สยามร่วมมิตรโวยรัฐแก้ปัญหาไม่ตรงจุดเตรียมปรับราคาแน่


ผู้จัดการรายวัน(26 ตุลาคม 2550)



กลับสู่หน้าหลัก

สยามร่วมมิตร รับเตรียมขึ้นราคา ตามต้นทุนพุ่ง ระบุแบกรับต้นทุนไม่ไหว โวยกรมการค้าภายใน (คน.) เรียกคุยเดือนพฤศจิกายนเกลี้ยกล่อมให้ตรึงราคาไว้ ชี้รัฐแก้ปัญหาไม่ตรงจุดหากเรียกจริงและให้ได้ผล ต้องดึง 3 ฝ่ายร่วมถกปัญหา

นายสุรเดช นภาพฤกษชาติ รองกรรมการผู้จัดการฝ่ายการตลาดและพัฒนาธุรกิจ บริษัท สยามร่วมมิตร จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายขนมขบเคี้ยว (สแน็ค) อาทิ ฮานามิ รวยเพื่อน และสแน็คแจ๊ค ฯลฯ เปิดเผยว่า บริษัทมีแนวโน้มขึ้นราคาสินค้าในเร็วๆ นี้ จากปัจจุบันที่ขายปลีกราคาซองละ 18-22 บาทขึ้นกับช่องทางจำหน่าย เป็นผลจากบริษัทได้รับผลกระทบจากภาวะต้นทุนที่เพิ่มขึ้น ซึ่งเชื่อว่าผู้ประกอบการทุกรายจะอยู่ในสภาพเดียวกัน ดังนั้น จึงต้องทำการตลาดอย่างระมัดระวังมากขึ้น

ทั้งนี้นอกจากแผนการปรับราคาขายสินค้าขึ้น บริษัทยังมองว่าการทำตลาดอย่างรอบคอบและใช้เม็ดเงินต้องคุ้มกับการทำตลาด โดยปีหน้าได้ตั้งงบทำตลาดไว้ประมาณ10-15% ของยอดขายรวมเช่นเคย ทำตลาดทั้งหมดของสินค้าทั้งหมดที่บริษัทฯมีอยู่ ไม่ว่าจะเป็น กลุ่มข้าวเกรียบกุ้ง (ฮานามิ,รวยเพื่อน) กลุ่มขนมขึ้นรูป อาทิ คอนพัฟฟ์ สแน็คแจ๊ค และเคนโด้ ส่วนกลุ่มคุ้กกี้ คือ อาร์เซนอล มินิคุ๊กกี้ อาร์เซนอลบิสกิต รวมทั้งการออกรสชาติใหม่มากระตุ้นตลาดอย่างต่อเนื่อง

สำหรับตลาดรวมขนมขึ้นรูปในปีนี้มีมูลค่า 3,500-4,000 ล้านบาท มีอัตราการเติบโตเป็นตัวเลข 2 หลัก ซึ่งสูงสุด เมื่อเทียบกับตลาดมันฝรั่งที่มีมูลค่า 3,500 - 4000 ล้านบาท เช่นเดียวกันซึ่งมองว่ากลุ่มดังกล่าวเริ่มถึงจุดอิ่มตัวแล้ว ภายหลังจากที่ผู้บริโภคเริ่มเปลี่ยนพฤติกรรมไปซื้อสินค้าในกลุ่มขนมขบเคี้ยวแทน

ด้านกรณีของกรมการค้าภายใน (คน.) จะเรียกผู้ประกอบการผลิตสินค้าเข้าหารือ ถึงเรื่องการขอความร่วมมือให้ผู้ประกอบการตรึงราคาสินค้านั้น มองว่าเป็นสิ่งที่ไม่เหมาะสม เพราะเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ มองว่าไม่สมเหตุสมผล สมควรเชิญผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกฝ่ายหารือร่วมกัน กล่าวคือ มีทั้งผู้ประกอบการ ภาครัฐ และผู้บริโภค ให้มาร่วมปรึกษาและร่วมตัดสินใจเพื่อหาทางออกที่ดีที่สุด

“ที่ผ่านมาบริษัทเคยให้ความร่วมมือกับรัฐมาโดยตลอด ไม่ได้มีข้อโต้แย้งแต่อย่างใด แต่ที่ไม่เข้าใจจริงๆว่าทำไมพิจารณาเฉพาะรายใหญ่เท่านั้น ไม่เคยดูราคาสินค้าที่มาจากผู้ประกอบการขนาดกลางและย่อย เช่น สินค้าโอทอป หรือกลุ่มอาหารที่ไม่ผ่านการรับรองจากองค์การอาหารและยา (อย.) ซึ่งปัจจุบันมีถึง 50% ของตลาด คิดเป็นมูลค่ากว่า 1,000 ล้านบาท หรือว่าคิดว่ามันยากแล้วจึงไม่คิดที่จะทำมันมากกว่า ในมุมกลับกันหากว่า คน. แก้ไขปัญหาได้ตรงจุดมองให้กว้าง หากการขอขึ้นราคาเป็นสิ่งที่เราต้องการตั้งแต่แรก ทำไมรัฐต้องประกาศเพิ่มค่าว่าจ้างขึ้นทุกปี รวมทั้งค่าขนส่ง ก็เพิ่ม เราไม่อยากโยนภาระให้กลุ่มผู้บริโภคแต่อย่างเดียวถ้าต้นทุนไม่เพิ่มสูงขึ้นขนาดนี้เราก็ไม่จำเป็นต้องขึ้นราคา”


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.