วนร่วมในธุรกิจปิโตรเลียมแต่ให้บริหารอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งต่งกับพิสิฏญที่เห็น่าควรจะลดบทบาทปตท.ลง เพราะดูใหญ่โตและอุ้ยอ้ายขึ้นทุกวัน

เขาได้รับมอบหมายให้ทำงานด้านน้ำมันสำคัญ ๆ เขาเป็นประธานในการศึกษาการเพิ่มกำลังการกลั่นของประเทศ และเป็นประธานการพิจารณาด้านเทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อมของผู้นยื่นเสนอขอตั้งโรงกลั่นใหม่ และเขายังเป็นหลักในการศึกษาแนวการดำเนินการให้ปตท.เป็นโฮลดิ้งคัมปะนี

อย่างไรก็ตาม โดยแนวนโยบายเรื่องราคาแล้ว เขากับพิสิฎฐ มีความเห็นสอดคล้องกัน จะต่างกันก็ในเรื่องของสัดส่วนและบทบาทของปตท.ที่จะเข้าไปดำเนินการโครงการหลัก จนเคยมีการโต้แย้งกันในเรื่องเปอร์เซ็นต์การถือหุ้นของปตท.ในโรงกลั่นใหม่ โดยกรเป็นคนขี้ขาดในที่ประชุมอนุกรรมการนโยบายปิโตรเลียม

การตัดสินให้ปตท. เข้าถือหุ้นในโรงกลั่นใหม่ 10% ถือว่าเป็นการพบกันครึ่งทางระหว่างที่ศิววงศ์เสนอ 20% ขณะที่ พิสิฏฐเสนอ 5%

แต่เมื่อเข้าที่ประชุมกรรมการนโยาบพลังงานแห่งชาติ บรรหารได้ลอบบี้ให้ปตท. ถือหุ้น 25% ซึ่งนายกฯชาติชาย ประธานในที่ประชุมก็เห็นด้วยจนทำให้กรหน้าแตกไป

ดร.ปิยสวัสดิ์ อัมระนันท์ ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ ขุนพลน้ำมันคนที่ 4 เป็นมือน้ำมันรุ่นใหม่ที่มาแรงด้วยวัยเพียง 30 เศษ และเป็นทีมที่มีชีวิตอยู่ในต่างประเทศตั้งแต่วัยประถม กระทั่งเขาจบปริญญาเอกด้านเศรษฐสาตร์ LONDON SCHOOL OF ECONOMICS (LSE)

เขาเป็นกำลังสำคัญคนหนึ่งในการทำแผนรวมของประเทศในแผน 6 แล้วได้เข้าร่วมในการกำหนด "แผนพลังงาน" ฉบับที่ 6 ด้วย ในตำแหน่งรักษาการหัวหน้าฝ่ายเศรษฐกิจและแผนตั้งแต่ปี 2523 ทำให้เขาได้เริ่มคลุกคลีกับด้านพลังานมากขึ้น

ที่โดดเด่นเห็นชัด ก็คือ ในการร่วมแผนพัฒนาฉบับที่ 6 ด้านพลังงานเป็นที่รู้กันว่า เป็นการประสานร่วมกันของกุนซือด้านน้ำมันที่สำคัญในยุคนานกฯเปรม ก็คือ พิสิฏฐ ปิยสวัสดิ์ และโสภณ สุภาพงษ์

แหล่งข่าวจากทำเนียบพูดถึงเส้นทางการพัฒนาของปิยสวัสดิ์ในเรื่องพลังงานว่าส่วนหนึ่งปฏิเสธไมได้ว่า โสภณซึ่งเป็นคนแรกที่ทำเรื่องจัดหาและกลั่นน้ำมันของปตท. จนตอนหลังได้ไปเป็นกรรมการผู้จัดการบริษัท บางจากปิโตรเลียม มีส่วนสำคัญที่ทำให้ ปิยสวัสดิ์ ได้เก็บเกี่ยวข้อมูลด้านน้ำมันมากขึ้นอย่างรวดเร็ว

ถ้าเทียบวัยแล้ว ปิยสวัสดิ์เป็นรุ่นน้องโสภณราว 5-6 ปี

แต่ด้วยฝีมือที่พัฒนาอย่างฉับไว บนบานของความรู้เชิงคณิตศาสตร์และเศรษฐศาสตร์และประสบการณ์ชีวิตจากต่างประเทศ ทำให้ผู้ใหญ่ยอมรับในความสามารถ

เมื่อรัฐบาลยุคนายกฯเปรม ซึ่งมีร.ท. ศุลี รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีดูแลเรื่องนำมัน มีความเห็นว่าควรจะหน่วยงานที่มีอิสระ เพื่อทำงานด้านนโยบาย จึงจัดตั้งสำนักงาน คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติขึ้นมาเมื่อปี 2529 ขึ้นกับสำนักงานเลขาธิการนายกรัฐมนตรี

ปิยสวัสดิ์จึงได้รับเลือกเป็นผู้อำนวยการคนแรกจนถึงขณะนี้

เขามีแนวความคิดเดียวกับ 3 ชุนพลน้ำมันข้างต้น ที่ต้องการให้ราคาน้ำมานเป็นไปตามกลไกตลาด เป็นคนที่วงการกำลังจับตามองและเชื่อกันว่าเขายังจะมีอนาคตอีกไกล หากยึดหลักการ และกล้าเป็นตัวของตัวเอง



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.